ไขปริศนา ฮวงจุ้ย ศาสตร์จีนโบราณ 5,000 ปี ด้วยวิทยาศาสตร์
ฮวงจุ้ย – สองร้อยหกปีก่อนคริสตกาล ในสมัยที่แผ่นดินมังกรร้อนระอุไปทุก หย่อมหญ้า หลังจักรพรรดิจิ๋นซี ฮ่องเต้ผู้ปกครองอาณาจักรด้วยกฎเหล็กสิ้นพระชนม์ลง ผู้นำสองคนมุ่งแย่งชิงอำนาจหมายโค่นล้มราชวงศ์จิ๋น คนแรกคือ เซี่ยงอวี่ แม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพจิ๋น ผู้กล้าแกร่งเยี่ยงนักรบโบราณ และคนที่สอง นามว่า หลิวปัง สามัญชนผู้ต้อยต่ำ ทว่าสุขุมคัมภีรภาพและเปี่ยมเมตตา
ตำนานเล่าว่า สงครามระหว่างสองขุนศึกผู้แตกต่างราวฟ้ากับก้อนดินดำเนินไปยาวนาน กระทั่งทั้งสองตกลงทำกติกาสัญญาสุภาพบุรุษว่า หากแม้ผู้ใดเดินทัพไปถึงวังหลวงก่อน จะได้เถลิงอำนาจและขึ้นปกครองอาณาจักรยิ่งใหญ่แห่งนี้อย่างเป็นทางการ
กองทัพมหึมาของแม่ทัพเซี่ยงอวี่ติดอาวุธด้วยเกราะเหล็กและคมดาบวาววับ ส่วนกองทัพของหลิวปังไม่น้อยหน้า นำทัพด้วยชาวนาชราและจอบเสียมคร่ำคร่า เซี่ยงอวี่ใช้กำลังทหารอันกร้าวแกร่งพิชิตทุกนครที่ขวางหน้า และเคลื่อนทัพอย่างเร็วรี่ ขณะที่หลิวปังเฝ้ารอจังหวะและค้อมหัวเพื่อขอผ่านทางอย่างเนิบนาบดูเหมือนเซียงอวี่จะเป็นต่ออยู่หลายขุม และสงครามควรจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของหลิวปังผู้อ่อนแอกว่า
ทว่าประวัติศาสตร์กลับพลิกผัน ในที่สุดหลิวปังกลับเป็นฝ่ายกำชัย ได้เถลิงบัลลังก์มังกร ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นจักรพรรดิฮั่นเกาจู่ และสถาปนาราชวงศ์ฮั่น เปิดศักราชอันเรืองรองของจีนที่มีอายุยาวนานกว่า 400 ปี ส่วนเซี่ยงอวี่นักรบผู้ปรีชา ต้องระหกระเหินก่อนฆ่าตัวตายในสนามรบ หลังจนมุมกองทัพของหลิวปังด้วยวัยเพียง 30 ปี
ไฉนชายผู้ยากไร้จึงพิชิตแม่ทัพทระนง ได้ครองอาณาจักรอันยิ่งใหญ่แห่งโลกตะวันออกบนหน้าประวัติศาสตร์โลดโผน กล่าวกันว่า เบื้องหลังชัยชนะของหลิวปังคือยอดขุนพลทั้งสามผู้เป็นทั้งกุนซือและสหาย หนึ่งในนั้นคือจางเหลียง (เตียวเหลียง) กุนซือฝ่ายบุ๋น ผู้รับหน้าที่วางกลศึก และกำหนดเส้นทางชีวิตของหลิวปัง
เล่าลือกันว่า กุนซือผู้นี้ครอบครองคัมภีร์วิเศษและหยั่งรู้ดินฟ้าอย่างน่าอัศจรรย์ วิชาลึกลับของเขาช่วยให้หลิวปังผู้ไร้ทางสู้พลิกกลับมาชนะศึกนับครั้งไม่ถ้วน และท้ายที่สุดก็หนุนนำให้ชายพเนจรก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งจักรพรรดิผู้ยิ่งยง จนแม้แต่ชาวจีนในปัจจุบันยังกล่าวขานมิรู้ลืม
วิชาลึกลับของเขาเป็นที่รู้จักกันในนาม “ฮวงจุ้ย”
ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติลึกซึ้งอย่างที่เล่าจื๊อรจนาไว้ หลังม่านไม้ไผ่ จอกเหล้า ป้านชา และบทกวี อารยธรรมจีนโบราณอายุยาวนานกว่าห้าพันปีเป็นบ่อเกิดภูมิปัญญามากมาย รวมทั้งศิลปวิทยาการทั้งห้าหรือที่รู้จักกันในนาม “โหงวซุก” อันได้แก่ อายุวัฒนะ (ซัว) การรักษา (อุย) การดูดวงชะตา (เหม่ย) การเสี่ยงทาย (ผก) และการวิเคราะห์ประเมิน (เสี่ยง) ศาสตร์ทั้งห้าแตกแขนงออกไปอีกสารพัน หนึ่งในนั้นคือ “ฮวงจุ้ย” วิชาย่อยของศาสตร์การวิเคราะห์ประเมิน ซึ่งว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ของกาลเวลา มนุษย์ และสถานที่ หรือที่ฮวงจุ้ยเรียกว่า “ชะตาฟ้า ชะตามนุษย์ และชะตาดิน”
บนหลักพื้นฐานที่สุด ปรัชญาตะวันออกมองว่ามนุษย์และสรรพสิ่ง (ธรรมชาติ) ล้วนเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ได้รับพลังจากธรรมชาติตลอดเวลาโดยไม่มีเวลาหยุดพัก พลังธรรมชาตินี้เรียกว่า ชี่ (Qi) ซึ่งมีแหล่งกำเนิดจากความสัมพันธ์ของแรงโน้มถ่วงโลกและแรงเหวี่ยงหนีศูนย์ จากการโคจรของโลกและดวงดาวต่าง ๆ ในระบบสุริยะ การค้นพบพลังชี่เป็นประเด็นเดียวกับการค้นพบพลังสนามแม่เหล็กโลกหรือทฤษฎีไดนาโม ซึ่งว่าด้วยธาตุเหล็กใต้ผิวโลกสร้างสนามพลังกับแรงโคจร พลังชี่มีอยู่ในทุกสรรพสิ่ง ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต และสามารถถ่ายทอดเป็นกระแสต่อกันได้ อาทิ อากาศ แสงอาทิตย์ สายน้ำ เสียง คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และรังสี
นักปราชญ์จีนแบ่งบุคลิกของพลังชี่ไว้ 5 ประเภท ได้แก่ ไฟ ไม้ น้ำ ทอง และดิน หรือเรียกว่า ธาตุทั้งห้า นอกจากนี้ แต่ละธาตุยังกำกับด้วยพลัง ”หยิน –หยาง” ซึ่งเปรียบเสมือนขั้วบวกและขั้วลบที่มีคุณสมบัติตรงข้ามกัน ในหลักอภิปรัชญาของจีน การค้นพบธาตุทั้งห้าและหลักหยิน -หยางถูกนำมาใช้เป็นค่า “ตัวแปรกลาง” สำหรับการคำนวณเพื่ออธิบายทุกสรรพสิ่งในโลก ตั้งแต่การก่อเกิดฤดูกาล กลางวัน – กลางคืน ภัยธรรมชาติ ปรากฏการณ์อย่างลานีญาและเอลนีโญ โรคภัยไข้เจ็บ รสชาติอาหาร เพศสภาพ และความตาย เรื่อยไปจนถึงกำเนิดพืชนานาพรรณ สายฝน และหยาดน้ำค้าง ขณะเดียวกันยังถูกนำมาเชื่อมโยงกับรูปลักษณ์ของสรรพสิ่ง อาทิ สีแดงคือธาตุไฟ สีเขียวคือธาตุไม้ รูปทรงกลมคือธาตุทอง (ฮวงจุ้ยอธิบายว่า แต่ละสีมีย่านความถี่แตกต่างกัน และแต่ละย่านความถี่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ต่างกัน เช่นเดียวกับรูปทรงที่ส่งผลในเชิงจิตวิทยา เช่น สามเหลี่ยมแหลมเป็นธาตุไฟ เนื่องจากก่อให้เกิดความรู้สึก แหลมคม ทิ่มแทง และร้อนแรง)
สำหรับมนุษย์ แม้ว่าพลังชี่จะพุ่งเข้าหาตัวเราตลอดเวลา ทว่าผลกระทบที่เกิดกับ “แต่ละบุคคล” นั้นกลับแตกต่างกันออกไป วิชาฮวงจุ้ยระบุว่า ผลจากการรับพลังชี่ที่แตกต่างกันในมนุษย์ ขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ ชะตาฟ้า ชะตามนุษย์ และชะตาดิน ศัพท์ทั้งสามที่ฟังเหมือนหลุดมาจากนวนิยายโกวเล้งนี้คือเป้าหมายของวิชาฮวงจุ้ย ซึ่งใช้สำหรับวิเคราะห์ชะตาทั้งสาม เพื่อค้นหาว่า มนุษย์ผู้นั้นเหมาะสมกับพลังชี่ประเภทใด และจะสามารถเปิดรับพลังชี่ประเภทนั้นได้อย่างไร
หลังจอกน้ำชากลิ่นละมุน มาศ เคหาสน์ธรรม ซินแสและประธานสถาบันค้นคว้าฮวงจุ้ยแห่งประเทศไทย อธิบายว่า หากวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์แล้ว ชะตาทั้งสามก็คือรูปแบบความสัมพันธ์ของกาลเวลา (time) และสถานที่ (space) เช่นเดียวกับแนวคิดเรื่องเวลาและสถานที่ อันก่อให้เกิดมิติของเหตุการณ์ตามแนวคิดของ เซอร์ไอแซก นิวตัน ทว่าฮวงจุ้ยได้ผนวกเรื่องของมนุษย์ (people) ลงระหว่างกลางชะตาทั้งสอง และฮวงจุ้ยเป็น เสมือนสูตรคำนวณเพื่อหาตำแหน่ง “ถูกที่ถูกเวลา” ของมนุษย์ หรือเวลาและสถานที่ที่จะได้พบกับพลังชี่อันเหมาะสม
เพื่อไขปริศนาชะตาทั้งสาม เราเริ่มต้นจากชะตาฟ้า หรือเวลา (time) การโคจรของโลกทั้งรอบตัวเองและรอบดวงอาทิตย์ ตลอดจนการโคจรของดาวเคราะห์อื่น ๆ และดวงจันทร์ในระบบสุริยะ ก่อให้เกิดสนามแม่เหล็กและปรากฏการณ์ที่แตกต่างกัน เช่น ฤดูกาลและน้ำขึ้นน้ำลง นักปราชญ์จีนโบราณแบ่งช่วงเวลาเหล่านั้น (อย่างง่าย ๆ) ออกเป็นรอบละ 12 นักษัตร ในหนึ่งปีแบ่งเป็น 12 เดือน หรือ 4 ฤดู และในหนึ่งวันแบ่งเป็น 24 ยาม ห้วงเวลาที่แตกต่างกันนี้เป็นต้นกำเนิดของพลังชี่ที่แตกต่างกัน อาทิ ปีนักษัตรชวดเป็นพลังชี่ธาตุน้ำ ฤดูใบไม้ผลิเป็นพลังชี่ธาตุไม้ ฤดูร้อนเป็นพลังชี่ธาตุไฟ หรือเวลาสามทุ่มถึงเที่ยงคืนเป็นเวลาของพลังชี่ธาตุน้ำ ชะตาฟ้าหรือช่วงเวลานี้เป็นธรรมชาติที่ดำเนินสม่ำเสมอนับเนื่องเป็นวัฏจักร และอยู่เหนือการควบคุมบัญชาของมนุษย์ (นิยายกำลังภายในอาจใช้คำว่า “ลิขิตฟ้า” หรือ “สวรรค์บัญชา”)
ขณะที่ปัจจัยต่อมาคือชะตามนุษย์ ภาษาโหราศาสตร์ นิยามสิ่งนี้ว่า “ดวง” นักปราชญ์จีนวิเคราะห์ว่า ชะตามนุษย์เกิดจากผลกระทบของดวงดาวที่มีต่อมนุษย์แต่ละคนแตกต่างกันออกไป วินาทีที่ชีวิตถือกำเนิดขึ้นเปรียบเสมือนการประจุพลังชี่แต่ละธาตุเข้าไปในร่างกายมนุษย์ ขณะเดียวกัน ชะตามนุษย์ยังเป็นเรื่องของส่วนผสมทางพันธุกรรม การอบรมเลี้ยงดู และการฝึกฝนความสามารถด้วย ดังนั้น ปัจเจกบุคคลจึงมีบุคลิกของพลังชี่ประจำตัวและปฏิกิริยาตอบสนองต่อพลังชี่อื่น ๆ แตกต่างกัน
ส่วนชะตาดินหรือสถานที่ (place) เชื่อมโยงกับทิศทั้งแปด อันเป็นต้นกำเนิดของพลังชี่ที่แตกต่างกัน อาทิ ทิศเหนือเป็นพลังชี่ธาตุน้ำ ทิศตะวันออกธาตุไม้ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างทิศทางกับการก่อกำเนิดพลังชี่เป็นผลจากการเฝ้าสังเกตธรรมชาติจนพบว่า กระแสของชี่ซึ่งไหลรี่มาตามลม แสงสว่าง ละอองน้ำ ฯลฯ นั้นสามารถควบคุมได้ โดยการออกแบบชัยภูมิและรูปทรงของอาคารตามความเหมาะสมกับผู้อยู่อาศัย
”มนุษย์เราอาศัยอยู่ในบ้านที่เปรียบเสมือนกล่องใบหนึ่งเราวิเคราะห์ว่าสภาพแวดล้อมภายนอกมีผลกระทบกับกล่องใบนี้อย่างไร กล่องเปล่า ๆ สร้างออกซิเจนเองไม่ได้ ถูกไหมครับ จึงต้องอาศัยลมเป็นตัวชักนำออกซิเจนเข้ามา เพื่อหล่อเลี้ยงเซลล์ที่ต้องการออกซิเจน เพียงแต่ฮวงจุ้ยไปไกลกว่านั้น เพราะไม่เพียงแค่ศึกษาทิศทางของอากาศ แต่ยังศึกษาลึกลงไปถึงชะตามนุษย์ที่แตกต่างกัน แล้วนำมา ‘ซิงโครไนซ์’ หรือปรับให้เข้ากับชะตาทั้งสอง (ชะตาฟ้าและชะตาดิน) ก่อนหน้าครับ” ซินแสมาศอธิบาย
คำถามต่อไปของผมก็คือ ความเชื่อมโยงระหว่างชะตาทั้งสามส่งผลต่อชีวิตมนุษย์อย่างไร
กรณีศึกษาที่น่าสนใจกรณีหนึ่งคือ สตีฟ จ็อบส์ ชายปราดเปรื่องแห่งยุคไอทีครองเมือง ในทางฮวงจุ้ย จ็อบส์ เป็นชายธาตุไฟผู้เปี่ยมไปด้วยพลังคิดสร้างสรรค์ ทำงานหนัก ครุ่นคิด ฉุนเฉียวง่าย และมีดวงชะตาของความทุกข์ยากแต่เยาว์วัย (ชะตามนุษย์) เมื่อมองจากแผนที่จะพบบ้านของจ็อบส์ที่เมืองแพโลแอลโต รัฐแคลิฟอร์เนียหันรับพลังชี่ในทิศทางที่ถูกยุคสมัย และเหมาะสมกับตัวเขา ขณะเดียวกัน สนามหน้าบ้านยังเป็นแหล่งกักเก็บพลังชี่ชั้นเลิศก่อนส่งมายังตัวบ้าน ว่ากันว่าพลังชี่อันเปี่ยมล้นนี้ส่งผลให้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา จ็อบส์เกิดไอเดียสร้างสรรค์สินค้ามากมาย ตั้งแต่ไอพ็อดไปจนถึงไอโฟน และอีกหลายผลิตภัณฑ์ที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลก
จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของจ็อบส์คือการกลับเข้ามารับตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของบริษัทแอปเปิ้ล (Apple Inc.) ซึ่งชักนำให้เขาเข้ามาสู่สถานที่ทำงานแบบอาคารโถงกลม ทาสีขาวสะอาดหมดจด ซึ่งมีพลังชี่ธาตุทองที่เขาต้องการอย่างยิ่งยวด (ความที่เป็นคนธาตุไฟจ็อบส์ต้องการพลังธาตุทองตลอดเวลาเพื่อเสริมชีวิตให้มั่งคั่ง) ที่สำคัญคือชัยภูมิเส้นสายถนนของสำนักงานที่เปิดรับพลังชี่จากภายนอกอย่างเต็มเปี่ยม ส่งผลให้เขาเป็นผู้บริหารที่นั่งทำงานในชัยภูมิที่รับพลังชี่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันโลโก้แอปเปิ้ลที่เปลี่ยนมาเป็นสีเงิน กลมมน และสารพัดผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายล้วนแล้วแต่เป็นสัญลักษณ์ของธาตุทอง ยิ่งช่วยเสริมให้ทั้งชื่อเสียงและเงินทองหลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่รู้จบ
ทว่า ชีวิตของจ็อบส์น่าจะสมบูรณ์แบบกว่านี้ หากบ้านอีกฟากหนึ่งของเขาไม่ได้หันไปทางทิศที่เปิดรับพลังชี่ร้าย ซึ่งนำความเจ็บป่วยมาสู่เขา เราไม่รู้ว่ามีใครแนะนำจ็อบส์หรือไม่ แต่หลังจากพลิกโลกด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากมาย มะเร็งตับอ่อนที่รุมเร้ามายาวนานก็พรากเขาไปจากเรา… “ชะตามนุษย์เราอาจเปลี่ยนแปลงได้ระดับหนึ่ง ส่วนชะตาดินเราใช้ฮวงจุ้ยเปลี่ยนได้ แต่ชะตาฟ้าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ครับ” ซินแสมาศทิ้งท้าย
ความละม้ายคล้ายคลึงกันระหว่างฮวงจุ้ยกับสถาปัตยกรรมศาสตร์มีรากเหง้ามาจากองค์ความรู้ด้านการออกแบบและจัดการสถานที่ โดยคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสถาปัตยกรรมนั้น ๆ ทว่าสิ่งที่แตกต่างกันคือ สถาปัตยกรรมศาสตร์ปฏิเสธประเด็นของชะตามนุษย์ สถาปนิกออกแบบเพื่อตอบสนองต่อความเหมาะสมของชีวิตมนุษย์ในเชิงกายภาพและสภาพทางมานุษยวิทยาเท่านั้น ขณะเดียวกัน สถาปนิกผู้เคร่งครัดกับวิชาชีพบางคนถึงกับมองว่าฮวงจุ้ยเป็นวิชาโบราณคร่ำครึ “ที่จริงเมื่อก่อนผมเองก็สนใจฮวงจุ้ยแบบนั้นละครับ” ตะวัน เลขะพัฒน์ อดีตสถาปนิกหนุ่มจากรั้วจามจุรีเล่าให้ผมฟัง “แต่นั่นเป็นความสนใจแบบเด็กสถาปัตย์สนใจกัน คือสนใจฮวงจุ้ยเพื่อนำไปออกแบบแล้วไม่ถูกลูกค้าแก้ไข โดยเฉพาะเคสที่ลูกค้าเชื่อหลักฮวงจุ้ย” เขาหมายถึงความเชื่อจำพวกห้ามนอนใต้คาน ห้ามสร้างบ้านตรงทางสามแพร่ง เป็นต้น
ในแวดวงสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาปนิกผู้คร่ำหวอดอาศัยการคำนวณละเอียดลออ วิเคราะห์ปัจจัยสารพัดตั้งแต่อากาศ สายลม แสงแดด ไปจนถึงสภาพพื้นที่ก่อนออกแบบอาคารที่เปี่ยมทั้งอรรถประโยชน์และสุนทรียศาสตร์ อีกด้านหนึ่ง ซินแสผู้ยึดมั่นในศาสตร์จีนโบราณท้วงทักและแก้ไขแบบแปลนของสถาปนิก อ้างว่าทิศทางและช่องลมไม่เป็นไปตามหลักพลังชี่ ลูกค้าหยั่งความเห็นแล้วถือหางซินแส เบื้องหลังการแก้แบบแปลน สถาปนิกผู้นั้นอาจถึงกับอิดหนาระอาใจ สบถ และยอมแก้ไขด้วยใจระย่อ นี่คือความขัดแย้งที่พบเห็นได้ดาษดื่น บนหลักการของสองศาสตร์ สถาปนิกผู้ออกแบบอาคารและซินแสฮวงจุ้ยมักยืนอยู่คนละฝั่งอย่างไม่ยอมลดราวาศอกให้แก่กัน
แต่ตะวันกลับไม่คิดเช่นนั้น หลังใช้ชีวิตสถาปนิก (ในบริษัทยักษ์ใหญ่) ระยะหนึ่ง ความสนใจในศาสตร์จีนโบราณส่งผลให้เขาตัดสินใจลาออก และเลือกเดินเส้นทางเป็นซินแสอย่างเต็มตัว การศึกษาฮวงจุ้ยปูทางให้เขาได้ผสมผสานทักษะการออกแบบเชิงสถาปัตยกรรมศาสตร์และการวิเคราะห์พลังชี่ของสรรพสิ่งตามหลักฮวงจุ้ย “ข้อแตกต่างระหว่างฮวงจุ้ยกับสถาปัตยกรรมศาสตร์มีนิดเดียวเองครับ คือสถาปนิกออกแบบบ้านตามความต้องการของลูกค้า แต่ซินแสออกแบบบ้านตามโครงสร้างดวงของลูกค้าครับ” เขาบอก
ตะวันสาธยายต่อว่า ฮวงจุ้ยและสถาปัตยกรรมศาสตร์ต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือ ออกแบบอาคารที่ผู้อยู่อาศัยมีความสุข และประสบแต่สิ่งดี ๆ เพียงแต่ศาสตร์จีนโบราณไม่ได้แยกแขนงวิชาอย่างในปัจจุบัน ในยุคโบราณไม่มีสถาปนิก ไม่มีซินแส มีแต่ผู้เชี่ยวชาญสรรพศาสตร์ ซึ่งรอบรู้ทั้งการออกแบบ การปกครอง การบริหาร การรักษาโรค และการวางผังเมือง ”ยกตัวอย่างจูกัดเหลียง หรือขงเบ้งไงครับ บางมุมเขาเป็นแม่ทัพ บางมุมเป็นนายกรัฐมนตรี บางมุมเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง แต่บางมุมก็เป็นซินแสฮวงจุ้ย นักปราชญ์จีนต้องเรียนทุกวิชาและนำไปใช้ร่วมกัน
“สิ่งที่สถาปนิกไม่รู้เกี่ยวกับฮวงจุ้ยมีไม่ต่ำกว่า 70 – 80 เปอร์เซ็นต์ครับ และส่วนใหญ่ไม่เปิดใจกับฮวงจุ้ย ปัญหาของซินแสและสถาปนิกตอนนี้คือต่างฝ่ายต่างดูถูกวิชาชีพของอีกฝ่าย ถ้าวันนี้สถาปนิกยอมรับ ซินแสยอมรับ ทั้งคู่จะทำงานร่วมกันได้ดีทีเดียวครับ” เขาบอก
หลังม่านฝันมลังเมลือง ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. 2549 สุรเชษฐ์ วินิจพิทยากุล หนุ่มใหญ่วัย 43 เจ้าของโรงงานเฟอร์นิเจอร์ฝีมือประณีตในจังหวัดพระนครศรีอยุธยากำลังระทมสาหัสกับพิษธุรกิจ น้ำตาลูกผู้ชายกับชีวิตที่โชกโชนกำลังพังพาบไม่เป็นท่า ธุรกิจที่หมายมั่นปั้นมือส่อแววจะล้มครืน “สำหรับผมถือว่าครั้งนั้นหนักหนาที่สุดในชีวิตแล้วครับ” เขาบอก ในความสับสนและมืดมน จากผู้ไม่เคยแยแสเรื่องชะตาฟ้าลิขิต เขาหันมาศึกษาฮวงจุ้ยอย่างจริงจัง หวังเป็นทางออกในยามอกไหม้ไส้ขม ตัดสินใจเจียดเงินก้อนเล็กสักก้อนหนึ่งเป็นค่าจ้างซินแสมาปรับเปลี่ยนชีวิตที่โรงงานของเขา ”ตอนนั้นเหมือนเรากำลังจะจมน้ำ เผอิญฟางเส้นสุดท้ายยื่นเข้ามา เราจึงต้องคว้าไว้ก่อนครับ” สุรเชษฐ์ยอมรับ
ซินแสให้คำแนะนำอย่างไร คำตอบพอเดาได้จากสิ่งที่เห็น อาคารหลังนั้นซึ่งเป็นทั้งเรือนนอนและห้องทำงานของสุรเชษฐ์เต็มไปด้วยสิ่งของเหล่านี้ ม้าพยศแกะสลัก สิงโตโลหะแวววาว สายสร้อยหินอ่อน ตู้ปลาพร้อมระบบกรองน้ำอัตโนมัติ ตุ๊กตาเทพเจ้าจีนสีทองอร่าม (มี ฮก ลก ซิ่ว เป็นอาทิ) ก้อนหิน ปี๋เซียะ (สัตว์มงคลในตำนาน) ศาลเจ้า มังกรโลหะ ฯลฯ ทั้งหมดราคารวมกันเกินหลักแสนบาท ยังไม่นับห้องน้ำและห้องทำงานที่ถูกทุบและสับเปลี่ยนตำแหน่งกันวุ่นวาย แต่เจ้าตัวกลับไปนั่งทำงานในห้องประชุม และบางครั้งกลายเป็นห้องนอนไปในตัว ห้องน้ำเหลือเพียงห้องเดียวบนชั้นสอง และเราต้องเดินขึ้นบันไดที่ไม่มีราวจับหากเกิดปวดเบาหรือหนัก
ความนิยมฮวงจุ้ยในไทยดำเนินมากว่าสามสิบปีแล้วเริ่มจากบริษัทยักษ์ใหญ่ (จำพวกธนาคาร) ซึ่งมักมีเจ้าของเป็นชาวจีนโพ้นทะเลและลูกหลาน หลายคนเชื่อว่า ที่สามารถฟันฝ่าจนรอดพ้นวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2540 มาได้ เพราะมีฮวงจุ้ยเป็นกำลังเสริม ในยุคนั้นการจัดฮวงจุ้ยโดยซินแสนำเข้าจากฮ่องกงหรือมาเลเซียบางคนมีค่าตัวขั้นต่ำเพียงหลักร้อยบาท
แต่เป็นร้อยบาททองคำ!
หลังวิกฤติต้มยำกุ้งคราวนั้น ความเข็ดหลาบสอนให้นักธุรกิจหลายคนเลือกบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบ บ้างเจริญรอยตามบริษัทยักษ์ใหญ่ และเจียดงบประมาณส่วนหนึ่งให้กับฮวงจุ้ย วิชาที่แม้ว่าพวกเขาจะไม่รู้จักอย่างถ่องแท้ แต่ก็เหมือนการทำประกันชีวิตด้วยเศษเงิน
ถึงกระนั้น เศษเงินก็ช่างหอมหวาน ในเวลาต่อมา วงการศึกษาฮวงจุ้ยแบ่งบานและดำเนินไปอย่างสับสน เจ้าสำนักก่อร่างสร้างตัวด้วยภาพซินแสน่าเชื่อถือทั้งวาจาและเครื่องแต่งกาย ธุรกิจรับจัดฮวงจุ้ยมีเม็ดเงินหมุนเวียน มหาศาล ทะยานขึ้นพอ ๆ กับแผงหนังสือที่ปรากฏตำราการจัดฮวงจุ้ยอย่างไรให้ “รวยมหารวย” วางขายประชันกัน
หน้าจอโทรทัศน์ทั้งฟรีทีวีและเคเบิลทีวีปรากฏรายการสารพัดฮวงจุ้ย อีกด้านหนึ่ง ณ เกาะฮ่องกง อันเป็นฐานที่มั่นของซินแสฮวงจุ้ยชื่อดังหลายคน เริ่มเกิดธุรกิจวัตถุมงคลผสมผสานกับวิชาฮวงจุ้ย ซินแสบางคนเริ่มมีอาชีพเสริมเป็นเซลส์แมน พวกเขาขายวัตถุมงคลและปั่นราคาจนหินบางก้อนมีสนนราคาพุ่งถึงหลักล้าน “เวลาวิเคราะห์สถานที่ ซินแสใช้หลักฮวงจุ้ย แต่เวลาแก้ไขกลับหันไปพึ่งไสยศาสตร์ เหมือนคนปวดหัว แต่หมอสั่งให้กินยาลดกรด ผมไม่ว่าหากใครจะเชื่อ เพราะเป็นความเชื่อส่วนบุคคล แต่ต้องเตือนว่าไม่ถูกหลักวิชา เพราะฮวงจุ้ยไม่ใช่หลักศาสนา ไม่มีไสยศาสตร์ ไม่มีพิธีกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น และที่สำคัญ ไม่มีการขายของเด็ดขาด” ซินแสมาศเตือนด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
เราไม่ขอฟันธง แต่การนำฮวงจุ้ยมาปะปนกับพิธีกรรมและไสยศาสตร์ค่อนข้างคลุมเครือ ในดินแดนที่ผู้คนมีความเชื่อเหนือการพิสูจน์พบเห็นได้ดกดื่น วัตถุมงคลอาจหาซื้อได้ง่ายกว่ากระสุนปืน (นิดหน่อย) ขณะเดียวกัน สารพันข้อมูลฮวงจุ้ยจากท้องตลาด ทั้งรายการโทรทัศน์และหนังสือเบสต์เซลเลอร์ที่มักเขียนด้วยโกสต์ไรเตอร์ไส้แห้ง ถูกนำมาคลุกเคล้ากันราวกับสลัดผัก เมื่อปะปนกับความเชื่อจำพวก “เขาว่ามา” เป็นต้นว่า ห้ามหันหัวทิศตะวันตก การตั้งศาลเจ้า บนบานศาลกล่าว ไปจนถึงศาลพระภูมิ และเทพเทพารักษ์ทั้งไทยเทศ ฮวงจุ้ยจึงกลายเป็นศาสตร์ลึกลับที่ปะปนหรืออาจถึงขั้นถูกครอบงำด้วยความเชื่อไสยศาสตร์
“ผมเชื่อว่าร้อยละ 90 ของซินแสไสยศาสตร์มักเป็นพวกอ่านหนังสือฮวงจุ้ยตามท้องตลาด จะมีซินแสสักกี่คนครับที่ศึกษาฮวงจุ้ยบนรากฐานของวิทยาศาสตร์ ศึกษาฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ สนามแม่เหล็ก และการโคจรของดวงดาว สุดท้ายก็ไม่พ้นหากินบนความศรัทธาของผู้อื่น” ซินแสมาศกล่าว
ทว่านักธุรกิจหลายคนกลับไม่แยแสทฤษฎีฮวงจุ้ย แต่ตั้งความหวังกับยอดขายปลายปี และอาจยอมควักกระเป๋าหลายหมื่นบาทเพื่อซื้อสิงโตหินมาประดับทางเข้าร้าน แม้จะดูไร้เหตุผล แต่ก็เพื่อประคับประคองจิตใจบนธุรกิจมูลค่านับสิบล้าน “ถ้าตั้งของมงคลแล้วรวยได้จริง โอ้โฮ! ร้านขายของมงคลคงรวยมหาศาลยิ่งกว่าบิล เกตส์ ไป แล้วครับ” ซินแสมาศค่อนขอดทิ้งท้าย
เพื่อค้นหาความเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์จีนโบราณ กับวิถีการออกแบบที่พักอาศัยอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ ผมเริ่มต้นแกะรอยจากวิทยานิพนธ์ของ ดร.ชูพงศ์ ทองคำสมุทร แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ปฏิเสธการจัดวางผังพื้นที่ตามอุดมคติของจีนจำพวก “หน้าน้ำหลังเขา” ว่าไม่สามารถนำมาใช้กับเขตภูมิอากาศร้อนชื้นอย่างไทยได้ เนื่องจากฮวงจุ้ยเป็นวิชาของอารยธรรมเขตหนาว เขาเสนอว่า ”ในการออกแบบอาคารทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ควรนำหลักฮวงจุ้ยมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ” แม้จะเป็นงานวิจัยเชิงสถาปัตยกรรมศาสตร์เพียงหนึ่งเดียว (ในไทย) ที่ค่อนข้างท้าทายศาสตร์จีนโบราณ แต่ไม่ได้ให้ความกระจ่างในประเด็นของพลังชี่หรือธาตุต่าง ๆ ตามหลักฮวงจุ้ย
เพื่อเพิ่มความขลังให้งานเขียนชิ้นนี้ ผมเดินทางผ่านม่านหมอกกระฉอกโค้ง เป้าหมายอยู่ที่แม่ฮ่องสอน ดินแดนของชาวไทใหญ่ ผู้เปี่ยมศรัทธาในศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อศึกษาคติการสร้างบ้านของคนไทใหญ่ที่มีลักษณะสอดประสานกลมกลืนกับธรรมชาติและความเชื่อสารพัด เมื่อมองเผิน ๆ บ้านไม้หลังโตมุงด้วยใบตองตึงช่างสะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่นและความละเอียดลออของผู้ออกแบบ ทว่าสุรศักดิ์ ป้อมทองคำ ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมไทใหญ่ บอกว่า ”คนไทใหญ่ค่อนข้างเคร่งศาสนาครับ พวกเขาเชื่อว่าการสร้างบ้านต้องมีศาลสำหรับเทพด้วย ส่วนจะเรียกว่าเป็นฮวงจุ้ยหรือเปล่า ผมคิดว่าไม่คงเป็นเรื่องวิถีวัฒนธรรมมากกว่า”
หรือจะเป็นบ้านของพี่น้องชาวรักป่าปกากะญอ แม้ว่าเตาไฟกลางบ้านของพวกเขาให้ไออุ่นได้ดีในอากาศหนาวเหน็บ และยกพื้นสูงเพื่อหลบเลี่ยงแมลงและสัตว์ร้ายกลางป่า แต่การเลี้ยงผีในวันขึ้นบ้านใหม่ดูจะไม่มีคำอธิบายที่สอดคล้องกับหลักฮวงจุ้ยแม้แต่น้อย อย่างไรก็ตาม ผมขอทิ้งไพ่ใบสุดท้ายด้วยการตระเวนไปตามหมู่บ้านจีนฮ่อตามแนวตะเข็บชายแดน หวัง “แสวงปราชญ์” ค้นหาปรมาจารย์ด้านฮวงจุ้ยที่อาจเร้นกายอยู่ตามป่าเขาแร้นแค้น สิ่งที่ผมได้ติดไม้ติดมือกลับมากลับมีเพียงบ๊วยแช่อิ่มและจอกชา ไม่มีซินแสลึกลับที่ว่า พี่สาวจีนฮ่อคนหนึ่งเล่าว่า พวกเขาดูฤกษ์ยามกันเองโดยอาศัยปฏิทินที่ได้มาจากตลาดหรือพ่อค้าเร่ “ดูจ้ะ ที่นี่เราดูฮวงจุ้ยกันทุกบ้าน เพื่อให้เหมาะกับดวงเรา” แล้วเธอก็หยิบปฏิทินจีนที่แต่ละบ้านใช้ดูฤกษ์ยามออกมาให้ดู ก่อนตบท้ายว่าขายในราคากันเอง
หลังรอนแรมค้นหา แต่กลับไม่พบเคล็ดวิชาชัยภูมิท้องถิ่นใดที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างฮวงจุ้ย (จะมีบ้างที่ใกล้เคียง แต่สุดท้ายก็มักวกเข้าหาไสยศาสตร์ในที่สุด) ระหว่างการเดินทาง ผมกลับระลึกถึงสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัว ลมและน้ำฮวงและจุ้ย ช่างละเมียดละไมดั่งยอดกกไหวยามต้องลม แท้ที่จริง สรรพสิ่งนั้นคือธรรมชาติ และฮวงจุ้ยก็สถิตอยู่ทุกกาลและสถานที่ ในลมหายใจ และท่ามกลางแสงทองอร่ามยามเย็น “ธรรมชาติที่เราไม่เข้าใจ เรามองไม่เห็น สัมผัสไม่ได้ หรือไม่มีคำอธิบาย เมื่อเราไม่เข้าใจ เราจึงจัดให้เป็นไสยศาสตร์เสียหมด แต่จริง ๆ แล้วทุกอย่างในธรรมชาติล้วนมีความสัมพันธ์กัน และเป็นสิ่งที่อธิบายได้ครับ” ซินแสมาศบอกเราอย่างนี้
แต่เรากลับพบสารพัดหลักวิชาฮวงจุ้ยในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะธุรกิจระดับแถวหน้าของประเทศ ทั้งบนถนนเยาวราช เส้นสายที่เกิดจากความบังเอิญในการตัดถนนสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้เกิดการไหลเวียนและสะสมพลังชี่อันน่าอัศจรรย์ ปากทางเข้าห้างสรรพสินค้าชื่อดังย่านสยามสแควร์เฉียงรับพลังชี่จากเส้นทางรถไฟลอยฟ้า เช่นเดียวกับห้างชื่อเดียวกับข้าวถุงที่อยู่ใกล้ ๆ กัน หรือจะเป็นทำเลที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของสองธนาคารอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ล้วนมีชัยภูมิระดับเอกอุทางฮวงจุ้ย ไม่เว้นแม้แต่พระบรมมหาราชวังที่ตั้งเด่นเป็นสง่ารับกระแสชี่จากโค้งน้ำเจ้าพระยาตลอดเวลา จากตัวอย่างธุรกิจสารพันความร่ำรวยและโอกาส อาจทำให้ใครหลายคนหวังใช้ความรู้ทางฮวงจุ้ยและพลังธรรมชาติโกยธนบัตรกับเขาบ้าง
ทว่าช้าก่อนท่านจอมยุทธ์ จิบน้ำชาแล้วตรองเถิด หากชีวิตท่านยังง่อยเปลี้ย ไฉนชะตาฟ้าดินจะอำนวยโภคทรัพย์แด่ท่าน “ถ้าใครเลือกว่าฮวงจุ้ยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ผมบอกได้เลยครับว่า ไม่ใช่ ฮวงจุ้ยเป็นแค่วิชาเสริม เสริมชีวิตของเรา และเป็นวิชาเสริมที่ดีมาก ๆ แต่ถ้าใครยังติดลบอยู่ แล้วหวังจะใช้ฮวงจุ้ยสร้างเงินพันล้านละก็ ผมฟันธงครับว่า เป็นไปไม่ได้” ตะวัน ซินแสฮวงจุ้ยและสถาปนิกหนุ่มทิ้งท้าย
เรื่อง ราชศักดิ์ นิลศิริ
ภาพถ่าย ปวุธ บำรุงพืช
เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2555