“พิเชษฐ กลั่นชื่น” The Rite of Spring Concert and Dance การพบกันของคนแปลกหน้า กับท่าเต้นบัลเลต์อายุร้อยปีที่มีจุดเริ่มต้นจากคณะละครไทยในยุโรป

“พิเชษฐ กลั่นชื่น” The Rite of Spring Concert and Dance การพบกันของคนแปลกหน้า กับท่าเต้นบัลเลต์อายุร้อยปีที่มีจุดเริ่มต้นจากคณะละครไทยในยุโรป

ถอดรหัส The Rite of Spring Concert and Dance โดยพิเชษฐ กลั่นชื่น กับการผสมผสานหลากหลายองค์ประกอบเพื่อนิยามสิ่งใหม่ และการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ท่าเต้นอายุกว่าร้อยปี ที่เชื่อมโยงกับคณะละครไทยในยุโรป

สายของวันอาทิตย์กลางเดือนมิถุนายน รถตู้คณะหนังใหญ่วัดบ้านดอน มาถึงตามเวลานัดหมาย

โรงละครช้าง ประชาอุทิศ 61 คึกคักเหมือนอย่างเคย ทั้งนักแสดง ทีมเสื้อผ้า สต๊าฟสนับสนุน พร้อมกันในห้องโถงใหญ่ ในช่วง ราว10 โมงเศษ และทันทีที่เสียงทักทายอย่างไม่เป็นทางการเริ่มเบาลง คำต้อนรับอย่างเป็นทางการของคุณพิเชษฐ ในฐานะเจ้าของสถานที่ “พิเชษฐ กลั่นชื่น แดนซ์ คอมพานี” ก็ดังขึ้น

นี่คือวันแรกที่ทุกส่วนประกอบของ โชว์ The Rite of Spring Concert and Dance มาพบกัน สำรวจด้วยสายตาและซักถามเบื้องต้น เราพบว่าสมาชิกในโชว์มีที่มาหลากหลาย ทั้งหนังใหญ่จากคณะวัดบ้านดอน จ .ระยอง นักแสดงโนราจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, ราชภัฏพระนคร, ชมรมมโนราห์ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดราชาธิวาส, ครูอาจารย์ด้านการแสดงจากศาสตร์ศิลปกรรม, นักแสดงในสังกัดพิเชษฐ กลั่นชื่น แดนซ์ คอมพานี… ไม่นับเสียงดนตรีจากเกวนดัล กิเกอเลย์ นักเปียโนชาวฝรั่งเศส และ โทมาโยะ อิเคดะ นักดนตรีชาวญี่ปุ่นที่สร้างชื่อและสอนดนตรีในปารีส ซึ่งถูกบันทึกผ่านไฟล์เสียงในคอมพิวเตอร์ โดยที่ทั้งหมดกำลังถูกซักซ้อมผสานเป็นหนึ่งเดียว และมี The Rite of Spring บทเพลงคลาสสิกของ อีกอร์ สตราวินสกี (Igor Stravinsky, 1882-1971) คีตกวีคนสำคัญสัญชาติรัสเซีย เป็นฉากหลัง

ทีมงานนักแสดงหนังใหญ่วัดบ้านดอน ต.เชิงเนิน อ.เมืองระยอง จ.ระยอง

“มองในมิติของคนทำงานศิลปะ งานชิ้นนี้เป็นการใช้มุมมองทางศิลปะหลายวิธีมากในการเข้ามาทำงานร่วมกัน ทั้ง 1. หนังใหญ่จากวัดบ้านดอน จ.ระยอง 2. การแสดงโนราจากทางใต้ 3. นักเปียโนจากฝรั่งเศส ที่เล่นเพลงสตราวินสกี้ ซึ่งคือ The Rite of spring 4.นักเต้นที่เป็น Contemporary Art (ศิลปะร่วมสมัย)  และ 5. โชว์นี้มี Set งานที่ Design จากแนวคิดทางพระพุทธศาสนา ส่วนประกอบเหล่านี้ผมเฝ้ามองมาในระยะเวลาหนึ่ง ก่อนตัดสินใจนำมาผสมเข้าด้วยกัน เกิดเป็นโชว์ที่เป็นงานร่วมสมัย และหวังว่าระบบนิเวศทางศิลปะจะเกิดขึ้นมาใหม่และสร้างบทสนทนาให้กับผู้ชม” พิเชษฐ กลั่นชื่น ในฐานะผู้กำกับการแสดงอธิบาย

เขา เปรียบตัวเองว่า เป็นดั่งนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งเมื่อเห็นวัตถุดิบที่ต่างมีเอกลักษณ์ ก็อยากนำมาผสมผสานกันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

“เปรียบได้อีกอย่างว่าผมเป็นเชฟ แล้วมีวัตถุดิบหลายๆอย่าง ทั้งจากฝรั่ง ไทย ไทยพื้นบ้าน แล้วเรามาทำเป็นอาหารว่าดูสิจะออกมาเป็นอย่างไร ก็คงต้องกลับไปถาม Audience (คนดู) ซึงการตั้งคำถาม การวิพากษ์วิจารณ์หลังจบการแสดง แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนดูนี่แหละที่ผมอยากเห็น”

พิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินรางวัลศิลปาธร ปี พ.ศ. 2552 ผู้กำกับการแสดง The Rite of Spring Concert and Dance

การพบกันคนของแปลกหน้า

The Rite of Spring คือบทเพลงที่มีธีมเรื่องว่าด้วยคณะเด็กสาวซึ่งเต้นระบำรอบกองไฟ ก่อนจะถูกบูชายัญเพื่อเป็นการบูชาเทพเจ้าในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งผลงานชิ้นนี้ถูกสร้างขึ้นจากผู้ประพันธ์ อีกอร์ สตราวินสกี (Igor Stravinsky) ซึ่งถูกนิยามว่าเป็นบิดาแห่งยุคโมเดิร์นสำหรับดนตรีคลาสสิก

นี่คือผลงานชิ้นสำคัญ ที่พิเชษฐ และสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทยประทับใจ จนเป็นที่มาของโปรเจค และความชอบเดียวกันนี้ยังเชื่อมโยงกับคนไทยในอีกมุมหนึ่ง นั่นเพราะการแสดง The Rite of Spring  เมื่อช่วงปี 1910 มีศิลปินนักออกแบบท่าเต้นคนหนึ่งที่ชื่อ วาสลาฟ นิชินสกี (Vaslav Nijinsky) ซึ่งมีการค้นพบหลักฐานว่า ท่าเต้นของ นิชินสกี ได้รับอิทธิพลมาจากท่ารำของไทย โดย คณะนายบุศย์ มหินทร์ ซึ่งเคยไปออกทัวร์แสดงในทวีปยุโรป ในช่วงปี ค.ศ. 1900 หรือร้อยกว่าปีก่อน

ในการแสดงครั้งนั้น เราเห็นว่ามีการใช้จีบ (ทำท่ารำไทย) มีการทำเสื้อผ้าที่มีรูปแบบคล้ายคนไทย และในประวัติศาสตร์ก็เขียนไว้ แม้กระทั่งชื่อโชว์ที่เขาทำในปี 1910 ใช้ชื่อว่า ลาด๊องส์ เซียร์มัวร์ Siamese Dance หรือที่สรุปแปลได้ว่า เป็นการแสดงที่ใช้การรำแบบไทย

“ผมทำงานนี้ด้วยความคิดของการสร้างสิ่งใหม่ และเรียกโดยคอนเซปต์ว่าเป็น Migrant Immigrant ซึ่งมันเป็นปรากฎการณ์ของการย้ายถิ่น ของความแปลกใหม่ที่ถูกจับใส่ในอีกสังคมหนึ่ง ทุกวันนี้การย้ายถิ่นคือสิ่งที่เราคุ้นชิน คนเหล่านี้มักนำพาวัฒนธรรมตัวเองไปมีอิทธิพลกับวัฒนธรรมอื่น เอาส่วนผสมของแต่ละอย่างที่เคยเป็นของแปลก เคยเป็นคนแปลกหน้าในสังคมหนึ่ง และถ่ายโอนวัฒนธรรมจนดำเนินมาถึงปัจจุบัน”

“เช่น ในโชว์นี้เราเอาสิ่งที่เป็นชายขอบ อย่างหนังใหญ่ฯ ซึ่งไม่ใช่งานกระแสหลักมาร่วม เอาโนรา ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นงาน Folk (ชาวบ้าน ท้องถิ่น) แต่เพิ่งได้รับขึ้นทะเบียนมรดกโลก และได้รับการยอมรับจาก UNESCO เอานักดนตรีคลาสสิคโดยนักเปียโนที่เติบโตในต่างประเต้น นักเต้นที่เป็น Contemporary work  และผู้ชายไดเรกเตอร์ที่เติบโตมากับงาน Tradition อย่างผมเองมาผสมรวมกัน แม้กระทั่งท่าเต้นก็ได้จุดเริ่มต้นจากท่าเต้นที่นิชินสกี ได้รับอิทธิพลมาจากคณะละครไทยที่ไปโชว์ในยุโรปแล้วมาเราเอามาผสมรวม หรือ Combination แล้วดูสินมันส่งผลอะไรบ้าง”

“อย่าลืมว่าการอพยพหรือการย้ายถิ่นฐาน ผู้คนมักจะนำพาเอาศิลปะและวัฒนธรรมเดินทางไปด้วย ศิลปะและวัฒนธรรม จากผู้คนจะมีการแลกเปลี่ยนส่งผลกับวัฒนธรรมในดินแดนใหม่เสมอ สร้างระบบนิเวศทางวัฒนธรรมขึ้นมาร่วมกันมีการผสมประสาน ยืม-หยิบนำมาประกอบร่วมเป็นวัฒนธรรมใหม่ จนกลายเป็นวัฒนธรรมหลักของพื้นที่นั้นสืบต่อมา The Rite of spring concert and dance เป็นการสร้างระบบนิเวศทางวัฒนธรรมร่วมกัน จากศิลปะที่หลากหลายรูปแบบ โขน  หนังใหญ่  โนรา  การเต้นร่วมสมัย ดนตรีคลาสสิก”

The rite of spring
คณะละครบุศร์มหินทร์ (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

รื้อฟื้นความทรงจำของรำไทยที่เคยแสดงในยุโรป

โปรเจคนี้ คุณพิเชษฐ บอกว่า ใช้เวลาเตรียมงานตั้งแต่ Kick-off รวม 4 เดือน โดยใช้นักแสดงและทีมงานในโชว์ราว 30 คน   เขาบอกว่า สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องยากคือเวที เพราะไม่เหมือนเวทีทั่วไป ด้วยรูปลักษณ์จะคล้ายๆทรงกลม มีเปียโนอยู่ตรงกลาง โดยที่ระดับของเวทีจะมีการขึ้นและลงไม่เสมอกัน เปรียบได้กับฤดูของการบูชายันที่กลับมาวนซ้ำแล้วซ้ำอีก

“เวทีนี้มีความยาวสิบสองเมตร แล้วก็กว้างหกเมตร ซึ่งมันใหญ่มากเลย ความมหัศจรรย์ของเวทีก็คือสัดส่วนของเวทีทั้งหมดไม่มีตรงไหนที่เท่ากัน คือสูงเอียงไม่เท่ากันทั้งหมด มันถูกออกแบบโดยศิลปินญี่ปุ่น เวลาขนย้ายมัน ต้องใช้รถหกล้อขนาดใหญ่สองคัน แล้วมันแยกออกเป็นชิ้น ๆ ทั้งหมด 18 ชิ้น เอามาประกอบรวมกัน คือเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากและซับซ้อนพอสมควร”

สำหรับท่าเต้น แน่นอนว่ามีกลิ่นอายท่าเต้นของ นิชินสกี ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากท่ารำของไทย โดยคณะนายบุศย์ มหินทร์ ซึ่งเคยไปแสดงในต่างประเทศ และงานของ นิชินสกี นี้ได้เอาท่ารำไทยผสม จนสร้างเป็นงานอีกชิ้นหนึ่ง

“ผมรับรู้เรื่องเขามาตั้งแต่สมัยเรียนในมหาลัย ผมเรียน Dance อยู่ มันก็มีพูดถึงกันอยู่ในชั้นเรียน แต่เราไม่สนใจ เพราะเราเป็นชาตินิยม เราก็รู้สึกว่า ไม่เห็นจะสวยเลย ทำผิดด้วย ฉันทำสวยกว่าเยอะ เรายังมีทัศนคติที่ไม่ยอมเรียนรู้”

“แต่พอจบแล้ว ทำงานแล้ว แล้วมาดูอีกครั้งนึง แล้วนั่งซีเรียสจริง ๆ กับโชว์นี้ เราเริ่มเห็นว่า เฮ้ย มันคิดเก่งว่ะ เออ มันมีวิธีการมอง แล้วก็ปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวเอง กับโครงสร้างหรือสิ่งที่ไม่ใช่วัฒนธรรมของเขา อย่างเช่น มือที่มันเป็นอย่างนี้ (ยกแขนตั้งวงบน) คือไม่ฝึกไม่ได้ไง มันต้องฝึกกันทั้งชีวิต แต่สิ่งที่เขาทำ เขาทำแบบนี้ (ตั้งวงบนแบบห่อนิ้วเข้ามา) มันคือการตีความในแบบของตัวเองหลังจากได้รับอิทธิพลมา ซึ่งนี่แหละส่วนผสมของการ แลกเปลี่ยนในเชิงวัฒนธรรมหรือประสบการณ์ชีวิตที่ส่งผลให้เกิดสิ่งใหม่

“เราเคยนำไปเผยแพร่ ขณะเดียวกันก็รับเข้ามา สังคมเป็นเช่นนี้ตลอด และเมื่อได้แลกเปลี่ยนกัน นอกจากทำให้ไม่เกิดความขัดแย้งระหว่างบุคคล มันทำให้เราเข้าใจสิ่งนั้น ทำไมคนประเทศนี้ทำตัวแบบนี้? ทำไมกินแบบนี้? คิดแบบนี้? เอาง่าย ๆ ตอนที่พม่าเข้ามาแล้วเราไม่เข้าใจว่าเขาทาแป้งทำไม แต่วันนี้เรามองเป็นเรื่องธรรมดา และพอมันมีวัฒนธรรมอื่นเข้ามา เราก็จะหยิบเอาวัฒนธรรมนั้น มาปรับเปลี่ยนเพื่อเป็นของเราเอง อย่างขนมทองหยิบ ทองหยอด ผงกะหรี่ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เดินทางมาเป็นร้อยเป็นพันปี โดยที่ไทยก็รับแล้วนำมาปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตและส่งผลให้เกิดสิ่งใหม่”

การออกแบบระดับของเวทีจะมีการขึ้นและลงไม่เสมอกัน เปรียบได้กับฤดูของการบูชายันที่กลับมาวนซ้ำแล้วซ้ำอีก

แน่นอนว่า The Rite of Spring Concert and Dance คืองานร่วมสมัย ซึ่งพิเชษฐ ผู้กำกับการแสดงบอกว่า  “ผมจะเน้นย้ำตลอดเวลาว่างานร่วมสมัย มันไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อให้คนดูเข้าใจนะ อย่าไปติดอยู่ในรูปแบบของงานประเพณี นางเอกอยู่ไหน พระเอกอยู่ไหน ตัวโกงอยู่ไหน เรื่องมันยังไง แต่มันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิด และทัศนคติ ร่วมกันระหว่างผู้สร้างกับผู้ขม เพราะฉะนั้นอย่าไปสนใจว่าคุณจะเข้าใจไหม เพียงแค่ดูมัน แล้วคุณเห็นอะไร แล้วคุณรู้สึกอะไรกับตรงนั้น จับประเด็น แล้วเอามาพูดในประเด็นที่ต้องการจะพูด เท่านั้น”

มันอาจจะเป็นสิ่งแปลก และเป็นการรวมตัวของความแปลกหน้า แปลกประสบการณ์ที่เราไม่คุ้นเคย แต่ใครจะรู้เมื่อระยะเวลาผ่านไป คุ้นอาจจะเริ่มคุ้นชินกับมันก็ได้

เรื่อง : อรรถภูมิ อองกุลนะ, สโรชิณีย์ นิสสัยสุข

ภาพ : กรานต์ชนก บุญบำรุง

The Rite of Spring Concert and Dance กำกับการแสดงโดยพิเชษฐ กลั่นชื่น จัดขึ้นในวันที่ 24-25 มิถุนายน 2567 ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นี่คือการแสดงร่วมกันระหว่างนักเปียโนชาวญี่ปุ่น ทามาโยะ อิเคดะ และ นักเปียโนชาวฝรั่งเศสเกวนดัล กิเกอเลย์ พร้อมกับคณะพิเชษฐ กลั่นชื่น แดนซ์คอมพานี โครงการนี้ร่วมจัดโดยคณะพิเชษฐ กลั่นชื่น แดนซ์คอมพานี, สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย, เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพ ฯ, สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทสยามดนตรียามาฮ่า, แม่โขง และ โก๋แก่ โดยมี บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) เป็นมีเดียพาร์ทเนอร์


อ่านเพิ่มเติม : ศาสนาโซโรอัสเตอร์ ภารกิจโหมไฟศรัทธาที่ใกล้มอดในโลกยุคใหม่

Recommend