เรียนรู้คู่ทำงานจริง ให้เป็น ‘บัณฑิตมือเปื้อน’ ที่สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา

เรียนรู้คู่ทำงานจริง ให้เป็น ‘บัณฑิตมือเปื้อน’ ที่สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา

โปรแกรมออกแบบทรีดีแคด (3D CAD) ที่กำลังปรากฏอยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์นี้ แสดงรายละเอียดแม่แบบ ขาตั้งลำโพง นิ้วคลิกหมุนมุมอย่างชำนาญ ปรับเปลี่ยนรายละเอียดเล็กน้อยที่แทบไม่มีใครสังเกต

เมื่อเวลาผ่านไปสักครู่ใหญ่ แม่แบบขาตั้งลำโพงสำหรับการตั้งสะท้อนเสียงก็เกือบสมบูรณ์แบบ เหลือเพียงแต่กระบวนการสร้างตัวอย่างแม่แบบเท่านั้น

นี่คงเป็นเรื่องธรรมดา หากในเวลาราว 1 ชั่วโมงที่ผ่านมา เราอยู่ในห้องทดลองหรือแล็บวิศวกรรมที่ไหนสักที่ แต่ ณ ตอนนี้ นักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือปวช. ชั้นปีที่ 2 ประเภทวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กำลังเป็นผู้นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ขนาบด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติในห้องปฏิบัติการนวัตกรรมที่อาจารย์เกรียง คุปตรัตน์ หัวหน้างานนวัตกรรมและสื่อการเรียนการสอนแห่งสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา เป็นผู้ดูแล

“ผมอยากทำลำโพงสะท้อนฝ้าครับ เลยจะลองทำขาตั้งลำโพงวางสะท้อนเสียงขึ้นฝ้าเพดาน เพื่อจะได้เสียงเพลงอีกรูปแบบที่มีเสียงตกลงมาเหนือหัวครับ” จิรวัฒน์ ประเทืองทิพย์ อธิบาย

แม้จะเรียนในสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ แต่จิรวัฒน์ก็ยังสนใจการออกแบบงานเชิงอุตสาหกรรมด้วย

ด้วยประสบการณ์เรียนรู้โปรแกรมมาตั้งแต่ตอนเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จึงชำนาญโปรแกรมออกแบบทรีดีแคด แต่ยังขาดประสบการณ์ด้านการนำแบบจำลองสามมิติไปใช้ผลิตผลงานจริง จึงเป็นหนึ่งเหตุผลที่เขาเลือกก้าวเข้าสู่รั้วโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา

“วัสดุเหล่านี้ให้ใช้ได้หมดครับ ใครอยากเข้ามาเราก็คุยกับเขาและสอนวิธีคิด ให้เริ่มตรงนี้ จุดนี้ และต้องไปไหนต่อ ให้รู้จักคิดอย่างมีเหตุผล ให้มีอิสระในทุกเรื่อง คุยกันแลกเปลี่ยนกันโดยไม่ทิ้งไอเดียหรือความตั้งใจไป” แม้อายุงานจะน้อยกว่าห้องแล็บอื่นในตึกเดียวกัน แต่น้องใหม่วัยหนึ่งขวบอย่างห้องปฏิบัติการนวัตกรรมก็มีเครื่องตัดอะคริลิกด้วยเลเซอร์ เครื่องพิมพ์สามมิติ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์พื้นฐานขนาดเล็กเชื่อมต่อได้ไม่ยาก เปิดให้ทุกคนที่สนใจเข้ามาทดลองใช้งานโดยไม่ผูกติดกับหลักสูตรไหน เสมอเป็นห้องสมุดที่เปิดให้เข้ามาอ่านหนังสือ เพียงแต่ไม่มีหนังสือ สามารถเข้ามาทำอะไรก็ได้ที่อยากจะทำ

ระหว่างเดินตามโต๊ะแสดงตัวอย่างชิ้นงานพลางฟังอาจารย์ผู้ดูแลห้องอธิบายแนวคิดแต่ละชิ้นงานที่ผุดงอกเงยจากนักเรียนนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาที่เคยเข้ามาทดลองสร้างไอเดียตัวเองให้เป็นรูปเป็นร่างได้ และก็มาหยุดที่ตัวอย่างที่แปลกตาออกไปจากชิ้นอื่น ด้วยความสนเท่ห์อาจารย์เกรียงจึงลงมือประกอบตัวล็อกสองชิ้นและประกบด้วยแผ่นพลาสติกทรงกรวยให้ดู ก่อนจะเฉลยว่าเป็นชิ้นงานที่มาจากนักเรียนสาขาทำอาหาร “ทีนี้พอเสียบตะหลิวเข้าไปและจับด้ามหันออก ก็กลายเป็นอุปกรณ์กันน้ำมันกระเด็นได้แล้ว”

ชิ้นส่วนตัวพิมพ์สามมิติทั้งหมดนี้ อาจารย์เกรียง คุปตรัตน์ ตั้งใจนำมาวางเรียงรายเพื่อเป็นตัวอย่างให้นักเรียนที่เดินผ่านไปมาสนใจและคิดที่จะลองทำชิ้นงานของตัวเอง

เรียนคู่งาน งานคู่เรียน

หนังสือด้านเทคนิค เทคโนโลยีอุสาหกรรม รายล้อมนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาที่นั่งเงียบเชียบในห้องสมุดมีเพียงเสียงพลิกหน้ากระดาษบ้างเป็นครั้งคราว ก่อนจะหายไปจนหมดเมื่อถึงเวลาเข้าเรียนช่วงบ่าย และเป็นเวลาเดียวกับที่ รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา กำลังอธิบายปรัชญาการศึกษา ‘เรียนคู่งาน งานคู่เรียน’ อันเป็นแนวทางที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้จากการทำงานเพื่อหลอมรวมความรู้ภาคทฤษฎีร่วมกับทักษะภาคปฏิบัติ

“เรียนคู่งานก็แปลว่าระหว่างเรียน สถาบันฯ ให้ฝึกปฏิบัติด้วย จุดเด่นของที่นี่ก็คือให้ฝึกปฏิบัติจริงในสถานที่จริง ไม่ได้มองว่าเป็นสายวิชาชีพแล้วคล้ายกับคนเรียนไม่เก่งต้องมาเรียน แต่อยากให้คนที่มีความสามารถทางด้านนี้มาเรียน แล้วจะเป็นคนที่สร้างสรรค์นวัตกรรม สร้างสรรค์วิทย์เทคโนโลยีสิ่งประดิษฐ์ ส่วนงานคู่เรียนหมายความว่า คนที่ทำงานแล้วต้องปรับ ก็เรียนควบคู่ไปกับการทำงาน สถาบันฯ สนับสนุนการเรียนสายอาชีพ ถ้าเด็กจบไปแล้วทำงานไม่ได้ ก็เหมือนเราล้มเหลว ก็ต้องทำงานให้เป็น”

และเป็นที่มาของหลักการเน้นรูปแบบการร่วมมือระหว่างโรงเรียนและสถานประกอบการ เพื่อได้รับประสบการณ์ใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรกลที่ทันสมัย โดยให้นักเรียนนักศึกษาฝึกอาชีพในสถานประกอบการกึ่งหนึ่งของหลักสูตร และสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดายังปรับบางหลักสูตรให้เหมาะสมกับการเรียนวันเสาร์-อาทิตย์สำหรับผู้ที่ต้องการทำงานระหว่างศึกษา อย่างสาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (ต่อเนื่อง)

รศ. ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา

“ทุกคนเข้ามาต้องทำโปรเจกต์หรือโครงการที่นำไปใช้ได้ หมายความว่า คิดมาแล้วเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ใช้ได้จริง โจทย์จริงจากโรงงานมาทำ ไม่ใช่สร้างโครงงานขึ้นมาหลักลอย เมื่อนักเรียนไปฝึกงานแล้วได้เห็นโจทย์ ได้เห็นปัญหา ก็นำมาคิดต่อ เด็กก็จะเข้าใจ การทำงานไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันเป็นความท้าทายที่จะทำให้เราแก้ปัญหาให้กับสถานประกอบการให้สำเร็จได้ การทำโครงงานนี้จะฝึกทักษะการแก้ปัญหาและความคิดสร้างสรรค์ได้ดี”

เรียนรู้อย่างเสมอภาค ไม่ว่าใครก็คว้าเป้าหมายได้

ในแต่ละปีการศึกษา สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาจะรับสมัครนักศึกษาใหม่ในรอบปกติและรอบโควตาเรียนดีทั้ง 3 คณะ ทุนช่วยเหลือการศึกษา ทุนพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพผู้เรียน ฯลฯ ที่เปิดอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดช่องว่างทางการศึกษา

สถาบันเรามีนักศึกษาไม่มากราว 1,200 กว่าคน แต่หลากหลายทั้งทางด้านสังคม ผู้พิการ ศาสนา เชื้อชาติ มีนักศึกษาต่างชาติด้วย ใครที่ต้องการความช่วยเหลือก็มีทุนการศึกษาและหาหนทางที่จะทำให้เด็กทุกคนได้ทักษะอาชีพอะไรสักอย่าง ไปได้ไกลเท่าไรก็ไป ตามความสามารถและทิศทางของตัวเอง ตั้งใจจะไปไหน ถ้าเรามี เราก็ทำให้เขา ถ้าเราไม่มี เราก็ต้องหาที่ให้เขาไปตามศักยภาพ แล้วแต่ความสามารถของเด็ก” รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑาเล่าต่อว่า สถาบันฯ ผลักดันให้ผู้เรียนได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน และส่งเสริมระบบการเรียนแบบทวิภาคีกับสถานประกอบการ และทวิวุฒิกับสถาบันการศึกษาที่สามารถเอื้อให้กันได้ เช่น ระบบราง คอมพิวเตอร์ และเมคาโทรนิกส์

หรืออย่างนักเรียนชั้นปวส.คนหนึ่งมีผลการเรียนดีและขวนขวายอยากศึกษาต่อด้านการสร้างเครื่องบิน ก็ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรดี เด็กมีใจมั่นคงจะสร้างเครื่องบินมาก ก็ต้องหาความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน ปรากฏว่าได้ไปติดต่อมหาวิทยาลัยต่างประเทศ และเด็กสามารถเรียนได้ดี มหาวิทยาลัยมีทุนให้เรียนด้วย ในตอนนี้ใกล้เรียนจบหลักสูตรแล้ว

เพื่อต่อยอดการศึกษาสายวิชาชีพให้หลากหลาย ตอบโจทย์ตลาดภาคอุตสาหกรรม และพัฒนาทักษะการทำงาน จากพระราชหฤทัยส่งเสริมระบบการเรียนการสอนสายวิชาชีพ โดยพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า    กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพจึงก่อตั้งขึ้นมาในปี 2547 ด้วยทรงสังเกตว่าเด็กนักเรียนบางส่วนชอบเรียนด้านการปฏิบัติมากกว่าสายวิชาการสามัญทั่วไป แล้วพบว่านักเรียนที่ชอบสายวิชาชีพเรียนด้านนี้ก็ประสบความสำเร็จด้วยดี มีความสุขกับการทำงานในสิ่งที่ตนถนัด จึงทรงต่อยอดด้วยการตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา ภายหลังจึงเปลี่ยนสถานภาพโดยรวมกันเป็นสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาที่เปิดสอนต่อเนื่องจากชั้น ปวช. ปวส. จนถึงระดับปริญญาตรี

ศึกษาเทรนด์ พัฒนาหลักสูตรให้ตรงโจทย์ยุคสมัย

ในระยะเวลา 18 ปี นับตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน  โรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพเปิดสอนทั้งสิ้น 11 ประเภทวิชา      ยังแยกย่อยในระดับปวช. 10 สาขาวิชา และปวส. อีก 12 สาขาวิชา เมื่อรวมคณะวิชาที่สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาเปิดสอนอีก 3 คณะ ทั้งแบบระบบปกติ ทวิภาคี และทวิวุฒิเข้าไป ทำให้ที่นี่เป็นอีกหนึ่งสถานศึกษาสายวิชาชีพที่มีความหลายหลายมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งดร.นวลอนงค์ ธรรมเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ เล่าว่าสถาบันปรับปรุงหลักสูตรอยู่เสมอเพื่อให้เป็นหลักสูตรที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ

ดร.นวลอนงค์ ธรรมเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ

“ว่ากันตามจริงสถานประกอบการคือตัวหลักที่เข้ามาร่วมทำงานกับเรา สถาบันมีสิทธิ์ในการที่จะพัฒนารายวิชาใหม่ ต้องการแบบไหนก็นำมาวิเคราะห์ร่วมกัน เรียกว่าพัฒนารายวิชาให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบ เมื่อผู้เรียนเรียนในหลักสูตรที่ปรับปรุงร่วมกันแล้ว จบไปสามารถที่จะทำงานกับสถานประกอบการประเภทนั้นได้เลย”

ด้านคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมก็มีสาขาวิศวกรรมเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าที่ให้ผู้เรียนสามารถวิเคราะห์ ออกแบบชุดควบคุมยานยนต์ เทคโนโลยีแบตเตอรี่ และการขับเคลื่อนยานยนต์ตามเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่เริ่มมีแนวโน้มการใช้มากขึ้นในประเทศไทย

“อิเล็กทรอนิกส์ประยุกต์ค่อนข้างกว้างมาก ถ้าพูดถึงเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเน้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า เราเน้นการทำงานเป็นช่างดูแลซ่อมแซม เพราะตอนนี้เรายังไปสร้างแข่งกับต่างประเทศไม่ได้ เป็นเทรนด์ใหม่เข้ามานะครับ เพราะมีไม่กี่แห่งที่เปิดสอนด้านนี้ ในสาขาต้องอาศัยอาจารย์จากมหาลัยฯ อื่นช่วยกันกับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้า เชิญมาสอนแล้วเราก็ต้องพัฒนาตัวเองด้วย” ผศ.ดร.สุรพันธ์ ตันศรีวงษ์ คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอธิบาย

นอกจากนี้ก็ยังมีวิศวกรรมเทคโนโลยีระบบอาคารอัจฉริยะ เดิมทีเป็นเพียงการเรียนรู้ระบบเครื่องปรับอากาศในอาคารให้อยู่ในรูปแบบการประหยัดพลังงานและลดการใช้ทรัพยากร แต่เมื่อวิกฤติโควิดที่ผ่านมาจึงพัฒนาหลักสูตรเพิ่มเป็น ‘ระบบปรับคุณภาพอากาศ’ โดยร่วมมือกับบริษัทที่พัฒนาห้องควบคุมคุณภาพอากาศ เพื่อสร้างบัณทิตที่สามารถออกแบบและควบคุมระบบสวิตช์ห้องความดันลบหรือบวกได้ ตอบโจทย์เทรนด์ด้านสุขภาพ

เรียนรู้ออกนอกเส้นตรง

เพราะการออกแบบเป็นสิ่งสำคัญในการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และบริการ คณะเทคโนโลยีดิจิทัลภายใต้ความดูแลของคณบดี รศ.ดร.วรา วราวิทย์ จึงฉีกแนวทางการเรียนที่นอกเหนือจากระบบคอมพิวเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การพัฒนาโปรแกรมที่มีอยู่เดิม เพิ่มเติมวิชาการออกแบบระดับสูงด้วยระบบดิจิทัลหรือดิจิทัลดีไซน์เทคโนโลยีเข้าไป ใช้เครื่องมือดิจิทัลทั้งโปรแกรมในการเขียนรูป โปรแกรมช่วยการออกแบบต่าง ๆ การทำแอนิเมชัน การขึ้นแม่แบบโมเดล และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ

“ในการที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ สร้างบริการใหม่ให้กับทุกคนตอนนี้ก็เป็นความท้าทายที่เราจะสร้างหลักสูตรขึ้นมาใหม่ และเริ่มเปิดสอนไปแล้ว ให้ 70% ไปทางศิลปะ อีก 30% เป็นการเรียนรู้เทคโนโลยี

รศ.ดร.วรา วราวิทย์ คณบดีคณะเทคโนโลยีดิจิทัล

“อีกหลักสูตรหนึ่งคือหลักสูตรสร้างโปรแกรมออกแบบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์ที่ใช้แล้วทำให้ผู้คนมีความสุขยิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมาการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ระบบใช้งานได้ดี มีการทำงานที่ถูกต้องได้แล้ว แต่อาจยังไม่มีความคิดที่จะมาดูเรื่องความสุขหรือสามารถสื่อสารผู้รับสารได้ดีขึ้น เราก็อยากจะทำอย่างไรให้คนสองกลุ่มนี้สามารถทำงานเข้าด้วยกันได้ คือรู้ทั้งพื้นฐานดีไซน์และเทคโนโลยี และสร้างสิ่งที่ต้องการได้”

อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาเน้นย้ำว่า สถาบันฯ จะยังตอบโจทย์อาชีพต่อไป เพราะต้องการสร้างคน  สร้างประเทศ จะสร้างคนเพื่อไปตกงานไม่ได้ ถือว่าเสียทรัพยากร

“คนเรามีกำลังวังชาแข็งแรงก็ในวัยนี้ งานพัฒนาทักษะเป็นงานที่ต้องลงมือทำ แต่ในระบบการศึกษาของไทยเป็นเส้นตรงเกินไป ต้องเรียนชั้นประถม 1 ประถม 2 3 4 5 6 แล้วก็ต่อในระดับมัธยม มหาวิทยาลัย ถ้าเป็นระบบของบางประเทศ เมื่อเด็กโตขึ้นเขาสามารถเลือกทำงาน ทำงานเก็บเงิน เก็บเงินแล้วกลับไปเรียน คือเลือกที่จะทำสลับกันได้ เมื่อพร้อมจะเรียน เขาก็จะตั้งใจเรียนเพราะเขารู้ว่าเขาเรียนไปเพื่อทำอะไร”

สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาจึงเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรเรียนระยะสั้นขึ้นหลายหลักสูตร เช่น หลักสูตรอาหารคาวหวาน หลักสูตรประกาศนียบัตรพนักงานให้การดูแล (Nurses’ aides/Caregivers) เพื่อสร้างบุคลากรให้การดูแลผู้สูงอายุ หนึ่งในอาชีพที่กำลังขาดแคลน มีผู้สนใจเข้าร่วมการฝึกอบรมหลากหลาย ทั้งที่เคยเรียนสายอื่น หรือเคยทำอาชีพอื่น และในอนาคตก็เตรียมเปิดการเรียนการสอบแบบสะสมเครดิตโดยเริ่มจากรายวิชาพื้นฐาน

“โลกกำลังเปลี่ยน ถ้าเราไม่ตามเราก็อาจจะไม่มีอาชีพต่อ เป็นธรรมดาที่มนุษย์เราต้องปรับตัว จากนี้การศึกษาก็จะปรับเปลี่ยนไปทั้ง Continuing Education หรือ Lifelong Learning หรือ Non-Age Group Education หมายความว่าไม่จำเป็นต้องอายุเท่ากันมาเรียน แต่ต้องมีพื้นฐานเพื่อเริ่มต้น การศึกษาแบบก้าวข้ามไม่มี มีแต่สะสมคล้ายเครดิตแบงก์ สะสมเป็นทุนความรู้”

เรียนอย่างยั่งยืน ต่อยอด U2T เทคโนโลยีสู่ชุมชน

หน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลก หนึ่งก็คือการสอนและการผลิตบัณฑิต สองก็คือการวิจัยและพัฒนา สามคือการบริการสังคม โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล หรือ U2T จึงเหมือนการต่อท่อให้ไปถึงชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยเล็กที่สุดของประเทศไทย เข้าไปทำงานร่วมกับชุมชนโดยมหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยง ประชาชนทุกคนต้องได้อะไรจากมหาวิยาลัย ต่อไปนี้ Soft Power จะเข้ามามีพลังมากขึ้นในรูปแบบภูมิปัญญาชุมชนที่นำมาเพิ่มมูลค่าได้”

รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑาเกริ่นที่มาโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (U2T) ที่มุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน 3,000 ตำบลทั่วประเทศ โดยสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาใช้องค์ความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมจัดกิจกรรมอบรมประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพที่ตรงตามความต้องการของชุมชนทั้ง 5 ตำบลในจังหวัดระยอง ชัยนาท สิงห์บุรี และบึงกาฬ

เริ่มต้นที่ตำบลทองเอน จังหวัดสิงห์บุรี โดยคณะเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีรศ.ดร.วรา วราวิทย์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงอบรมทักษะเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร เริ่มจากการประสานงานกับผู้นำชุมชนและคนรุ่นใหม่ในท้องถิ่น สรุปกันปัญหาอย่างหนึ่งว่าสิงห์บุรีเป็นจังหวัดทางผ่าน

“สิงห์บุรีมีจุดท่องเที่ยวแต่ไม่ผ่านตำบลทองเอน เราก็คุยว่าจะวางกลยุทธ์อย่างไรให้คนที่ผ่านขึ้นไปทางเหนือแวะกลับมากินข้าวเย็นที่ทองเอนเสียหน่อย นั่นหมายถึงว่าเราวางแผนว่าให้เขาเลี้ยวตรงไหน ส่งคนขึ้นไปอบรมเรื่องการทำคอนเทนต์ รู้จักการเล่าเรื่องผ่านวิดีโอ ตัดต่อ และใช้อุปกรณ์ที่เขามีอยู่แล้วนำเสนอเรื่องราวได้ ช่วงแรกลงพื้นที่สอน และปรับมาเป็นรูปแบบออนไลน์ในช่วงโควิดระบาด”

แม้ในสถานการณ์วิกฤติก็ยังเผยแพร่สื่อวิดีโอได้มากถึง 30 คลิป และเมื่อทางสถาบันไม่อาจลงพื้นที่ได้ จึงเกิดการคิดเนื้อหาโดยคนในชุมชนทองเอนเองว่าชุมชนของเขาจะดีขึ้นได้อย่างไร เกิดเป็นลิสต์ของดีทองเอนขึ้นมา โดยมีแนวคิดว่าจะทำให้ทุกวิสาหกิจของทองเอนปรากฏอยู่บน Google Map ให้ค้นหาเจอ แล้วก็วางแนวทางว่าถ้าจะผลักดันให้เป็นจุดแวะพัก

ผศ.ดร.สุรพันธ์ ตันศรีวงษ์ คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม

ด้านคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมรับหน้าที่อบรมติดตั้งระบบพลังงานทดแทนในอุปกรณ์การเกษตร จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้และซ่อมบำรุงอุปกรณ์การไฟฟ้าในตำบลกุดจอก จังหวัดชัยนาท

ผศ.ดร.สุรพันธ์ ตันศรีวงษ์ คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เล่าถึงความท้าทายให้ฟังว่า ที่ในพื้นที่กว่า 70% เป็นพื้นที่การเกษตร เพื่อลดต้นทุนจึงพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือทุ่นแรงพลังงานแสงอาทิตย์ในยามฤดูแล้ง จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้และซ่อมบำรุงอุปกรณ์ไฟฟ้า จัดทำคู่มือประชาชนและเกษตรกร ชุดความรู้ด้านโซล่าเซลล์ 12 เล่มที่อ่านเข้าใจง่าย

“นี่ก็เป็นโจทย์หนึ่งที่เราต้องไปพัฒนาคนให้สามารถอยู่ได้ตัวเอง เราก็มุ่งหน้าไปครับว่าต้องมีช่าง เกิดเหตุฉุกเฉิน เขาสามารถที่จะไปซ่อมแผงโซล่าเซลล์เอง หรือปั๊มน้ำ สูบน้ำโซล่าเซลล์ ทำระบบไฟต่าง ๆ โดยเขาเรียนรู้เพื่อเป็นช่างที่มีความสามารถดูแลระบบ และเมื่อโครงการจบเขาจะต้องเป็นวิทยากร ต่อยอดการอบรมได้ ตลอดระยะเวลาจัดอบรมไปประมาณ 3–4 ครั้ง แต่ละรุ่นมีทั้งคนในตำบลเอง และคนจากที่อื่น ทำให้คนที่สนใจมีอาชีพ และพอในพื้นที่มีปัญหาด้านระบบไฟต่าง ๆ ก็มีช่างให้ว่าจ้างมาซ่อมแซม ช่วยคนประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยอีกทางหนึ่ง เพราะสมัยนี้ช่างซ่อมไฟฟ้าตามต่างจังหวัดก็หายากเหมือนกันนะครับ”

ผลงานจากนักเรียนนักศึกษาคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ออกแบบจัดทำคู่มือประชาชนและเกษตรกร ชุดความรู้ด้านโซล่าเซลล์ให้ชุมชน

ด้วยพื้นที่ของตำบลพลงตาเอี่ยม เป็นพื้นที่เกษตรที่โดดเด่นทั้งยางพาราและผลไม้ของดีจังหวัดระยองอย่างทุเรียน นอกจากโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพจะเข้าไปช่วยอบรมทักษะวิชาชีพช่างไฟฟ้าและช่างยนต์ ก็อบรมการแปรรูปผลผลิตเพื่อสร้างมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์เพิ่ม

“เราได้รับความร่วมมือผู้เชี่ยวชาญจากกรมการยางแห่งประเทศไทยเข้าไปช่วยในการพัฒนาอาชีพจำพวกการแปรรูปน้ำยาง เกษตรกรเขาก็แปรรูปไว้บ้างแล้ว อย่างเช่นขนุนมะขาม แต่ทำในรูปแบบของชาวบ้าน ตรงนี้ที่สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศนำไปต่อยอดในเรื่องของการอบรมกันขายออนไลน์สร้างเพจ ให้เขามีตลาดออนไลน์เกิดขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน” ดร.นวลอนงค์ ธรรมเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ ขยายความ

อาจารย์ณัฐพงศ์ วีระทวีพร อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ

ในจังหวัดระยองเดียวกันนั้น เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชนและการพัฒนากลุ่มอาชีพชุมชน ที่ตำบลชุมแสง อาจารย์ณัฐพงศ์ วีระทวีพร อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ จึงจัดอบรมการทำธุรกิจ พัฒนากระบวนการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรขึ้น โดยเข้าไปฝึกกระบวนการให้คิดได้ว่าในชุมชนมีดี เห็นศักยภาพ ใช้กระบวนการเรียนรู้ที่จะเพิ่มสร้างราคาให้กับผลิตภัณฑ์

“ของดีในพื้นที่เป็นสับปะรดพันธุ์ดั้งเดิม เขาเรียกว่าพันธุ์ตาดำตาแดง เมื่อแปรรูปจะไม่มีเสี้ยนใหญ่ เนื้อละเอียด    มีความฉ่ำที่น้ำไม่เยอะแต่รสชาติดี จึงพัฒนาเป็นทาร์ตสับปะรด และหลักสูตรของคณะบริหารมีหลักสูตรการจัดการธุรกิจอาหาร ซึ่งเป็นหลักสูตรผสมระหว่างธุรกิจกับอาหาร จึงปรับความคิดเขาจากการขายในพื้นที่ไปสู่การขายข้างนอก จากที่วางขายในร้านกาแฟ หรือรีสอร์ต เพิ่มมูลค่าจากสับปะรดที่ขายในพื้นที่อาจจะชิ้นละ 10 บาท เป็นชิ้นละ 15-20 บาท ด้วยบรรจุภัณฑ์ สิ่งที่ต่อยอดจากโครงการเดิมที่เราทำคือต่อมาเราสามารถนำสินค้าเข้าไปวางขายในจุดแวะพักเครือข่ายปั๊มน้ำมัน สุดท้ายแล้ว สินค้าเกษตรกรถ้าขายให้โรงงานจะถูกกดราคาโดยกลไกตลาด แต่ถ้าเขาสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง ขายได้ด้วยตัวเอง จะทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นครับ”

อาจารย์วิรุฬห์ หุตะวัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักวิชาศึกษาทั่วไป ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน จากจักสานกระติ๊บข้าวเหนียวคล้าเป็นที่ใส่แก้วน้ำเก็บอุณหภูมิ

การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยส่งเสริมกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในชุมชนตำบลหนองพันทาที่ผู้อำนวยการสำนักวิชาศึกษาทั่วไป อาจารย์วิรุฬห์ หุตะวัฒนะ เล็งเห็น โดยเริ่มจากเป็นแลนด์มาร์กจังหวัดบึงกาฬอย่างพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต บวกกับศักยภาพที่จะพัฒนาให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนได้ เริ่มจากหมุดหมายแผนที่  ทำโปรแกรมท่องเที่ยวแบบครึ่งวัน เต็มวัน และ 1 วัน 1 คืน ทดลองเส้นทางท่องเที่ยวให้มีลักษณะเป็นชุมชนมากที่สุด เช่น รถนำเที่ยวแบบจักรยานพ่วงข้าง บางเส้นทางใช้จักรยานเที่ยวได้ พยายามให้มีรูปแบบหลากหลาย อบรมมัคคุเทศก์ โดยเฉพาะเยาวชนของโรงเรียนประจำตำบลให้สามารถนำเที่ยวได้ รวมทั้งเข้าไปส่งเสริมภูมิปัญญาจักสานอย่างคล้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ประจำตำบล กระติ๊บข้าวที่ทำมาจากคล้าจะไม่ขึ้นรา สานแล้วมีเงาสวย จึงไปส่งเสริมให้ทำรูปทรงอื่นด้วย เช่น กระเป๋า และที่ใส่แก้วน้ำเก็บความเย็น ตอนนี้ก็พัฒนาอาชีพต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

“ที่น่าสนใจคือคณะทำงานอย่างบัณฑิตจบใหม่ เล่าให้ฟังว่าปกติเขากลับไปเฉพาะวันงานประเพณี แต่เมื่อได้เข้าไปทำงานกับญาติ ตายาย พ่อแม่ พี่น้อง ได้รู้จักคนในท้องถิ่นมาก เหมือนกับได้ทำให้ชุมชนเขาเข้มแข็งขึ้น เริ่มมีคนหนุ่มสาวเข้าไปอยู่บ้านมากขึ้น จึงรู้สึกประทับใจโครงการนี้ที่ทำให้เขากลับไปเชื่อมกับรากของเขาอีกครั้ง”

ต้องเรียนรู้และลงมือ ให้เป็น ‘บัณฑิตมือเปื้อน’

จากการสั่งสมทุนความรู้และได้ลงมือทำด้วยตนเองตามปรัชญาการศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาที่มีคำเปรียบเปรยว่า ผู้สำเร็จการศึกษาจากที่แห่งนี้ล้วนเป็น ‘บัณฑิตมือเปื้อน’ ทั้งสิ้น

ก่อนจะลาจากห้องปฏิบัติการนวัตกรรม บรรยากาศอบอวลด้วยความอย่างรู้อยากลองของทุกคนที่ยืนหน้าเครื่องตัดอะคริลิกด้วยเลเซอร์ที่กำลังทำงานอย่างขะมักเขม้น เมื่ออาจารย์เกรียงอธิบายหลักการทำงานเสร็จก็ถอยหลังออกมา ปล่อยให้อาจารย์ผู้ช่วยเข้ามาดูแลการตัดชิ้นส่วนที่จิรวัฒน์ออกแบบ ในยามเย็นนี้แสงของเครื่องที่กำลังทำงานสะท้อนใบหน้าคณาจารย์และนักเรียนของสถาบันจิตรลดาให้โชติช่วงขึ้นมา

เรื่อง: ภุมรินทร์ วณิชย์เจริญนำ
ภาพ: พรมนัส ธนะทรัพย์ชูศักดิ์


อ่านเพิ่มเติม AGRINOVATOR KMITL เกษตรนวัตกรรม สู่ความมั่นคงทางอาหารของเมืองไทย

Recommend