ตลาดลอตเตอรี่ที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เช้าวันที่ 21 ตรงกับวันศุกร์และวันพระ ลานจอดรถละลานตาไปด้วยรถยนต์สารพัดชนิด สองฝั่งถนนหลวงมีรถจอดเรียงเป็นแถวยาว ควันไฟลอยโขมงมาจากตลาดนัดข้าง ๆ ใต้โรงเรือนหลังคาสูงตรงนั้น ผู้คนเบียดเสียด ส่งเสียงอื้ออึงต่อรองต่อราคา สินค้าบนแผงไม่ใช่ของที่เราพบเห็นกันตามตลาดนัด หากเป็นลอตเตอรี่ทั้งนั้น มีทั้งแบบเป็นเล่ม (100 คู่) และแยกขาย ในราคาขายส่งให้พ่อค้า
แม่ขายรายย่อยที่มาจับจ่ายเพื่อนำไปขายต่อ ในตู้กระจกหลายใบมีเงินสดปึกหนาวางอยู่ตลาดแห่งนี้จะคึกคักทุกวันที่ 4-6 และ 19-21 ของทุกเดือน พ่อค้าแม่ค้าลอตเตอรี่จะเดินทางจากกรุงเทพฯมาขายที่นี่ด้วยตัวเอง ตลาดค้าส่งแบบนี้นอกจากแถวสนามบินนํ้า จังหวัดนนทบุรี และสี่แยกคอกวัว ซึ่งอยู่ใกล้กับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลทั้งที่ใหม่และที่เดิมแล้ว ก็มีที่อำเภอวังสะพุงนี้อีกแห่งเดียวที่เป็นแหล่งกระจายลอตเตอรี่สู่ภูมิภาค
มูลค่าของลอตเตอรี่ขึ้นอยู่กับความนิยมตัวเลขในช่วงนั้น ข่าวสารบ้านเมืองเป็นเชื้อฟืนชั้นดีที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้ลอตเตอรี่บางเลข ราคาขึ้นลงตามอุปสงค์และอุปทานไม่ต่างจากสินค้าโภคภัณฑ์ คนเล่นสนุกกับข่าวสารบ้านเมืองขณะที่คนขายก็สนุกกับมูลค่าที่เพิ่มขึ้น
วัตถุประสงค์แรกเริ่มของการออกลอตเตอรี่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก มักเป็นการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือกิจกรรมทางสังคมที่งบประมาณรัฐลงไปไม่ถึง แต่ลอตเตอรี่ในประเทศไทยมักถูกมองว่าเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์โดยเฉพาะในภาคการเมือง รัฐบาลยุคหนึ่งเคยนำหวย “ใต้ดิน” ขึ้นมาอยู่ “บนดิน” นัยหนึ่งคือนำเงินนอกระบบมาเป็นรายได้ให้รัฐบาล และอีกนัยหนึ่งคือทอนกำลังพวกนอกกฎหมายและทลายอิทธิพลเงินจากหวยบนดินในรัฐบาลยุคนั้นไม่ต้องผ่านระบบคลัง รัฐบาลจึงสามารถนำเงินไปใช้จ่ายในโครงการต่าง ๆ ได้อย่างคล่องตัว ส่วนมากเน้นไปที่การตั้งกองทุนการศึกษาและพัฒนาชนบท แน่นอนว่าเป็นการสร้างคะแนนนิยมไปในตัว
ทว่านโยบายนั้นก็มีอีกมุมหนึ่ง เมื่อถูกฝ่ายคัดค้านชี้ว่าเป็นการนำเงินจาก “อบายมุข” ไปใช้เป็นเครื่องมือหาเสียง อีกทั้งเงินนั้นยังเอื้อต่อการทุจริตเรื่องราวบานปลายใหญ่โตกระทั่งศาล “บั่นคอ” รัฐบาลชุดนั้นเป็นการปิดฉากหวยบนดิน จนกลายเป็นของร้อนที่ไม่มีใครกล้ายุ่งเกี่ยวอีก (แม้หลายรัฐบาลอยากทำใจจะขาด) ทุกวันนี้ รัฐบาลได้รายได้จากลอตเตอรี่งวดละประมาณ 1,657 ล้านบาท เงินก้อนนี้วิ่งเข้าไปรวมกับเงินอื่น ๆ ในคลัง ก่อนนำไปจัดสรรตามลำดับความสำคัญของนโยบายแต่ละรัฐบาล แต่ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ จากศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่เห็นด้วย และชี้ว่า ระบบนี้ทำให้กองทุนต่าง ๆ ที่ควรได้รับงบประมาณมากขึ้น เช่น เรื่องวัฒนธรรม คนชรา กีฬา ผู้พิการ และคนด้อยโอกาส ไม่มีโอกาสได้รับงบประมาณที่ควรจะได้
“เราอยากให้เป็นสลากเพื่อสังคมค่ะ ไม่ใช่เพื่อการหารายได้ให้รัฐบาล” เธอยกตัวอย่างระบบสลากกินแบ่งในประเทศอังกฤษที่รายได้ร้อยละ 28 นำเข้ากองทุนจัดสรรเงินรายได้เพื่อสาธารณประโยชน์ มีคณะกรรมการกำกับดูแลว่าจะนำเงินไปใช้อย่างไร และเปิดโอกาสให้ประชาชนลงประชามติว่าต้องการให้นำเงินไปช่วยเหลือสาธารณประโยชน์ด้านใดเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปสลากกินแบ่งรัฐบาลดังมานานแล้ว ดร.นวลน้อยชี้ว่า แม้แต่การแก้ปัญหาสลากเกินราคาสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลยังแก้ไม่ได้
“ถ้าผลิตสินค้าออกมาแล้วปล่อยให้ขายเกินราคา นั่นย่อมสะท้อนความล้มเหลวของการจัดการทั้งหมด นี่คือสินค้าของรัฐนะคะ” ขณะที่หวยใต้ดินเป็นเหมือนวิญญาณอมตะ ว่ากันว่าวงการหวยใต้ดินมีเงินหมุนเวียนมากกว่าแสนล้านบาท คนเล่นมากกว่า 20 ล้านคน และมีสารพัดกลเกมให้ได้ลุ้น ทั้งการลุ้นเลขสามตัวหน้ารางวัลที่หนึ่ง การแทงเลขเดี่ยว การให้เครดิตแทงก่อนจ่ายทีหลัง ไปจนถึงโปรโมชั่นลดราคาหวยใต้ดินเป็นระบบการพนันแบบอัตราต่อรอง ซึ่งเจ้ามือจะมีความเสี่ยงระหว่าง “รวยไปเลย” กับ “เจ๊งไปเลย” นักสังคมศาสตร์ชี้ว่า หวยใต้ดินมองได้หลายมิติ ทั้งกิจกรรมทางสังคมของแม่บ้าน การลงทุน และกิจกรรมนันทนาการ การช่วงชิงหวยใต้ดินให้กลับขึ้นมาอยู่บนดินอีกครั้งเป็นแนวคิดที่รัฐบาลทุกสมัยจับตามอง แต่อุปสรรคคือความโปร่งใส
“ทุกวันนี้หวยใต้ดินอยู่ได้เพราะประชาชนคิดว่าเลขออกโดยรัฐ เจ้ามือไม่เกี่ยว” ดร.นวลน้อยบอก เธอเล่าถึงผลสำรวจหนึ่งที่ชี้ว่า ประชาชนเกินกว่าครึ่งเชื่อว่าการออกรางวัลมี “เลขล็อก” เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นจริงมาแล้วสองงวด “จริงหรือไม่จริงอันนี้ไม่รู้นะคะ แต่เมื่อภาพลักษณ์เสียไปแล้ว พอมาทำหวยบนดินก็จะไม่ประสบความสำเร็จอีกแน่ ๆ ค่ะ”