วัน ประชากรโลก โลกเรามีประชากรมากแค่ไหน? และประเทศอะไรมีคนอยู่อาศัยมากที่สุด? น่าจะเป็นคำถามลำดับแรกๆ ที่เราเคยสงสัยตอนเรียนวิชาสังคมว่าด้วยเรื่องของ ‘ประชากร’
11 กรกฎาคมของทุกปี องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดให้เป็นวันประชากรโลก (World Population Day) ทั้งนี้เพื่อให้ตระหนักถึงปัญหาของประชากรโลก ส่งเสริมสนับสนุนให้ความรู้สิทธิพื้นฐาน รวมถึงการวางแผนครอบครัวซึ่งจะนำไปสู่การมีประชากรโลกที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี
ประชากรโลกเรามีมากแค่ไหน คำถามนี้ถูกรายงานอย่างเป็นทางการล่าสุดเมื่อปี 2022 โดยรายงานของ World Population Prospects 2022 ซึ่งระบุว่า ในปีดังกล่าวนี้ โลกมีประชากรครบ 8 พันล้านคน ถึงเช่นนั้น รายงานเดียวกัน ยังระบุด้วยว่า แม้จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่ปัจจุบันเกิดสถานการณ์ภาวะเจริญพันธุ์ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาในหลายประเทศ โดยในทุกวันนี้มี 2 ใน 3 ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในประเทศหรือพื้นที่ที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ตลอดอายุขัยต่ำกว่า 2.1 คนต่อผู้หญิง 1 คน ซึ่งเป็นระดับโดยประมาณที่จำเป็นสำหรับการเติบโตเป็นศูนย์ในระยะยาว สำหรับจำนวนประชากรที่มีอัตราการเสียชีวิตต่ำ ทั้งนี้ มีประชากรจาก 61 ประเทศหรือพื้นที่ ที่คาดว่าจะลดลง 1% หรือมากกว่านั้นระหว่างปี 2565 ถึง 2593 อันเนื่องมาจากอัตราการเจริญพันธุ์ที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง และในบางกรณีเกิดจากอัตราการย้ายถิ่นฐานสูงขึ้น
นอกจากนี้ มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรโลก ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจนถึงปี 2593 จะกระจุกตัวอยู่ใน 8 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก อียิปต์ เอธิโอเปีย อินเดีย ไนจีเรีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และสหสาธารณรัฐแทนซาเนีย ทั้งยังมีการคาดการณ์อีกว่า ประเทศในแถบอนุภูมิภาคทะเลทรายซาฮาราจะมีประชากรคิดเป็นตัวเลขมากกว่าครึ่งหนึ่งของการเพิ่มขึ้นที่คาดการณ์ไว้จนถึงปี 2593
อย่างไรก็ดี ในบริบทด้านประชากรในปี 2566 หนีไม่พ้นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดซึ่งเปลี่ยนจากจีนมาเป็นอินเดีย โดยองค์การสหประชาชาติ เปิดเผยรายงานสถานะประชากรโลกของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund) ระบุว่า ประชากรอินเดียจะเพิ่มจำนวนขึ้นแตะระดับ 1,428 ล้านคนในช่วงกลางปีนี้ และจะแซงหน้าจำนวนประชากรจากแชมป์เก่าที่ผูกขาดมายาวนานอย่างจีน ซึ่งมีตัวเลข 1,425 ล้านคน ทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกรายใหม่ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลประชากรโลก เมื่อปี 2493
สาเหตุที่จำนวนประชากรของจีนลดลงนั้น เนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดลง รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น เช่นเดียวกับจำนวนสตรีที่เข้าสู่ตลาดแรงงานและแสวงหาการศึกษามากขึ้น และแม้รัฐบาลจีนจะยุติ “นโยบายลูกคนเดียว” ที่เข้มงวด ซึ่งบังคับใช้ครั้งแรกในปี 2523 จากความหวาดกลัวประชากรล้นโลก ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ในปี 2564 และเริ่มปล่อยให้แต่ละครอบครัวสามารถมีลูกได้ 3 คน ผนวกกับที่หลายภูมิภาคของจีนได้ประกาศเดินหน้าแผนการเพิ่มอัตราการเกิดแล้ว แต่ความพยายามดังกล่าวก็ยังไม่สามารถแก้ไขการลดลงของจำนวนประชากรได้ และสิ่งที่จีนเผชิญก็ไม่ต่างอะไรจากประเทศอื่น ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ซึ่งมีอัตราการเกิดของประชากรต่ำลงและเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาและเศรษฐกิจกำลังดีขึ้น
รายงานระบุว่า อินเดียไม่ได้จัดทำการสำรวจสำมะโนประชากรตั้งแต่ปี 2554 แม้จะเคยพยายามสำรวจสำมะโนประชากรครั้งล่าสุดในปี 2564 แต่กระบวนการก็หยุดชะงักไปเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 -ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า รัฐบาลจงใจชะลอการสำรวจดังกล่าว เพื่อปกปิดข้อมูลในประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงก่อนการเลือกตั้งระดับชาติในปี 2567 เช่น ตัวเลขการว่างงาน
ถึงเช่นนั้น แม้อินเดียอาจแซงหน้าจีนในด้านจำนวนประชากรก็จริง แต่ข้อมูลของก็ยังแสดงให้เห็นว่าปัจจุบันอัตราการขยายตัวของประชากรได้ชะลอตัวลงแล้วเช่นเดียวกัน เพียงแต่จีนชะลอเร็วกว่าอินเดีย
คาดการณ์กันว่า รูปแบบประชากรโลกกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง และหากถามชาวอินเดียเอง พวกเขาจะรู้สึกถึงความแออัด รู้สึกว่าจำนวนประชากรมากเกินไปและอัตราการเกิดในปัจจุบันสูงเกินไปจนเป็นปัญหา โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ จากรายได้ประชากรแสดงว่า ชาวอินเดียหลายล้านคนยังต้องใช้ชีวิตอยู่บนเส้นความยากจน และแม้ประเทศจะมีจำนวนประชากรที่พร้อมจะเข้าสู่ตลาดแรงงานจำนวนมหาศาล แต่กลับกลายเป็นว่าอินเดียไม่มีตำแหน่งงานมากพอที่จะรองรับกลุ่มคนดังกล่าว ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความไม่เข้าถึงระบบการศึกษา
ที่มา : CNN