ถนนที่ยาวที่สุดในโลก ยาวกว่า 30,000 กิโลเมตร อยู่ที่ไหน?

ถนนที่ยาวที่สุดในโลก ยาวกว่า 30,000 กิโลเมตร อยู่ที่ไหน?

ถนนที่ยาวที่สุดในโลก อยู่ที่ไหน?

ถนนที่ยาวที่สุดในโลก เส้นนี้มีประวัติมาอย่างยาวนาน โดยทอดยาวไปกว่า 14 ประเทศ ปัจจุบันก็ยังคงสร้างไปเรื่อยๆ แต่ก็เต็มไปด้วยปัญหาต่างๆ และหากคุณอยากลองขับมันไปจากต้นจนสุดทาง คุณอาจต้องลองคิดใหม่

ตามบันทึกของกินเนสส์เวิร์ดระบุว่า ‘ถนนที่สามารถขับขี่ได้ยาวที่สุด’ นั้นคือทางหลวงที่ชื่อว่า ‘แพน-อเมริกัน’ (Pan-American) โดยมีความยาวมากถึงประมาณ 30,000 กิโลเมตรจากอะแลสกาไปจนถึงตอนใต้สุดของอาร์เจนตินา ทอดยาวไปจนถึงสุดทวีปอเมริกา โดยมีจุดเริ่มต้นจากความพยายามสร้างสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ซึ่งมีการเสนอครั้งแรกในปี 1923

“ผมค้นพบว่ามัน (ถนนแพน-อเมริกัน) เป็นจุดศูนย์กลางของหลายเรื่องใหญ่ๆ ที่ถูกมองข้ามไปอย่างสิ้นเชิง นั่นคือนโยบายของสหรัฐฯ” อีริค รัทโคว (Eric Rutkow) นักกฎหมาย นักเขียน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเซนทรัลฟลอริดา กล่าว 

“เป็นเวลานับศตวรรษแล้ว (เศรษฐกิจของสหรัฐฯ) บางครั้งก็อยู่ในระดับสูงสุด เปิดเผยที่สุด แต่บางครั้งก็ซับซ้อนซึ่ง เกี่ยวข้องกับบทบาทในมุมมองของตัวเอง นั่นคือความพยายามเชื่อมโยงอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้เข้าด้วยกัน” รัทโคว เสริม

แผนการเดินทางบนบกระหว่างทวีปอเมริกานั้นเริ่มต้นมาจากการเดินทางโดยเรือ แนวคิดถนนเชื่อมต่อทวีปนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกโดย ฮินตัน โรวัน (Hinton Rowan) กงศุลสหรัฐฯ ประจำอาร์เจนตินาที่เมาเรืออย่างยิ่ง ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยเรือให้ได้มากที่สุด เขาจึงปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่า ‘ต้องมีทางรถไฟข้ามทวีป’ 

นอกจากจะช่วยให้เขาไม่ต้องเจอกับการเมาเรือแล้ว แต่ยังช่วยให้สหรัฐอเมริกามีอิทธิพลทางการเมือง เปิดพื้นที่การค้า และสร้างความสัมพันธ์ต่าง ๆ ระหว่างทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ อย่างไรก็ตามหลายคนเชื่อว่าอาจเป็นกุศโลบายของสหรัฐฯ ที่ต้องการเพิ่มยอดขายยานยนต์ที่ผลิตในประเทศก็เป็นไปได้ 

แผนการดำเนินขึ้นต่อไปในปี 1924 เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้เชิญผู้แทนจากละตินอเมริกา 37 คนไปยังวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อฟังแผนการดังกล่าว ซึ่งทำให้เกิดการถกเถียงขึ้นมากมาย ต้องใช้วลาหลายปีกว่าทุกฝ่ายจะสามารถบรรลุข้อตกลงดังกล่าว ท้ายที่สุดในปี 1937 อาร์เจนตินา โบลิเวีย แคนาดา ชิลี โคลอมเบีย คอสตาริกา เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส เม็กซิโก นิการากัว ปานามา เปรู และสหรัฐอเมริกา ก็ลงนามในการร่วมสร้างถนนแพน-อเมริกัน

ทว่า ความก้าวหน้าก็ไม่ได้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วเท่าที่ใคร ๆ คิดกันไว้ แม้แต่ในปี 1970 ที่ประธานาธิบดีนิกสันระบุว่าทางหลวงขนาดใหญ่ที่ข้ามทวีปนั้นใกล้จะเสร็จสิ้นภายในเร็ว ๆ นี้ แต่ในความเป็นจริงถนนแพน-อเมริกันก็ยังไม่แล้วเสร็จแม้แต่ในปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเมกะโปรเจ็คนี้ถูกแย่งความสนใจโดยเมกะโปรเจ็คอื่น

“ฉันรู้จักหนังสือ 10 เล่มทั้งหมดที่กล่าวถึงคลองปานามา” โยวานนา ปิเนดา (Yovanna Pineda) รองศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเซนทรัลฟลอริดา กล่าว “มันเป็นเป็นการร่วมลงทุนครั้งใหญ่มาก และจากฝั่งละตินอเมริกาด้วย คุณจะเห็นว่ามีคนตายไปกี่คนจริง ๆ ระหว่างการสร้างมัน ในทางหนึ่งมันก็เหมือนกับการสร้างกำแพงเมืองจีน” 

ท่ามกลางเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการสร้างคลองปานามา ทางหลวงแพน-อเมริกันก็ได้สูญหายไป “ถนนเส้นนี้ไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึงในวรรณกรรมใด ๆ มากนัก” รัทโควเสริม “และยิ่งผมค้นหามากเท่าไหร่ ถนนก็ดูเหมือนจะเจอแต่เรื่องยากลำบากมากขึ้นเท่านั้น” 

ไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจนของทางหลวงแพน-อเมริกา และสหรัฐอเมริกาก็ยังไม่ได้ยอมรับมันอย่างเป็นทางการในปัจจุบัน แม้แต่นักเดินทางบนท้องถนนก็ยังไม่รู้กันไปทั่วว่ามีถนนสายนี้อยู่ และทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้เชื่อมต่ออย่างสมบูรณ์ ซึ่งทำให้คุณไม่สามารถขับรถได้ตลอดลอดฝั่ง

ช่องวางที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ‘ดาเรียนแกป’ (Darién Gap) ซึ่งเป็นผืนดินยาว 160 กิโลเมตรที่เชื่อมต่อปานามากับโคลอมเบีย มันล้อมรอบไปด้วยป่าทึบและมีฝนตกอยู่เป็นประจำ แต่ก็ไม่มีถนนใด ๆ ผ่านดาเรียนแกปเลย แม้แต่ถนนลูกรังก็ตาม แน่นอนว่ามันถูกผลักดันให้มีถนนตัดผ่าน แต่ก็ถูกต่อต้านจากนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชนพื้นเมือง ว่าจะกลายเป็นหายนะใหญ่หลวงให้กับความหลากหลายทางชีวภาพ

“หากคุณเดินทางระหว่างเมืองหลวงโดยทั่วไปที่ไหนสักแห่งในละตินอเมริกา คุณมักจะพบว่าตัวเองอยู่บนทางหลวงสายแพน-อเมริกัน” รัทโคว กล่าว “โดยทั่วไปแล้วทางหลวงสายนี้เป็นเพียงทางหลวงหมายเลข 1 หรือ 2 ของระบบถนนแห่งชาติในอเมริกาใต้ส่วนใหญ่” 

นอกเหนือไปจากความยาวของถนนและภูมิประเทศหลากหลายที่ถนนตัดผ่าน จากป่าไปทะเลทราย ไปภูเขาและชายหาดแล้ว ผู้ขับขี่อาจได้พบกับวัฒนธรรมที่หลากหลายระหว่างทางซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพียงถนนสัญจรไปมาอย่างไม่เป็นทางการ และที่สำคัญคุณอาจจะได้เจอกับแก็งค์ค้ายาเสพติด กองโจร และผู้อพยพที่พร้อมเสี่ยงชีวิตเพื่อให้ได้เดินทางต่อไป 

“มันเหมือนนิยายในตำนาน ดินแดนที่ไม่มีมนุษย์ ซึ่งอันตรายกับนักผจญภัยมากที่สุด มีทั้งสมาชิกกองทัพอเมริกัน และกองทหารของผู้อพยพ แม้กระทั่งทุกวันนี้ ผู้อพยพหลายหมื่นคนต่อปีก็ยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อข้ามไปให้ได้” อดัม ยามากูจิ (Adam Yamaguchi) นักผจญภัยกล่าวกับสถานีโทรทรรศน์ CBS 

แต่หากคุณอยากขับรถยาว ๆ ในเส้นทางที่ปลอดภัยกว่า ก็ยังมีถนนคู่แข่งแพน-อเมริกัน นั่นคือ ‘ทางหลวงเอเชียหมายเลข 1 (AH1) ที่คนไทยหลายคนคุ้นเคยกันดี โดยมีระยะทางกว่า 20,557 กม. จากกรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น ไปยัง ไปยังชายแดนตุรกี-บัลแกเรีย โดยเดินทางผ่านเกาหลี จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมถึงไทย) บังคลาเทศ อินเดีย ปากีสถาน และอิหร่าน

แต่อย่างไรก็ตาม เส้นทางนี้มีทะเลขนาด 942 กม. กั้นระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้อยู่ ดังนั้น หากคุณต้องการขับรถต่อเนื่องได้จริง ๆ ทางหลวงหมายเลข 1 ของออสเตรเลียถือเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด เนื่องจากเป็นถนนล้อมรอบเกาะทั้งหมดที่ขับขี่ได้อย่างต่อเนื่องจริง ๆ ในระยะทางยาว 14,500 กม. พร้อมกับได้รับการบันทึกจากกินเนสส์บุ๊คว่าเป็น ‘ถนนต่อเนื่องที่ยาวที่สุด’ 

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.ucf.edu/pegasus/pan-american-highway/

https://www.iflscience.com/whats-the-longest-road-in-the-world-73291

https://www.guinnessworldrecords.com/world-records/62923-longest-motorable-road


อ่านเพิ่มเติม ชุบชีวิต ถนนแอปเปียน ถนนโบราณที่มาสำนวน ‘ถนนทุกสายมุ่งสู่กรุงโรม’

Recommend