คนรักเพศเดียวกัน บริจาคเลือด ไม่ได้? ทำไม อย. สหรัฐฯ (FDA) ผ่อนปรนข้อจำกัดในการให้เลือดคนรักเพศเดียวกัน

คนรักเพศเดียวกัน บริจาคเลือด ไม่ได้? ทำไม อย. สหรัฐฯ (FDA) ผ่อนปรนข้อจำกัดในการให้เลือดคนรักเพศเดียวกัน

ลูคัส ปิเอทร์ซัก (Lukas Pietrzak) บริจาคเลือด ครั้งแรกเมื่อปี 2013 ตอนที่เขายังเป็นนักเรียนมัธยมปลายเพื่อช่วยชีวิตพ่อที่ประสบอุบัติเหตุจากการปั่นจักรยาน ทำให้เขาอยากบริจาคอีกครั้งเพื่อช่วยชีวิตคนอื่น ๆ แต่กลายเป็นว่านั่นคือครั้งสุดท้าย เพราะว่าเขาคือคนรักเพศเดียวกัน

ตามกฎของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น ซึ่งเป็นนโยบายที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 1980 คือห้ามไม่ให้ผู้ชายที่เป็นเกย์และกะเทยบริจาคเลือด “ผมรู้สึกราวกับว่าเลือดของเราสกปรก ราวกับว่ามันไม่ดีพอที่จะช่วยชีวิตคนได้” ปิเอทร์ซัก กล่าว

ข้อจำกัดการบริจาคโลหิตนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 เกย์และไบเซ็กชวลเป็นหนึ่งในกลุ่มที่รับผลกระทบสูงจากการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี (HIV) / เอดส์ (AIDS) ในสหรัฐอเมริกา ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาด (CDC) ได้พบผู้ป่วยหลายพันรายที่ติดเชื้อเอชไอวีผ่านการถ่ายเลือด

เสริมด้วยปัจจัยอีกหลายด้านไม่ว่าจะเป็น ไวรัสที่ยังไม่แสดงลักษณะที่ชัดเจน ไม่มีวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีการวินิจฉัยมีข้อจำกัด และการตรวจเลือดยังไม่สามารถใช้ได้อย่างกว้างขวาง ดัวยเหตุนี้ทาง FDA จึงห้ามการบริจาคเลือดจากชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายอื่น
.
แม้การทดสอบเอชไอวีรุ่นแรกจะออกสู่ตลาดในกลางทศวรรษที่ 1980 แต่ก็ต้องใช้ระยะเวลานานหลายเดือนนกว่าผลการตรวจเลือดจะออก ข้อจำกัดเหล่านี้ยังคงทำให้คนรักเพศเดียวกันถูกห้ามบริจาคเลือดต่อไป แม้ว่าหลายปีที่ผ่านมา วิธีการตรวจจะรวดเร็วกว่าเดิมหลายเท่า แต่ระเบียบก็ยังคงห้ามไว้ชัดเจน

อย่างไรก็ตามทาง FDA เองได้ตัดสินใจปรับเปลี่ยนเมื่อปี 2015 ซึ่งอนุญาตให้คนรักเพศเดียวกันที่ ‘ไม่มีเพศสัมพันธ์’ กับชายอื่นเป็นเวลา 1 ปีขึ้นไปสามารถบริจาคเลือดได้เท่านั้น จากที่เคยห้ามเด็ดขาด กระนั้น ก็ยังมีการถกเถียงกันระหว่างฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

“ไม่ใช่เกย์หรือไบทุกคนที่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเพศที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงติดเชื่อเอชไอวี” แดเนียล บรูเนอร์ (Daniel Brune) สถาบัน จากWhitman-Walker ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบริจาคโลหิตมาหลายปีแล้ว กล่าว

เขาชี้ให้เห็นว่าระเบียบนี้ไม่ได้ยกเว้นให้กับ เกย์ที่มีคู่สมรสคนเดียว ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย หรือผู้ที่ตรวจหาเชื้อเอชไอวีและได้ผลลบ (คือไม่มีเชื้อ) และแม้ว่าหน่วยงานรัฐบาลกลางจะลดกรอบจาก 1 ปี ให้เหลือเป็น 3 เดือนในปี 2020 ที่ผ่านมา แต่ เคทท์ ซิเกล (Keith Sigel) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อกล่าวว่าก็ยังไม่เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ที่ควรจะเป็น

ทำให้เมื่อปี 2021 มีการศึกษาที่ได้รับทุนจากหน่วยงาน FDA เพื่อพิจารณาแบบสอบถามที่สามารถใช้เป็นทางเลือกในการพิจารณาความเสี่ยงด้านเอชไอวีในกลุ่มคนรักเพศเดียวกันที่ต้องการบริจาคเลือด แทนการใช้ระยะเวลาเป็นตัวกำหนด

ชายเกย์และไบเซ็กชวลเกือบ 2,000 คนใน 8 เมือง อายุระหว่าง 18 ถึง 39 ปี ที่อาสาบริจาคเลือดตัวอย่างที่ผ่านการตรวจหาเอชไอวี พร้อมตอบคำถามเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศของพวกเขาว่ามีคู้นอนกี่คนในเดือนที่แล้ว 3 เดือนที่แล้ว และ 12 เดือนที่ผ่านมา ทางปากหรือทวารหนัก และใช้ถุงยางอนามัยหรือไม่เป็นต้น รวมถึงการใช้ยา PrER (ที่ใช้ในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี) ด้วย

แนวคิดคือการจับคู่คำตอบเหล่านี้เข้ากับผลการทดสอบเอชไอวี และกำหนดว่าพารามิเตอร์เฉพาะใดที่สามารถบ่งชี้ถึงบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเอชไอวีในท้ายที่สุด ด้วยความหวังว่าผลลัพธ์ที่ได้จะช่วยเปลี่ยนแปลงการห้ามบริจาคโลหิตได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงเพศหรือรสนิยมทางเพศ

“ผมหวังว่านี่จะเป็นการก้าวไปสู่นโยบายการบริจาคเลือดที่เท่าเทียมกัน” ปิเอทร์ซัก กล่าว “ผมเข้าใจ เราต้องรักษาสมดุลระหว่างวิทยาศาสตร์กับความปลอดภัยของเลือด”

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com/premium/article/why-fda-ease-limits-gay-bisexual-men-blood-donation-hiv

อ่านเพิ่มเติม ประวัติศาสตร์ของสังคม ชายเป็นใหญ่

 

Recommend