ศิลปิน สเตฟานี เจน เบิร์ท กับการสื่อสารเรื่องตัวตนที่ผู้หญิงต้องข้ามผ่าน

ศิลปิน สเตฟานี เจน เบิร์ท กับการสื่อสารเรื่องตัวตนที่ผู้หญิงต้องข้ามผ่าน

หนึ่งในศิลปะจากเทศกาล BAB 2022 ที่ตีความวรรณกรรมสู่ประเด็นสิทธิสตรี

ผลงานชื่อ “And so to mend her-gave me work Until another morn-“   (morn มาจาก morning) ของสเตฟานี เจน เบิร์ท (Stephanie Jane Burt) ศิลปินที่สร้างประติมากรรมไปจนถึงงานประพันธ์สมมุติ งานของเธอเชิญชวนให้ผู้ชมสำรวจบทสนทนาระหว่างงานของเธอและสถานที่ติดตั้ง ผ่านการเล่าเรื่องสมมติ โดยมีการอ้างอิงถึงภาพยนตร์และวรรณกรรม งานของเธอครอบคลุมประเด็นสตรีนิยม เพศ และการวิเคราะห์วัฒนธรรมของผู้หญิง เธอเป็นสมาชิกหนึ่งของกลุ่ม A Stubborn Bloom ซึ่งมีความสนใจเรื่องตัวแทนของความเป็นผู้หญิงในแฟชั่น ภาพยนตร์ และวัฒนธรรมทางวัตถุ

ผลงานชื่อยาวนี้มีที่มาจากกลอน The first Day’s Night had come – ของ เอมิลี่ ดิคเกนสัน (Emily Dickinson) กวีนิพนธ์ชาวอเมริกัน ที่ว่า

I told my Soul to sing –

She said her Strings were snapt –

Her Bow – to Atoms blown –

And so to mend her – gave me work

Until another Morn –

ในขณะที่งานนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมเรื่อง Jane Eyre ของ Charlotte Bronte ซึ่งเล่าเรื่องการเปลี่ยนผ่านของหญิงสาวคนหนึ่ง จากวัยเด็กแสนยากลำบากมาสู่ความสัมพันธ์ในแง่คนรักที่ยากลำบากไม่แพ้กัน แต่ท้ายที่สุด เธอก็ได้หาค้นหาเส้นทางของความเป็นอิสระ จนสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างแท้จริง

ด้านมืด ด้านสว่างในตัวตนของผู้หญิง

ผลงานนี้ขึ้นโครงสร้างเป็นประติมากรรมผ้า ซึ่งมีองค์ประกอบจำลองความป็นหญิงอยู่ภายในกรงขนาดใหญ่ จัดแสงให้มีมิติของความมืดความสว่างแตกต่างกันชัดเจน และเน้นจุดสนใจราวกับอยู่ในโรงละคร

เนื้อหาจากวรรณกรรมที่ศิลปินสนใจเป็นพิเศษคือตอนที่เจนกำลังจะแต่งงานกับนายรอสเชสเตอร์ แล้วค้นพบว่าเขามีภรรยาอยู่แล้ว เป็นหญิงวิกลจริตและก้าวร้าวที่เขาซ่อนไว้ในห้องใต้หลังคา

เนื้อหาตอนนี้เคยมีบทวิเคราะห์จากหนังสือชื่อ The Mad Woman in the Attic โดย Sandra n. gilbert และ Susan Gubar ที่ว่า เบอร์ธา (ภรรยาวิกลจริตของรอสเชสเตอร์) คืออีกด้านที่มืดมิดของเจน ดังนั้น การที่เจนจะเป็นอิสระได้ เบอร์ธาจะต้องตายเสียก่อน หนังสือเล่มนี้มีการตีความใหม่ในเชิงสตรีนิยมว่าเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่พรากชีวิตของเบอร์ธา คือด้านมืดที่เจน แอร์ต้องข้ามผ่าน นั่นคือการฆ่าด้านมืดในตัวตนของเธอ เพื่อที่จะได้รับชัยชนะของชีวิต

ผลงานติดตั้งของสเตฟานี้ เน้นไปที่ด้านทั้งสองของเจน จะเห็นได้ว่าสื่อถึงเจน แอร์และเบอร์ธาต่างถูกกักขังอยู่ในกรง โดยสร้างประติมากรรมนี้ให้ดูนุ่มนวล เพื่อแสดงให้เห็นความเป็นร่างกายของหญิงทั้งสอง

จากยุควิคตอเรียนถึงผู้หญิงในปัจจุบัน

ในยุควิคตอเรียน สิทธิของเพศหญิงถูกจำกัด หนทางเดียวที่ผู้หญิงจะมีที่ทางในสังคมคือการแต่งงาน พวกเธอไม่สามารถทำงานเพื่อพึ่งพาตัวเองได้ แต่ในวรรณกรรมเรื่องนี้นำเสนอมุมที่ต่างออกไป เจนสามารถหาทางอยู่ด้วยตัวเองได้ และสร้างฐานให้ตัวเองเท่าเทียมกับชายคนรัก ซึ่งมันสิ่งที่หายากในวรรณกรรมยุควิคตอเรียนทั้งหลาย

ประเด็นนี้ล้ำสมัยและก้าวหน้ามากในยุคนั้น และเนื้อหาบางอย่างจากวรรณกรรมเรื่องนั้นก็ยังสามารถเชื่อมโยงมาถึงผู้หญิงในยุคปัจจุบันได้ ศิลปินจึงสร้างเจนและร่างแยกในด้านมืดของเธอ ที่ต้องดิ้นรนอยู่ในกรงแห่งยุควิคตอเรียน

“And so to mend her-gave me work until another morn- “ ศิลปินชอบบรรทัดนี้จากกลอนเป็นพิเศษ และตีความใหม่เป็น “การที่เราจะเยียวยา (mend) ตัวเอง เราจะต้อง work on yourself เอาชนะและจัดการกับตัวเองให้ได้จนกระทั่งถึงวันใหม่อีกครั้ง” คือเราพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นมาก่อน

‘สุขภาพจิต’ เป็นอีกประเด็นที่สเตฟานี้คิดถึง สุขภาพจิตของผู้หญิงจะเป็นอย่างไรในสังคมที่กดทับอย่างยุควิคตอเรียน รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับสตรีหลายอย่างที่เกิดขึ้นคู่ขนานมาจากอดีตแล้วส่งมายังปัจจุบัน งานที่ว่าด้วยการกักขังและอิสรภาพเป็นหลัก ยังพูดถึงการดิ้นรนและสภาพลักษณะที่แบ่งแยกไม่ได้ของผู้หญิงทั้งสองคน

นอกจากประติมากรรมกรงขัง สเตฟานี เจน เบิร์ท ยังมีงานวิดีโออีกชิ้นหนึ่งที่แสดงคู่กัน คือวิดีโอ “ศิลปะในการครองเรือน”  ซึ่งเป็นวิชาที่สอนเกี่ยวกับการทำอาหาร การทำความสะอาด และการดูแลบ้าน ศิลปินได้จัดตั้งกลุ่มศิลปิน A Stubborn Bloom ร่วมกับเพื่อนซึ่งเป็นคิวเรเตอร์ด้านแฟชั่น พวกเธอศึกษาหนังสือเรียนของสิงคโปร์ในยุค 1970s ซึ่งพยายามบอกว่าเราควรจะทำหรือแสดงออกอย่างไรเพื่อที่จะดูสมกับเป็น ‘ผู้หญิง’ การตีความใหม่ของพวกเธอถูกแสดงในวิดีโอนี้ ที่สื่อว่าหากเป็นยุคนี้แล้ว เราควรจะวางตัวเองอย่างไร ผู้หญิงสามารถเลือกที่จะเป็นได้

– – – – –

ผลงานของ สเตฟานี เจน เบิร์ท เป็นส่วนหนึ่งในเทศกาล Bangkok Art Biennale 2022 จัดแสดงที่ JWD Art Space ซอยจุฬาลงกรณ์ 16 เขตปทุมวัน ได้ถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566

เรื่องและภาพ พิชามณชุ์ สุวรรณธวัช


อ่านเพิ่มเติม ชมงาน Cut Piece และ Changes ตัดขั้วให้ถึงหัวใจ ศิลปะการแสดงสดบอกอะไรเรา

Recommend