นิทรรศการภาพเขียนพระโพธิสัตว์กวนอิม โดยอาจารย์หวัง ฉางลี่ ศิลปินระดับหอเกียรติยศจีน

นิทรรศการภาพเขียนพระโพธิสัตว์กวนอิม โดยอาจารย์หวัง ฉางลี่ ศิลปินระดับหอเกียรติยศจีน

THE PROFOUND BEAUTY ART EXHIBITION By Chinese Legacy Artist ‘Master Wang ChangLi’

นิทรรศการภาพเขียนพระโพธิสัตว์ โดย อาจารย์หวัง ฉางลี่ (王长利) ศิลปินประจำชาติระดับหอเกียรติยศของสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้ให้กำเนิดมาสคอตหงส์มังกรคู่แห่งพระราชวังต้องห้าม นำมาจัดแสดงครั้งแรกในประเทศไทย ณ หอมนสิการ จังหวัดสระบุรี

ภาพเขียนพระโพธิสัตว์กวนอิม อาจเป็นภาพเขียนทางพุทธศาสนาที่ถูกวาดขึ้นมากที่สุด ด้วยความศรัทธาที่แพร่หลายอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก หนึ่งในศิลปินฝีมือชั้นครูของประเทศจีน ที่ถ่ายทอดภาพเขียนพระโพธิสัตว์กวนอิมมาเกือบชั่วชีวิตของการเป็นศิลปิน ก็คืออาจารย์หวัง ฉางลี่ (王长利) กับโครงการระยะยาวที่วางแผนถ่ายทอดพุทธศิลป์ของพระโพธิสัตว์กวนอิม 33 ปาง ที่อาจารย์หวังได้เริ่มขึ้นราว 10 ปีที่แล้ว ปัจจุบันได้เขียนแล้วเสร็จไป 11 ภาพ 11 ปาง ยังเหลืออีก 22 ปาง ที่อาจารย์คาดว่าจะใช้เวลาอีก 15 ปีหลังจากนี้

ว่าโดยความงดงาม เราไม่อาจพูดได้ง่ายๆ ว่างานของศิลปินท่านใดงามยิ่งกว่าใคร แต่โดยเอกลักษณ์ทางศิลปะด้านการวาดภาพของอาจารย์หวัง ฉางลี่ ที่แสดงให้เห็นถึงสไตล์และเทคนิคทั้งการใช้ลายเส้น การจัดการสี และความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่เหมือนใคร และภาพเขียนของอาจารย์หวังก็ยืนยันว่าหากเก็บในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมก็สามารถอยู่ได้ถึง 800 – 1,500 ปีเลยทีเดียว

องค์ประกอบที่ทำให้ภาพวาดของอาจารย์หวังพิเศษทั้งความงามและความคงทน มีดังต่อไปนี้

ด้านความงาม

การใช้ลายเส้น

ภาพวาดของอาจารย์หวังฉางลี่มีชื่อเสียงในการวาดลายเส้นที่มีชีวิตชีวา ด้วยเทคนิคการเปลี่ยนแปลงของปลายพู่กันที่เคลื่อนไหวอย่างอิสระตลอดเวลา สัมผัสได้ถึงจังหวะหนักเบาและช้าเร็ว การวาดลักษณะนี้ได้เข้าถึงจุดสูงสุดของลายเส้นในศิลปะภาพวาดจีนที่เรียกว่า “เฉาอีชูสุ่ย อู๋ไต้ตังเฟิง” ลายเส้นพู่กันลักษณะนี้เรียกว่า “เกากู่โหยวซือ” หรือ เทคนิคการวาดลายเส้นแบบโบราณที่ละเอียดและพริ้วไหว และได้กลายเป็นตัวแทนของการวาดสไตล์แบบโปร่งโล่ง มีทั้งความเร็วและพลัง ประหนึ่งสายลมกำลังพัดกระจายทั่วผนัง 

การจัดการใช้สี

การใช้สีที่เรียบง่ายและงดงาม โดยการเติมสีทีละชั้น ๆ ในรูปทรงที่แม่นยำ วิธีจัดการสีลักษณะนี้ทำให้ผลงานดูเรียบง่ายแต่เมื่อพินิจให้ดี กลับมีความหลากหลายทางสีสัน ถือเป็นแนวทางใช้สีที่แปลกใหม่

ความคิดสร้างสรรค์

การวาดภาพของอาจารย์หวังฉางลี่ไม่ตกอยู่ในรูปแบบเดิม ๆ มีความกล้าที่จะสร้างสรรค์ความโดดเด่นเฉพาะตัว หรือที่เรียกว่า “แนวทางการวาดภาพสะท้อนจิตวิญญาณ” คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้เขามีสถานะสำคัญในประวัติศาสตร์การวาดภาพของจีน ศิลปินหลายคนเปรียบเปรยสไตล์การวาดภาพของเขาว่าเสินปี่เทียงเฉิง หรืออัจฉริยะเทพแห่งพู่กัน

นวัตกรรมและการทดลอง

ผลงานของอาจารย์หวัง ฉางลี่มีความล้ำหน้าในด้านเทคนิคการวาดภาพ การศึกษาโครงสร้างร่างกายมนุษย์ และการใช้สี กระทั่งพระอาจารย์เจี้ยเหริ่น รองประธานสมาคมพุทธศาสนาแห่งประเทศจีน อาจารย์ของสตรีหมายเลข 1 ได้จารึกข้อความบนแผ่นป้ายถึงภาพวาดพระโพธิสัตว์ของอาจารย์หวังว่า “กวนอิมแสดงปาฏิหาริย์” และยังยกย่องว่าอาจารย์หวัง ฉางลี่ เป็นที่สุดในการวาดภาพศักดิ์สิทธิ์ทั้งในประวัติศาสตร์ตราบจนถึงปัจจุบัน ด้วยระดับฝีมือที่ก้าวล้ำเหนือกว่าจิตรกรผู้เป็นตำนานในประวัติศาสตร์จีนอีกด้วย

เลขานุการสมาคมพุทธศาสนาแห่งประเทศจีน มณฑลกวางตุ้ง เจ้าอาวาสวัดตงฮว๋า พระมหาเถรว่านสิง กล่าวว่า “อาจารย์หวัง ฉางลี่เป็นปรมจารย์ที่หาได้ยากยิ่งในรอบ 500 ปี”

อุปกรณ์สร้างสรรค์งานเพื่อคุณภาพและความคงทน

กระดาษข้าวเซวียนจื่อ 

คือกระดาษอาร์ตคุณภาพสูงชนิดหนึ่งที่เหมาะสําหรับการเขียนตัวอักษรและภาพวาดพู่กันจีน ซึ่งมีต้นกําเนิดตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง กระดาษเซวียนจื่อ มีคุณสมบัติที่ดีหลายประการ ได้แก่ เก็บรักษาง่าย ทนทาน ไม่เปราะ และสีไม่ซีดจาง จึงเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็น “กระดาษอายุยืนยาวพันปี”

เปลือกไม้จันทน์เขียวเป็นวัตถุดิบเฉพาะที่สําคัญ กระดาษเซวียนจื่อคุณภาพสูงจะมีส่วนประกอบของเปลือกไม้จันทร์เขียวมากกว่า 80% และมีขั้นตอนการผลิตมากถึง 108 ขั้นตอน จึงทำให้กระดาษทนทานและน้ำหมึกมีความคมชัด กระดาษข้าวเซวียนจื่อในงานจิตรกรรมของอาจารย์หวัง เป็นกระดาษทำมือที่มีคุณภาพสูงที่สุดและแต่ละแผ่นมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ มีช่างผู้ชำนาญการในขั้นตอนการผลิดมากกว่า 80 คน 

พู่กันเสวียน 

หนึ่งในสี่สมบัติล้ำค่าแห่งห้องหนังสือ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมของจีนในปี 2008 โดยเทคนิคการทำพู่กันเสวียนมีต้นกำเนิดในสมัยราชวงศ์ฉิน และเจริญรุ่งเรืองในสมัยราชวงศ์ถังและซ่ง มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2000 ปี  พู่กันเสวียนมีต้นกำเนิดในเขตหมู่บ้านหวงของอำเภอจิงเซี่ยน ขึ้นชื่อด้วยการเลือกขนที่ดีเยี่ยมและการผลิตพิถีพิถัน ใช้ขนที่บริสุทธิ์และทนทาน มีความแข็งแรงและความยืดหยุ่นที่พอเหมาะ รวมทั้งความแหลมคมและความกลมกลึงของปลายพู่กัน วัสดุที่ใช้ทำพู่กันเสวียนมีหลายประเภท ได้แก่ ขนแกะ ขนกระต่ายภูเขา ขนหมาป่า และขนผสม ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้จึงได้รับความนิยมจากศิลปินนักเขียนพู่กันและนักวาดภาพจีน

สีจากธรรมชาติ

สีที่ใช้ในงานของอาจารย์หวัง ฉางลี่ ทั้งหมดทำมาจากแร่บดเป็นผง ซึ่งสีนี้จะมีความคงทนอยู่ถึง 1,000 ปี โดยใช้เทคนิคพิเศษในการผสมให้ชั้นของเม็ดสีได้ออกมาตามต้องการ เม็ดสีของสีขาวได้มาจากผงเปลือกหอยกาบ สีน้ำเงินเข้มได้มาจากแร่ลาพิสแลซูลี สีแดงได้มาจากผิวปะการังสีชมพู สีเหลืองได้มาจากไขผึ้ง สีส้มได้มาจากเรซิ่นแดง และหมึกสีดำ ทำจากต้นสน เขม่าควัน หินออบซิเดียน

ภาพเขียนที่นำมาแสดงในไทย

อาจารย์หวังมีปณิธานที่จะวาดภาพพระโพธิสัตว์กวนอิมขนาดใหญ่ทั้งหมด 33 ภาพ 33 ปาง ปัจจุบันวาดเสร็จไปแล้ว 11 ภาพ และได้นำมาจัดแสดงในประเทศไทยครั้งนี้ 6 ภาพ สามารถไปชมได้ที่ หอมนสิการ อ. แก่งคอย จ. สระบุรี ตั้งแต่ 1 กันยายน – 14 ตุลาคม 2567 มาทำความรู้จักภาพเขียนทั้ง 6 ภาพ ก่อนไปเยี่ยมชมจริง

พระโพธิสัตว์กวนอิมจ้งเป่า

ปางสวมอาภรณ์ประดับด้วยอัญมณีตระการตาสะท้อนความหมายของคำว่า “จ้งเป่า” ซึ่งหมายถึงสมบัติมหาศาล ในพระพุทธศาสนา “เป่า” ใช้บรรยายถึง พระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และพระธรรมอันสูงส่ง พระโพธิสัตว์กวนอิมจ้งเป่าเป็นปางซึ่งแสดงถึงการสรรเสริญพระโพธิสัตว์กวนอิมที่มีพลังอันไร้ขอบเขต และเปี่ยมด้วยคุณงามความดีที่นำมาซึ่งประโยชน์และความมั่งคั่งแก่โลก

พระโพธิสัตว์กวนอิมเหลียนอั้ว

ปรากฏกายในร่าง “กษัตริย์น้อย” สื่อถึงโพธิญาณในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งทางกายและใจแห่งการนำโชค มีความเชื่อที่ว่าช่วยให้ทุกอย่างสำเร็จลุล่วงอย่างไม่มีอุปสรรค

พระโพธิสัตว์กวนอิมหยางหลิ่ว

ปางกวนอิมหยางหลิ่วมือถือคนโทในมือขวา มือซ้ายถือกิ่งหลิว สื่อถึงการอุทิศตนขจัดความทุกข์ ความโศกเศร้าเสียใจให้แก่โลกนี้ มีความเชื่อว่าจะให้ลมฝนสม่ำเสมอตกต้องตามฤดูกาล ผลผลิตทางการเกษตร ผลิดอกออกผล ประเทศชาติมั่งคั่ง ประชาชนผาสุข

พระโพธิสัตว์กวนอิมหยวนกวง

ปางหยวนกวงถูกวาดขึ้นอย่างมีชีวิตชีวาสง่างาม ลายเส้นอ่อนช้อยลื่นไหลเป็นธรรมชาติ ใบหน้าเปี่ยมด้วยความเมตตาและความสงบ ท่วงท่ามั่งคง มีความเชื่อว่าจะทำให้ทุกสิ่งราบรื่น ความปรารถนาสำเร็จ ลูกหลานปลอดภัย สุขภาพแข็งแรงเติบโต

พระโพธิสัตว์กวนอินเต๋อหวัง

ประทับนั่งอยู่บนบัลลังก์บัว มือขวาถือกิ่งหลิ่ว เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญก้าวหน้าในงานราชการ

พระโพธิสัตว์กวนอิมฉือเหลียน

พระโพธิสัตว์กวนอิมฉือเหลียนนุ่งห่มอาภรณ์สวรรค์ หัตถ์ถือดอกบัว ประทับยืนอยู่บนดอกบัว แสดงถึงกายที่บริสุทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์และปราศจากมลทิน 

นิทรรศการ ᴛʜᴇ ᴘʀᴏꜰᴏᴜɴᴅ ʙᴇᴀᴜᴛʏ ᴀʀᴛ ᴇxʜɪʙɪᴛɪᴏɴ ʙʏ ᴄʜɪɴᴇꜱᴇ ʟᴇɢᴀᴄʏ ᴀʀᴛɪꜱᴛ ‘ᴡᴀɴɢ ᴄʜᴀɴɢʟɪ‘

แสดงระหว่างวันที่ 1 กันยายน – 14 ตุลาคม 2567

หอมนสิการ, แก่งคอย, สระบุรี

ซื้อบัตรได้ที่

https://megatix.in.th/events/wang-changli-at-manasikarn

หรือส่งข้อความที่เพจ https://www.facebook.com/wangchangli.thailand 

*จำกัดผู้เข้าชมต่อรอบไม่เกิน 25 ท่าน

**ขอสงวนสิทธิ์ผู้เข้าชมอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป

***อัตราข้างต้นรวมค่าเข้าชมหอมนสิการแล้ว

เวลาทำการ 10.00 – 17.00 น.

(ปิดทุกวันจันทร์)

ประวัติ อาจารย์หวัง ฉางลี่

ศิลปินวาดภาพจีนระดับหอเกียรติยศของชาติ เกิดในปี 1974 ที่กรุงปักกิ่ง เมื่ออายุ 6 ขวบได้เป็นศิษย์ของปรมาจารย์ภาพวาดจีน “หวัง ซูฮุย” และได้รับการถ่ายทอดความรู้จากปรมาจารย์หลายท่านเช่น “หลี่ คู๋เฉิน”, “หลิว จี้โย่ว” และ “หลิว หลิงชาง”

ต่อมาได้ศึกษาศิลปะอย่างลึกซึ้งภายใต้การชี้แนะของปรมาจารย์ศิลปะชื่อดังระดับโลก Willem de Kooning (วิลเลิม เดอ โกนิง 1 ใน 10 ศิลปินที่มีมูลค่าผลงานสูงสุดในโลก) ผลงานของเขาผสมผสานศิลปะของตะวันออกและตะวันตกอย่างลงตัว สะท้อนถึงความงดงามสูงสุดในด้านจิตวิญญาณ อารมณ์ ความรู้สึก และความมีชีวิตชีวา จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “บุคคลแรกที่สร้างงานศิลปะให้ศักดิ์สิทธิ์ได้ทั้งแบบโบราณและสมัยใหม่”

อาจารย์หวังประสบความสำเร็จในการจัดนิทรรศการภาพวาดส่วนตัวที่โรม ฟลอเรนซ์ ซิดนีย์ ลอนดอน และปารีส สร้างความฮือฮาจนผลงานถูกพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ แย่งกันสะสม ผลงานหลายชิ้นถูกใช้เป็นของขวัญแห่งชาติ และถูกเก็บรักษาโดยผู้นำของแต่ละประเทศ

นอกจากนี้ผลงานที่เป็นภาพเขียนพระพุทธรูปขนาดใหญ่ยังถูกนำประดิษฐานถาวรในวัดชั้นนำหลายแห่ง เช่น วัดจิ้งอันในเซี่ยงไฮ้ วัดผู่จี้และวัดฝ่าหยูในภูเขาผู่โถว วัดหลิงกวงและวัดเต๋อโซ่วในแปดสถานที่สำคัญของปักกิ่ง วัดตงฮว่าในกวางตุ้ง วัดฮุ่ยจวีในภูเขาจิ่วหัว วัดผู่ฮว๋าในภูเขาอู่ไถ วัดจื้อเจ่อในจินหัว และวัดไป่หลินในเหอเป่ย 

ในปี 2014 อาจารย์หวัง ฉางลี่ได้ออกแบบมังกรและหงส์น่ารักคู่หนึ่งชื่อว่า “จ้วงจ้วงและเหม่ยเหม่ย” ให้เป็นสัญลักษณ์มงคลของพระราชวังต้องห้าม ผลิตภัณฑ์เชิงวัฒนธรรมนี้มีความเกี่ยวข้องในการสร้างรายได้สะสมแล้ว กว่า 3.5 พันล้านหยวน หรือ ราว 17.5 หมื่นล้านบาท


อ่านเพิ่มเติม ธงมนต์ จิตวิญญาณแห่งเทือกเขาหิมาลัย

Recommend