ในแต่ละวัน คนถือกุญแจจะเปิดให้สาธารณชนเข้าถึงความงดงามที่ช่วยเยียวยา ซึ่งพบได้ในคลังสะสมงานศิลปะแห่ง วาติกัน ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดห่งหนึ่งของโลก
จันนี เกรอา ทำงานคลุกคลีใกล้ชิดอยู่กับโลกแห่งประวัติศาสตร์ เกือบทุกเช้าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเขาทำหน้าที่เปิด ประตูพิพิธภัณฑ์ วาติกัน ได้ยลความงดงามของวัดน้อยซิสตีน ยามรุ่งอรุณ ศึกษาแสงเงาของการาวัจโจ และชื่นชมศิลปวัตถุของอียิปต์โบราณ
“ใช่ครับ ผมเป็นคนถือกุญแจ หัวหน้าคนถือกุญแจ แต่ ผมก็ยังเป็นคนเปิดประตูพิพิธภัณฑ์” เกรอาชาวคาทอลิก ผู้เคร่งศรัทธาบอก “ผมเปิดประตูสู่ประวัติศาสตร์ศิลปะ และประวัติศาสตร์คริสต์ศาสนาและนั่นก็เป็นประวัติศาสตร์ที่ ทั้งยิ่งใหญ่และสวยงามที่สุดที่ดำรงอยู่ในโลกครับ”
วันทำงานของเขาเริ่มต้นราวตีห้าในห้องรักษาความปลอดภัย ใต้ดินที่เก็บกุญแจ 2,797 ดอก เกรอาและทีม กลาวีเจโร 10 คน ของเขาจะเดินไปตามทางเดินยาวราวเจ็ดกิโลเมตรทั่วพิพิธภัณฑ์ เพื่อไปถึงประตู 300 บาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประตูสู่อาณาจักร ที่สาบสูญและเทพเจ้ายุคบรรพกาล
“ผมรู้ว่ากลิ่นที่รออยู่ตอนผมเปิดประตูบานแรกคือกลิ่นของ ประวัติศาสตร์ กลิ่นที่เหล่าบุรุษก่อนหน้าเราเคยสูดหายใจเข้าไป ครับ” เกรอาบอก เมื่ออยู่ท่ามกลางเสียงจังหวะฝีเท้าของตน เพียงลำพัง เขามักนึกประหลาดใจว่าพื้นดินตรงนี้เป็นพื้นดิน เดียวกับที่คนหลายชั่วรุ่นเคยเดิน เคยรัก และเคยหลั่งนํ้าตา
พิพิธภัณฑ์วาติกันเป็นที่เก็บคลังสะสมของพระสันตะปาปามาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่สิบห้าโดยรวบรวมงานศิลป์ลํ้าค่าและศิลปวัตถุทางโบราณคดีหลายแสนชิ้น ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติ-ศาสตร์ถึงยุคปัจจุบัน แต่เกรอาเชื่อว่าไม่มีอะไรน่าทึ่งเท่าวัดน้อยซิสตีนของมีเกลันเจโล ที่ซึ่งภาพปูนเปียกขนาด 1,115 ตารางเมตร รวมถึงฉากเหตุการณ์จากหนังสือปฐมกาลและบุคคลสำคัญกว่า300 คน ประดับเหนือสถานที่ที่ใช้เลือกพระสันตะปาปาเกรอาย้อนรำลึกถึงอารมณ์อันท่วมท้นตอนที่เขาเดินตามคนถือกุญแจคนเก่าไปเปิดประตูวัดน้อยครั้งแรกเมื่อกว่า20 ปีที่แล้ว
ภาพบุคคลสำคัญเหล่านั้น “วาดโดยลงรายละเอียดอย่างสวยงามมากครับ” เกรอาบอก เขาได้เห็นศาสนิกชนของทุกศาสนาตื้นตันใจไปกับความงามของวัดน้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ศาสนจักรเชื่อว่ามีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคสมัยเช่นนี้
“ท่ามกลางความยากลำบากที่โลกกำลังเผชิญ บางครั้งความเศร้าและความทุกข์ดูเหมือนมีอำนาจเหนือสิ่งอื่นใด [ศิลปะ] กลายเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาเพราะความงามคือต้นกำเนิดของความสุขเสมอ” สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสตรัสระหว่างเสด็จเยือนพร้อมกับองค์กรศิลปะของคาทอลิกเมื่อปีที่ผ่านมา
สาขาวิชาประสาทสุนทรียศาสตร์ (neuroaesthetics) ซึ่งมุ่งตรวจสอบพื้นฐานทางชีววิทยาของเราที่ตอบสนองทางอารมณ์ต่อศิลปะ สนับสนุนมุมมองนี้ งานวิจัยชี้ว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับศิลปะสามารถกระตุ้นระบบการให้รางวัลของสมอง โดยไปกระตุ้นการหลั่งสารเคมี เช่น โดปามีน เซโรโทนิน และออก-ซิโทซิน ประสบการณ์ทางสุนทรียศาสตร์ยังสัมพันธ์กับความรู้สึกเปล่าเปลี่ยวและความเครียดที่ลดลง และอารมณ์ที่ดีขึ้น นักประสาทวิทยาศาสตร์บางส่วนถึงกับเปรียบเทียบการชมงานศิลปะกับการมีความรักโรแมนติก
ในช่วงการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด 19 ซึ่งพิพิธภัณฑ์วาติตันต้องปิดบริการ ทำให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวระดับโลกเพื่อขยายการเข้าถึงงานศิลปะ ในฐานะหนทางสู่ความอยู่ดีมีสุข
การวิเคราะห์ผลการศึกษากว่า3,000 ชิ้นขององค์การ-อนามัยโลกเมื่อปี 2019 เผยว่ากิจกรรมด้านศิลปะ และวัฒนธรรมช่วยส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจ และหน่วยงานขององค์การสหประชาชาตินี้ก็เรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายต่างๆ ส่งเสริมโครงการศิลปะสาธารณะ เมื่อฤดูใบไม้ร่วงปี 2022 แพทย์ที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงบรัสเซลส์ ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของเมืองเริ่มโครงการศึกษานำร่องเป็นระยะเวลาหกเดือน เพื่อวิเคราะห์ประโยชน์ของ “ใบสั่งยาให้ไปชมพิพิธภัณฑ์” ในฐานะการบำบัดรักษาเพิ่มเติมสำหรับความเครียด อาการหมดไฟ และความวิตกกังวล
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงให้การสนับสนุนการเข้าถึงศิลปะมาโดยตลอด “[พิพิธภัณฑ์วาติกัน] ต้องเปิดประตูต้อนรับผู้คนจากทั่วโลก ในฐานะเครื่องมือของการสนทนาระหว่างศาสนาและวัฒนธรรม เครื่องมือสำหรับสันติภาพ” พระองค์ทรงเขียนไว้ในสิ่งพิมพ์ La Mia Idea di Arte เมื่อปี 2015 เกรอาชี้ว่าสวนวาติกันซึ่งพืชพรรณจากทั่วโลกผลิดอกและงอกงาม ก็ยึดถือปรัชญานี้ในการดำเนินงาน
ภาพ อัลแบร์โต แบร์นัสโกนี
ติดตามสารคดี เปิดประตูพิพิธภัณฑ์วาติกัน ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมิถุนายน 2566
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/579020