รายากับมังกรตัวสุดท้าย : ดิสนีย์นำเสนอความเป็นอาเซียนในแอนิเมชันอย่างไร

รายากับมังกรตัวสุดท้าย : ดิสนีย์นำเสนอความเป็นอาเซียนในแอนิเมชันอย่างไร

เป็นครั้งแรกที่ดิสนีย์ได้นำเสนอเรื่องราวของตัวละครเจ้าหญิงจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่าน รายา กับมังกรตัวสุดท้าย ทว่า ภาพยนตร์เรื่องสามารถแสดงออกถึงวัฒนธรรมจากภูมิภาคนี้ได้ดีเพียงใด

เรื่องราวในดินแดนจินตนาการ การต่อสู้ฝ่าฝันอุปสรรคของตัวละครเอก เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ปรารถนาในจิตใจ คือสูตรสำเร็จในการเล่าเรื่องของภาพยนตร์จากดิสนีย์หลายต่อหลายเรื่องด้วยกัน

บ่อยครั้งเช่นเดียวกันที่ดินแดนในจินตนาการเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นมาจากภูมิภาคหรือประเทศที่ใกล้เคียงกับโลกความเป็นจริงอย่าง ผจญภัยตำนานหมู่เกาะทะเลใต้  (Moana) ที่เชื่อว่านำมาต้นแบบมาจากประเทศแถบหมู่เกาะในเขตโอเชียเนีย มหาสมุทรแปซิฟิก อะลาดิน จากภูมิภาคตะวันออกกลาง หรือมู่หลาน ที่เชื่อว่าเป็นวีรสตรีต้นแบบจากประเทศจีนยุคโบราณ และหลังจากในรอบ 90 ปี การก่อตั้งสตูดิโอ ดิสนีย์ได้สร้างภาพยนตร์แอนิเมชันที่นำฉากหลังจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรก นั่นคือภาพยนตร์เรื่อง  รายากับมังกรตัวสุดท้าย (Raya and the Last Dragon)  ที่ทางทีมผู้สร้างกล่าวว่าได้รับแรงบันดาลใจจากการได้เดินทางไปในภูมิภาคดังกล่าว

รายา, รายากับมังกรตัวสุดท้าย, เจ้าหญิงดิสนีย์

รายากับมังกรตัวสุดท้าย เล่าเรื่องถึงนครสมมติที่ชื่อว่า คูมันตรา ที่ครั้งหนึ่งเป็นนครที่ทั้งมนุษย์และมังกรอยู่ร่วมกันเมื่อ 500 ปีก่อน โดยมังกรเป็นผู้ดูแลและดลบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์บนโลก จนกระทั่งมีปีศาจที่ชื่อว่า ‘ดรูน’ ที่มีลักษณะคล้ายหมอกควันเข้ามาทำร้ายมนุษย์ ทำให้เผ่าพันธุ์มังกรต้องเสียสละตัวเองเพื่อปกป้องมนุษย์และโลกใบนี้ไว้ ทิ้งไว้เพียงอัญมณีมังกร สิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนแห่งพลังจากมังกรที่คอยปกปักโลกนี้เอาไว้เบื้องหลัง แต่ตามตำนาน ยังมีมังกรตัวสุดท้ายที่ชื่อว่า ซิซู ที่ยังคงหลับใหลและซ่อนตัวอยู่หลังจากเหตุการณ์เสียสละของเผ่าพันธุ์ครั้งนั้น

ทว่าหลังจากนั้น ผู้คนในนครคูมันตราเกิดความขัดแย้งจนต้องแตกตัวเองออกเป็น 5 เผ่าใหญ่ และมีการแย่งชิงอัญมณีดังกล่าวซึ่งถูกเก็บรักษาไว้โดยเจ้าเมืองเบญจา เจ้าเมืองผู้มีความฝันว่าต้องการรวมผู้คนจาก 5 เผ่าดังกล่าวให้กลับมาเป็นนครคูมันตราอีกครั้ง ซึ่งมีรายา ลูกสาวของเขาได้ถูกคาดหวังไว้ให้เป็นผู้รักษาอัญมณีนี้ต่อไป แต่กลับเกิดเหตุการณ์ที่เจ้าเมืองทั้ง 5 บุกเข้าไปแย่งชิงอัญมณีจนแตกเป็นเสี่ยงๆ และเมืองแต่ละเมืองก็ได้ครอบครองเพียงชิ้นส่วนอัญมณีเท่านั้น และส่งผลให้ดรูนออกมาอาละวาดทำร้ายผู้คนอีกครั้ง เมื่อรายาเติบโตขึ้นจึงตัดสินใจออกผจญภัยตามหามังกรซิซูและรวบรวมอัญมณี เพื่อใช้พลังกอบกู้โลกจากปีศาจดรูนและผสานแผ่นดินที่แตกแยกกลับมารวมกันเป็นคูมันตาตามที่พ่อของเธอใฝ่ฝันได้อีกครั้ง

ความเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปรากฎภายในเรื่อง

เมื่อพิจาณาจากองค์ประกอบต่างที่ปรากฏในเรื่อง ผู้ชมจะพบว่านครคูมันตราในเรื่องมีการใช้ความเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แสดงออกในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นวังของเผ่าหัวใจ ซึ่งเป็นบ้านของเจ้าเมืองเบญจาและรายา การลักษณะการใช้สถาปัตยกรรมในรูปแบบไทยโบราณ (หรือประเทศในแถบเดียวกัน) รวมไปถึงเสื้อผ้าที่มีการสวมโสร่งและสไบ และอาหารที่ปรากฏในเรื่องซึ่งเป็นอาหารรูปแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชัดเจน

รายา, เจ้าเมืองเบญจา

รายา
รายาในวัยเด็ก และเจ้าเมืองเบญจาจากเผ่าหัวใจ ในภาพยนตร์แอนิเมชัน รายากับมังกรตัวสุดท้าย ภาพประกอบจาก Disney

นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ เช่นวังของเผ่าเขี้ยว บ้านของนามารีซึ่งเป็นคู่ปรับของรายา ก็มีลักษณะที่ชวนให้ผู้ชมนึกถึง ‘นครวัด’ ของกัมพูชา ลักษณะบ้านเมืองของเผ่าเล็บ ที่มีลักษณะคล้ายกับ’ ตลาดน้ำ’ ซึ่งเป็นลักษณะของตลาดที่ปรากฎในประเทศไทย ลาว หรืออินโดนีเซีย เมืองของเผ่าหาง ที่มีภูมิประเทศเป็นเส้นทางน้ำอันคดเคี้ยว ที่กลับมีความแห้งแล้งที่เด่นชัด ก็ชวนทำให้นึกถึง ‘แม่น้ำโขง’ ที่กำลังเจอปัญหากับภัยแล้งอยู่เป็นระยะเช่นเดียวกัน

เมืองของเผ่าหางเป็นเมืองที่รายาได้พบกับ ซิซู มังกรตัวสุดท้ายที่เธอตามหาเพื่อขอให้มาช่วยกอบกู้โลก โดยมังกรตัวนี้ได้รับอิทธิพลมาจาก ‘นาค’ สัตว์ในเทพนิยายอันเป็นความเชื่อร่วมของผู้คนแถบอุษาคเนย์ ซึ่งเปรียบเสมือนเทพเจ้าแห่งสายน้ำที่ดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์ให้กับมนุษย์ สอดคล้องกับบทบาทของเผ่าพันธุ์มังกรในภาพยนตร์ที่ทำหน้าที่ปกป้องและก่อให้เกิดความสมบูรณ์แก่ผู้คนในนครคูมันตรา และเรายังสามารถเห็นถึงภูมิประเทศเกาะในแบบบาหลี พื้นที่ป่าลึกในแบบเวียดนาม หรือลาว ในเรื่องได้เช่นเดียวกัน

รายากับมังกรตัวสุดท้าย
วังของเผ่าเขี้ยว ซึ่งทำให้ผู้ชมเชื่อว่าได้รับแรงบันดาลใจจากนครวัด ในกัมพูชา ภาพประกอบจาก Disney
รายา
ลักษณะของตลาดน้ำ วัฒนธรรมร่วมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปรากฎในภาพยนตร์ ภาพประกอบจาก Disney

นอกจากนี้ ภาพยนตร์ยังเสนอองค์ประกอบเล็กๆ ที่หยิบยืมเอาอัตลักษณ์จากประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์พาหานะคู่ใจรายาที่ชื่อว่า “ตุ๊กตุ๊ก” ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับยานพาหนะยอดนิยมในภูมิภาคนี้ อาวุธคู่ใจรายาที่มีลักษณะคล้าย ‘กริช’ อาวุธพื้นบ้านโบราณของอินโดนีเซีย ศิลปะการแสดงที่คล้ายกับหนังตะลุง รวมไปถึงศิลปะการต่อสู้ที่ปรากฎในเรื่อง อันเป็นการผสมผสานกันของมวยไทย ปันจักสีลัต และกระบี่กระบอง ซึ่งถือเป็นรูปแบบการต่อสู้ซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์รวมแถบภูมิภาค หรือไม่กระทั่งชื่อของ รายา ที่มีความหมายในภาษามาเลย์ว่า ‘การเฉลิมฉลอง’

ชิซู, มังกร
ตัวละคร ซิซู มังกรในเรื่อง ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจาก นาค สัตว์ในเทพนิยายแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาพประกอบจาก Disney

ความหลากหลาย’ คือภาพสะท้อนของอาเซียนในความคิดของผู้สร้าง  

ทีมงานภาพยนตร์ในเรื่องนี้มีหลายคนที่เป็นชาวเอเชีย หรือมีเชื้อสายจากภูมิภาคดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝน – ประสานสุข วีระสุนทร ที่ทำหน้าเป็นหัวหน้าฝ่ายสร้างสรรค์เรื่องราว (Head of story) หรือคนเขียนบทภาพยนตร์อย่าง  Adele Lim ชาวเอเชียเชื้อสายมาเลย์และ Qui Nguyen ชาวอเมริกันเชื้อสายเวียดนาม ซึ่ง Nguyen ก็ได้ให้สัมภาษณ์ถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า (สิ่งที่ปรากฎในเรื่อง) จะมีสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ซ่อนอยู่มากมายในภาพยนตร์เรื่องนี้

ด้าน ฝน – ประสานสุข ก็เป็นหนึ่งในทีมงานของ Southeast Asian Story Trust ซึ่งเป็นทีมทำงานที่ดิสนีย์สร้างขึ้นเพื่อรวบรวมศิลปินด้านต่างๆ ที่เป็นชาวเอเชีย และทีมนี้ได้ทำหน้าที่ปรึกษาในการสร้างภาพยนตร์ และในช่วงเตรียมการสร้าง ทีมงานจาก Southeast Asian Story Trust ได้เดินทางเพื่อทำการค้นคว้าในประเทศเอเชียตะวันออกฉียงใต้ ซึ่งส่งผลสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมต่างๆ ที่แสดงออกในเรื่องมีความสมจริง สอดคล้องกับบริบทความเป็นอาเซียนในนครคูมันตราได้อย่างแนบเนียน

รายาและมังกรตัวสุดท้าย
ภาพของรายาที่กำลังเผชิญหน้ากับนามารี เพื่อนในวัยเด็กที่กลายมาเป็นคู่ปรับคนสำคัญ ภาพประกอบจาก Disney
รายา, เจ้าหญิงดิสนีย์
รายาและ ตุ๊กตุ๊ก สัตว์พาหนะคู่ใจของเธอ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายอมาดิลโล และมีชื่อคล้ายกับยานพาหนะยอดนิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาพประกอบจาก Disney

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ทางผู้สร้างมีความตั้งใจแต่แรกว่าไม่ได้ให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นตัวแทนทางวัฒนธรรมของประเทศใดประเทศหนึ่ง ผู้ชมจึงอาจจะสังเกตเห็นได้ถึงความต่างทางวัฒนธรรมหลายอย่างซึ่งสามารถรับรู้ได้อย่างชัดเจนที่ผู้สร้างพยายามจับเอามาผสมรวมกัน สิ่งนี้น่าจะสะท้อนถึงความเป็นภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสายตาของผู้สร้างว่าเป็นดินแดนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม (และมีความแตกแยกในบางช่วงเวลา) ซึ่งบางครั้งในโลกความเป็นจริง ประเทศในอาเซียนเองก็ไม่อาจให้คำนิยามถึงอัตลักษณ์ของประเทศของตนเองว่าเป็นอย่างไรหรือมีความแตกต่างอย่างไรเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านของตน ซึ่งความต่างในความเหมือนนี้เองคือสิ่งที่ทำให้วัฒนธรรมอาเซียนมีเสน่ห์ในสายตาชาวโลก

องค์ประกอบความทางวัฒนธรรม เมื่อรวมกับการสร้างสรรค์เรื่องราวการผจญภัยของวีรสตรีในแบบดิสนีย์ ซึ่งในความเห็นของผู้เขียน ดิสนีย์สามารถทำได้ตามมาตรฐาน ทำให้ผู้ชมเกิดความบันเทิงในเรื่องราวการผจญภัยได้ เมื่อรวมกับการสร้างสรรค์ตัวละครที่มีเสน่ห์  แก่นเรื่องที่สามารถพูดถึงการเชื่อใจและไว้ใจผู้อื่น ก็สามารถทำให้ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้เป็นที่น่าประทับใจของผู้ชมอีกหลายคน และทำให้ตัวละคร รายา สามารถเป็นเจ้าหญิงดิสนีย์คนใหม่จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างสง่างามในความคิดผู้ชมทั่วโลก

เรื่อง เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ

แหล่งอ้างอิง
รีวิว Raya and the Last Dragon การผจญภัย มังกรน้ำตัวสุดท้าย และก้าวแรกของความเชื่อใจ
[รีวิว] Raya and the last dragon รายากับมังกรตัวสุดท้าย – ผนึกกำลังอาเซียนฉบับดิสนีย์
รายากับมังกรตัวสุดท้าย : ถอดรหัสวีรสตรีคนใหม่ของค่ายดีสนีย์ เป็นตัวแทน 670 ล้านคนของอุษาคเนย์ได้จริง ?
The Flawed Fantasy World of Raya and the Last Dragon
With Disney’s Raya and the Last Dragon, I feel seen
Raya and the Last Dragon’s Many Cultural Influences Make for a Distinct World
Raya and the Last Dragon: The 5 Regions Of Kumandra Explained

อ่านเพิ่มเติม 10 ข้อเท็จจริงที่คุณอาจไม่รู้เกี่ยวกับ อะลาดิน

อะลาดิน

Recommend