ไอติมวัดอรุณ หรือ ไอศกรีมลายกระเบื้องวัดอรุณ คือ ซอฟต์พาวเวอร์ ที่กำลังโด่งดังและถูกพูดถึงทั้งในกลุ่มคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงนี้ แต่นอกจากรสชาติ สีสัน ลวดลาย ที่ชวนให้นำมาถ่ายรูปแล้ว ไอติมวัดอรุณ ยังเป็นมากกว่า ขนม หรือ ของหวาน เพราะมีสิ่งที่แฝงอยู่ในปรากฏการณ์ครั้งนี้มากมาย
ทำความรู้จักกับ ไอศกรีมลายกระเบื้องวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
ไอศกรีมลายกระเบื้องวัดวัดอรุณ มีขายเฉพาะที่ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดแจ้ง อีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่มีชื่อเสียงที่สุดในกรุงเทพฯ ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้เข้ามาชมความงามของสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะกลุ่มพระพุทธปรางค์ทรงคุณค่าและลวดลายกระเบื้องเคลือบหลากสีโบราณ
แบรนด์ Pop Icon ได้แรงบันดาลใจจากความสวยงามของลายกระเบื้องอันโดดเด่นของวัดอรุณฯ จึงทำ ไอศกรีมลายกระเบื้องแบบ 3 มิติ ออกมาจำหน่าย 2 รสคือ รสกะทิอัญชันอบควันเทียน (สีฟ้า) และ รสชาไทย (สีส้ม) โดยตั้งชื่อว่า ดอกไม้รุ่งอรุณ หรือ Flower of Dawn ล้อกับ Temple of Dawn ชื่อของวัดอรุณฯ
ทั้งนี้ การดีไซน์ ดอกไม้รุ่งอรุณ ทาง แบรนด์ Pop Icon ต้องการให้นักท่องเที่ยวสามารถเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและศิลปะของไทยแบบใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม แต่กลับกลายเป็นว่า ดอกไม้รุ่งอรุณ ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางกว่าที่คิด ไม่เฉพาะชาวต่างชาติ แม้แต่คนไทยก็สนใจเดินทางไปชิมและถ่ายภาพไอติมสองรสดังกล่าว จนกลายเป็นกระแสไวรัลในโลกออนไลน์ ที่สำคัญยังเป็นการโปรโมทการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพมาก เพราะภาพและเรื่องราวของ ไอติมวัดอรุณ ได้รับความสนใจสูงจนถูกแชร์ต่อไปในหลายประเทศทั่วโลก
สะท้อนประวัติศาสตร์ผ่านศิลปะไทย-จีน
กระเบื้องเคลือบสีสันสดใสในพระปรางค์วัดอรุณฯ ถือเป็นเอกลักษณ์พิเศษของวัดอรุณฯ ที่ไม่ค่อยพบในวัดอื่นๆ โดยรูปแบบการประดับตกแต่งประเภทนี้มีการผสมผสานระหว่างศิลปะไทยกับจีน กับการนำกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ ถ้วยชามหรือเศษชิ้นส่วนภาชนะดินเผามาประกอบกันเป็นลวดลาย ซึ่งที่เห็นได้บ่อยคือการตกแต่งหน้าบันของอาคาร และประดับบนผิวของเจดีย์กับพระปรางค์
สำหรับสถาปัตยกรรมของพระปรางค์วัดอรุณฯเป็นปรางค์สมัยรัตนโกสินทร์แบบอิทธิพลขอมของอยุธยา องค์พระปรางค์ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ เปลือกหอย เครื่องถ้วยชามเบญจรงค์ที่ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศจีน บางส่วนทำเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยนำมาประกอบกันเป็นลายดอกไม้และใบไม้อันเป็นลักษณะเด่นของศิลปะสมัยรัชกาลที่ 3
ด้าน ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง นำเสนอเรื่องกระเบื้องวัดอรุณไว้ในหนังสือเรื่องรู้เรื่องสถูปเจดีย์ว่า เทคนิคการประดับดังกล่าวนี้น่าจะมีที่มาจากเทคนิคการประดับตกแต่งในศิลปะจีน หรือที่เรียกว่า เซี่ยนฉือ ดังที่ ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช ผู้เชี่ยวชาญศิลปะจีน ได้อธิบายไว้ว่า เทคนิคนี้แพร่หลายในศิลปะจีนในเขตแต้จิ๋ว-ฮกเกี้ยน ซึ่งนิยมนำมาใช้ประดับตกแต่งหลังคาของศาลเจ้าจีน
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ระบุว่า สมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงรำลึกถึงความแตกสามัคคี กระทั่งนำไปสู่การล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา พระองค์จึงทรงรวบรวมถ้วยชามกระเบื้องเคลือบจีนและเศษกระเบื้อง ที่แตกกระจายจมน้ำจมดินในกรุงศรีอยุธยา มีจำนวนมาก ที่พม่าไม่สนใจไยดี พระองค์โปรดฯ ให้นำมาตกแต่งยอดพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ศิลปะปูนปั้นกึ่งไทยกึ่งจีนที่งดงามวิจิตรประดับด้วย ถ้วยชามกระเบื้องลายคราม และเศษกระเบื้อง
ถ่ายทอดวัฒนธรรมไทยร่วมสมัย
อาจกล่าวได้ว่านอกจาก ไอติมวัดอรุณ จะเป็น Soft Power ที่น่าสนใจ อีกแง่หนึ่งก็มีความเป็นวัฒนธรรมไทยร่วมสมัย ทั้งความนิยมการทานไอศกรีมแท่งเสียบไม้ของคนไทยเพื่อคลายร้อน และ รสชาติชาไทย ที่แน่นอนว่ามาจากหนึ่งเครื่องดื่มชื่อดังที่สร้างชื่อเสียงไปทั่วโลก (ปีที่ผ่านมา ชาไทยเย็น คว้าอันดับ 7 ของโลกในหมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่รสชาติอร่อยที่สุด)
ส่วนรสอัญชันอบควันเทียน ก็เป็นรสชาติที่นำเสนอความเป็นไทยทั้ง ดอกอัญชัน ที่คนไทยนำมาใช้ประโยชนืในชีวิตประจำวันมากมาย และ การอบควันเทียน วิธีเพิ่มความหอมให้กับอาหารและขนมอย่างพิถีพิถันแบบฉบับคนไทย โดย สีฟ้า สื่อถึงเครื่องลายครามที่อยู่บนพระปรางค์วัดอรุณ
ขณะเดียวกัน Pop Icon ยังเพิ่มลูกเล่นสุดสร้างสรรค์ด้วยการใส่คติธรรมให้กำลังใจสั้นๆเป็นภาษาไทยลงไปในไม้ไอติม เมื่อทานหมด ก็จะเห็นข้อความบนไม้ไอติม คล้ายๆกับการเสี่ยงเซียมซีในวัดที่คนไทยชอบทำกัน สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งการเรียนรู้วัฒนธรรมไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างดี
รวม Soft Power วัดอรุณฯ ก่อน ไอศกรีมลายกระเบื้อง
ที่ผ่านมา Soft Power เด่นๆของ วัดอรุณฯ มีอยู่ประมาณ 3 อย่าง ได้แก่ 1. ยักษ์วัดแจ้ง พญายักษ์ที่เป็นธรรมบาลผู้คุ้มครองธรรม คุ้มครองโลก คุ้มครองคนดี ตัวแทนของเทวดามเหสักข์แห่งวัดอรุณฯ โดยยักษ์กายสีขาวชื่อ สหัสเดชะ และยักษ์กายสีเขียวชื่อ ทศกัณฐ์ ทั้งสองตนปั้นด้วยปูน ประดับกระเบื้องเคลือบสีเป็นลวดลายเครื่องแต่งตัว คือพญายักษ์ที่งดงาม เมื่อเทียบกับศักดิ์ของยักษ์วัดโพธิ์แล้วยักษ์วัดแจ้งมีศักดิ์สูงกว่า เนื่องจากเป็นพญายักษ์ระดับจอมยักษ์
แนวคิดการสร้าง ยักษ์วัดแจ้ง มาจากความเชื่อว่ายักษ์ที่เฝ้าซุ้มประตูมีอิทธิฤทธิ์ในการขับไล่ภูติ ผี ปีศาจ จึงมีหน้าที่ปกปักรักษาสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีค่าที่อยู่ด้านใน ซึ่งนอกจากจะเป็นจุดถ่ายภาพแล้ว ยักษ์วัดแจ้ง ยังถูกนำไปสร้างเป็นของที่ระลึก ลวดลายบนเสื้อผ้า และ วัตถุมงคล รวมถึงเคยมีการนำตำนานยักษ์วัดโพธิ์กับยักษ์วัดแจ้ง มาเป็นคาแรคเตอร์ในภาพยนตร์ไทยอย่าง ท่าเตียน กับหนังร่วมทุนไทย-ญี่ปุ่นชื่อ ยักษ์วัดแจ้งพบจัมโบ้เอ
2.พระปรางค์วัดอรุณฯ ที่มีเบื้องหลังเป็นภาพพระอาทิตย์ขึ้นและตกริมแม่นํ้าเจ้าพระยานั้น คือหนึ่งในภาพที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกอยากมาเห็นด้วยตาตัวเองสักครั้ง จึงมีสินค้าหลายอย่างที่ผลิตออกมาโดยได้แรงบันดาลใจมาจากความสวยงามของพระปรางค์วัดอรุณฯ อาทิ ภาพถ่ายพระปรางค์วัดอรุณฯในช่วงเวลาต่างๆ , เสื้อยืด-กระเป๋า-เข็มกลัดลายพระปรางค์วัดอรุณฯ , แก้ว-ภาชนะลายพระปรางค์วัดอรุณฯ , ถุงหอมมีสุขจากแบรนด์ ANONA Thailand และ เทียนหอมของแบรนด์ YAY เป็นต้น
3.วัตถุมงคล ในแง่ของศาสนาและความเชื่อ วัดอรุณฯ ถือเป็นวัดที่มี พระเครื่อง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และวัตถุมงคล จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น เหรียญพระเกจิต่างๆของวัด เหรียญดวงตรามหาเดช พระกริ่ง พระผงสมเด็จมหามงคล พญาครุฑมหาเดช และ พญายักษ์วัดแจ้ง ซึ่งนอกจากคนไทยแล้ว ในช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมา ชาวต่างชาติจำนวนมากก็นิยมเช่า พระเครื่อง กับ วัตถุมงคล จากวัดอรุณฯด้วยเช่นกัน ซึ่งบางชิ้นที่เก่าแก่หายากมีมูลค่าสูงถึงหลักล้านบาทเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ไอศกรีมลายกระเบื้องพระปรางค์วัดอรุณ คือโมเดลแรกที่ทางแบรนด์ Pop Icon ไอติม 3 มิติ ทำออกมา โดยในอนาคตมีแผนที่จะผลิตลายไปแลนด์มาร์กอื่นๆ ในประเทศไทยเพิ่มเติม ผู้ที่สนใจสามารถซื้อ ไอติมวัดอรุณ ได้ที่ อรุณคาเฟ่ ARUN Cafe เปิดทำการทุกวันเวลา 09:00-18:00 น. ราคาแท่งละ 89 บาท ซึ่งรายได้จากการจำหน่ายจะนำไปสมทบกองทุนเพื่อสวัสดิการพระภิกษุและสามเณร ด้านการศึกษา การรักษาพยาบาลและสาธารณะประโยชน์ต่างๆ ภายใต้คอนเซ็ปต์ ไอติมสวยด้วย อร่อยด้วย ได้บุญด้วย
สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์
ที่มา
https://www.museum-press.com/content/14031กระเบื้องเคลือบ-ปรางค์วัดอรุณ-เทคนิคจีน-แต้จิ๋ว-ฮกเกี้ยน
https://www.sarakadeelite.com/arts_and_culture/ book-wat-arunratchawararam/
https://www.banmuang.co.th/column/other/5077
https://www.tnnthailand.com/news/social/148719/