เปิดประตูพิพิธภัณฑ์ วาติกัน หนึ่งในนครที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก

เปิดประตูพิพิธภัณฑ์ วาติกัน หนึ่งในนครที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก

ในแต่ละวัน คนถือกุญแจจะเปิดให้สาธารณชนเข้าถึงความงดงามที่ช่วยเยียวยา ซึ่งพบได้ในคลังสะสมงานศิลปะแห่ง วาติกัน ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดห่งหนึ่งของโลก

จันนี เกรอา ทำงานคลุกคลีใกล้ชิดอยู่กับโลกแห่งประวัติศาสตร์ เกือบทุกเช้าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเขาทำหน้าที่เปิด ประตูพิพิธภัณฑ์ วาติกัน ได้ยลความงดงามของวัดน้อยซิสตีน ยามรุ่งอรุณ ศึกษาแสงเงาของการาวัจโจ และชื่นชมศิลปวัตถุของอียิปต์โบราณ

“ใช่ครับ ผมเป็นคนถือกุญแจ หัวหน้าคนถือกุญแจ แต่ ผมก็ยังเป็นคนเปิดประตูพิพิธภัณฑ์” เกรอาชาวคาทอลิก ผู้เคร่งศรัทธาบอก “ผมเปิดประตูสู่ประวัติศาสตร์ศิลปะ และประวัติศาสตร์คริสต์ศาสนาและนั่นก็เป็นประวัติศาสตร์ที่ ทั้งยิ่งใหญ่และสวยงามที่สุดที่ดำรงอยู่ในโลกครับ”

วาติกัน, คนถือกุญแจ
“สิทธิพิเศษที่แท้จริงของการอยู่ที่นี่คือได้เดินเพื่อชมเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ทุกวัน” จันนี เกรอา หัวหน้าคนถือกุญแจของวาติกันกล่าวและเสริมว่า “คุณกำลังเดินผ่านประวัติศาสตร์และเรียนรู้ในสิ่งที่สมเด็จพระสันตะปาปาทุกพระองค์ได้เก็บรักษาไว้”
แกลเลอรี่รูปปั้น (The Gallery of Statues) และหอรูปปั้นครึ่งตัว (The Hall of Busts) เป็นสถานที่แสดงงานประติมากรรมเช่น the Sleeping Ariadne และจิตรกรรมฝาผนังแบบ frescoes วาดโดย Pinturicchio จิตรกรชาวอิตาลีในช่วงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา 
วาติกัน, บันไดวน
ผลงาน The Scala Elicoidale หรือบันไดวนสองทางแบบวาติกัน (Bramante Staircase) ออกแบบโดย Giuseppe Momo สถาปนิกชาวอิตาลีในปี 1932

วันทำงานของเขาเริ่มต้นราวตีห้าในห้องรักษาความปลอดภัย ใต้ดินที่เก็บกุญแจ 2,797 ดอก เกรอาและทีม กลาวีเจโร 10 คน ของเขาจะเดินไปตามทางเดินยาวราวเจ็ดกิโลเมตรทั่วพิพิธภัณฑ์ เพื่อไปถึงประตู 300 บาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประตูสู่อาณาจักร ที่สาบสูญและเทพเจ้ายุคบรรพกาล

“ผมรู้ว่ากลิ่นที่รออยู่ตอนผมเปิดประตูบานแรกคือกลิ่นของ ประวัติศาสตร์ กลิ่นที่เหล่าบุรุษก่อนหน้าเราเคยสูดหายใจเข้าไป ครับ” เกรอาบอก เมื่ออยู่ท่ามกลางเสียงจังหวะฝีเท้าของตน เพียงลำพัง เขามักนึกประหลาดใจว่าพื้นดินตรงนี้เป็นพื้นดิน เดียวกับที่คนหลายชั่วรุ่นเคยเดิน เคยรัก และเคยหลั่งนํ้าตา

ทุกเช้า เกรอาจะหยิบกุญแจนับร้อยดอกออกมาจากบังเกอร์ใต้ดินในวาติกัน
มีกุญแจ 2797 ดอกที่เข้าถึงประตู 300 ห้องในแต่ละวัน ห้องเหล่านี้มีทั้งห้องเก็บของ สำนักงาน ห้องใต้ดิน และห้องน้ำ
กุญแจดอกเดียวที่ไม่ถูกนับรวมคือกุญแจของโบสถ์น้อยซิสทีน (Sistine Chapel) โดยในระหว่างการประชุมเลือกสมเด็จพระสันตะปาปา กุญแจจะส่งไปให้กับประธานในพิธี และต้องส่งคืนให้กับหัวหน้าคนถือกุญแจหลังสรุปผลการเลือกสมเด็จพระสันตปาปา

พิพิธภัณฑ์วาติกันเป็นที่เก็บคลังสะสมของพระสันตะปาปามาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่สิบห้าโดยรวบรวมงานศิลป์ลํ้าค่าและศิลปวัตถุทางโบราณคดีหลายแสนชิ้น ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติ-ศาสตร์ถึงยุคปัจจุบัน แต่เกรอาเชื่อว่าไม่มีอะไรน่าทึ่งเท่าวัดน้อยซิสตีนของมีเกลันเจโล ที่ซึ่งภาพปูนเปียกขนาด 1,115 ตารางเมตร รวมถึงฉากเหตุการณ์จากหนังสือปฐมกาลและบุคคลสำคัญกว่า300 คน ประดับเหนือสถานที่ที่ใช้เลือกพระสันตะปาปาเกรอาย้อนรำลึกถึงอารมณ์อันท่วมท้นตอนที่เขาเดินตามคนถือกุญแจคนเก่าไปเปิดประตูวัดน้อยครั้งแรกเมื่อกว่า20 ปีที่แล้ว

ภาพบุคคลสำคัญเหล่านั้น “วาดโดยลงรายละเอียดอย่างสวยงามมากครับ” เกรอาบอก เขาได้เห็นศาสนิกชนของทุกศาสนาตื้นตันใจไปกับความงามของวัดน้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ศาสนจักรเชื่อว่ามีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคสมัยเช่นนี้

วาติกัน
ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังรูปแผนที่ของอิตาลีกว่า 40 ภาพในแกลอรี่แผนที่ซึ่งควบคุมการสร้างโดยสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 13 (ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาตั้งแต่ ค.ศ. 1572 ถึง ค.ศ. 1585)
วาติกัน, รูปปั้น
สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 6 ได้สร้าง the Hall of the Animals เพื่อเก็บรักษาประติมากรรมเหล่านี้ จากข้อมูลของพิพิธภัณฑ์วาติกัน ห้องนี้ถูกออกแบบมาเพื่อสร้าง ‘สวนสัตว์หิน’ (stone zoo)
วาติกัน
The Sala Rotunda หรือห้องกลม (Round Hall) สร้างเสร็จเมื่อ 1779 เพื่อเลียนแบบรูปทรงของวิหารแพนธีออน(Pantheon) มีรูปปั้นขนาดใหญ่และรูปปั้นครึ่งตัวอยู่บนพนัง และกระเบื้องโมเสกลวดลายวิจิตรอยู่ที่พื้น

“ท่ามกลางความยากลำบากที่โลกกำลังเผชิญ บางครั้งความเศร้าและความทุกข์ดูเหมือนมีอำนาจเหนือสิ่งอื่นใด [ศิลปะ] กลายเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาเพราะความงามคือต้นกำเนิดของความสุขเสมอ” สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสตรัสระหว่างเสด็จเยือนพร้อมกับองค์กรศิลปะของคาทอลิกเมื่อปีที่ผ่านมา

สาขาวิชาประสาทสุนทรียศาสตร์ (neuroaesthetics) ซึ่งมุ่งตรวจสอบพื้นฐานทางชีววิทยาของเราที่ตอบสนองทางอารมณ์ต่อศิลปะ สนับสนุนมุมมองนี้ งานวิจัยชี้ว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับศิลปะสามารถกระตุ้นระบบการให้รางวัลของสมอง โดยไปกระตุ้นการหลั่งสารเคมี เช่น โดปามีน เซโรโทนิน และออก-ซิโทซิน ประสบการณ์ทางสุนทรียศาสตร์ยังสัมพันธ์กับความรู้สึกเปล่าเปลี่ยวและความเครียดที่ลดลง และอารมณ์ที่ดีขึ้น นักประสาทวิทยาศาสตร์บางส่วนถึงกับเปรียบเทียบการชมงานศิลปะกับการมีความรักโรแมนติก

วาติกัน
ผู้มาเยือนที่วาติกันสนามด้านหน้าของนครวาติกัน โดยที่พิพิธภัณฑ์มีผู้เข้าชมประมาณ 28,000 คนต่อวัน
โบสถ์น้อยซิสทีน, วาติกัน
“ทุกเช้า เมื่อผมเข้าไปโบสถ์น้อยซิสทีน ผมก็พบกับอารมณ์ที่หลากหลาย” เกรอากล่าว
“ผมมีกุญแจที่ไขไปยังประวัติศาสตร์ของคริสต์ศาสนาและศิลปะ” เกรอากล่าและเสริมว่า “พิพิธภัณฑ์วาติกัน ซึ่งรวมไปถึงห้องราฟาเอลโล (the Raffaello Rooms) และโบสถ์น้อยซิสทีนคือหนึ่งในงานศิลปะที่สวยงามที่สุดในโลก”

ในช่วงการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด 19 ซึ่งพิพิธภัณฑ์วาติตันต้องปิดบริการ ทำให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวระดับโลกเพื่อขยายการเข้าถึงงานศิลปะ ในฐานะหนทางสู่ความอยู่ดีมีสุข

การวิเคราะห์ผลการศึกษากว่า3,000 ชิ้นขององค์การ-อนามัยโลกเมื่อปี 2019 เผยว่ากิจกรรมด้านศิลปะ และวัฒนธรรมช่วยส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจ และหน่วยงานขององค์การสหประชาชาตินี้ก็เรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายต่างๆ ส่งเสริมโครงการศิลปะสาธารณะ เมื่อฤดูใบไม้ร่วงปี 2022 แพทย์ที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงบรัสเซลส์ ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของเมืองเริ่มโครงการศึกษานำร่องเป็นระยะเวลาหกเดือน เพื่อวิเคราะห์ประโยชน์ของ “ใบสั่งยาให้ไปชมพิพิธภัณฑ์” ในฐานะการบำบัดรักษาเพิ่มเติมสำหรับความเครียด อาการหมดไฟ และความวิตกกังวล

นักท่องเที่ยวต่อคิวด้านนอกมหาวิหารนักบุญเปโตร (ภาพบน) และลานแปดเหลี่ยม the Octagonal Court (ภาพล่าง) พิพิธภัณฑ์เหล่าคือประวัติศาสตร์แห่งวัฒนธรรมและศิลปะ ในความเห็นผม ทุกคนที่สามารถเข้าไปอยู่ในที่แห่งนี้ได้ควรมองว่าเป็นช่วงเวลาที่เป็นดังของขวัญให้ตัวเอง

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงให้การสนับสนุนการเข้าถึงศิลปะมาโดยตลอด “[พิพิธภัณฑ์วาติกัน] ต้องเปิดประตูต้อนรับผู้คนจากทั่วโลก ในฐานะเครื่องมือของการสนทนาระหว่างศาสนาและวัฒนธรรม เครื่องมือสำหรับสันติภาพ” พระองค์ทรงเขียนไว้ในสิ่งพิมพ์ La Mia Idea di Arte เมื่อปี 2015 เกรอาชี้ว่าสวนวาติกันซึ่งพืชพรรณจากทั่วโลกผลิดอกและงอกงาม ก็ยึดถือปรัชญานี้ในการดำเนินงาน

วาติกัน
ผู้เก็บรักษางานศิลปะแห่งสำนักงานพิพิธภัณฑ์วาติกันทำหน้าที่ตรวจดูรักษาชิ้นงานเพื่อป้องกันความเสียหาย

เรื่อง กุลนาซ ข่าน

ภาพ อัลแบร์โต แบร์นัสโกนี

ติดตามสารคดี เปิดประตูพิพิธภัณฑ์วาติกัน ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมิถุนายน 2566

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/579020


อ่านเพิ่มเติม สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เยือนนครวาติกัน วาระครบ 50 ปี วาติกัน-วัดพระเชตุพน

Recommend