เติบโตเป็นชายชาตรีอย่างโดดเดี่ยว
ในสนามหญ้าสีเขียวกลางกรุงเบลเกรดที่บรรดาเจ้าหน้าที่เรียกเล่นๆ ว่า สวนอัฟกัน อินามุลเห์ โมฮัมหมัด วัย 15 ปี นั่งอยู่บนม้านั่งใกล้กับผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ด้วยความหวังที่ว่าจะมีโอกาสได้เดินทางเข้ายุโรป
“ผมมาที่นี่สองสามครั้งต่อสัปดาห์ เพราะหากผมไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับการข้ามพรมแดนเลย ผมจะไปได้ยังไง” เขากล่าว “ผมอยู่ที่นี่ไม่ได้จริงๆ”
เช่นเดียวกับอีมาล โมฮัมหมัดมาจากจังหวัดนานกาฮาร์ ในอัฟกานิสถาน และเป็นลูกชายคนโตเหมือนกัน เขาจากบ้านเกิดมาเมื่อ 18 เดือนก่อนเพราะว่า “พวกตาลิบันต้องการให้ผมไปเข้าร่วมด้วย” และแม้ว่าขณะนี้เขาจะใช้เวลาไปแล้ว 9 เดือนในเซอร์เบีย ตัวเขายังคงเชื่อว่า นี่จะเป็นแค่สถานที่ชั่วคราวเท่านั้น
ปัจจุบันโมฮัมหมัดอาศัยอยู่ในศูนย์ผู้ลี้ภัยของรัฐบาล แต่ในฤดูหนาวที่สภาพอากาศโหดร้าย เขาใช้เวลาอยู่ในคลังสินค้าร้างซึ่งอยู่ติดกับสถานีรถไฟของกรุงเบลเกรด ซึ่งใช้เวลาสั้นๆ ในการเดินไปจากสวนอัฟกัน เขาใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นร่วมกับเด็กผู้ชายและชายอีกหลายคน ในพื้นที่จำกัดที่สกปรก ไม่มีฮีตเตอร์และไฟฟ้าให้ใช้
ในเดือนพฤษภาคม คลังสินค้าแห่งนี้ถูกรื้อทำลาย สภาพของมันกลายเป็นซากไม่ต่างจากเขตสงครามที่เด็กๆ จากมา อาคารเก่าเหล่านี้เป็นสิ่งไร้ค่าเมื่ออสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ ต้องการพื้นที่คืน ข้าวของที่บ่งชี้การมีตัวตนของบรรดาผู้ลี้ภัยกระจัดกระจายไปทั่ว ผ้าห่มเก่าๆ, แปรงสีฟัน, กระป๋องทูน่าที่ว่างเปล่า และรอยพ่นสเปรย์ภาษาอังกฤษตามผนังใกล้กับสถานีรถไฟ อ่านได้ว่า “ช่วยพวกเราด้วย โปรดเปิดพรมแดน” อีกกำแพงหนึ่งมีข้อความเขียนว่า “ฉันก็เป็นคนเหมือนกับคุณ”
ที่คลังสินค้านั้น โมฮัมหมัดเรียนรู้วิธีที่จะโกนหนวดด้วยตนเอง โดยปราศจากคำแนะนำของพ่อ ญาติผู้ใหญ่หรือแม้แต้เพื่อน ในตอนที่เขาจากบ้านมาหนวดของโมฮัมหมัดยังไม่ขึ้น แต่ตอนนี้เขาเริ่มเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว “ผมอยู่ตัวคนเดียว” เขากล่าว “ผมไม่มีใครที่พอจะแบ่งปันเรื่องราวด้วยได้” โมฮัมหมัดติดต่อสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์กับคนเพียงคนเดียวนั่นคือนายหน้าที่พาเขามาที่นี่ ชาวอัฟกันที่เขาไม่เคยเห็นหน้า
ตัวเขาเป็นลูกเกษตรกร ไม่เคยเข้าโรงเรียน พ่อของเขาขายที่ดินในราคา 8,000 ดอลล่าร์สหรัฐเพื่อช่วยให้ลูกชายได้มีโอกาสเดินทางออกนอกประเทศ ความรู้สึกผิดและภาระหนักอึ้งวางค้างเติ่งอยู่บนสองบ่าของเขา โมฮัมหมัดต้องการที่จะหาเงินมาคืนพ่อเขาให้ได้ และจะดีที่สุดถ้าเขาสามารถซื้อที่ดินของครอบครัวกลับมา ณ ตอนนี้เขากำลังรอเงินที่จะส่งมาจากทางบ้านเพื่อเอาไปซื้อรองเท้าสักคู่ เช่นเดียวกับอีมาล รองเท้าของเขาถูกยึดไปโดยเจ้าหน้าที่ชายแดน
ในขณะที่กำลังพูดคุย เขาเล่าเรื่องที่ตัวเองต้องพยายามตื่นอยู่ตลอดคืน ในช่วงของการเดินทาง 18 เดือนที่ผ่านมา “ผมกลัวว่าจะไม่ได้เจอพ่อแมอีก กลัวว่าจะถูกสัตว์กิน กลัวจะถูกรถชน หรือใครบางคนอาจยิงผม ฆ่าผม ถ้าเป็นเช่นนั้นอะไรจะเกิดขึ้นต่อกับครอบครัวผม พวกตาลิบันจะทำอะไรพวกเขา?” “ผมเห็นความตายมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง” เขากล่าว ก่อนหน้านี้โมฮัมหมัดถูกปล้นเอานาฬิกาและเงินไป และเคยถูกกักขังอยู่ในบัลแกเรียนานถึง 7 เดือน
หนึ่งสิ่งที่เขารู้แน่คือ เขาไม่ต้องการอยู่ในเซอร์เบีย “ผมจะทำอะไรที่นี่?” เขากล่าว ดูจากท่าทางของชาวเซอร์เบียที่เขาพบในสวน “คนพวกนี้ยากจนกว่าผมด้วยซ้ำ อัฟกานิสถานยังร่ำรวยกว่า” (จริงๆ แล้วจีดีพีของเซอร์เบียสูงกว่าอัฟกานิสถาน 10 เท่า แต่สำหรับโมฮัมหมัดแล้ว เขามองไม่เห็นอนาคตที่นี่)
โมฮัมหมัดมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะเดินทางเข้าไปยังประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปให้ได้ “ผมพยายามมาแล้วมากกว่า 27 ครั้ง และถูกเนรเทศจากสโลวาเนียมาแล้ว 4 รอบ ผมอยากจะเป็นคนที่ดีกว่านี้ อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ หากพรมแดนยังไม่เปิด สุดท้ายผมต้องกลับอัฟกานิสถาน และถูกบังคับให้เข้าร่วมกับกลุ่มตาลิบัน”
เติบโตขึ้นเพราะประสบการณ์
เดลาการ์ คันดาการ์ เด็กชายขี้อายวัย 8 ขวบกำลังเดินไปรอบๆ อย่างไร้จุดหมาย เมื่อฉันพบกับเขาครั้งแรกในศูนย์ผู้ลี้ภัย Adasevci โรงแรมที่ถูกดัดแปลงให้เป็นสถานที่รองรับผู้ลี้ภัย สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ที่ตั้งอยู่ใกล้กับชายแดนเซอร์เบียและโครเอเชียมากที่สุด ขับรถจาก “ป่า” ของซัดดัม อีมาลเพียงไม่นาน ผู้ลี้ภัยที่มาเป็นครอบครัวถูกอัดให้อาศัยในห้องแคบๆ ในขณะที่ชายโสดและเด็กผู้ชายต้องอาศัยอยู่รวมกันอย่างแออัด
กลุ่มวัยรุ่นและเจ้าหน้าที่เอ็นจีโอเล่นวอลเลย์บอลด้วยกันที่ด้านนอก พวกผู้ชายเบียดเสียดกันอยู่ตรงจุดที่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตไวไฟ เด็กผู้หญิงหอบผ้าใส่ตะกร้าพลาสติกเดินผ่าน เช่นเดียวกับเด็กผู้หญิงคนอื่นๆ ในเซอร์เบีย เธอเดินทางมากับครอบครัว Saint-Lot เจ้าหน้าที่จากยูนิเซฟเล่าว่า จำนวนเด็กผู้หญิงมีเพียงน้อยนิด เนื่องจากหากปราศจากผู้ดูแล พวกเธอจะเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศและการทำร้ายร่างกาย รวมถึงจำนวนที่น้อยนิดนี้ยังเป็นผลสะท้อนจากสังคมวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกลาง สถานที่ที่พวกเธอจากมา
คันดาการ์เดินกลับมายังโรงรถซึ่งเป็นบ้านของเขา “ที่นี่ไม่มีอะไรเลย” เขากล่าว ตัวเขาเดินทางมาจากจังหวัดนานกาฮาร์ เมื่อปีก่อน พร้อมกับลูกพี่ลูกน้องวัย 10 ขวบและลุงของเขาวัย 15 ปี ความทรงจำที่เขามีเกี่ยวกับบ้านไม่มีสิ่งอื่นนอกจาก กองเพลิง การต่อสู้ และพวกตาลิบัน อย่างไรก็ตามยังพอมีความทรงจำดีๆ อยู่บ้างเช่นช่วงเวลาที่เขาเล่นคริกเก็ตกับเพื่อน หรือทานอาหารกันพร้อมหน้ากับพ่อแม่และพี่น้องอีก 4 คน “ผมจำวันที่มีความสุขเหล่านั้นได้ครับ” เขากล่าว “อยู่ที่นี่ผมเศร้า”
เด็กน้อยอยากเดินทางไปยังฝรั่งเศส เพราะได้ยินมาว่าที่นั่นมีชาวอัฟกันเยอะและเพราะว่า “ที่ฝรั่งเศสเป็นดินแดนสงบ” จริงๆ แล้ว ที่เซอร์เบียเองก็สงบเช่นกัน แต่ไม่ใช่ความสงบในแบบที่เด็กน้อยใฝ่ฝันถึงประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป
ตัวเขาไม่รู้จักยุโรปมาก่อนด้วยซ้ำ เมื่อการผจญภัยเริ่มต้นขึ้น คันดาการ์และญาติขึ้นเครื่องบินมายังอิหร่าน เดินทางต่อมายังตุรกี เข้าบัลแกเรีย จนมาจบที่เซอร์เบีย ประสบการณ์ใหม่สำหรับเด็กน้อย ผู้ที่เคยเดินทางไกลสุดคือไปปากีสถานเพื่อขายผ้าห่มกับพ่อ
คันดาการ์ไม่ได้เล่าให้พ่อแม่ฟังว่าตัวเขาและญาติถูกทุบตี กักขัง และถูกปล้นในอิหร่านโดย “ผู้คนที่ถือปืนกลเหมือนพวกตาลิบัน” และไม่ได้เล่าว่าลุงวัย 15 ปีของเขาซ่อนเงินจำนวนหนึ่งไว้ในกางเกงในของคันดาการ์ เพราะหวังว่าพวกนั้นจะไม่ค้นตัวเขา
ในกรุงเบลเกรด คันดาการ์อาศัยอยู่ในคลังสินค้าที่สกปรกเช่นเดียวกับโมฮัมหมัด พวกเขาจุดไฟเพื่อความอบอุ่นและพบว่า “ใบหน้าของพวกเขาดำจากเขม่าควัน เมื่อตื่นขึ้นมาในตอนเช้า”
แตกต่างจากซัดดัม อีมาล ตรงที่คันดาการ์ไม่อยากที่จะเล่นเกมนี้ “ถนนปิดแล้ว ไม่มีใครข้ามพรมแดนไปได้” เขากล่าว บางครั้งเด็กน้อยวาดหวังว่าจะได้กลับบ้าน เขาไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ เขาไม่มีแผนใดๆ “ว่างเปล่า” เขากล่าว “ทุกวันนี้ผมไม่มีอะไรทำเลย”
เรื่อง Rania Abouzeid
ภาพถ่าย Muhammed Muheisen
อ่านเพิ่มเติม