ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ จากคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม กลุ่มบ้านรลิณ กรีน ลีฟวิ่ง

ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ จากคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม กลุ่มบ้านรลิณ กรีน ลีฟวิ่ง

“วิสาหกิจชุมชน บ้านรลิณ กรีน ลีฟวิ่ง” อ.บ้านฉาง จ.ระยอง หนึ่งในชุมชนต้นแบบของแคมเปญ มหัศจรรย์ชุมชน Amazing Community ที่มุ่งขับเคลื่อนความยั่งยืน พัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ สร้างคุณค่าให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ด้วยพลังของคนในชุมชนร่วมกับ SCGC 

ในยุคสมัยที่อุณหภูมิของโลกพุ่งสูงขึ้น และปัญหาสิ่งแวดล้อมรอบโลกมีฉายบนหน้าสื่อไม่เว้นช่วง หลายคนอาจได้เห็นแล้วปล่อยผ่านไป แต่ครอบครัวเล็ก ๆ ในจังหวัดระยองมีความมุ่งมั่นอยากดูแลโลก

หลังจากบทความก่อน เราได้พาไปพบกับความมหัศจรรย์ของชุมชนมาบชลูดที่ทำให้เห็นถึงพลังของกลุ่มผู้หญิง ในครั้งนี้ขอเชิญทุกคนพบกับพลังของคนรุ่นใหม่ที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ มาทำตามแพสชัน ริเริ่มทำผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีจุดเริ่มต้นจากความรักความห่วงใยคนในครอบครัว

จุดเริ่มต้นของบ้านรลิณ เกิดจากคนในครอบครัวที่แพ้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดแบบทั่วไป จึงหันมาลองทำผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกใช้เองในบ้านเมื่อ 4 ปีก่อน นำมาสู่การสร้างแบรนด์ “บ้านรลิณ” ที่ไม่เพียงตอบโจทย์คนผิวแพ้ง่าย แต่ยังตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม รวมถึงช่วยสนับสนุนผลผลิตของท้องถิ่นอีกด้วย

ชนวนสำคัญที่พาคนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม

โลกใบใหญ่ เปลี่ยนแปลงได้ จากการลงมือทำสิ่งเล็ก ๆ ของทุกคน “บ้านรลิณ” คือหนึ่งตัวอย่างของครอบครัวที่ใส่ใจในเรื่องเล็ก ๆ และเห็นคุณค่าของทรัพยากรทุกหยาดหยด

ต้นเหตุที่ทำให้คุณปอสนใจในสิ่งแวดล้อม เริ่มต้นจาก ‘ป้าน่อย’ คุณแม่ของ 3 พี่น้อง จั่น-ปอ-ปาย ทำงานส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์ และวิสาหกิจชุมชนมาก่อนทำให้ ‘คุณปอ รัณยณา จั่นเจริญ’ ประธานกลุ่มวิสาหกิจบ้านรลิณ กรีน ลีฟวิ่ง ผู้เป็นลูกสาวคนกลางได้คลุกคลีมาแต่เด็ก จนเกิดเป็นความสนใจ เรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชุมชนที่ส่งต่อจากรุ่นแม่สู่คนรุ่นใหม่อย่างคุณปอ 

ประกอบกับราว 4-5 ปีก่อน ‘คุณปาย รัชฎาพร จั่นเจริญ’ น้องสาวคนเล็ก แพ้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ขายตามท้องตลาด คุณปอ จึงเริ่มทำผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกใช้เอง ด้วยความรักและเป็นห่วงน้องสาว และได้แบ่งปันให้คนรอบตัวทดลองใช้ 

อีกสาเหตุที่ทำให้คุณปอเริ่มหันมาสนใจวิถีชีวิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อต้องการเป็นพลังเล็ก ๆ ที่ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยนอกจากการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติในการทำผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดแล้ว ยังหมักซอสไว้ใช้ปรุงอาหารเอง ปลูกผักผลไม้ในบริเวณบ้านไว้รับประทาน ลดการสร้างขยะ และมีการคัดแยกขยะภายในบ้านอย่างจริงจัง 

การเกิดขึ้นของกลุ่มวิสาหกิจบ้านรลิณ จึงทำเพื่ออยากเปลี่ยนโลกนี้ให้ดีขึ้น โดยเริ่มต้นจากที่ตัวเองก่อน

เพิ่มการกระจายรายได้ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

หลังจากที่เริ่มทำผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกใช้ในบ้าน และแบ่งปันให้คนรอบตัวทดลองใช้แล้วได้รับผลตอบรับที่ดี จนมีคนถามหาติดต่อมาขอซื้อ คุณปอจึงเห็นว่า ยังมีคนอื่น ๆ ที่มีปัญหานี้เช่นเดียวกัน และผลิตภัณฑ์น่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นได้ ทำให้เกิดเป็นแบรนด์บ้านรลิณ 

เมื่อแบรนด์บ้านรลิณเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น คุณปอจึงเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดอื่น ๆ รวมถึงศึกษาพืชสมุนไพรและผลไม้ท้องถิ่นที่สามารถทำมาใช้เป็นวัตถุดิบเพิ่มเติม พร้อม ๆ กับเริ่มสร้างเครือข่ายวัตถุดิบที่ปลูกแบบอินทรีย์ ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง 

‘พี่แดง วิไล ชมกลิ่น’ เครือข่ายคนสำคัญที่คอยรวบรวมมะกรูดออร์แกนิกส่งให้ บ้านรลิณ ได้รู้จักกันตั้งแต่ตอนที่ป้าน่อย แม่ของคุณปอยังเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร และพี่แดงเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 

‘พี่แดง วิไล ชมกลิ่น’ เครือข่ายมะกรูดออร์แกนิก

“ในชุมชนนี้ชาวบ้านจะปลูกมะกรูดกันบ้านละต้นสองต้น นำเมล็ดมาเพาะด้วยดินที่ผสมเอง แล้วก็บำรุงด้วยปุ๋ยหมักอินทรีย์ พอเลี้ยงจนได้ผลใหญ่ฟู มีน้ำมันในผิวมาก ก็จะคัดเลือกลูกที่สมบูรณ์ส่งต่อไปให้คุณปอ” 

พี่แดงเล่าให้เราฟังถึงขั้นตอนการทำงานเป็นคนกลางในการรวมผลมะกรูด ซึ่งในหมู่บ้านของพี่แดงนั้น จะปลูกมะกรูดแบบอินทรีย์จากกล้าที่พี่แดงเพาะไปแจก พร้อมให้ปุ๋ยน้ำหมักอินทรีย์เอาไว้ใช้ ทำให้ได้ผลผลิตที่ปลูกแบบธรรมชาติ 100%

ซึ่งจุดนี้จะส่งเสริมให้พี่แดงและคนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่เก็บผลมาบริโภคและแบ่งปันกันในชุมชน ตอนนี้สามารถนำมะกรูดที่คุณภาพดีไปจำหน่าย เพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกที่บ้านรลิณต่อไป

เช่นเดียวกันกับ ‘ลุงสุทธิ ที่หมาย’ เกษตรกรไร่สับปะรดทองระยอง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง อีกแหล่งวัตถุดิบสำคัญ ‘สับปะรดทองระยอง’ ที่มีความยากในการปลูกและเก็บเกี่ยว เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ทั่วทั้งใบมีหนามแหลมคมกว่าพันธุ์อื่น ๆ แต่ก็แลกมาซึ่งความหอม หวาน เนื้อกรอบฉ่ำสีทองของผลสับปะรด 

‘ลุงสุทธิ ที่หมาย’ เกษตรกรไร่สับปะรดทองระยอง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง
สับปะรดทองระยอง ผลไม้ GI (Geography Indication) ของจังหวัดระยอง

สับปะรดทองระยอง ถือเป็นผลไม้ GI (Geography Indication) ของจังหวัดที่ต้องปลูกในพื้นที่ดินระยองเท่านั้น จึงจะได้รสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้พันธุ์ทองระยองนี้กลายเป็นสับปะรดที่ต้องการของผู้บริโภคสูง ในส่วนของสินค้าที่ตกเกรด ก็จะส่งต่อไปที่บ้านรลิณเพื่อให้คุณปอนำไปเป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกต่อไป เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตรอีกด้วย

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของบ้านรลิณมีหลากหลายมากขึ้น ทั้งน้ำยาทำความสะอาดทั่วไปและทำความสะอาดร่างกาย จากวัตถุดิบหลากหลาย ที่ให้คุณสมบัติแตกต่างกัน ทั้งมะกรูด สับปะรด บอระเพ็ด ส่งมาจากแหล่งวัตถุดิบเกินสิบเจ้า ช่วยกระจายรายได้ให้กับกลุ่มสมาชิกที่เป็นเครือข่าย ทั้งกลุ่มเกษตรกร และคนทั่วไปในชุมชน

จุดเด่นของสินค้าจากบ้านรลิณ จึงเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ น้ำทิ้งจากผลิตภัณฑ์ก็เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายสภาพแหล่งน้ำและดิน รวมไปถึงบรรจุภัณฑ์ก็เลือกช้วัสดุที่ง่ายต่อการคัดแยกเพื่อรีไซเคิล

คุณปอคิดว่าการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องเริ่มแก้จากจุดเล็ก ๆ อย่างตัวเองและครอบครัว ทำให้ธุรกิจของกลุ่มออกมาในรูปแบบที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งกระบวนการ 

“สโลแกนของบ้านรลิณคือ สุขภาพดีเริ่มต้นได้ที่บ้าน เพราะเราเริ่มต้นจากการทำผลิตภัณฑ์ใช้ในบ้าน ชื่อ รลิณ ก็มาจากตัวอักษรของชื่อสมาชิกในครอบครัว และเรายังขยายผลให้คนอื่นได้ประโยชน์ด้วย”

กุญแจดอกแรกสู่การเติบโตของกลุ่มที่เลี้ยงชีพได้จริง

ในปี 2564 บ้านรลิณเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญคือการร่วมมือกับ SCGC ซึ่งเป็นดั่งกุญแจดอกแรกที่เปิดประตูให้กลุ่มวิสาหกิจฯ เติบโตเป็นที่รู้จักและติดตลาดมากขึ้น 

ป้าน่อยแม่ของคุณปอ ได้รู้จักกับทีมงานของ SCGC มาก่อนขณะที่ยังทำงานส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์ เมื่อทราบว่าป้าน่อยและคุณปอกำลังจะสร้างแบรนด์บ้านรลิณ ทีมงาน SCGC จึงมีโอกาสเข้าไปพูดคุยและได้เห็นถึงความตั้งใจและแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่ตรงกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของ SCGC และได้ร่วมสนับสนุนต่อยอด สร้างความมหัศจรรย์ร่วมกัน

“สิ่งที่ประทับใจคือเห็นลูกสาวป้าน่อยที่เป็นคนรุ่นใหม่ มีความตั้งใจจริง อยากทำผลิตภัณฑ์ที่ช่วยโลก ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แล้วก็อยากส่งต่อแนวคิดนี้ให้กับคนอื่น ๆ ด้วย ซึ่งมันตรงกับความตั้งใจ และนโยบายของ SCGC ที่กำลังทำอยู่” พี่เอ็กซ์ เศรษฐศักดิ์ จรกิจ CSR Project Manager จาก SCGC พี่เลี้ยงที่ช่วยดูแลกลุ่มวิสาหกิจฯ กล่าว

SCGC ได้สนับสนุนด้านความรู้ทางการตลาด การสร้างแบรนด์ สร้างมาตรฐานให้แก่ผลิตภัณฑ์ เพื่อผลักดันให้วิสาหกิจแข็งแรงมากขึ้น 

โดยสิ่งแรกที่ทีม SCGC เข้ามาสนับสนุนคือการออกแบบโลโก้ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์แบรนด์ให้สื่อสารความเป็นตัวตนได้ตรงกับความตั้งใจ และช่วยเพิ่มเติมเรื่องความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้า โดยการยกระดับมาตรฐานการผลิตให้ได้รับการรับรองจากหน่วยงานต่าง ๆ มีการส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบมาตรฐานให้เห็นผลที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น การตรวจหาเอนไซม์ในสับปะรด และหาแนวทางพัฒนาสารสกัดต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ นอกจากนี้ SCGC ยังช่วยส่งเสริมการขายและขยายตลาด ผ่านการออกงานอีเวนต์ต่าง ๆ 

“เรารู้จักทีม SCGC ผ่านคุณแม่ ซึ่งเป็นการทำงานแบบร่วมพัฒนาไปด้วยกัน ไม่ยัดเยียด ทาง SCGC เข้ามาช่วยพัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐานและเสริมความรู้การตลาด ซึ่งเป็นจุดที่เรายังขาด”

คุณปอ เล่าว่า หลังจากที่ทีม SCGC เข้ามาช่วย พัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างเครือข่ายวัตถุดิบ และขยายตลาด จนเห็นโอกาสในการพัฒนาต่ออีกมาก ปัจจุบันรายได้ของบ้านรลิณ เมื่อรวมทั้งทางออนไลน์และยอดขายหน้าร้านตามงานอีเวนต์แล้ว จะได้เฉลี่ยปีละหลักแสนบาท 

แม้อาจยังไม่ใช่จำนวนที่มากมายนักเนื่องจากราคาของสินค้าบ้านรลิณถือว่าย่อมเยามากในหมวดของผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย แต่รายได้ตรงนี้ก็สามารถเลี้ยงชีพได้จริง และช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน

ทีม SCGC เล่าเสริมอย่างน่าประทับใจว่า “ระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ดูแลกันมา เราเห็นการเติบโตของคนในบ้านรลิณว่ามีแนวความคิดที่แข็งแรงขึ้น เขาเชื่อมั่นในสินค้าตัวเองและเห็นทิศทางตลาดที่ตัวเองอยากจะก้าวไป และการได้เห็นว่ามีลูกค้าที่ให้ความสนใจสินค้าออร์แกนิกเพิ่มขึ้น ก็ทำให้ใจชื้นว่า มีคนอีกมากที่หันมาสนใจผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ รวมถึงใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นด้วย” 

“เราได้ยินกันมานานเป็น 10 ปีว่าโลกร้อนขึ้น คำถามคือเราทำอะไรบ้างรึยัง คนที่นี่เริ่มทำแล้วนะ ถึงแม้โอกาสสำเร็จอาจจะไม่เยอะ แต่พวกเขายืนยันที่จะทำ และก็ส่งบัตรเชิญ ชวนคนอื่นมาร่วมรักษ์โลกด้วยกัน เพียงแต่บัตรเชิญนี้มันไม่ได้เป็นการ์ด มันมาเป็นขวดผลิตภัณฑ์บ้านรลิณเท่านั้นเอง”

ความสัมพันธ์ระหว่างทีม SCGC และชุมชน ที่ก่อตัวขึ้นระหว่างทางทำให้เราสัมผัสได้ถึงความอบอุ่น และความมุ่งมั่นที่จะดูแลโลกที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานอยู่เสมอ พลังงานบวกที่เกิดขึ้นในกลุ่มวิสาหกิจบ้านรลิณส่งต่อมาถึงตัวเราผู้ได้ไปเยือน จึงทำให้เข้าใจได้ไม่ยากเลยว่าทำไมลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์กลับไปใช้ ถึงมีความรู้สึกอิ่มเอมใจและภูมิใจไปด้วย 

เราสังเกตเห็นสิ่งนี้ได้จาก ‘พี่มดแดง ธนัญภัทร์ ธีระสาสน์’ ผู้บริโภคในชุมชนที่ได้ให้สัมภาษณ์ว่าใช้สินค้าของบ้านรลิณมาร่วม 2 ปี ทดลองใช้หลากหลายประเภท เพราะเชื่อมั่นในความตั้งใจของบ้านรลิณ และอยากอุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเหลือชุมชน ดีต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

‘พี่มดแดง ธนัญภัทร์ ธีระสาสน์’ ผู้บริโภคในชุมชน

ถึงแม้สินค้าออร์แกนิกจะมีราคาสูงกว่า แต่พี่มดแดงมั่นใจในคุณภาพ นอกจากนี้พี่มดแดงยังมองว่า หากชุมชนไหนมีวัตถุดิบที่ดี ก็อยากให้ได้รับการส่งเสริม เพื่อพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ และใช้งานได้จริงอย่างที่บ้านรลิณทำอีกด้วย

คนรุ่นใหม่ที่สร้างหน้าต่าง เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนอื่น ๆ

 ไม่เพียงแต่พัฒนาให้สินค้าของตนเองเป็นที่รู้จัก แต่คุณปอยังมุ่งมั่นช่วยให้สินค้าชุมชนอื่น ๆ มีโอกาสสร้างการเติบโตเช่นกัน 

ด้วยความเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทำให้คุณปอและกลุ่มบ้านรลิณ ริเริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ “บ้านหนูมี” เพื่อขายสินค้าชุมชน เปิดโอกาสให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอื่น ๆ ที่อาจเป็นผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ไม่สันทัดด้าน E-Commerce ได้มีช่องทางการขายเพิ่มเติมในอนาคต

โดยมี SCGC เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงชุมชนต่าง ๆ เข้าหากัน เสมือนการต่อจิ๊กซอว์ชิ้นเล็ก ๆ ให้เป็นภาพใหญ่ เกาะกลุ่มกันแข็งแรงมากขึ้น ทุกกลุ่ม ทุกรุ่น ทุกวัย

เป้าหมายความตั้งใจ ที่ไม่ใช่แค่เม็ดเงิน

จุดมุ่งหมายของกลุ่มที่อยากจะพัฒนาให้โลกนี้ดีขึ้นได้จริงได้ส่งต่อจากครอบครัวบ้านรลิณ ไปถึงชุมชน และสังคม แม้เงินทองจะเป็นเรื่องสำคัญในการดำรงชีพ แต่เป้าหมายร่วมกันของคุณปอและ SCGC ไม่ใช่แค่เม็ดเงิน หรือการฉาบฉวยมุ่งเน้นผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการช่วยเหลือให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน 

โดยหัวใจสำคัญในการทำงานกับชุมชนให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี จึงไม่ใช่การผลักดันยัดเยียดเป้าหมาย แต่คือการร่วมมือกันผลักดันความตั้งใจของชุมชน ให้เกิดเป็นรูปธรรม เกิดเป็นอาชีพ และพึ่งพาตนเองได้

เรื่องราวของที่นี่เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวของแคมเปญมหัศจรรย์ชุมชน (Amazing Community) ที่ SCGC อยากเชิญชวนให้ผู้คนมาร่วมค้นหา ให้ได้เห็นว่าเมืองใหญ่อย่างระยองมีความมหัศจรรย์ของแต่ละชุมชนรอให้ค้นพบอยู่

ชุมชนต่อไป เราจะพาไปพบกับคุณค่าของกลุ่มผู้สูงวัยผ่านงานอดิเรกเลี้ยงแมลงชันโรงในวัยเกษียณที่สร้างรายได้และสิ่งแวดล้อมที่ดี อย่างวิสาหกิจผู้เลี้ยงชันโรง ชุมชนบ้านทับมา จะเป็นอย่างไรต้องมาติดตามกัน

ชมผลิตภัณฑ์ และติดตามการใช้ชีวิตวิถีกรีนลีฟวิ่ง จากกลุ่มวิสาหกิจบ้านรลิณ กรีน ลีฟวิ่ง ได้ที่ BaanRalin – Natural & Organic Living หรือ โทร: 098-623-2429

ติดตามความหัศจรรย์ของชุมชนทั้งหมดได้ที่ https://www.facebook.com/SCGCOfficial/ หรือเว็บไซต์ www.scgchemicals.com 

Recommend