ประชากรจีน กำลังหดตัว -ประเทศที่มีคนกว่า 1,400 ล้านคน กำลังขาดแคลนประชากร อาจฟังดูย้อนแย้ง
ความภาคภูมิในอัตลักษณ์ และความแข็งแกร่งของจีนผูกโยงกับประชากรจำนวนมหาศาลมาตลอดประวัติศาสตร์ การผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจ ในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดของจีนก็ได้พลังส่งจากแรงงานที่ดูเหมือนไม่จำกัด หรือคนหลายร้อยล้านที่อพยพเข้าสู่เมืองใหญ่ๆ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่พุ่งทะยานอย่างน่าวิงเวียนตลอดสี่ทศวรรษ ทำให้จีนแผ่รังสีของยักษ์ใหญ่จอมพลังที่ไม่มีใครหยุดยั้งได้ ด้วยจำนวน ประชากรจีน ที่เทียบคร่าวๆ เท่ากับประชากรไนจีเรียเจ็ดเท่า ไทย 22 เท่า และสวีเดน 140 เท่า
แต่จีนมาถึงจุดพลิกผันแล้ว ประชากรจีน หดตัวลงเมื่อปีที่แล้ว อันเป็นจุดเริ่มต้นของการลดลงอย่างต่อเนื่องยาวนาน ที่นักประชากรศาสตร์คาดการณ์ว่าจะดำเนินต่อไปตลอดช่วงเวลาที่เหลือของศตวรรษนี้ เหตุผลหลักก็คืออัตราการเกิด ของจีนลดลงถึงจุดต่ำสุดนับตั้งแต่การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนเมื่อปี 1949 ลำพังในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา จำนวนการเกิดลดลงเกือบครึ่ง จาก 18 ล้านคนเมื่อปี 2016 เหลือ 9.6 ล้านคนในปี 2022 ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ต่อให้อัตราการเกิดคงที่ ประชากรจีนจะยังคงลดลงร้อยละ 50 หรือมากกว่าภายในปี 2100
การลดลงเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นของการแต่งงานและ การเลี้ยงดูลูก และนโยบายลูกคนเดียวที่เข้มงวด ราวกับเพื่อฉลองช่วงเวลานี้ในประวัติศาสตร์ การรั้งตำแหน่งประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกตลอดหลายร้อยปีของจีนจะสิ้นสุดลงในปีนี้ โดยอินเดียแซงหน้าขึ้นแทนที่
ประชากรที่หดตัวลงมีแนวโน้มจะทำให้การก้าวไปสู่ความโดดเด่นทางเศรษฐกิจระดับโลกที่ดูเหมือนไม่หยุดยั้งของจีน ชะลอตัวหรือกระทั่งหยุดชะงัก แรงงานที่หดตัวอยู่แล้วจะแบกภาระดูแลประชากรสูงอายุที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วงยี่สิบห้าปีข้างหน้าได้อย่างไร และรัฐบาลจีนจะส่งเสริมการเกิดอย่างไรหลังจากสั่งห้ามประชาชนมากว่า 35 ปี “นี่คือการลดลงของประชากรครั้งประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนครับ” หวังเฟิง นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเออร์ไวน์ บอก
จีนไม่ใช่ประเทศเดียวที่กำลังขยับไปสู่วิกฤติประชากร อัตราการเกิดที่ลดลงและอายุคาดเฉลี่ยที่ยืนยาวขึ้นกลายเป็นบรรทัดฐานของชาติเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่เจริญแล้ว ส่วนผสมนี้พลิกพีระมิดประชากรให้กลับตาลปัตรตั้งแต่เอเชียตะวันออกไปถึงยุโรปตะวันตก จีนกำลังพุ่งลงไปตามเส้นทางสังคมผู้สูงอายุที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ล่วงหน้าไปก่อน เมื่อปี 2021 เกาหลีใต้มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำที่สุดในโลก หรือเท่ากับอัตราเด็กเกิดมีชีพ 0.81 คน ต่อผู้หญิงหนึ่งคน จีนไล่หลังมาไม่ห่างที่ 1.16 หรือแทบไม่ถึงครึ่งของ “อัตราการทดแทน” ที่จำเป็นในการรักษาจำนวนประชากรให้คงที่
การเปลี่ยนโฉมประเทศอย่างรวดเร็วเหลือเชื่อผลักดันจีนไปสู่จุดเปลี่ยนเร็วกว่าชาติอื่นๆ แต่นโยบายลูกคนเดียว ยังเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาด้วย นโยบายที่เริ่มใช้เมื่อปี 1980 เพื่อมุ่งแก้ปัญหาประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กลับกลาย เป็นการเร่งให้เกิดผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลจีนยกเลิกนโยบายดังกล่าวเมื่อปี 2016 แต่อัตราการเกิดยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง
ในโลกที่ประชากรเพิ่มขึ้นเท่าตัวในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา คำถามเร่งด่วนสำหรับจีนและประเทศที่พัฒนามากกว่าอื่นๆอาจฟังดูแปลกๆ นั่นคือพวกเขาจะหลีกเลี่ยงวิกฤติประชากรได้อย่างไร รัฐบาลจีนพยายามดิ้นรนหาคำตอบ สีจิ้นผิง ผู้นำสูงสุดของจีน ลั่นวาจาที่จะ “พัฒนากลยุทธ์การพัฒนาประชากร” และ “สร้างระบบนโยบายเพื่อกระตุ้นอัตราการเกิด” การรับมือกับปัญหาการล่มสลายของประชากรต้องการมากกว่าแผนหรือนโยบายเชิงวิศวกรรมสังคม ในประเทศจีน นี่อาจบีบให้รัฐบาลรับมือกับประเด็นละเอียดอ่อนอื่นๆ เช่น ความเท่าเทียมทางเพศ การอพยพย้ายถิ่น การดูแลผู้สูงอายุ และข้อจำกัดต่างๆของเทคโนโลยีระดับสูงด้วยซ้ำ “ไม่เคยมีประเทศไหนแก้ปัญหานี้ได้ครับ” ไช่หย่ง นักประชากรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา วิทยาเขตแชเพิลฮิลล์ บอก
เพื่อทำความเข้าใจความเร็วในการพลิกกลับของประชากรจีน เราต้องย้อนไปในทศวรรษ 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศส่วนใหญ่เกิดความตื่นกลัวว่า ประชากรโลกอาจพุ่งพรวดจนขีดความสามารถในการผลิตอาหารตามไม่ทัน การตระหนักถึงอันตรายในเรื่องนี้เข้มข้นเป็นพิเศษในจีนที่ซึ่งประธานเหมาส่งเสริมการมีลูกมากเพื่อความแข็งแกร่งของมาตุภูมิ ตลอดหลายปี บรรดาผู้นำยุคใหม่ของจีนภายใต้เติ้งเสี่ยวผิงกลัวว่า ประชากรที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วจะส่งผลเสียต่อ การเติบโตทางเศรษฐกิจและนำไปสู่ทุพภิกขภัยอีกครั้ง “จีนในทศวรรษ 1970 ยากแค้นเสียจนเหล่าผู้นำวิตกว่า ‘เราจะหาอาหารมาเลี้ยงมวลชนอย่างไร เราจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตร้อยละเจ็ดต่อปีได้อย่างไร’ ” ไช่หย่งจากมหาวิทยาลัย นอร์ทแคโรไลนา บอกและเสริมว่า “วิธีที่เร็วที่สุดก็คือการจำกัดจำนวนปากท้องที่ต้องหาเลี้ยงไงครับ”
ตรรกะดังกล่าวนำไปสู่การทดลองทางวิศวกรรมสังคม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเรื่องใกล้ตัวที่สุดของครอบครัวชาวจีนเป็นเวลา 36 ปี เหล่าผู้นำจีนอ้าง (โดยไม่มีหลักฐานชัดเจน) ว่า นโยบายลูกคนเดียวป้องกันการเกิดกว่า 400 ล้านชีวิต ลดภาระทางสิ่งแวดล้อมให้โลกได้อย่างมหาศาล และจุดกระแสความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องที่จะช่วยให้ชาวจีนกว่า 750 ล้านคนพ้นจากความยากจน ตามข้อมูลของธนาคารโลก ขณะเดียวกัน คนจำนวนมากที่วิพากษ์นโยบายดังกล่าวก็ชี้หลักฐานว่า ข้อจำกัดต่างๆที่รุกล้ำสิทธิของพลเมืองส่งผลให้เกิดการบังคับทำหมัน การทำแท้งเพื่อเลือกเพศบุตร และการฆ่าทารก หลายล้านกรณี และทำให้โครงสร้างประชากรเสียสมดุล โดยมีผู้ชายและประชากรวัยผู้ใหญ่ มากเกินไป และมีคนหนุ่มสาวน้อยเกินไป
ในที่สุด เมื่อนโยบายลูกคนเดียวถูกยกเลิกในปี 2016 รัฐบาลจีนคาดหวังว่า ความปรารถนาจะมีครอบครัวใหญ่ที่ถูกกดมานานจะทำให้ผู้คนคิดจะมีลูกมากอีกครั้ง แต่ไม่เป็นผล หลังจากขยับขึ้นเล็กน้อย อัตราการเกิดก็ลดลงต่อไป การล็อกดาวน์ช่วงการระบาดใหญ่ทั่วโลกและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจมีแต่จะเร่งให้ตัวเลขดิ่งลง ดังที่ไช่หย่งเปรียบเปรยว่า “เหมือนผีซ้ำด้ำพลอย”
เมื่อปี 2021 เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังผลสำรวจสำมะโนประชากรใหม่เผยอัตราการเกิดที่ดิ่งลงอีกครั้ง รัฐบาลจีนประกาศแนวทางใหม่ “นโยบายลูกสามคนเริ่มต้นขึ้นแล้ว!” คือพาดหัวข่าวจากสื่อของรัฐ “คุณอยากมีลูกหรือไม่” การสำรวจความคิดเห็นแบบออนไลน์ที่สำนักข่าวซินหัวจัดทำขึ้น ส่อเค้าไม่ดีนัก จากผู้ตอบแบบสำรวจ 30,500 คนแรก มี 28,000 คนบอกว่าพวกเขา “ไม่เคยมีความคิด” ที่จะมีลูกสามคนเลย แบบสำรวจนี้หายไปจากเว็บไซต์อย่างรวดเร็ว “ถ้าคนเราเลี้ยงลูกหนึ่งหรือสองคนไม่ไหว พวกเขาจะมีลูกสามคนได้อย่างไรคะ” เผิงซิ่วเจี้ยน นักประชากรศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิกตอเรียในออสเตรเลีย ตั้งคำถาม
เรื่อง บรุก ลาร์เมอร์ และเจน จาง
ภาพถ่าย จัสติน จิน
แปล ศรรวริศา เมฆไพบูลย์
ติดตามสารคดี จีน ประเทศที่ประชากรกำลังหดตัว ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือน เมษายน 2566
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/574217