เพศ-ภาพ ในมุมมองใหม่

เพศ-ภาพ ในมุมมองใหม่

ช่างภาพสารคดีตามหาผู้คนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศต่างกันไปเพื่อสื่อสารให้ผู้คนได้มองเพศสภาพในมุมมองใหม่ และทลายพรมแดนทางเพศที่เป็นเพียงมายาคติในปัจจุบัน

ปัจจุบัน การก้าวข้ามพรมแดนทางเพศเป็นทั้งปรากฏการณ์และความท้าทายย้อนหลังไปในยุค “สร้างชาติ” รัฐไทยเคยสร้างขนบทางวัฒนธรรมเพื่อก่อร่างสังคมไทยให้มีรูปแบบเฉพาะขึ้นมา หนึ่งในนั้นคือกฎเกณฑ์ว่าด้วยการกำหนดเพศผลักให้แวดวงความหลากหลายทางเพศเป็นเพียงดอกไม้ที่หลบซ่อนจากแสงสว่าง แต่ทุกวันนี้ดอกไม้นั้นผลิบาน และพรมแดนเรื่องเพศค่อยๆคลายตัวส่วนหนึ่งมาจากแสงสว่างใหม่บนพื้นที่แสดงตัวตนในแต่ละแวดวง และการขยายตัวของสื่อสมัยใหม่

แฟชั่นและเสื้อผ้าไร้เพศ

ในชีวิตประจำวัน “ลีฟ”  ภวพล บุญญวินิจ มักสวมเสื้อยืดและกางเกงยีนเพื่อความคล่องตัวในการทำงาน ผู้จัดการกองถ่ายมิวสิกวิดีโอคนนี้ สนใจแฟชั่นที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางเพศ เขามักหยิบยืม (หรือขโมย) เสื้อผ้าจากแฟนสาวมาสวมใส่บ่อยๆ เวลาไปร่วมงานปาร์ตี้หรืองนแต่งงาน “เราคิดว่าสนุกดีครับ เราทาอะไรจะชอบสนุก บางวันก็ใส่มั่วซั่ว บ้าบอไปตามเรื่อง ไม่ได้เลือกเท่าไร คิดเสียว่าเอามันไว้ก่อน

“ลีฟ” ภวพล บุญญวินิจ เป็น Production Manager ให้ค่ายเพลงแห่งหนึ่ง เขาเป็นชายหนุ่มวัย 30 ที่แวดล้อมด้วยเพื่อนฝูงในวงการสร้างสรรค์ และแฟนสาวของเขาเป็นแฟชั่นสไตลิสต์ให้กับนิตยสารผู้หญิงฉบับหนึ่ง ด้วยนิสัยชอบแต่งเนื้อแต่งตัว วันหนึ่งเขาจึงทดลองนำเสื้อผ้าผู้หญิงมาสวมใส่ “เราชอบรื้อของแฟนมาใส่ดู วันหนึ่งเจอชุดสวย ลองใส่ดูแล้วรู้สึกสบายดี ไม่รุ่มร่ามด้วย” เขาหมายถึงกระโปรงหรือชุดเดรสของสุภาพสตรี

ลีฟบอกว่านิสัยจากแม่เป็นส่วนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อเขาให้สนใจรายละเอียดของการแต่งกาย “คุณแม่ชอบแต่งตัว ชอบซื้อเสื้อผ้า เคยขายเสื้อผ้าสมัยวัยรุ่นครับ บางทีก็ชอบไปซื้อของด้วยกัน” เขาบอกว่าการได้ไปช็อปปิ้งกับแม่บ่อยๆ ทำให้เขาซึ่งเป็นลูกชายคนโตจากบรรดาลูกชายสี่คนในบ้านมีรสนิยมชอบข้าวของคล้ายๆ กับแม่

ทว่ากลับมีพื้นที่ไม่มากนักที่เขาสามารถสวมชุดผู้หญิงได้อย่างมั่นใจ  และมักไม่พ้นงานเลี้ยงหรือปาร์ตี้  “ครั้งหนึ่งมีปาร์ตี้ธีมชุดนอนที่ออฟฟิศ เลยไปรื้อชุดนอนคลุมของแม่มา แล้วข้างในใส่สายเดี่ยวสีดำของแฟน ตอนนั้นเอามันเอาสนุกมากกว่า ผมคิดว่างานสนุกสนานแบบนี้เป็นพื้นที่ที่ง่ายต่อการยอมรับมากกว่าครับ”

ทุกวันนี้มีดีไซเนอร์เสื้อผ้ามากมายออกแบบผลงานที่สามารถสวมใส่ได้ทั้งสองเพศ แฟชั่นไร้เพศนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว และชี้ให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่ไร้พรมแดน ลีฟบอกว่า เขาสามารถสวมใส่เสื้อผ้าผู้หญิงได้โดยปราศจากข้อกังขาว่าเขาเป็นเกย์ “ผมว่าเรื่องเพศเปลี่ยนไปแล้วครับ เราแค่อยากใส่อะไรก็ใส่ แค่นั้นเอง”

โลกหลากเพศไร้ขอบเขต

ตอนที่ “ไบค์” มนัสวิน มลิวงค์ แปลงกายเป็นเซเลอร์มูน เขาดูคล้ายกับมีพลังแห่งดวงจันทร์จริงๆ หนุ่มน้อยผู้หลงใหลการ์ตูนสาวน้อยแปลงร่าง ใช้เวลา ค่อนชีวิตไปกับโลกของเซเลอร์มูน และเปลี่ยนตัวเองเป็นตัวละครในโลกเสมือนด้วยการแต่ง “คอสเพลย์” เป็น “กระต่ายน้อย” หรือตัวละครหลักจากการ์ตูน ดังกล่าว “ไม่เพียงแค่ชุดต้องเหมือนนะครับ ลีลาท่าทาง และคาแรกเตอร์ต้องได้ด้วย รายละเอียดของแต่ละตัวละครจะต่างกันครับ” เขาบอก

ตอนที่ “ไบค์”  มนัสวิน  มลิวงค์ รู้ตัวว่าหลงใหลเซเลอร์มูนเป็นช่วงที่เขาอยู่มัธยมศึกษาตอนต้น และเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับตอนที่เริ่มรู้ว่าตัวเองเป็นเกย์ โลกของเขาเป็นโลกของมะโฮโชโจะ หรือสาวน้อยแปลงร่าง ซึ่งเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นประเภทหนึ่งที่ถือกำาเนิดมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 แต่ได้รับความนิยมสูงสุดในทศวรรษ 1990 เซเลอร์มูนเป็นการ์ตูนสาวน้อยในชุดกะลาสี มีพลังวิเศษใช้ต่อสู้กับเหล่าร้าย สร้างโดยนาโอโกะ ทาเคอุจิ นักวาดการ์ตูนชาวญี่ปุ่น และได้รับการยกย่องว่าผสมผสานการ์ตูนผู้หญิงเข้ากับการต่อสู้ของการ์ตูนผู้ชายได้อย่างลงตัว แต่ส่วนสำคัญคือการสอดแทรกเรื่องของความหลากหลายทางเพศในการ์ตูนอย่างแนบเนียน

“มีทั้งหญิงรักชาย ชายรักหญิง หญิงรักหญิง ชายรักชาย เป็นการ์ตูนที่กล้ามากในยุคนั้นครับ”  ไบค์เล่าถึงการ์ตูนที่มีอายุครบ 25 ปีไปเมื่อไม่นานมานี้  “เรียกว่าเป็นการ์ตูนที่จุดความเป็นเพศอื่นๆ ทั้งในตัวเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงในยุคนั้นก็ว่าได้”

ที่สุดความหลงใหลในการ์ตูนก็ผลักดันให้เขาทดลอง “คอส” หรือแต่งกายเลียนแบบตัวละครในจินตนาการและเมื่อมีการประกวดคอสเพลย์ที่งานหกรรมการ์ตูน ปี 2009 เขาก็คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดคอสเพลย์ปีนั้น  “ตอนนั้นผู้ชายยังไม่ค่อยแต่งเป็นผู้หญิงเลยครับ มีน้อยมาก เราไม่ได้แต่งสะสวยอะไร แต่เน้นใช้ตัวตนความเป็นเซเลอร์มูนมากกว่า เลยชนะครับ”

ปัจจุบัน  ไบค์เปลี่ยนความหลงใหลในเซเลอร์มูนจากนักสะสมมาเป็นพ่อค้าขายของเล่น  และนักพากย์การ์ตูน เขาบอกว่า  เพศในโลกการ์ตูนไร้ขอบเขตและหลากหลาย “ผมเคยถามลูกค้าเด็กผู้ชายที่ชอบของเล่นของผู้หญิง เขาตอบว่า  ‘ยังไม่ได้เลือก’ หรือไม่ก็ ‘เพศอะไรก็ได้ ถ้าคบกันแล้วสบายใจ’  แต่สำหรับผม  คำว่าเพศทุกวันนี้ ก็เหมือนแค่แบ่งตามอวัยวะเพศที่มีมาแต่กำาเนิดแค่นั้นเองครับ” เขาทิ้งท้าย

ความเท่าเทียมบนความไม่เท่าเทียม

หลังน้องกวีลืมตาดูโลกได้ไม่กี่วัน  “บุ๋ม”  ธันวารัฐ แวนิกเคริก ก็กลายเป็นคุณแม่จอมยุ่งที่ต้องเลี้ยงทั้งลูกอ่อน และดูแลธุรกิจขายครีมปกปิดรอยสักที่เธอสร้างแบรนด์ไว้ในโลกออนไลน์ เธอชื่นชอบรอยสักมาตั้งแต่สมัยยังเป็นวัยรุ่น เคยมีชีวิตสุดเหวี่ยง เสี่ยงอันตราย และโลกของยาเสพติด  จนมาเป็นคุณแม่ผู้อ่อนโยนและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เธอบอกว่า “สังคมชอบมองคนที่มีรอยสักว่าเป็นคนไม่ดี แต่ผู้หญิงที่มีรอยสักก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นแม่ที่ดีไม่ได้นี่คะ”

รอยสักแรกของ “บุ๋ม” ธันวารัฐ แวนิกเคริก อยู่ที่หน้าอกเป็นรูปเครื่องสักโบราณขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือ รอยสักนี้ประทับบนร่างกายของเธอเมื่อครั้งยังเป็นเด็กสาววัยรุ่น ห่าม คึกคะนอง ติดเพื่อน และเกกมะเหรกเกเร ทว่ารอยสักเดียวกันนี้พาเธอข้ามโลกไปยึดอาชีพช่างสักที่แอฟริกาใต้ เก็บเงินได้ก้อนใหญ่ และพบสามีที่นั่น

รอยสักส่วนใหญ่บนเรือนร่างเธอเป็นแนวเหมือนจริง (ไม่ใช่การ์ตูน  หรือลายกราฟิก)  เธอสักตราสินค้าแบรนด์เนมของผู้หญิงไว้ที่ขาซ้ายเพื่อเตือนใจว่า เธอได้ครอบครองกระเป๋าหรือข้าวของนั้นๆมาแล้ว  และด้วยความเป็นคาทอลิก เธอจึงสักรูปพระแม่มารีย์และพระเยซูบนแขนซ้าย ซึ่งรวมถึงดอกกุหลาบที่เติมเต็มองค์ประกอบศิลป์

ถ้าสังคมมองผู้คนหลากเพศด้วยสายตาแตกต่างกัน โลกของคนมีรอยสักกลับมีความเท่าเทียมและสอดทับกันสนิทโดยมองข้ามเรื่องเพศไป บุ๋มบอกว่า ไม่ว่าผู้มีรอยสักจะเป็นเพศใด สังคมก็จะมองพวกเขาด้วยสายตาเดียวกัน “ทั้งๆ ที่รอยสักเป็นการตอบสนองความต้องการของตัวเรา แต่สิ่งที่เราได้รับกลับมาจากสังคมคือการมองเป็นคนไม่ดีไปเสียทั้งหมด” เธอบ่นน้อยใจ

ในอดีตรอยสักเป็นวัฒนธรรมและอาจเป็นเครื่องแสดงอัตลักษณ์ทางเพศ แต่รอยสักสวยงามทุกวันนี้ไม่แบ่งแยกเพศ “โลกมันไปไกลแล้วนะ มันข้ามไปแล้ว อย่างลายมังกรเต็มหลัง แต่ก่อนต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น เดี๋ยวนี้มังกรลงหลังลงก้นถึงขาผู้หญิงเยอะแยะแล้วค่ะ”

ดอกไม้ในมัดกล้าม

“บัว” สัตตบงกช ซิมเม็น ก้าวสู่วงการเพาะกายตามสามีและอุทิศเวลาให้กับการฝึกซ้อมจนติดทีมชาติไทย เธอบอกว่า ชีวิตนักเพาะกายหญิงทุกคนต้องเผชิญกับความแปรปรวนจากผลข้างเคียงของอาหารเสริมและการฝึกซ้อม จนความอ่อนช้อยและรูปร่างความเป็นผู้หญิงเปลี่ยนไป “บางทีก็คิดถึงเมื่อก่อนนะคะ” เธอบอกขณะหยิบรูปภาพเก่าๆ ของตัวเองขึ้นมาดู  “สมัยก่อนบัวสวย หน้าเรียวกว่านี้ ดูเดี๋ยวนี้สิคะ”

กิจวัตรของ “บัว” สัตตบงกช ซิมเม็น ก็เหมือนกับคุณแม่ ลูกสองทั่วไปที่อุทิศเวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันให้กับลูก ๆ ทั้งการรับ – ส่งโรงเรียน เตรียมอาหาร พาไปเที่ยวเล่น และพาเข้านอน อาชีพของเธอคือผู้ผลิตกระเป๋าตามสั่ง

แต่ชีวิตอีกภาคหนึ่งของเธอคือนักเพาะกายทีมชาติไทยรุ่น Athletic Physique (เป็นรุ่นที่อยู่กึ่งกลางระหว่างรุ่นสวยงาม หรือ Model Physique กับรุ่นเพาะกาย หรือ Bodybuilding ที่เน้นกล้ามเนื้อหนักหน่วงกว่า) “บัวไม่ใช่ผู้หญิงจ๋าค่ะที่ต้องแต่งหน้าใส่ส้นสูงตลอด แล้ว…เอ่อ บัวไม่มีหน้าอกค่ะ ก็เลยไม่เล่นรุ่น Model” เธอบอก

วิถีนักเพาะกายของเธอเริ่มต้นเมื่อเกือบสี่ปีก่อน จากแม่บ้านผู้ตามใจปากที่เธอบอกว่า “อ้วนเผละ” จนมาเข้ายิมตามสามีที่ขณะนั้นกำลังเอาดีกับการเพาะกาย นำามาสู่การท้าทายและแข่งขันกับตัวเอง “ตอนนั้นคิดแต่ว่าจะให้สามีดูดีคนเดียวไม่ได้ ชั้นต้องดูดีด้วย”

เมื่อรูปกายภายนอกเปลี่ยนไปเป็นสุภาพสตรีกล้ามโตเส้นเลือดปูดโปนอย่างเห็นได้ชัด หลายครั้งเธอรับรู้ได้ถึงสังคมที่วิจารณ์รูปลักษณ์เธอในที่สาธารณะ “เวลาขึ้นรถไฟฟ้าคนก็จะมองค่ะ บางคนก็นินทา ‘ผู้หญิงหรือกะเทยวะเนี่ย’ แต่บัวคิดว่าประสบความสำาเร็จนะคะ ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลง คนคงไม่มองแบบนี้” เธอมองโลกในแง่ดี

แม้เพาะกายจะเป็นกีฬาที่ฝึกฝนได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่สำหรับเพศหญิงแล้ว กีฬานี้ต้องอุทิศร่างกายให้ทั้งชีวิต เพราะบางส่วนของร่างกายจะไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีกแล้ว นอกจากนี้ ยังมีอาหารเสริมและฮอร์โมนที่ช่วยให้นักกีฬาสามารถสร้างกล้ามเนื้อได้มากขึ้นเท่ากับเพศชาย แต่ก็มีผลข้างเคียงทั้งตับและระบบสืบพันธุ์ “อย่างบัวเองประจำาเดือนไม่มีเป็นปีแล้ว และรูปร่างเปลี่ยน เสียงเปลี่ยน ขนก็เยอะขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นเพราะฮอร์โมนเพศชายค่ะ”

อย่างไรก็ตาม ระหว่างถ่ายภาพ เธอมักจะเน้นย้ำพลาง หัวเราะว่า “ช่วยถ่ายให้ดูเป็นผู้หญิงหน่อยนะคะ”

เรื่อง ราชศักดิ์ นิลศิริ
ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา

ตีพิมพ์ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมกราคม 2560


อ่านเพิ่มเติม หลากหลายโฉมหน้าของเพศสภาพในปัจจุบัน

Recommend