National Geographic รอดอย่างไร ในยุคสื่อขาลง – บทเรียนจาก บก. 5 ประเทศ

National Geographic รอดอย่างไร ในยุคสื่อขาลง – บทเรียนจาก บก. 5 ประเทศ

National Geographic รอดอย่างไร ในยุคสื่อขาลง บทเรียนจาก บก. 5 ประเทศ

“ความท้าทายที่เราพบเจอในตอนนี้ คือการเผยแพร่เนื้อหาที่ดีเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ทำให้เราอยู่รอดอีกต่อไป”

นี่คือประโยคที่ Mr. Yungshih Lee บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับไต้หวัน กล่าวขึ้นในการประชุม National Geographic Media APAC Best Practices & Brainstorm ที่จัดขึ้นเพื่อให้บรรณาธิการบริหารของประเทศในเอเชียแปซิฟิกมาแบ่งปันวิธีการบริหารนิตยสารและแบรนด์ของ National Geographicใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และ ไทย อันเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงาน Sustainability Expo 2023 (SX2023) นิทรรศการเพื่อความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีผู้แทนจาก National Geographic Asia ภายใต้ บ. The Walt Disney Company เข้าร่วมรับฟังและสังเกตการณ์ในฐานะตัวแทนของภูมิภาค

ซึ่งประโยคในตอนต้นเรื่องถือเป็นการสรุป “สถานการณ์” ที่นิตยสาร National Geographic ทุกประเทศที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ต้องพบเจอ นั่นคือ การพึ่งพา “นิตยสาร” ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นสินค้าเรือธงชิ้นแรกของ National Geographic ซึ่งมีประวัติความเป็นมาเริ่มต้นในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ยาวนานกว่า 135 ปี ไม่อาจให้ “ผลตอบแทนที่ดีดังเดิม” ได้อีกต่อไป ในยุคที่สื่อดั้งเดิมจากยุคแอนะล็อกอย่างนิตยสาร นั้นเริ่มอับแสง ทดแทนด้วยสื่อใหม่ในโลกดิจิทัล ที่เปลี่ยนพฤติกรรมการรับสื่อของผู้คนไปโดยสิ้นเชิง

ในการประชุมครั้งนี้ เหล่าบรรณาธิการบริหารทั้ง 5 ประเทศ ได้ออกมาแชร์ “Best Practices” หรือแนวทางการดำเนินกิจการนิตยสารที่ดีที่สุดในแต่ละประเทศ เพื่อแบ่งปันความคิด และเริ่มต้นโครงการเพื่อความร่วมมือใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อสร้างความอยู่รอดของนิตยสารที่นำเสนอเรื่องราวธรรมชาติ ความเป็นไปของโลก วิทยาการความรู้ใหม่ๆ บนโลก (หรืออาจรวมไปถึงนอกโลก) แบ่งปันให้กับบรรดาผู้อ่านและสังคมที่ต้องการการเปิดโลกกว้างใหม่ๆ

ไต้หวัน นิตยสาร คือจุดเริ่มต้นรูปแบบนำเสนอ (ขาย) เนื้อหาที่หลากหลาย

Mr. Yungshih Lee บรรณาธิการบริหาร National Geographic ฉบับไต้หวัน

Mr. Yungshih Lee  บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับไต้หวัน กล่าวถึงภาพรวมยอดจำหน่ายนิตยสาร และยอดสมัครสมาชิก National Geographic ในไต้หวันว่า “ลดลง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ” รวมถึงยอดลงโฆษณาในนิตยสารก็ลดลงด้วย แม้จะมีความพยายามในการสร้างสรรค์เนื้อหาสารคดีในท้องถิ่น ซึ่งก็ทำให้ยอดขายกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่มากพอที่จะเรียกได้ว่า “น่าพอใจ”  เขาจึงหาหนทางในการนำพาแบรนด์นิตยสารนี้ไปโดยวิธีอื่น ๆ ควบคู่กันไป

แม้ยอดขายนิตยสารจะลดลง แต่ในไต้หวัน ชื่อของ National Geographic ก็ไม่ได้เสื่อมความนิยม เห็นได้จากการที่เขานำเนื้อหาสารคดีไปลงต่อยอดในเว็บไซต์ของนิตยสาร ซึ่งในแต่ละเดือนมียอดผู้ใช้งานเฉลี่ยราวนับล้านคน ทำให้ทางไต้หวันได้มีการแบ่งเนื้อหาที่สามารถอ่านได้ฟรี และ Premium Content ที่สามารถอ่านได้ ฟรี 5 บทความ/เดือน ถ้าจะอ่านมากกว่านี้ต้องจ่ายเงินเพื่อเป็นสมาชิก ก็พอมีรายได้เข้ามาเพิ่มเติมอยู่บ้าง

นอกจากนี้ Social Media ของ National Geographic Taiwan นับว่ามียอดผลตอบรับรวมที่ทำได้ดีอย่างยิ่ง เช่น  Facebook ที่มีผู้ติดตามและยอดการเข้าถึงในแต่ละเดือนอยู่ที่หลักล้านคน เช่นเดียวกับ Youtube ในด้าน Instagram ก็มีผู้ติดตามในระดับหลักแสน ซึ่ง Mr. Lee ก็ได้กล่าวว่ามีทีมงานที่ทำเนื้อหาลงใน Social Media โดยเฉพาะอีกด้วย

กรณีที่น่าสนใจของไต้หวันคือการต่อยอด National Geographic ไปสู่การจัดงานอีเวนท์ต่างๆ เช่นการจัดนิทรรศการ ภาพถ่าย New Age of Exploration ซึ่งแสดงเนื้อหาและภาพถ่ายจากนิตยสารในรอบร้อยปี ทั้งในไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ กว่า 20 เมืองในรอบ 5 ปี ซึ่งสร้างรายได้ที่ดีมาก รวมไปถึงการจัด “งานวิ่ง” 2 ครั้ง/ปี ภายใต้ชื่อ National Geographic World Ocean Day Run และ National Geographic Wildlife Run ซึ่งมีนักวิ่งเข้าร่วมอยู่ที่ราว 4,000-7,000 คน และมีการจัดประกวดการถ่ายภาพ ที่เปิดรับภาพถ่ายจากทั้งไต้หวันและฮ่องกง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมหลักพันในแต่ละปี ซึ่งก็สามารถสร้างรายได้จากการหาผู้สนับสนุนได้อีกทาง

นอกจากนี้ ไต้หวันยังมีการ “ต่อยอดการผลิตสินค้า” โดยใช้เนื้อหาจากภาพสัตว์ป่า ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของ National Geographic ทั้งการระดมทุนจัดทำ “ปฏิทินภาพสัตว์ป่า” จากโครงการ Photo Ark ที่รวบรวมภาพถ่ายของสัตว์ป่าทั่วโลกก่อนที่จะสูญพันธุ์ รวมไปถึงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Nat Geo Science Box ที่นำเอาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์จาก National Geographic มาออกแบบเป็นโมเดลและของเล่นเพื่อการเรียนรู้ได้อีกด้วย

อินโดนีเซีย เรื่องราวที่ไม่มีวันจบของดินแดนหมื่นหมู่เกาะ สู่การรับรู้ในระดับประเทศ

Mr. Didi Kaspi Kasim บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร National Geographic ฉบับอินโดนีเซีย

Mr. Didi Kaspi Kasim บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับอินโดนีเซีย นำเสนอวิธีการดำเนินงานของ National Geographic ในประเทศของตนในแนวความคิดที่ชื่อว่า Local Perspective. National Impact. How Our Hyperlocal stories capture nationwide attention. (มุมมองจากท้องถิ่น สู่ผลลัพธ์ในระดับประเทศ เรื่องราวในระดับท้องถิ่นแบบเจาะลึกสร้างความสนใจในระดับประเทศได้อย่างไร)

Mr. Didi Kaspi Kasim ตั้งต้นด้วยการที่นำเอาจุดแข็งในประเทศอินโดนีเซียที่มีเกาะกว่า 18,000 แห่ง ภาษาพูดกว่า 800 ภาษา ชนเผ่าท้องถิ่นกว่า 1,340 กลุ่ม และกลุ่มวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ได้รับการบันทึกอย่างเป็นทางการกว่า 300 วัฒนธรรม เข้ามาสร้างสรรค์เรื่องราวสารคดีภายในประเทศ ผ่านนิตยสาร การทำสื่อการเรียนรู้ รวมไปถึงเผยแพร่ในเนื้อหาออนไลน์ ซึ่ง Mr. Didi ได้กล่าวในที่ประชุมว่า “คนอินโดนีเซียสนใจเรื่องความหลากหลายของประเทศตัวเองมากกว่าเนื้อหาจากต่างประเทศพอสมควร”

“คนท้องถิ่นในแต่ละส่วนของอินโดนีเซียต่างมีเรื่องราวเป็นของตัวเอง พวกเขาอยากให้เรื่องราวของตัวเองเป็นที่รับรู้ แต่ก็มีสื่อในระดับประเทศเพียงไม่กี่เจ้าที่สนใจเรื่องราวของพวกเขา” เขาจึงมองเห็นถึงความน่าสนใจในการเล่าเรื่องนี้วัฒนธรรมท้องถิ่นเหล่านี้ ผ่าน National Geographic อินโดนีเซีย

นับตั้งแต่การอนุรักษ์ป่าในปาปัว ไปจนถึงการอนุรักษ์ช้างบนเกาะสุมาตรา และสารคดีแห่งธรรมชาติ สัตว์ป่า และการอนุรักษ์ สารคดีที่เริ่มต้นจากเรื่องราวภายในประเทศ นำเสนอไปในสื่อออนไลน์ของ National Geographic Indonesia ซึ่งสารคดีแต่ละเรื่องมียอดผู้ชมในระดับหลักล้านวิว

นอกจากนี้ ทางอินโดนีเซียได้นำจุดแข็งของ National Geographic คือ “การทำแผนที่” เข้ามานำร่วมกับองค์ความรู้และเรื่องราวในระดับท้องถิ่น จัดทำแผนที่ส่วนต่างๆ ของอินโดนีเซียลงในนิตยสาร รวมไปถึงการออกแบบแผ่นพับสื่อความรู้เพื่อเสริมเรื่องชนิดพันธุ์สัตว์ต่างๆ ในแต่ละท้องที่ ซึ่งสร้างความน่าสนใจให้กับบรรดาผู้อ่าน จึงมีผู้สนับสนุนจากองค์กรต่างๆ ที่มีความสนใจในพื้นที่นั้นๆ ร่วมไปถึงร่วมงานกับเอ็นจีโอที่ทำงานเพื่อการอนุรักษ์ในพื้นที่ให้การสนับสนุนทั้งในเรื่องรายได้และแนวทางการอนุรักษ์ในพื้นที่

ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากการเป็นสื่อนิตยสาร ทางอินโดนีเซียได้ออกแบบแคมเปญการอนุรักษ์ของตัวเองที่ชื่อว่า SISIR PESISIR 2024 อันเป็นโครงการการป้องกันภัยพิบัติทางระบบนิเวศ โดยการทำแผนที่อุณหภูมิของท้องทะเลและสภาพของแนวปะการังในพื้นที่ชายฝั่งต่างๆ ในประเทศอินโดนีเซีย โดยร่วมมือกับผู้นำทางในท้องถิ่น ชาวบ้าน และชาวประมง ซึ่งในขณะนี้ได้มีการเก็บข้อมูลในเรื่องของปะการังเพื่อการอนุรักษ์แล้วกว่า 1,000 แห่ง

ญี่ปุ่น สารคดีในความสนใจของผู้คน สู่แหล่งความรู้เพื่อนักเรียนและนักศึกษา

Mr. Shigeo Otsuka บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร National Geographic ฉบับญี่ปุ่น

Mr. Shigeo Otsuka บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับญี่ปุ่น กล่าวถึงยอดจำหน่ายนิตยสารภายในประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน แต่ในยอดที่ลดลงนั้นก็มีฉบับที่มียอดขายที่ดีมากเป็นพิเศษ นั่นคือนิตยสารฉบับพิเศษ 100 ปี การค้นพบตุตันคามุน (ในประเทศไทยคือฉบับเดือนพฤศจิกายน 2565) รวมไปถึงการออกฉบับพิเศษแยกออกมาอีก 1 เล่ม เกี่ยวกับกษัตริย์ตุตันคามุน มาจำหน่ายเพิ่มเติม

ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือของทางนิตยสาร กับ Mr. Yukinori KAWAE นักวิชาการด้านไอยคุปต์วิทยาชาวญี่ปุ่น และนักสำรวจของ National Geographic ซึ่งเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ชื่อดังในด้านอียิปต์ในประเทศญี่ปุ่น มาช่วยทำเนื้อหา เขียนบทความมุมมองเรื่องประวัติศาสตร์อียิปต์โดยชาวญี่ปุ่น และเผยแพร่สารคดีเก่าๆ ในเรื่องการค้นพบมัมมี่และวัฒนธรรมอียิปต์โบราณเพิ่มเติม และใช้บทบาทของการเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ ของคุณ Mr. Yukinori KAWAE มาช่วยส่งเสริมการขาย ทำให้นิตยสารมียอดจำหน่ายในระดับต้นๆ ของประเทศญี่ปุ่นในรอบ 2-3 ปีเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ทางประเทศญี่ปุ่นได้ใช้จุดแข็งและชื่อเสียงของ National Geographic อย่างการทำแผนที่และแผ่นพับความรู้เพิ่มเติมภายในเล่ม ทั้งในเรื่องสารคดีและแผนที่ “ประเทศยูเครน” ซึ่งเป็นที่สนใจของชาวญี่ปุ่นหลังเกิดสงครามกับรัสเซีย, การรวบรวมคลังแผนที่โบราณในส่วนต่างๆ ของโลกมานำเสนอ คลังภาพถ่ายสัตว์ป่า Photo Ark ของ National Geographic มานำเสนอภายในเล่ม

อีกหนึ่งทางไปของฝั่งญี่ปุ่นคือการร่วมเป็น Partner กับทั้งบรรดาสื่อออนไลน์ เช่นร่วมมือกับ Yahoo เว็บไซต์ search engine ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในญี่ปุ่นในการเผยแพร่เนื้อหาในเว็บไซต์ สร้างการรับรู้แบรนด์ในวงกว้างมากขึ้น ร่วมจัดงานเสวนาทางออนไลน์โดยเก็บค่าธรรมเนียมผู้เข้าร่วม และร่วมมือกับโรงเรียน Seiritsu Gakuen Junior High & High Schools โรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาของญี่ปุ่นเพื่อให้นิตยสาร National Geographic เป็นแหล่งการเรียนรู้ในวิชาค้นคว้าและวิจัยอิสระ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรในโรงเรียนของญี่ปุ่น สร้างยอดสมัครสมชิกหลักพันในทุกปีนับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา และร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอย่าง Teikyo University เพื่อร่วมกันนำเสนอมหาวิทยาลัยโดยใช้ความน่าเชื่อถือทางด้านความรู้และวิทยาการของ National Geographic เสริมภาพลักษณ์ให้กับมหาวิทยาลัย ซึ่งจะส่งผลดีให้กับนิตยสารทั้งภาพลักษณ์และรายได้อีกด้วย

เกาหลีใต้ นำภาพถ่ายสู่สารคดีอันเลื่องชื่อสู่ดินแดนแห่งนิทรรศการ งานศิลปะ

Mr. June Mo Kim บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร National Geographic ฉบับเกาหลีใต้

เกาหลีใต้ เป็นดินแดนที่มีความความเลื่องชื่อและเฟื่องฟูในด้านงานนิทรรศการและการจัดแสดงศิลปะ ทำให้ Mr. June Mo Kim บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเกาหลีใต้ ที่นอกจากจะดูแลและบริหารเนื้อหาสารคดีในรูปแบบนิตยสารแล้ว ยังเล็งเห็นช่องทางในการนำเรื่องราวและภาพถ่ายของนิตยสารที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกไปจัดแสดงในฐานะนิทรรศการงานศิลปะ ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2010 ซึ่งถือว่าเป็นชาติแรกๆ ในเอเชียแปซิฟิกที่ริเริ่มการสร้างนิทรรศการ ก่อนที่ชาติอื่นๆ จะเริ่มจัดนิทรรศการของตัวเองในเวลาต่อมา

นิทรรศการที่นำมาแบ่งปันประสบการณ์มีทั้ง Life and Nature (season 1) เรื่องราวภาพถ่ายของธรรมชาติและผู้คน ที่จัดขึ้นตั้งแต่ ตุลาคม – ธันวาคม 2010 มียอดผู้เข้าชมกว่า 120,000 คน, The Beautiful Days (season 2) เรื่องราวของสัตว์นานาชาติตั้งแต่ป่าไม้จนถึงขั้วโลกใต้ ในปี 2012 จัดขึ้นใน 7 เมืองใหญ่ทั่วเกาหลีใต้,  World of Mystery (season 3) นิทรรศการที่นำเสนอเรื่องราว “การสำรวจ” ตั้งแต่บนพื้นโลกไปจนถึงพื้นมหาสมุทรลึกล้ำในปี 2017, Nature’ s Odyssey (season 4) เรื่องราวการผจญภัยในสถานที่อันสวยงามในธรรมชาติในปี 2019 ซึ่งในแต่ละนิทรรศการที่ได้กล่าวมามีผู้มาร่วมชมยอดรวมเกือบ 100,000 คนในทุกงาน ทำให้สามารถสร้างรายได้จากการเก็บค่าเข้าชมนิทรรศการ รวมถึงผู้สนับสนุนหลักทั้งจากเอกชนและภาครัฐ สร้างรายได้มาเสริมกับการจำหน่ายนิตยสารได้พอสมควร

ไทย – สร้างการรับรู้แบรนด์นิตยสารให้แข็งแกร่ง สู่การรับรู้ในโลกออนไลน์ ต่อยอดไปในงานอีเวนท์

คุณโกวิทย์ ผดุงเรืองกิจ บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร National Geographic ฉบับภาษาไทย

คุณโกวิทย์ ผดุงเรืองกิจ บรรณาธิการบริหาร, คุณอาศิรา พนาราม รองบรรณาธิการบริหาร และ คุณเจรมัย พิทักษ์วงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจ Media and Event บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จํากัด (มหาชน) ผู้ถือลิขสิทธิ์นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย กล่าวว่า ยอดจำหน่ายตัวนิตยสารอยู่ในระดับที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง และทางนิตยสารได้ให้ความสำคัญกับการสร้างเนื้อหาเพื่อการรับรู้แบรนด์ในสื่อออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ ngthai.com ที่มียอดการอ่านในเว็บไซต์แต่ละเดือนที่หลักล้านครั้งโดยเฉลี่ย และสื่อ Social Media หลักของนิตยสารอย่าง Facebook ก็มีผู้ติดตามกว่า 1,150,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ จึงทำให้รายได้จากการโฆษณาในสื่อออนไลน์เติบโตมากขึ้นในทุกปี อย่างไรก็ตาม รายได้จากการโฆษณาและจัดจำหน่ายนิตยสารก็ยังคงมีมากกว่าสื่อออนไลน์ และยังคงแข็งแกร่ง

คุณโกวิทย์ ผดุงเรืองกิจ ได้เผยถึงหลักการบริหารเนื้อหาในนิตยสารด้วยวิธีการจัดทำเนื้อหาสารคดีเรื่องราวในประเทศไทย โดยนักเขียนสารคดีคนไทย ควบคู่กับการนำเสนอสารคดีใหญ่จากเนื้อหานิตยสารของฝั่งสหรัฐอเมริกา เช่น สารคดีเรื่องการมีชีวิตยืนยาวในไทย, การทวงคืนทับหลังนารายณ์, ป่าไม้ไทย, ช้างไทย, สังคมผู้สูงอายุในไทย

รวมไปถึงร่วมมือกับกลุ่ม “คิดอย่าง” ที่เป็นกลุ่มคนที่มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะและสถาปัตยกรรมไทย เข้ามาร่วมสร้างสรรค์เนื้อหาที่ “ตีพิมพ์บนปก” ในนิตยสารที่เป็น “หัวนอก” อย่าง National Geographic อย่างน้อย 1 เล่มในทุกปี (ภูเขาทองที่เราไม่ทันรู้จัก ฉบับเดือนสิงหาคม ปี 2021, บ้านวิชาเยนทร์ ก่อนวาระสุดท้ายของฟัลคอน ฉบับเดือนกันยายน ปี 2022 และ สืบค้นต้นเค้า พระบรมธาตุเมืองนครฯ ฉบับเดือนสิงหาคม ปี 2023) ซึ่งแนวความคิดการเผยแพร่สารคดีไทยในปกของนิตยสารเมืองนอกได้สร้างยอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติพอสมควร จึงทำให้มีความคิดว่าจะเพิ่มการตีพิมพ์สารคดีไทยบนปก National Geographic ให้มากขึ้นในอนาคต

คุณอาศิรา พนาราม รองบรรณาธิการบริหาร ที่ดูแลด้านสื่อออนไลน์โดยตรง พูดถึงการสร้างสรรค์เนื้อหานิตยสารในส่วนของเธอว่า เรามีกลยุทธ์ในการสร้างสรรค์เนื้อหาในเว็บไซต์ให้เป็นแหล่งอ้างอิงในการเรียนรู้ด้านวิชาวิทยาศาสตร์ สังคม และประวัติศาสตร์ในกับเด็กๆ วัยเรียน ซึ่งเป็นผลมาจากการสังเกตตัวเลขผู้มาใช้งานเว็บไซต์ซึ่งจะแปรผันตามช่วงเวลาเปิด-เปิดภาคเรียนของนักเรียน และนำไปสู่การต่อยอดการเปิดเนื้อหาในส่วนของ “การศึกษา” ซึ่งตั้งใจให้เป็นแหล่งแนะนำเนื้อหา หลักสูตร การเรียนรู้ ครู-อาจารย์ที่มีความโดดเด่นในเรื่องการให้การศึกษา นอกเหนือไปจากการนำเสนอเนื้อหาสารคดีปกติ

ในส่วนของกลยุทธ์เนื้อหาใน Social Media ได้ใช้หลักการ Time & Local Sensitive Content คือเน้นการนำเสนอเนื้อหาสารคดีที่อยู่ในกระแสความสนใจของคนไทยในแต่ละช่วง และนำเสนอความรู้สารคดีที่เกี่ยวข้องกับความสนใจของคนไทย เช่นการนำเสนอเรื่องราวของ “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ” ที่เพิ่งได้รับการเสนอให้เป็นมรดกโลกโดยยูเนสโก ก็สร้างยอดกับรับรู้แบรนด์ให้กับคนทั่วไปได้เป็นอย่างมาก

คุณเจรมัย พิทักษ์วงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจ Media and Event บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จํากัด (มหาชน) ระหว่างการประชุม

ด้าน คุณเจรมัย พิทักษ์วงศ์ กล่าวถึงการบริหารนิตยสารในเชิงธุรกิจว่า เนื่องจากนิตยสาร National Geographic อยู่ภายใต้บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จํากัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทสื่อมวลชน การจัดจำหน่ายหนังสือ และการจัดงานอีเวนท์ที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับต้นๆ ของประเทศไทย จึงทำให้มีโอกาสนำแบรนด์ของนิตยสารไปต่อยอดในวาระและโอกาสต่างๆ เพื่อพาแบรนด์ของนิตยสารไปยังผู้คนในหลากหลายช่องทาง นอกเหนือจากที่ร้านหนังสือเพียงอย่างเดียว เช่น การจัดประกวดและนิทรรศการภ่าย 10 ภาพเล่าเรื่อง, การเปิดพื้นที่จัดงานและการเสวนาโดยนิตยสาร ในงาน “บ้านและสวนแฟร์” ซึ่งเป็นงานอีเวนท์ขนาดใหญ่ จัด 2-3 ครั้ง/ปี และบรรดางานอีเวนท์อื่นๆ ที่อมรินทร์มีส่วนร่วม เป็นการเปิดโอกาสให้มีการนำเนื้อหาสารคดีไปสู่การนำเสนอผ่านงานอีเวนท์และ การจัดเวที เสวนา นิทรรศการ ที่หลากหลาย ซึ่งเกิดขึ้นได้โดยการใช้ประโยชน์ช่องทางธุรกิจที่หลากหลายของ บมจ. อมรินทร์ฯ ซึ่งส่งผลให้แบรนด์นิตยสาร National Geographic ฉบับภาษาไทย เติบโตมากขึ้น

แม้บรรณาธิการจาก 5 ประเทศจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่พึ่งพิงการจัดจำหน่ายนิตยสารเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป” ซึ่งเป็นเสียงสะท้อนอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อที่ยาวนานพอจนทำให้ “คนทำนิตยสาร” เริ่มปรับตัวกับโมเดลหารายได้ใหม่ๆ ซึ่งแต่ละประเทศก็ประสบความสำเร็จตามบริบทของตัวเองพอสมควร

แต่คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า รากฐานในสิ่งเหล่านี้เกิดจากความตั้งใจในการสร้าง “นิตยสาร” ที่อุทิศตนในการเป็นขุมทรัพย์ข้อมูลที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ การสำรวจโลก เข้าใจโลก การเรียนรู้ที่จะรักและอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ รวมไปถึงบทบาทการเป็นแนวหน้าการอนุรักษ์ธรรมชาติ ท่ามกลางโลกยุคปัจจุบันที่กำลังอยู่ในวิกฤตอันเนื่องมาจาก “ภาวะโลกรวน”

และนั่นคือนิตยสาร National Geographic

บรรณาธิการบริหาร และกองบรรณาธิการ National Geographic จาก 5 ประเทศ, ตัวแทนจาก National Geographic Asia, นักสำรวจ National Geographic Explorer และช่างภาพ National Geographic ถ่ายภาพร่วมกันที่นิทรรศการ 10 ภาพเล่าเรื่อง โดย National Geographic ฉบับภาษาไทย ในงาน Sustainability Expo 2023 (SX2023) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อ 7 ตุลาคม 2566

เรื่อง เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ


อ่านเพิ่มเติม Anand Varma วิทยาศาสตร์ผ่านภาพถ่าย และการถอดรหัส “สื่อสารให้ทรงพลัง” แบบ National Geographic ในงาน SX 2023

Anand Varma

Recommend