KOSEN KMUTT โรงเรียนมัธยมปลายที่ชวนนักเรียนมองวิศวกรรมจากจุดเริ่มต้นที่มนุษย์และสังคม มาเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยี
มีเด็กไทยจำนวนไม่น้อยที่รู้จักความฝันตัวเอง และรู้ตัวว่าอยากจะก้าวต่อไปข้างหน้าบนเส้นทางในอนาคตรูปแบบไหน เช่นในปัจจุบันที่เป็นยุคของนวัตกรรม เรามองเห็นเด็กที่สนุกกับงานเมกเกอร์ การได้ลงมือทำ และได้ทดลองสร้างสิ่งใหม่ให้กับสังคม
การเตรียมหลักสูตรการศึกษาที่เริ่มตั้งแต่ระดับมัธยมปลายให้พร้อมสำหรับนักเรียนกลุ่มนี้แต่เนิ่นๆ นอกจากจะเป็นการปูพื้นฐานความรู้และทักษะความสามารถก่อนส่งต่อสู่ระดับอุดมศึกษาแล้ว การศึกษาสำหรับเด็กวัยที่กระหายการเรียนรู้และลงมือทำเช่นนี้ ยังช่วยเปิดกว้างด้านความคิดสร้างสรรค์ ดึงพลังความกล้าของวัยเด็กมาบวกกับทักษะ และอาจเกิดเป็นผลลัพธ์ที่เซอร์ไพรส์ผู้ใหญ่อย่างที่คาดไม่ถึง
หลักสูตรแบบ Story-based Learning กับนักเรียนสายวิศวกรรม การเรียนด้านทักษะวิทยาศาสตร์ควบคู่ไปกับมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และการฝึกฝนทักษะด้านวิศวกรรมผ่านการปฏิบัติ คือความพิเศษของนักเรียนมัธยมปลายที่นี่ เราได้รับเกียรติจากคณาจารย์ทั้งไทยและญี่ปุ่นของโครงการ KOSEN KMUTT ในการบอกเล่าเรื่องราวการเรียนของว่าที่วิศวกร ผู้เป็นกำลังสมองของอุตสาหกรรมไทยในอนาคต
ความเชี่ยวชาญการศึกษาวิศวกรรมแบบญี่ปุ่น กับนักเรียนไทย
โครงการจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็น หรือโครงการพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศภูมิภาค ด้วยแนวคิดการจัดการศึกษาในรูปแบบ KOSEN ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมปลายเฉพาะทางด้านวิศวกรรม เป็นโครงการที่ทางกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการโดยให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และเริ่มดำเนินโครงการในปีการศึกษา 2562 ซึ่งกำลังเดินทางเข้าสู่การรับนักเรียนรุ่นที่ 3
“เรามองเห็นความเชี่ยวชาญของสถาบัน KOSEN ซึ่งมีมายาวนานเกือบ 60 ปี และกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศญี่ปุ่น จะใช้คำว่า 1 จังหวัด 1 สถาบัน KOSEN ก็ได้ ซึ่งหากสถาบัน KOSEN ไปจัดตั้งอยู่ไหน ก็จะเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมในละแวกนั้น และดึงนักเรียนที่มีความสามารถและมีความสนใจด้านวิศวกรรมมาฟูมฟัก” ดร.ก้องกาญจน์ วชิรพนัง ผู้อำนวยการสำนักงานห้องเรียนวิศว์ -วิทย์ เกริ่นให้เราฟังถึงสถาบัน KOSEN
“ข้อเด่นของโรงเรียนแห่งนี้ คือสามารถเปลี่ยนนักเรียนทั่วไปให้มีทักษะและเซนส์ทางด้านวิศวกรรม รวมทั้งเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมได้ดีด้วย และจากหลักสูตรมัธยมปลาย บวกไปอีกแค่สองปี ก็สามารถสร้างขุมกำลังด้านวิศวกรรมที่ตอบโจทย์กับอุตสาหกรรมญี่ปุ่นได้ ผมเข้าใจว่านี่จะเป็นประเด็นที่รัฐบาลเห็นร่วมกัน”
เราได้รับเกียรติจาก Prof.Dr.Yasunori Ando Senior Director on International Affairs, NIT ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้บอกเล่าและแนะนำเรื่องราวของ KOSEN ให้กับคนไทยได้รู้จักลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิม “ถ้าเปรียบ KOSEN เป็นคนๆ หนึ่ง เขาก็จะเหมือนเป็นคนที่มีการเตรียมความพร้อมกับองค์ความรู้ในทางด้านวิศวะโดยเฉพาะ เพื่อที่จะได้เติบโตไปสู่การเป็นวิศวกรที่มีความรู้ในฐานะพลเมืองโลก และระหว่างประเทศญี่ปุ่น-ไทย”
“ในส่วนของนักเรียน KOSEN เราจะเตรียมความพร้อมให้กับเขาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ทั้งกับเนื้อหาในส่วนวิศวกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ การนำความรู้ทางด้านไอทีหรืออย่างอื่นมาประยุกต์ใช้ร่วม และหากนักเรียนมีโปรเจคท์งาน ฝึกงาน มีเนื้องานอะไรเกี่ยวกับวิศวกรรม ก็จะพยายามให้เขาทำ เพื่อเตรียมความพร้อมของเขาให้ได้มากที่สุดก่อนที่เขาจะออกไปสู่โลกภายนอก โดยทั้งหมดจะใช้ความรู้ร่วมกันระหว่างคนไทยกับคนญี่ปุ่นด้วย เรียกว่าเป็นการสอนวิธีคิดแบบทั้งทางญี่ปุ่นและทางไทยด้วย”
Story-Based Learning การเรียนรู้จากเรื่องราวประวัติศาสตร์
คำถามที่ตามมาของผู้ปกครองคือ แล้วระบบการศึกษาแบบญี่ปุ่นจะเข้ากับนักเรียนไทยได้หรือไม่? คำตอบที่อาจารย์ก้องกาญจน์ให้กับเราคือ หลักสูตรออกแบบใหม่ ที่เกิดจากการทำการบ้านระหว่างทีมงานสองประเทศทั้งไทยและญี่ปุ่น เพื่อให้ได้หลักสูตรที่ปูพื้นฐานทั้งความเป็นวิศวกร และความเป็นพลเมืองโลกให้กับนักเรียน
“เราชวนทีมงานมองไปข้างหน้าด้วยกันว่า จริงๆ แล้ว อุตสาหกรรมไทยกำลังจะไปไหน? และอุตสาหกรรมต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยกำลังจะไปทางไหน? จากโจทย์ตรงนี้นำมาสู่การออกแบบหลักสูตรบนฐานคิด Story-Based Learning เพราะมองว่า เราต้องการสร้างนักวิทยาศาสตร์ วิศวกรที่ตอบโจทย์คน ดังนั้น คนต้องอยู่ในหลักสูตร และจากหลายวิชาที่เคยเรียนแยกกัน อย่างฟิสิกส์หรือแคลคูลัส ทำอย่างไรให้นักเรียนได้เห็นว่า ฐานของมันคือเรื่องเดียวกัน และเชื่อมโยงกันทั้งหมด”
“เราจึงหยิบประวัติศาสตร์ ซึ่งมีฐานทั้งเรื่องคนและสังคม เป็นแกนกลางในการผูกเอาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และความรู้สาขาอื่นๆ เข้าด้วยกัน ด้วยความเชื่อของหลักสูตรที่ว่า วิทยาศาสตร์ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่การเปลี่ยนแปลงของคนและสังคมผลักดันให้เกิดวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งถ้าเราไปดูการตั้งถิ่นฐานของคน เราโดนผลักดันให้มันเกิดเทคโนโลยีอะไรบางอย่างเพื่อทำให้ชุมชน สังคมมันอยู่ได้ เช่น การขนส่งน้ำ เกษตรกรรม เครื่องไม้เครื่องมือ ขณะเดียวกันที่วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์เกิดขึ้น มันก็กลับมาขับเคลื่อนให้สังคมเปลี่ยนรูปไปเหมือนกัน”
การเรียนรู้ถูกออกแบบให้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ ความรู้พื้นฐานตามมาตรฐานหลักสูตรประเทศ ความรู้พื้นฐานสู่การเรียนวิศวกรรมในระดับอุดมศึกษา และความรู้ทักษะการเป็นพลเมืองโลกในศตวรรษหน้า โดยมีแกนกลางเป็นวิชารูปแบบใหม่ที่ดึงเอาความเป็นเหตุเป็นผลที่สัมพันธ์กันของแต่ละวิชามาทำงานร่วมกัน แล้วการเรียนจะค่อยระดับตามสมรรถนะและไทม์ไลน์ต่อไป
“ชื่อวิชาของเราจะแปลกๆ หน่อย เช่น The Recipe of Cosmos เราจะพูดให้เขาเห็นตั้งแต่ว่า กำเนิดโลกมันเป็นอย่างไร แล้วการเกิดขึ้นมาของโลกหนึ่งใบ มันมีองค์ประกอบทางฟิสิกส์ เคมี ปรัชญาอย่างไร เพราะฉะนั้น ในหนึ่งเรื่อง เราจะชวนเด็กมองจากหลากหลายมุมมองมาก เขาจะได้เป็นเด็กที่ Well-rounded มองเห็นในหลายๆ มุม และก็เชื่อมต่อว่า จริงๆ แล้วฟิสิกส์กับปรัชญามันไปด้วยกัน เพียงแต่มันมองด้วยมุมของอะไรเท่านั้นเอง แล้วทั้งหมดเติมเต็มกันและกันได้อย่างไร”
“แล้วโปรเจคท์วิศวกรรมมันตอบเรื่องประวัติศาสตร์ได้อย่างไร? เราก็บอกว่า ทุกประวัติศาสตร์มันมีวิศวกรรมเดินอยู่คู่กันไปหมด โปรเจคท์ของเด็กเทอมแรกก็จะบอกว่า เวลาคนตั้งถิ่นฐาน ต้องล่าสัตว์ เราก็ให้เด็กลองพัฒนาว่า ถ้าตัวเองเป็นวิศวกรในยุคนั้น ผลิตเครื่องกับดักสัตว์ให้คนยุคนั้นใช้จะทำอย่างไร ลองเอาฐานคิดวิศวกรรมเพื่อตอบโจทย์คนและบริบทสังคมยุคนั้น เราเน้นไปที่กระบวนการเรียนรู้ ให้นักเรียนเป็น Self-directed Learners”
อีกเรื่องที่เป็นจุดประสงค์สำคัญของการจัดตั้งสถาบัน KOSEN คือการประสานกำลังคนเข้ากับอุตสาหกรรม “โจทย์อีกเรื่องคือ เราจะทำอย่างไรให้การพัฒนาสมรรถนะนี้ตั้งอยู่บนฐานของความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นเราจะใช้การเรียนรู้ในรูปแบบการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมควบคู่กันไป เพื่อให้เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง”
มอบทักษะวิชาการ พร้อมกับฐานคิดความเป็นพลเมือง
“เราไม่ได้แค่กำลังพัฒนาวิศวกรนะ แต่เรากำลังสร้างคนหนึ่งคนให้กับประเทศ” อาจารย์ก้องกาญจน์เน้นย้ำ “เพราะฉะนั้นเราไม่ได้สร้างเฉพาะทักษะด้านวิชาการ แต่เราใส่เขาเรื่องฐานคิด ความรับผิดชอบ ฐานที่เขาจะเป็นพลเมืองคนหนึ่งของประเทศ ที่เขาจะต้องร่วมรับผิดชอบหลายๆ เรื่องกับประเทศไปด้วย เพราะฉะนั้นนี่คือวิธีคิดของเรา”
ถึงแม้นักเรียนจะต้องเรียนทั้งวิชาพื้นฐาน วิชาวิศวกรรม และภาษาญี่ปุ่น แต่กลไกของโรงเรียนเป็นผู้ช่วยให้นักเรียนสนุกกับแพสชั่นของตัวเองได้อย่างไม่มีสิ้นสุด “เราจัดระบบที่เรียกว่า Co-teaching ขึ้นมา ก็คือทุกวิชาที่มีคณาจารย์จากญี่ปุ่นสอน เราจะเติมครูไทยเข้าไปด้วย 1 คนประกบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นช่วยเรื่องสรุปการสอน เรื่องช่วยทางด้านภาษา เรามีกลไกของอาจารย์ที่ปรึกษาที่เข้าไปดูแล และมีกลไกของนักจิตวิทยาของโรงเรียนที่ดูแลชีวิตความเป็นอยู่เพิ่มเติม”
ในด้านมุมมองของอาจารย์จากทางญี่ปุ่น มองเห็นถึงศักยภาพและความสามารถของนักเรียนไทยในมุมมองที่น่าสนใจ เริ่มต้นจากอาจารย์ Yasunori Ando “เราพบว่านักเรียนไทยมีความสามารถหลากหลาย และให้ความสนใจในหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะในส่วนของทักษะภาษาอังกฤษในระดับสูง และงานอดิเรกต่างๆ มากมาย”
“ท้ายที่สุดแล้วเราอยากให้นักเรียนของเรา ก่อนอื่นเลย ต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพทางด้านวิศวกรรม และที่สำคัญ ต้องสามารถตอบได้ว่า ตอนนี้ปัญหาของสังคมคืออะไร คือไม่ใช่แค่ว่าจะเรียนรู้ในโรงเรียนหรือความรู้เฉพาะทางอย่างเดียว แต่เค้าต้องเข้าใจในสังคมด้วย แล้วหลังจากนั้น เขาก็จะสามารถแก้ไขปัญหาของสังคมนั้นๆ ได้ เมื่อวิเคราะห์ออกมาได้ว่าจุดอ่อนของสังคมคืออะไร และก็ทำการแก้ไขปัญหาจุดอ่อนของสังคมนั้นต่อไป ก็คือว่าเป็น Social Doctor นั่นเอง”
ทางด้าน Prof.Dr.Takaaki Takashima Program Manager of Thai KOSEN Initiative Project for Promoting Collaboration with Industry ก็ได้บอกเล่าเรื่องราวในฐานะที่เป็นทั้งอาจารย์ของเด็กๆ และเป็นนักเรียนเก่า KOSEN ให้เราฟัง
“ตอนนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดที่อยากจะสอนให้ความรู้กับนักเรียนของทาง KOSEN ก็คือให้นักเรียนสามารถคิดเองได้ว่า หลังจากจบการศึกษาไปแล้ว เขาจะสามารถต่อยอด ทำอาชีพอะไร โดยเริ่มต้นจากศูนย์ ตอนนี้เราจะเห็นได้ว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว ถ้าถามว่าเด็กอยากจะทำงานอะไร บางคนอาจจะตอบว่า เป็นยูทูเบอร์ หรือเป็นอาชีพที่เหมือนว่าไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ KOSEN เน้นอยู่ เราอยากจะสอนให้เด็กเข้าใจ อยากให้เด็กมีศักยภาพ มีความสามารถในการนึกและตั้งต้นเอาสิ่งที่ตัวเองไม่เคยเรียนรู้มาก่อน เริ่มต้นจากศูนย์ เอามันมาเรียนรู้ต่อยอด จนสามารถนำเอามาใช้ประกอบอาชีพในชีวิตประจำวันได้”
“เรื่องที่ดีที่สุดเรื่องนึงที่ผมยังจดจำได้อยู่หลังจากจบการศึกษาจาก KOSEN เป็นเรื่องเพื่อนร่วมรุ่น แม้ว่าแต่ละคนก็จะเส้นทางทางการทำงานของตัวเองที่ไม่เหมือนกันเลย แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การที่ยังติดต่อกันอยู่ ยังช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน หลังจากที่เรียนจบไปแล้ว เราไม่ได้นึกถึงแต่เรื่องของตัวเอง ซึ่งความสัมพันธ์นี้จะช่วยพัฒนาโลก พัฒนาสังคมกันต่อไปด้วยกัน”
“จุดสำคัญตอนนี้คือ ถ้าเขาเป็นวิศวกรที่สร้างสรรค์ได้ ลงมือทำเป็น คิดถึงคนอื่น และก็มีทักษะที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเองต่อได้” อาจารย์ก้องกาญจน์ทิ้งท้าย “สิ่งที่โรงเรียนเราเป็น คือเราพยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่เชื่อว่า School is where students learn to fail, successfully. ผิดพลาดได้ไม่เป็นไร แต่มันเป็นการผิดพลาดเพื่อสร้างสรรค์ ต่อยอด และทำสิ่งใหม่ขึ้นมา และโรงเรียนจะเป็นสถานที่แบบนี้ที่คอยที่จะประคับประคองเขาไปให้เขามีสิ่งที่เราอยากให้มี สร้างสรรค์ เรียนรู้ ทำเพื่อคนอื่น เรามองปลายทางแบบนั้นจริงๆ”
“และมันก็จะดีมากถ้าวันหนึ่ง เขาสามารถสร้างเทคโนโลยีหรือพัฒนานวัตกรรมอะไรที่ตอบโจทย์ของประเทศเราเอง ของโลกใบนี้ มันอาจจะดูเพ้อฝัน แต่ว่าถ้าไม่มีใครที่จะกล้ามาฝันแบบนี้ มันก็จะพัง สุดท้ายก็ไม่มีใครไปตรงนั้น มันไปไม่ได้”
“เราเองอยากจะเป็นคนสนับสนุนนักเรียนให้ทำสิ่งเหล่านั้นได้”
โครงการจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็น KOSEN KMUTT
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พื้นที่การศึกษาบางขุนเทียน
โทร. 0-2470-8389, 0-2470-8386
https://www.kmutt.ac.th/GiftEd/view/th/kosen
เรื่อง ณัฐนิช ชัยดี
ภาพ KOSEN KMUTT