ทำไมศุกร์ 13 ถึงอาถรรพ์?

ทำไมศุกร์ 13 ถึงอาถรรพ์?

“มาดูกันว่าเพราะเหตุใดวันนี้จึงกลายเป็นวันอาถรรพ์

และเพราะเหตุใดแม้แต่คนที่ไม่เชื่อในโชคลางก็ยังอาจเผลอหวั่นใจกับ ‘เลข 13’ นี้” 

เมื่อ “ศุกร์ 13” วันแห่งอาถรรพ์ได้หวนกลับมา ในปี 2023 ที่ผ่านมา มีศุกร์ 13 อยู่ 2 วัน ในเดือนมกราคมและตุลาคม ปี 2024 ก็ยังคงเป็นเช่นกัน ได้แก่เดือนกันยายนและธันวาคม ทว่าในปีนี้ ปี 2025 มีเพียงแค่ศุกร์ 13 เดียวเท่านั้น คือในเดือนมิถุนายน

แต่ดูเหมือนว่า แม้ศุกร์อาถรรพ์นี้จะไม่ได้เป็นอันตรายแต่อย่างใด มันยังคงทำให้ผู้คนรู้สึกเป็นทุกข์และหวาดกลัวจากโชคร้ายที่อาจมาเยือน

ตามหลักเหตุผลแล้ว เราไม่ควรต้องหวาดกลัวการที่ “วันศุกร์” บังเอิญมาตรงกับ “วันที่ 13” เพราะมันคือผลจากระบบปฏิทินที่หมุนเวียนตามรอบ 400 ปีของปฏิทินเกรกอเรียนเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง “ศุกร์ 13” ส่งผลกับผู้คนอย่างน่าประหลาด ความรู้สึกทั้งหลายที่เรามีต่อวันนั้น เช่น ความกลัว ความเชื่อในโชคร้าย ก็เป็นสิ่งที่เราคิดขึ้นไปเอง ซึ่งมันสามารถส่งผลได้ทั้งในแง่ที่ดี คือช่วยให้เราไม่ประมาท แต่ในแง่ร้ายอาจทำให้เรากังวลเกินเหตุ

แม้แต่คนไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ ยังเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ

เจน ไรเซน นักวิทยาศาสตร์ด้านพฤติกรรมจากหลักสูตรโรงเรียนธุรกิจบูธ มหาวิทยาลัยชิคาโก พบว่าเรื่องไสยศาสตร์สามารถส่งผลกระทบแม้กระทั่งกับคนที่ไม่เชื่อในโชคลาง ในการวิจัยหนึ่งในปี 2016 ไรเซนพบว่าทั้งคนที่ยอมรับว่าเชื่อและไม่เชื่อในโชคลางต่างก็มีความเชื่อเหมือนกันว่าโอกาสเกิดเหตุการณ์ไม่ดีจะมากขึ้นเมื่อพวกเขาถูกสาปแช่ง เช่น หากพวกเขาพูดว่าตนเองจะไม่มีวันประสบอุบัติเหตุรถยนต์ อาจทำให้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นจริง ๆ

“ส่วนใหญ่ ฉันคิดว่าการที่คนกลัวการ ‘พูดแล้วเป็นจริง’ นั่นเป็นเพราะหลังจากพูดอะไรที่เหมือนท้าทายโชค พวกเขาจะนึกภาพเรื่องร้าย ๆ ได้ชัดเจนขึ้น” เธอกล่าว “ยิ่งนึกภาพเหตุการณ์นั้นได้ง่าย คนก็จะยิ่งรู้สึกว่ามันมีโอกาสเกิดขึ้นจริงมากขึ้น”

ในวันศุกร์ที่ 13 ความคิดนี้มักจะเกิดขึ้นได้ง่ายเป็นพิเศษ “แม้ฉันจะไม่ได้เชื่อในโชคลางมากนัก แต่การที่วันศุกร์ 13 กลายเป็นสัญลักษณ์ของความอัปมงคลในวัฒนธรรม ก็ทำให้ฉันอดไม่ได้ที่จะคิดว่าอะไรแย่ ๆ อาจเกิดขึ้น” เธอกล่าว และเมื่อมีเรื่องเล็กน้อยเกิดขึ้นในวันนั้น เรามักจะโยงกลับไปหาวันนั้นเสมอ

“มันเหมือนเป็นการเติมเชื้อไฟให้กับสัญชาตญาณบางอย่าง ทำให้เรารู้สึกว่ามันจริงขึ้นมา ทั้งที่รู้ดีว่า…มันไม่ใช่ความจริงเลย”

โชคดีที่ในงานวิจัยของไรเซนยังเผยอีกว่า การทำพิธีกรรมเพื่อปัดเป่าสิ่งไม่ดี เช่นเคาะไม้หรือโยนเกลือ อาจทำให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าประหลาดใจ ในงานวิจัยเมื่อปี 2014 เธอพบว่าบางคนทำสิ่งเหล่านี้แม้พวกเขาจะไม่ได้เชื่อในเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง และเมื่อทดสอบดู ทั้งกลุ่มที่เชื่อและไม่เชื่อในโชคลาง ต่างก็รายงานว่าพวกเขารู้สึกดีขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ

“คนที่เผลอพูดอะไรที่ฟังดูเป็นลางร้ายมักจะรู้สึกว่า ‘ไม่เป็นไรหรอก ถ้าเคาะไม้ไว้ก่อน’” ไรเซนอธิบาย “นั่นแปลว่าพิธีกรรมแบบนี้มีผลกับจิตใจของเราอยู่เหมือนกัน”

ตามความเห็นของรีเบคกา บอราห์ ผู้สอนวิชาภาษาอังกฤษจากมหาวิทยาลัยซินซินเนติ เผยว่า แค่การตระหนักถึงเรื่องไสยศาสตร์ก็อาจช่วยให้เรารู้สึกว่าชีวิตยังอยู่ในกรอบ ท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยเรื่องไม่แน่นอนและควบคุมไม่ได้ 

“พอเรารู้ว่ามีกฎ แล้วก็รู้ว่าจะรับมือยังไง ทุกอย่างก็ดูง่ายขึ้น” เธอให้สัมภาษณ์กับ National Geographic เมื่อปี 2014 “อย่างศุกร์ที่ 13 เราอาจแค่เลี่ยงอะไรน่ากลัว ๆ หรือเช็กรถให้มั่นใจว่ามีน้ำมันพอ หรืออะไรก็ตามที่จะช่วยให้สบายใจขึ้นได้”

“บางคนอาจเลือกอยู่บ้านในวันศุกร์ 13 เพื่อความอุ่นใจ แม้ว่าจริง ๆ ตามสถิติแล้ว อุบัติเหตุส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในบ้าน ซึ่งก็อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุดเท่าไร”

ต้นกำเนิดความกลัวต่อศุกร์ 13

การชี้ชัดถึงต้นกำเนิดที่แท้จริงและการพัฒนาการของสิ่งเหนือธรรมชาตินั้นเป็นเรื่องยาก แต่ สจวร์ต ไวส์ นักเขียนและอดีตอาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยาแห่งวิทยาลัยคอนเนตทิคัต เมืองนิวลอนดอนอาจให้คำตอบเราได้ เขาให้สัมภาษณ์กับ National Geographic เมื่อปี 2014 ว่า ความกลัวที่เรามีต่อศุกร์ 13 อาจสืบเนื่องมาจากความเชื่อทางศาสนา เช่น สาวกลำดับที่ 13 นามว่ายูดาส ผู้ทรยศในมื้ออาหารค่ำมื้อสุดท้าย (the Last Supper) และวันศุกร์ที่พระเยซูถูกตรึงกางเขน ซึ่งในอดีตเคยรู้จักกันในชื่อ ‘วันแขวนคอ’ (Hangman’s day)

ไวส์อธิบายว่า เมื่อรวมความเชื่อเหล่านี้เข้าด้วยกัน มันเลยกลายเป็นเหมือน “โชคร้ายสองต่อ” เพราะเลข 13 ไปตรงกับวันศุกร์ วันที่หลายคนก็รู้สึกไม่สบายใจอยู่แล้ว แถมยังมีนักวิชาการพระคัมภีร์บางคนเชื่อว่า อีฟเคยล่อลวงอาดัมให้กินผลไม้ต้องห้ามในวันศุกร์ และอาเบล (บุตรชายของอาดัมและเอวา) ก็ถูกคาอิน (พี่ชายตนเอง) ฆ่าในวันศุกร์ที่ 13 อีกเช่นกัน

ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าความกลัววันศุกร์ที่ 13 หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ triskaidekaphobia มีรากฐานที่เก่าแก่กว่านั้น โธมัส เฟิร์นสเลอร์ นักวิทยาศาสตร์ด้านนโยบายประจำศูนย์ทรัพยากรการศึกษาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดลาแวร์ ในเมืองนิวร์ก อธิบายว่า เลข 13 มักถูกมองว่ามีโชคร้าย เพราะมันอยู่ถัดจากเลข 12 ซึ่งในทางศาสตร์ตัวเลข เลข 12 ถือเป็น “เลขสมบูรณ์แบบ” เพราะมี 12 เดือนในหนึ่งปี, 12 ราศี, 12 เทพเจ้าบนภูเขาโอลิมปัส, 12 ภารกิจของเฮอร์คิวลีส, 12 เผ่าของอิสราเอล และ 12 อัครสาวกของพระเยซู

“เลข 13 ถูกเชื่อมโยงกับโชคร้าย เพราะมัน ‘เลยความสมบูรณ์ไปเล็กน้อย’” เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า “เลขนี้จึงดูเหมือนจะไม่สงบ หรือมีความกระสับกระส่ายอยู่ในตัว”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจคือ ประเทศสเปนกลับไม่กลัววันศุกร์ที่ 13 แบบที่เราคุ้นเคย เพราะสำหรับคนที่นั่น “วันอังคารที่ 13” ต่างหากที่ถือเป็นวันสุดอัปมงคลของปี เนื่องจากวันอังคารเป็นวันที่เชื่อมโยงกับเทพเจ้าแห่งสงคราม ซึ่งเป็นตัวแทนของความรุนแรงและความวุ่นวาย

อีกทั้ง ศาสตร์ตัวเลขอาจช่วยอธิบายได้ว่า เหตุใดชาวอิตาลีจึงไม่กลัววันศุกร์ที่ 13 แต่กลับกลัววันศุกร์ที่ 17 แทน เนื่องจากเลขโรมัน XVII เมื่อสลับตัวอักษรจะกลายเป็นคำว่า “VIXI” ซึ่งแปลจากภาษาลาตินว่า “ชีวิตของฉันได้จบลงแล้ว”

แมวดำก็ถูกมองว่าเป็นลางร้ายในหลาย ๆ วัฒนธรรมในยุโรป ภาพถ่ายโดย ROBBIE GEORGE, NAT GEO IMAGE COLLECTION

ศุกร์ 13 “วันเคราะห์ร้าย” จริงหรือไม่

แม้จะดูเป็นความเชื่อที่ไร้เหตุผล เช่น การกลัวบันได กลัวแมวดำ หรือกลัวเลข “เคราะห์ร้าย” แต่สิ่งเหล่านี้กลับฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมเรามาอย่างยาวนาน

“เมื่อมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม เราก็มักจะแสดงความเคารพ” ในปี 2013 โธมัส กิโลวิช ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ในเมืองอิธากา รัฐนิวยอร์ก อธิบายว่า “คุณจะรู้สึกว่า ถ้าไม่สนใจมัน ก็เหมือนกับว่ากำลังท้าทายโชคชะตา”

บางคนกัดฟันฝ่าผ่านวันศุกร์ที่ 13 ไปอย่างหวาดระแวง ขณะที่บางคนกลับใช้ชีวิตต่างออกไปอย่างชัดเจนในวันศุกร์ที่ 13

โดนัลด์ ดอสซีย์ นักประวัติศาสตร์เรื่องเล่าพื้นบ้าน และผู้ก่อตั้งศูนย์จัดการความเครียดและสถาบันวิจัยเกี่ยวกับโรคกลัวผิดปกติ เคยกล่าวกับ National Geographicในปี 2013 ว่า บางคนอาจไม่กล้าเดินทาง ซื้อบ้าน หรือแม้แต่ลงทุนกับหุ้นในวันศุกร์ที่ 13 ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวได้อย่างชัดเจน

​​แม้บางคนจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในวันศุกร์ที่ 13 แต่ผลวิจัยมากมายกลับชี้ว่า พวกเขาไม่ได้เผชิญกับเหตุร้ายบ่อยกว่าปกติเลย ในปี 2011 งานวิจัยจากเยอรมนีพบว่าไม่มีเหตุผลใดที่ต้องกลัวการผ่าตัดในวันศุกร์ที่ 13 เพราะอัตราการเกิดเหตุและผลลัพธ์ของการผ่าตัดไม่ได้ต่างจากวันอื่น ๆ ขณะที่ในปี 2012 นักวิจัยในสหรัฐฯ พบว่าแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลก็ไม่ได้รับคนไข้เพิ่มขึ้นเลย แม้แต่ตลาดหุ้น ก็ไม่ได้มีผลกระทบแย่ลงในวันศุกร์ที่ 13 แต่อย่างใด

โชคดีที่วันศุกร์ที่ 13 ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก ส่วนใหญ่ในแต่ละปีจะมีแค่สองครั้ง อย่างเช่นปี 2023 บางปีก็มีเพียงครั้งเดียว แต่ในบางปี เช่น ปี 2026 ที่จะถึง กลับมีถึงสามครั้งเลยทีเดียว

เรื่อง Brian Handwerk

แปลและเรียบเรียง ญาณิศา ไชยคำ

โครงการสหกิจศึกษา กองบรรณาธิการ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม : ผลไม้ต้องสาป มีพิษ กลิ่นเหม็น: กว่าจะเป็นมะเขือเทศที่ครองใจคนได้

Recommend