ผู้หญิงกับความรุนแรงในคัมภีร์ไบเบิล

ผู้หญิงกับความรุนแรงในคัมภีร์ไบเบิล

 ส่วนหนึ่งของภาพเขียน “Joan of Arc’s Death at the Stake”แสดงเหตุการณ์ที่ โจนออฟอาร์ก ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานนอกรีตและต้องโทษประหารชีวิตด้วยการเผาทั้งเป็น โดย Hermann Stilke

ขอบคุณภาพจาก วิกิพีเดีย

เรามาร่วมค้นหาต้นตอ ความรุนแรงต่อผู้หญิง ใน ศาสนาคริสต์ อันเป็นรากฐานให้กับอารยธรรมตะวันตกที่นับได้ว่าเจริญที่สุดในขณะนี้

แรกเริ่มเดิมที สังคมก่อร่างสร้างตนจากการรวมตัวกันของมนุษย์ โดยมีสถาบันทางสังคมต่างๆ เป็นกรอบข้อจำกัดทางความคิดและการกระทำเพื่อลดความแตกต่างอันอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง ทว่า หลังจากหลายร้อยหลายพันปีผ่านมา ตามหน้าประวัติศาสตร์ ความขัดแย้งและความรุนแรงไม่เคยลดน้อยลงเลย ด้วยความโลภมากอันเป็นบาปใหญ่หลวงของมนุษยชาติ  สถาบันทางสังคมหลายๆ สถาบัน เช่น สถาบันครอบครัว และสถาบันการศึกษา ต่างถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจเหนือผู้อื่น แต่คงไม่มีเครื่องมือใดที่ทรงพลังเทียบเท่า สถาบันที่เรียกว่า “ศาสนา” อีกแล้ว ดังคำกล่าวของ คาร์ล มาร์กซ์ ที่ว่า “ศาสนาคือฝิ่นของประชาชน”  เพราะศาสนาเปรียบเหมือนยากล่อมประสาทให้ผู้คนไม่รู้สึกรู้สาต่อการกดขี่ที่เกิดขึ้น เมื่อมันมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตในทุกย่างก้าว เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ รากฐานของบรรทัดฐานและวัฒนธรรม

แต่กระนั้นก็ไม่คิดเลยว่าเพศสภาพแต่กำเนิดจะสามารถเป็นจุดกำเนิดความขัดแย้งจนทำให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดในประวัติศาสตร์มนุษย์ชาติ เช่น เหตุการณ์การล่าแม่มด (Witch Hunt: 1450 – 1750) ในช่วงยุคกลางของยุโรปที่มีผู้หญิงเป็นเหยื่อหลักของโศกนาฏกรรมนี้ได้เลยแล้วยิ่งน่าประหลาดเข้าไปอีกเมื่อรู้ว่า ศาสนาคริสต์ ศาสนาที่มีผู้หญิงนับถือมากที่สุดในโลกจากผลการสำรวจโดย the Pew Research Center ระหว่างปี 2007 – 2014 ด้วยผู้ศรัทธาถึง 55% ทั่วโลก จะคือหนึ่งศาสนาหลักที่เป็นเครื่องมือสร้างความรุนแรงต่อผู้หญิงได้ ทำให้เกิดคำถามว่าอะไรกันคือสิ่งที่ดึงดูดพวกเธอ แนวคิดใดกันคือต้นตอของ ความรุนแรงต่อผู้หญิง คำตอบที่เราสามารถหาได้อาจจะซ่อนอยู่ในตัวคัมภีร์ไบเบิล ศูนย์รวมความรู้และแนวความคิดดั้งเดิมของศาสนา

 

คัมภีร์ไบเบิล

ความรุนแรงต่อผู้หญิง
พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ฉบับไวคลิฟฟ์ ซึ่งคัดลอกสำเนาด้วยมือเมื่อราวปี 1400 จัดแสดงอยู่ที่สวนสนุก ชาวคริสต์ในฟลอริดา ได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีพิเศษ จอห์น ไวคลิฟฟ์ นักเทววิทยาชาวอังกฤษ เป็นนักแปลมือหนึ่งซึ่งแปลพระคริสตธรรมคัมภีร์จากภาษาละตินเป็นภาษาอังกฤษธรรมดาที่เข้าใจง่าย อันเป็นการกระทำแปลกใหม่ที่เหล่าสงฆ์ในศาสนจักรพากันประณาม
ภาพถ่ายจากชุดภาพ Van Campen จัดแสดงที่ธีมพาร์ค The Holy Land Experience เมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา

ก่อนจะกล่าวถึงเรื่องราวในไบเบิล ต้องขออธิบายก่อนว่าคัมภีร์ไบเบิลนั้นไม่ได้เป็นเพียงหนังสือเล่มเดียว แต่เป็นชุดหนังสือซึ่งจะมีจำนวนแตกต่างกันไปตามนิกาย โดยแบ่งออกเป็นสองหมวดใหญ่ๆ ได้แก่ ภาคพันธสัญญาเดิม และ ภาคพันธสัญญาใหม่

ภาคพันธสัญญาเดิม เป็นภาษาฮิบบรู  ถูกเขียนขึ้นก่อนพระเยซูประสูติ ประกอบด้วยเรื่องราวการกำเนิดของสรรพสิ่ง ประวัติศาสตร์ชาติอิสราเอล งานเขียนสรรเสริญพระเจ้า คำสอน และส่วนผู้เผยพระวจนะของพระเจ้า

สำหรับภาคพันธสัญญาใหม่จะแบ่งออกเป็นสองหมวดหมู่ใหญ่ๆ เขียนขึ้นหลังการสวรรนคตของพระเยซู คือ หมวดพระวรสาร บอกเล่าเรื่องราวของพระเยซู และ หมวดจดหมาย เขียนขึ้นโดยอัคราสาวกเพื่อให้คำแนะนำแก่ผู้นำและสมาชิกศาสนจักรและวิสุทธิชนในสมัยแรก

ภาคพันธสัญญาใหม่ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของศาสนาคริสต์อย่างแท้จริง แต่ตัวไบเบิลกลับรวมเอาภาคพันธสัญญาเดิมจากศาสนาแม่อย่างศาสนายูดาห์เข้าเอาไว้ด้วย จึงทำให้เกิดความขัดแย้งของสองแนวความคิดที่มีต่อผู้หญิงว่าด้วยเรื่อง ความเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ และ การอยู่ใต้การควบคุมของผู้ชาย

 

ผู้หญิงในภาคพันธสัญญาเดิม

ความรุนแรงต่อผู้หญิง
“The Fall of Adam and Eve as depicted in the Sistine Chapel” ภาพเขียนบรรยายเหตุการณ์ในสวนเอเดน โดย Michelangelo
ขอบคุณภาพจาก วิกิพีเดีย

ภาคพันธสัญญาเดิมที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและสงครามเพื่ออิสรภาพของชาวยิว ชนชาติผู้ถูกเลือกจากพระเจ้า ได้กำหนดบทบาทหน้าที่ให้ผู้หญิงอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ชายโดยใช้เรื่องลำดับการสร้างที่พระเจ้าสร้างผู้ชายขึ้นมาก่อน และสร้างผู้หญิงขึ้นมาจากกระดูกของผู้ชายอีกทีจากหนังสือปฐมกาล บทที่ 2 พวกเธอกลายเป็นสมบัติของผู้ชาย ไม่สามารถทำอะไรด้วยตนเอง นอกจากเป็นผู้ตามที่ดีให้กับสามีและพ่อ การหยิบยื่นสิทธิให้กับผู้หญิงก็เหมือนกับการทรยศพระเจ้าซึ่งอาจก่อให้เกิดความโกลาหลในสังคม เพราะการกระทำใดๆ ด้วยความต้องการของพวกเธอเองอาจนำไปสู่บาปอันใหญ่หลวง ตามเรื่องเล่าในหนังสือปฐมกาล บทที่ 3 ว่าด้วยเรื่องที่อีฟ (Eve) ชักชวนให้อดัม (Adam) เด็ดแอปเปิลจากต้นไม้ต้องห้ามมากินทำให้มนุษย์ต้องถูกไล่ออกจากสวนอีเดนและพบเจอกับความเจ็บปวดทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส และหลังจากลดฐานะของผู้หญิงให้ต่ำต้อยกว่าผู้ชาย ผู้หญิงยังถูกสร้างให้มีภาพลักษณ์อันชั่วร้าย เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมไว้หลอกลวงผู้ชายให้หลงผิด เชื่อถือไม่ได้ และควรได้รับการลงโทษอย่างสาสม ผ่านเรื่องราวข้างล่างนี้

ผู้วินิจฉัย บทที่ 16 : เดลิอาห์ยั่วยวนแซมสันให้เผยความลับความแข็งแกร่งของเขาซึ่งนำเขาสู่ความตายในที่สุด

1 พงศ์กษัตริย์ บทที่ 11 : ราชาโซโลมอนถูกเหล่าภรรยาและสนมต่างเชื้อชาติเกลี่ยกล่อมให้เปลี่ยนไปบูชาเทพเจ้าองค์อื่น จนเกิดการสร้างวัดนอกรีตขึ้น ทำให้สุดท้ายเขาก็ต้องตายเพราะทำให้พระเจ้ากริ้ว

เฉลยธรรมบัญญัติ บทที่ 22 : ถ้าหากเจ้าสาวไม่สามารถพิสูจน์ตนได้ว่าตัวเองยังบริสุทธ์ จะต้องถูกขว้างก้อนหินจากชายในหมู่บ้านจนกว่าจะตาย

กันดารวิถี บทที่ 5 : หากสามีสงสัยว่าภรรยามีชู้ เขาสามารถลงโทษเธอด้วยการให้เธอดื่มน้ำผสมฝุ่นจากสถานที่ศักดิ์สิทธ์ ซึ่งอาจเป็นพิษจนทำให้พวกเธอเสียชีวิต

ความรุนแรงต่อผู้หญิง
“The Creation of Eve” ภาพเขียนบรรยายการกำเนิดของอีฟจากหนังสือปฐมกาล บทที่ 2 โดย Michelangelo
ขอบคุณภาพจาก http://www.italy-travels.it/en/the-sistine-chapel-the-creation-of-eve/

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้กล่าวไปข้างต้นเป็นเพียงแค่แง่มุมหนึ่งต่อผู้หญิงในไบเบิล ยังมีบางเรื่องบางตอนที่แสดงภาพให้เห็นถึงความเท่าเทียมระหว่างชายหญิงในหนังสืออพยพ บทที่  21 และความเฉลียวฉลาดของผู้หญิงในการเอาตัวรอดจากภัยอันตรายซึ่งนำมาสู่ชัยชนะของอิสราเอลในประวัติศาสตร์ชาติจากหนังสืออพยพ หนังสือโยชูวาห์ หนังสือซามูเอล และหนังสือพงศาวดารกษัตริย์เล่ม 2 โดยจะยกตัวอย่างมาดังนี้

อพยพ บทที่ 21 วรรค 15 – 17 : ใครก็ตามที่กระทำความชั่วเช่นการฆาตกรรมหรือสาปแช่งบิดามารดาของตนเองจะต้องถูกประหารชีวิต

อพยพ บทที่ 2: มารดาผู้ให้กำเนิดโมเสสสามารถปกป้องลูกชายของเธอจากการสั่งฆ่าล้างบางเด็กชายชาวยิวทุกคนโดยฟาโรห์

 

ผู้หญิงในภาคพันธสัญญาใหม่

ความรุนแรงต่อผู้หญิง
“Christ at Simon the Pharisee” ภาพเขียนบรรยายเหตุการณ์ที่พระเยซูไถ่บาปให้กับหญิงสาวนางหนึ่ง จากพระวรสารลูกา บทที่ โดย Peter Paul Rubens และ Anthony van Dyck
ขอบคุณภาพจาก http://citychurchyork.com

ผู้หญิงในภาคพันธสัญญาใหม่นั้นแม้สถานะหรือภาพที่ตัวหนังสือรังสรรค์ให้เห็นจะยังคงเดิม แต่เจตนาเบื้องหลังกลับแตกต่างออกไป พวกเธอถูกบรรยายหรือพูดถึงในลักษณะนี้เพื่อเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่สังคมไม่ยอมรับ กลุ่มคนที่อยู่ล่างสุดของลำดับชั้นความสำคัญทางศาสนา ที่ในสักวันหนึ่งจะได้รับการปลดปล่อยจากบาปทั้งปวงโดยพระเยซูคริสต์ ผู้ที่แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าเพศใด จะชายหรือหญิง ไม่ว่าจะชาติใด ยิวหรือโรมัน ต่างก็เป็นมนุษย์ ลูกๆ ของพระเจ้า เฉกเช่นเดียวกัน โดยแสดงผ่านพฤติกรรมที่พระองค์ปฏิบัติต่อผู้หญิงทั้งทางการกระทำและคำพูด ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้จากเรื่องเล่าในพระวรสารเกี่ยวกับการเดินทางเผยแพร่ศาสนาของพระเยซูผ่านมุมมองของพระอัครสาวกทั้งสี่ มัธธิว มะระโก ลูกา และยอห์น

พระวรสารมัธธิว บทที่ 19: ในระหว่างสอนเรื่องการหย่าร้าง พระเยซูได้ตรัสว่าแต่เดิม พระผู้เป็นเจ้าสร้างมนุษย์เพศชายและเพศหญิงออกมาพร้อมกัน

พระวรสารยอนห์น บทที่ 4: พระเยซูสนทนากับหญิงสาวสะมาเรียทั้งๆ ที่เป็นสิ่งต้องห้ามในสมัยนั้น

พระวรสารยอห์น บทที่ 8: พระเยซูช่วยหญิงสาวจากการโดยรุมประชาทันฑ์ด้วยการขว้างหินใส่

พระวรสารลูกา บทที่ 7: พระเยซูปลดปล่อยหญิงสาวจากบาปทั้งปวงเนื่องจากรักที่นางแสดงออกผ่านกระทำทั้งจูบเท้าและล้างเท้าให้กับพระเยซู

จากบทที่ยกมาข้างต้นนี้ยังแสดงให้เห็นอีกว่า พระเยซูนั้นไม่ได้เห็นผู้หญิงเป็นเพศใด เพศหนึ่ง แต่มองไปที่จิตวิญญาณของตัวบุคคลมากกว่า และจิตใจที่ดีคือจิตที่พร้อมจะรักและให้อภัยเสมอ

นอกเหนือไปจากนี้พระเยซูคริสต์ยังยกระดับความสำคัญของผู้หญิงในศาสนาให้มากขึ้นโดยมอบการศึกษาและที่ทางในโบสถ์ให้กับพวกเธอ อนุญาตให้พวกเธอแสดงธรรมสอนผู้อื่น ปกป้องพวกเธอโดยการเลือกอัครสาวกทั้งหมดเป็นผู้ชายเพื่อพวกเธอจะได้ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยและเสี่ยงอันตรายในต่างแดนเพื่อเผยแพร่ศาสนา

ความรุนแรงต่อผู้หญิง
“Christ and the Samaritan Woman” ภาพเขียนบรรยายเหตุการณ์ที่พระเยซูสนทนากับหญิงสาวสะมาเรีย จากพระวรสารยอห์น บทที่ 4 โดย Paolo Veronese
ขอบคุณภาพจาก วิกิมีเดีย

แต่กระนั้นคุณค่าของผู้หญิงที่พระเยซูให้ความสำคัญกลับดูเบาบางไร้พลัง เพราะอิทธิพลจากจดหมายของอัครสาวกเปาโลที่ถูกส่งไปตามประชาคมคริสต์ต่างๆ เพื่อเป็นคำแนะนำต่อผู้เริ่มศรัทธาทั้งหลายในระหว่างเดินทางออกเผยแพร่ศาสนาตั้งแต่ช่วงปี 47 – 57 หลังคริสตกาล ซึ่งบางวรรคบางตอนของจดหมายแสดงให้เห็นว่าเปาโลยังคงเชื่อในคำสอนจากศาสนายิวเกี่ยวกับบาปกำเนิดของผู้หญิง ทำให้ความเชื่อในหมู่ประชาคมชาวคริสต์แตกแขนงออกไปเป็นสองขั้วหลักในช่วงต้นของคริสต์ศาสนา

หนึ่งเชื่อในความเท่าเทียมของมนุษย์ตามพระเยซู และอีกหนึ่งความเชื่อพัฒนาจากเนื้อความในจดหมายของเปาโลที่เขียนส่งให้บาทหลวงผู้นำ ทิโมธิและทีตัส ด้วยเรื่องตำแหน่งหน้าที่และลำดับขั้นของคนในศาสนาเช่นมีบิชอปเป็นผู้นำหลัก รองลงมาเป็นบาทหลวงและผู้ช่วยบาทหลวง ส่งผลให้ผู้ชายมีกรรมสิทธิ์ทางตำแหน่งเหนือผู้หญิง

ความรุนแรงต่อผู้หญิง
“The Apostle Paul” ภาพเขียนแสดงหน้าของอัครสาวกเปาโล โดย Rembrandt
ขอบคุณภาพจาก วิกิพีเดีย

1 โครินธ์ บท 11 วรรค 3: แต่ข้าพเจ้าใคร่ให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่า พระคริสต์ทรงเป็นศีรษะของชายทุกคน และชายเป็นศีรษะของหญิง และพระเจ้าทรงเป็นพระเศียรของพระคริสต์

1 โครินธ์ บท 11 วรรค 8 – 10:

เพราะว่าไม่ได้ทรงสร้างผู้ชายจากผู้หญิง แต่ได้ทรงสร้างผู้หญิงจากผู้ชาย

และไม่ได้ทรงสร้างผู้ชายไว้สำหรับผู้หญิง แต่ทรงสร้างผู้หญิงไว้สำหรับผู้ชาย

ด้วยเหตุนี้เอง ผู้หญิงจึงควรจะเอาสัญลักษณ์แห่งอำนาจนี้คลุมศีรษะ เพราะเห็นแก่พวกทูตสวรรค์

1 โครินธ์ บท 14 วรรค 34 – 35:

จงให้พวกผู้หญิงนิ่งเสียในที่ประชุมคริสตจักร เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้พูด แต่ให้เขาอยู่ใต้บังคับบัญชา เหมือนที่พระราชบัญญัติสั่งไว้นั้น

ถ้าเขาอยากรู้สิ่งใด ก็ให้เขาถามสามีที่บ้าน เพราะว่าการที่ผู้หญิงจะพูดในที่ประชุมคริสตจักรนั้นก็เป็นสิ่งที่น่าอาย

โคโลสี บท 3 วรรค 18: ฝ่ายภรรยาจงยอมฟังสามีของตน ซึ่งเป็นการสมควรในองค์พระผู้เป็นเจ้า

แม้ในความเป็นจริงเปาโลไม่ได้ยกเอาแนวความคิดไหนมาเหนือความคิดใดเลย เพราะในจดหมายของเปาโลเองได้มีการกล่าวถึงผู้หญิงในแง่ของการเป็นผู้นำใน โรม บทที่ 16 และผู้เดินทางเผยแพร่ศาสนา ฟีลิบปี บทที่ 4 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งกันในจิตใจของเปาโลระหว่างสองแนวความคิดของศาสนาที่เขาหันหลังให้และศาสนาใหม่ที่เขาศรัทธา

 

วีรบุรุษในใจหญิงสาว

ความรุนแรงต่อผู้หญิง
“Appearance of Christ to Maria Magdalena” ภาพเขียนบรรยายเหตุการณ์ที่พระเยซูปรากฎตัวให้แมรี แม็กดาเลนเห็นหลังจากสิ้นพระชนม์ ภาพโดย Alexander Andreyevich Ivanov
ขอบคุณภาพจาก วิกิมีเดีย

จากการสำรวจประวัติศาสตร์ทางความเชื่อของศาสนาคริสต์ผ่านคัมภีร์ไบเบิลเพื่อหาคำตอบให้กับคำถามที่ว่า ทำไมศาสนาคริสต์จึงมีผู้ศรัทธาเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย นอกจากเรื่องสัดส่วนประชากรตามเพศสภาพ  พระเยซูอาจเป็นเหตุผลหลักเพราะพระองค์แสดงให้เห็นว่ารักและการให้อภัยคือหัวใจหลักของการอยู่ร่วมกัน  จิตใจหรือจิตวิญญาณต่างหากที่มีความสำคัญมากกว่าลักษณะทางกายภาพโดยกำเนิดที่ตัวเรากำหนดไม่ได้ อย่างที่ว่าไว้หนังสือ Recovering Biblical Manhood and Womanhood โดย จอห์น ไพเพอร์ ซึ่งแท้จริงควรเป็นความเชื่อกระแสหลักมากกว่าความเชื่อเรื่องบาปกำเนิดที่มีอิทธิพลมาจากภาคพันธสัญญาเดิมหรือโลกก่อนการมาของพระเยซู ในเมื่อคริสต์คือศาสนาของพระผู้ไถ่บาปที่จะมาสยบหายนะในชนชาติยิว

ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้น ทุกอย่างมีสองด้านเสมอแล้วแต่การพิจารณาและทำความเข้าใจของผู้คน แท้จริงแล้วพระเยซูคริสต์อาจเป็นเพียงภาพของผู้ชายใจดี เข้าอกเข้าใจผู้อื่น รู้จักรักและให้อภัย ที่เหล่าหญิงสาวภายใต้การกดขี่อย่างยาวนานถวิลหา หลอกให้พวกเธออยู่ภายใต้การควบคุมของชายเช่นเดิม ทำให้พวกเธอยึดติดอยู่กับภาพฝันว่าถ้าหากตัดทางโลก บวชเป็นแม่ชี ใช้ชีวิตอยู่ในโบสถ์ ประพฤติตามหลักธรรมคำสอน ในสักวันเมื่อถึงเวลา เธอจะได้พบบุตรแห่งพระผู้เป็นเจ้า ชายที่ “เข้าใจ รักและรู้จักให้อภัยเธอ” ตามที่ ลินดา วู้ดเฮด ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Christianity: A Very Short Introduction  

 

อ่านเพิ่มเติม:

เปิดโลกนักล่าคัมภีร์ ไบเบิล


แหล่งข้อมูล:

Christianity: A Very Short Introduction โดย Linda Woodhead

Women in World Religions โดย Sharma, Arvind

Recovering Biblical Manhood and Womanhood โดย John Piper, Wayne Grudem

The Devil You Know: The Surprising Link between Conservative Christianity and Crime โดย Elicka Peterson Sparks

 Biblical Womanhood and the Problem of the Old Testament โดย Trillia Newbell

The Bible โดย John Drane

The Status of Women in the Old Testament โดย B.A. Robinson

พระคัมภีร์ไบเบิลฉบับภาษาไทย

 

 

Recommend