วิถีชีวิตนักล่าหมีแห่งฮอนชูกำลังสั่นคลอน

วิถีชีวิตนักล่าหมีแห่งฮอนชูกำลังสั่นคลอน

วิถีชีวิตนักล่าหมีแห่งฮอนชูกำลังสั่นคลอน

Javier Corso ช่างภาพใช้เวลา 2 สัปดาห์ร่วมกับ “มาทางิ” ชนพื้นเมืองที่มีความสามารถในการล่าสัตว์ใหญ่ เพื่อถ่ายทอดวัฒนธรรมอันเป็นที่เคารพนับถือ แต่ในขณะเดียวกันก็กำลังถูกคุกคาม

ลึกเข้าไปในที่ราบสูงทางตอนเหนือของเกาะ ฮอนชู “มาทางิ” ชนพื้นเมืองในญี่ปุ่นเริ่มต้นการล่าสัตว์ของพวกเขา เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว พวกเขาสวดอธิษฐานก่อนจะเดินเท้าเข้าสู่เขตแดนศักดิ์ศิทธิ์ของภูเขา พวกเขาใช้เวลาหลายชั่วโมงในการดักฟัง เฝ้ารอ และจับตามอง สัญญาณบางอย่างที่บ่งชี้ว่าหมีดำกำลังเคลื่อนเข้ามาใกล้

กลุ่มชายชาวพื้นเมืองเหล่านี้จะมีกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้เฝ้าระวัง ส่วนที่เหลือทำหน้าที่เป็นเหยื่อล่อ รอจนเข้าใกล้พอที่จะยิงหมีได้ เลือดสีแดงของหมีหยดลงบนหิมะเหมือนกับดอกไม้เบ่งบาน ร่างที่ตายแล้วของมันถูกลากออกไปและจะถูกตัดเป็นชิ้นๆ ด้วยมีดมาทางิแบบดั้งเดิม บางส่วนของหมีจะถูกทิ้งเอาไว้เพื่อสังเวยให้แก่เทพเจ้าแห่งขุนเขา

ความถูกต้องตามธรรมเนียมที่เคร่งครัดนี้ส่งผลให้การล่าสัตว์ของพวกเขาแตกต่างจากการล่าสัตว์สมัยใหม่ มาทางิเป็นชุมชนล่าสัตว์เก่าแก่ที่สามารถย้อนอายุไปได้ไกลถึงศตวรรษที่ 16 การตั้งถิ่นฐานของพวกเขาในภาคเหนือของเกาะมีเอกลักษณ์ของตนเอง ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ประกาศตนว่าเป็นผู้ปกป้องและรักษาสมดุลของธรรมชาติเอาไว้ แต่เมื่อหมีดำ หนึ่งในเหยื่อหลักของพวกเขากำลังเผชิญกับการเสี่ยงสูญพันธุ์ ธรรมเนียมการล่าของพวกเขาก็กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไปด้วย

สมาชิกในกลุ่มมีสิทธิในหมีเท่าๆ กัน โดยไม่คำนึงว่าใครเป็นผู้ยิงหมี
ความคมของมีดมาทางิช่วยตัดเนื้อเยื่อและเส้นเอ็นออกจากกันในการเฉือนเพียงครั้งเดียว

Javier Corso ใช้เวลา 15 วัน กับมาทางิ เพื่อบันทึกภาพธรรมเนียมปฏิบัติอายุ 400 ปี โปรเจคนี้เป็นการทำงานร่วมกัย OAK stories หน่วยงานที่มุ่งเน้นนำเสนอเรื่องราวของชาวบ้านท้องถิ่น ตัวเขาทำงานเคียงคู่กับ Alex Rodal หัวหน้าการวิจัยของ OAK ผู้ศึกษาชาวมาทางิเป็นเวลา 6 เดือน ก่อนเริ่มโปรเจค

“ผมต้องการถ่ายทอดธรรมเนียมดั้งเดิมของชุมชนนี้ ผู้คนจะได้เข้าใจว่าพวกเขาทำอะไรและทำเพื่ออะไร” Corso กล่าว “ผมอยากแสดงให้เห็นถึงความเงียบสงบของการล่า และความสัมพันธ์ที่พวกเขามีต่อขุนเขา”

การล่าสัตว์เป็นธรรมเนียมทางจิตวิญญาณที่สำคัญ และ Corso เป็นชาวต่างชาติคนแรกที่ได้รับอนุญาตให้บันทึกธรรมเนียมนี้ ตัวเขาและทีมงานใช้เวลา 5 วันกับชามมาทางิกลุ่มหนึ่งเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เรียนรู้วัฒนธรรมของพวกเขา ก่อนที่จะได้รับคำเชิญให้เดินทางขึ้นสู่ภูเขาไปด้วยกัน “ผมประทับใจวิธีการล่าของพวกเขามากครับ” Corso กล่าว “มันเป็นวิถีที่น่าเคารพ” ถึงแม้ว่าพวกเขาจะสวมเสื้อผ้าสมัยใหม่ แต่อาวุธที่พวกเขาใช้ล่ายังคงเป็นอาวุธเดียวกันกับที่บรรพบรุษของพวกเขาใช้เมื่อ 7 ชั่วอายุคนก่อนหน้า

นี่คือหัวของหมีดำญี่ปุ่นหลังจากถูกตัดและถลกหนังออกไปแล้ว
หัวหน้า Sato ดึงใบมีดออกมาเพื่อหั่นหมีออกเป็นชิ้นๆ บนมีดทีชื่อของครอบครัวเขาสลักอยู่

อย่างไรก็ตามในหลายปีมานี้ กระบวนการล่าของพวกเขาต้องปรับตัวลดลง อันเป็นผลมาจากเหตุภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกิชิมะ ที่เกิดเมื่อปี 2011 รัฐบาลท้องถิ่นประกาศแบนห้ามชาวมาทางิค้าขายเนื้อหมีเนื่องจากความกังวลว่าอาจเกิดการปนเปื้อนของกัมมันตรังสี “พวกเขาถูกบังคับให้หาทางอื่นในการยังชีพ” Corso กล่าว

นอกเหนือจากนั้นยังมีข้อจำกัดมากมายจากรัฐที่ควบคุมพวกเขา “ยกตัวอย่างการต่ออายุใบอนุญาตล่าหมีทุกๆ สามปี ซึ่งมีขั้นตอนที่วุ่นวายน่าเบื่อและราคาแพง แม้ว่าคุณจะไม่ได้มีส่วนโดยตรงในการสังหารหมีก็ตาม” Alex Rodal กล่าว “สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้คนรุ่นใหม่ละทิ้งธรรมเนียมเดิมๆ ไป”

เช่นเดียวกับวัฒนธรรมดั้งเดิมในหลายชาติ ที่ปัจจุบันกำลังเผชิญกับความเสี่ยง “หากวันหนึ่งหมีดำในญี่ปุ่นสูญพันธุ์ไปหมด มาทางิไม่ใช่ต้นเหตุ” Rodal กล่าว “เพราะผมว่ามาทางิจะสูญพันธุ์ก่อนหมีด้วยซ้ำ”

เรื่อง Alexandra Genova

ภาพ Javier Corso

ส่วนหนึ่งของธรรมเนียมปฏิบัติคือการเหลือชิ้นส่วนบางอย่างให้แก่เทพเจ้าแห่งขุนเขา
หลังจากแจกจ่ายเหยื่อที่ล่ามาได้ Sato หนึ่งในชายที่เป็นที่เคารพนับถือมากที่สุดของชุมชนจะเป็นผู้นำพิธีกรรม
เมื่อการล่าจบสิ้นลงแล้ว กระบวนการแบ่งปันเนื้อและหนังของหมีจะเริ่มขึ้น โดยทุกคนจะได้รับส่วนแบ่งที่เท่าๆ กัน
ภาพถ่ายของมาทางิในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 พวกเขาล่าด้วยหอกก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นปืนสั้น ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองจะเริ่มต้นขึ้น

 

อ่านเพิ่มเติม : ยินดีต้อนรับสู่โรงพยาบาลตุ๊กตาที่ยังคงเปิดทำการเมืองเล็กๆ ในเม็กซิโกนี้ นับถืออิสลาม

Recommend