ทั้ง การล้อเลียน ความอ้วน และการวิพากษ์วิจารณ์ถึงน้ำหนัก ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ามันสร้างปัญหาทุกอย่าง ตั้งแต่ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล การกินที่ผิดปกติ และผลกระทบต่อสุขภาพจิตอื่นๆ ทำให้สุขภาพร่างกายย่ำแย่อาจถึงขั้นเสียชีวิต แต่กระนั้นผู้คนก็ยังพูดถึงมันอยู่บ่อย ๆ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ได้รายงานถึงความรู้สึกที่คนน้ำหนักเกินมาตรฐานมีกันมานาน นั่นคือ ‘ความละอายใจเกี่ยวกับรูปร่างและน้ำหนัก’ (Weigth and Body Shaming) ที่กำลังก่อตัวขึ้นในสังคมและได้สร้างบาดแผลต่อคนที่ถูกตีตราเช่นนั้น และปัญหานี้กลายเป็นเรื่องเร่งด่วนมากขึ้น
และเมื่อสถาบันการศึกษากุมารเวชศาสตร์อเมริกัน (American Academy of Pediatrics) ได้เผยแพร่แนวทางที่สนับสนุนการรักษาแบบรุนแรงกับเด็กหรือวัยรุ่นที่มีน้ำหนักมาก สิ่งนี้กระตุ้นให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากทำให้ครอบครัวของเด็กตำหนิถึงเรื่องน้ำหนักมากกว่าเดิม และมันอาจสร้างบาดแผลทางจิตใจได้
หลายครั้งญาติ หรือแม้แต่บุคคลากรทางการแพทย์เองก็เชื่อว่า ‘การประนามคนอื่นถึงเรื่องน้ำหนัก’ สามารถช่วยให้คนถูกตักเตือนมีความตั้งใจที่อยากจะลดน้ำหนักขึ้นมาได้ กระนั้น มีผลการวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงทิศทางตรงกันข้าม
“เมื่อผู้คนรู้สึกละอายใจเกี่ยวกับน้ำหนักของตนเอง ก็จะเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้น้ำหนัก (ของพวกเขา) เพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป” รีเบคกา พูลฮ์ (Rebecca Puhl) รองผู้อำนวยการศูนย์นโยบายอาหารและสุขภาพรัดด์แห่งมหาวิทยาลัยคอนเนคติกันกล่าว
ขณะที่ แมรี ฮิมเมลสไตน์ (Mary Himmelstein) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเคนต์สเตทกล่าวว่า “มีความเชื่อที่ว่า คนที่มีน้ำหนักมากนั้นมาจากพฤติกรรมเกียจคร้านของพวกเขาเอง” มันกลับกลายเป็นสัญญาณของการไม่มีความมุ่งมั่น
ทั้ง ๆ ที่วิทยาศาสตร์ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามี ปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้คนมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ เช่น พันธุกรรม สภาพแวดล้อมทางกายภาพและวัฒนธรรม หรือแบคทีเรียในลำไส้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ และการอดอาหารก็ไม่ช่วยให้ทำได้สำเร็จ แม้ว่าคนที่น้ำหนักมากจะพยายามมาหลายปีก็ตาม
บ่อยครั้งการวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องน้ำหนักกลับยิ่งทำให้กินมากขึ้นไปอีก พูลฮ์และฮิมเมลสไตน์พบว่า ผู้ที่ถูกเยาะเย้ยเกี่ยวกับน้ำหนักและรูปร่างเป็นประจำจนถึงจุดจุดหนึ่ง พวกเขามีแนวโน้มจะกินมากขึ้นหรืออาจกินมากเกินไป อีกทั้งไม่สนใจที่อยากจะออกกำลังกายอีกต่อไป
.
ในสมัยก่อน เมื่ออาหารขาดแคลน ร่างกายที่ใหญ่โตจะแสดงถึงความมั่งคั่ง แต่เมื่อถึงศตวรรษ 20 ที่มีอาหารมากมาย อุดมคติด้านความงามก็กลับตาลปัตร ผู้คนที่มีขนาดร่างกายที่ใหญ่ขึ้นเป็นที่ต้องการน้อยลง และเป็นรูปร่างอันดับท้ายๆ ที่ได้รับการเคารพนับถือน้อยที่สุด
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์และนักจิตวิทยาพยายามที่จะลดอคติเหล่านี้ เช่นการให้ความรู้เกี่ยวกับปัจจัยอันซับซ้อนที่อยู่เบื้องหลังความอ้วน แต่ผลที่ได้ก็ยังไม่ยั่งยืน ขณะที่พูลฮ์คิดว่าอาจทำอะไรมากไม่ได้นักหากบรรทัดฐานทางสังคมยังเป็นเช่นนี้อยู่
“ผู้คนถูกห้อมล้อมในชีวิตประจำวันด้วยข้อความที่ตอกย้ำความน่าละลายใจ มากกว่าการสนับสนุนที่ท้าทาย” พูลฮ์ระบุ “หากกเราต้องการลด (อคติเรื่องน้ำหนัก) อย่างแท้จริง เราต้องการสิ่งที่ใหญ่กว่า ชัดเจนกว่า กว้างกว่าเพื่อเปลี่ยนแปลง”
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.nationalgeographic.com/science/article/weight-shaming-frequently-backfiresso-why-are-doctors-and-family-doing-it