AiCE CMKL หลักสูตรวิศวกรรมแห่งอนาคต ที่ทักษะและความรู้ออกแบบตามผู้เรียน

AiCE CMKL หลักสูตรวิศวกรรมแห่งอนาคต ที่ทักษะและความรู้ออกแบบตามผู้เรียน

การเรียนรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่ปลูกฝังความรักในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

นอกจากชื่ออาชีพหรือชื่อวิชาใหม่ๆ ที่เติบโตขึ้นตามยุคสมัยและความต้องการของตลาดแรงงานแล้ว วิธีการจัดการหลักสูตรการเรียนการสอนก็เป็นอีกโจทย์สำคัญของผู้จัดการศึกษา เพื่อเน้นที่ศักยภาพของผู้เรียนเป็นสำคัญ และใช้ได้จริงในโลกแห่งการทำงานในอนาคต

เช่นเดียวกันกับที่มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL) มหาวิทยาลัยภายใต้ความร่วมมือของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) และมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) สหรัฐอเมริกา กับปริญญาตรีหลักสูตรนานาชาติ สาขาปัญญาประดิษฐ์และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หรือ AiCE ที่ออกแบบเป็นพิเศษโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

รศ.ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น อธิการบดี มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล

“การเรียนที่นี่ออกแบบเหมือนกับผ่านด่านเล่นเกม เป็นแบบ Competency-based Program หรือหลักสูตรฐานสมรรถนะ” รศ.ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น อธิการบดี มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล เท้าความถึงความพิเศษของหลักสูตร “จุดเริ่มต้นอยู่ที่ว่า ตัวนักศึกษามีศักยภาพในทางใดและหัวเรื่องของการเรียนหรือโปรเจกต์เป็นอย่างไร และต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญตามลำดับอย่างไร โดยแต่ละกลุ่มพื้นฐานความรู้จะมีเกณฑ์มาตรฐานเพื่อให้หลักสูตรเป็นไปตามเส้นทางเฉพาะของแต่ละคน โดยมีกลุ่มอาจารย์ของเราและผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบการเรียนการสอน (Instructional Designer) เป็นผู้ร่วมกันออกแบบการเรียนรู้”

ถ้าจะให้เห็นภาพง่ายๆ ก็เหมือนกับความถนัดและความสนใจของนักเรียนแต่ละคนเป็นโจทย์ตั้งต้น จากนั้นการเลือกวิชาเรียนหรือ Module ก็จะเดินไปตามเส้นทางสู่เป้าหมายปลายทางของแต่ละคนที่อาจจะเหมือนหรือแตกต่างกันก็ได้ นี่จึงเป็นความท้าทายของอาจารย์ในการจัดการเรียนการสอน “เพราะอย่างที่บอกว่าแต่ละคนจะมีจังหวะในการเรียนรู้ที่เหมาะกับตัวเขา แทนที่จะต้องเรียนเหมือนๆ กันในจังหวะเวลาเดียวกันทั้งหมด เราอยากทำให้การเรียนรู้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด”

A1CE แพลตฟอร์มการเรียนรู้เพื่อผู้เรียนทุกคน

A1CE คือแพลตฟอร์มที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อวิเคราะห์การเรียนรู้ของนักศึกษารายบุคคล โดยแต่ละด้านจะมี Competency Card หรือการ์ดสมรรถนะในแต่ละด้านที่นักศึกษาจะต้องเก็บสะสมให้ครบ โดยอาจารย์จะเป็นผู้ประเมินในแต่ละรายวิชาของการ์ดแต่ละใบแบบรายบุคคล เพื่อให้การออกแบบการเรียนรู้เหมาะกับแต่ละคนให้ได้มากที่สุด

ในขณะเดียวกันแพลตฟอร์มนี้ก็จะทำหน้าที่เก็บข้อมูลทั้งหมดในการเรียนรู้ของนักศึกษา และประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ในอนาคต “เราหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เราเข้าใจผู้เรียนได้มากขึ้น และหากข้อมูลสะสมมากขึ้น มันอาจจะสามารถพยากรณ์แพทเทิร์นบางอย่างของการเรียนรู้ของนักศึกษา แล้วทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพสูงสุด”

“จากตรงนี้ เรามีการตั้งเครือข่ายที่ชื่อว่า สถาบันวิศวกรรม AI ที่มีความร่วมมือกับอีก 5 มหาวิทยาลัยที่จัดการเรียนการสอนด้านปัญญาประดิษฐ์” อ.สุพันธ์เสริม “สิ่งนี้ที่เราพัฒนาขึ้นมาจะถูกแชร์ให้กับทางมหาวิทยาลัยอื่นๆ ว่าทางมหาวิทยาลัยของเรามีการจัดการเรียนรู้แบบนี้ แล้วเราก็จะสามารถดึงข้อมูลเหล่านี้มาใช้ร่วมกันในอนาคตได้”

ดร.อักฤทธิ์ สังข์เพ็ชร ผู้อำนวยการหลักสูตรวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และคอมพิวเตอร์

ดร.อักฤทธิ์ สังข์เพ็ชร ผู้อำนวยการหลักสูตรวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และคอมพิวเตอร์​ พาเราลงลึกถึงรายละเอียดของหลักสูตรการเรียนการสอน “คอนเซ็ปต์หลักของหลักสูตรเราแบ่งออกเป็น 4 แกนหลัก ได้แก่ Artificial Intelligence Core หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์, Human-centered Design การออกแบบโดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง, Scalable System ระบบที่สเกลเพื่อประยุกต์ใช้ในโลกของความเป็นจริง และ Cybersecurity ความมั่นคงทางไซเบอร์ ทั้งหมดนี้จะมารวมกันเป็นความรู้และทักษะที่ว่า การจะนำปัญญาประดิษฐ์ไปใช้ต้องมีพื้นฐานอะไรบ้าง แล้วนักศึกษาแต่ละคนจะเรียนรู้ได้อย่างไร”

ตั้งแต่ก้าวเข้ามาสู่ปีแรกของการเรียน นักศึกษาจะได้ทำโปรเจกต์เพื่อให้เห็นบริบทและภาพรวมของการทำงานจริงว่า จะต้องอาศัยความรู้และทักษะในส่วนใดบ้าง จากนั้นจะได้ทำการเรียนรู้ในวิชาที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานจริงหรือวิชาที่ตัวเองสนใจ โดยมีอาจารย์เป็นที่ปรึกษาในการเรียนและการประเมินผลความรู้ความเข้าใจ

“ตรงนี้จะเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนในหัวเรื่องและวิชาที่จำเป็น หรือหากผ่านการเรียนรู้มาตั้งแต่ระดับมัธยมปลายแล้ว ก็จะมีอาจารย์เป็นผู้เช็คว่าพื้นฐานที่มีเหล่านั้นเพียงพอไหม เพื่อให้นักศึกษาได้โฟกัสกับการทำงาน ทำโปรเจกต์ หรือมีโอกาสเข้าสู่การทำงานได้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องรอจังหวะให้เท่ากับคนอื่นๆ ตรงนี้เป็นจุดแข็งของโปรแกรมที่ต่างจากการเรียนปกติ จะเรียกว่า AiCE เป็น Sandbox Higher Education Program ตัวแรกของประเทศก็ว่าได้”

นอกจากโปรแกรมการเรียนที่สนับสนุนศักยภาพของนักศึกษาแล้ว ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ทั้งหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการ ก็ช่วยให้การเรียนการสอนกับการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในชีวิตจริงเป็นเรื่องเดียวกัน “ตรงนี้เป็นระบบสนับสนุนนักศึกษาที่เรามองมันมากกว่าเป็นคำถาม คือนักศึกษาเข้ามาคุยกับอาจารย์ พี่ๆ พาร์ตเนอร์ หรือแม้แต่เพื่อนร่วมชั้น แล้วสุดท้ายเขาเข้าใจ เรียนรู้ นั่นเรารู้สึกว่าสำเร็จ โดยเราเป็นผู้จัดสรรทรัพยากรและสร้างสิ่งแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ เพื่อสนับสนุนให้เขาได้เรียนในสิ่งที่ชื่นชอบ สนใจ และอยากรู้ให้ได้ดี”

ปีแรกของ AiCE กับ Growth Mindset วิธีคิดผ่านการเรียนรู้และฝึกฝน

จากซ้าย : ภัคศรัณย์ คงแก้ว, Chan Bormei Suy และ กาจพล ดวงแก้ว

แม้ปีนี้จะยังเป็นปีแรกสุดของ AiCE แต่สิ่งที่เราเห็นในตัวของนักศึกษาที่นี่ คือความมุ่งมั่น ตั้งใจ และเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ เราได้คุยกับ 3 ตัวแทนนักศึกษา – ภัคศรัณย์ คงแก้ว, Chan Bormei Suy และ กาจพล ดวงแก้ว ถึงการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย และอนาคตที่มองไปข้างหน้า

“สิ่งที่ต้องปรับตัวหลังจากเข้ามาเรียนที่นี่คือเรื่องการบ้าน” ภัคศรัณย์เริ่มต้นเล่า “เพราะรูปแบบการเรียนของเราไม่มีเดดไลน์ และก็รูปแบบการสอบจะไม่ใช่การสอบกลางภาคหรือปลายภาคแบบปกติ แต่จะเป็น Task Assessment หรือการประเมินจากอาจารย์ที่เราสามารถเลือกเวลาสอบได้เองภายในภาคการศึกษา ทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องเรียบเรียงจัดตารางเวลาของตัวเองให้เรียบร้อย ฝึกให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น”

โดยเฉพาะกับการเรียนที่ต้องทำงานกับโปรเจกต์ตั้งแต่ภาคการศึกษาแรก นี่กลับเป็นความชื่นชอบที่ภัคศรัณย์ค้นพบผ่านรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ที่เธอพึ่งเคยสัมผัส “R&D เป็นวิชาที่หนูชอบมาก เพราะเป็นโครงงานที่ต้องทำตั้งแต่เทอม 1 เลย และเป็นเหมือนคอร์สที่เทรนด์เด็กทุกคนเข้าสู่การเป็นสตาร์ทอัพ ให้ได้ลองผิดลองถูก ไม่ว่าจะใช้โค้ดดิ้งภาษาไหน มันทำให้เรามีประสบการณ์มากขึ้น และรู้สึกว่าพอเราเริ่มทำไปเรื่อยๆ เราจะรู้สึกว่า เราสามารถจัดการทำงานเป็นขั้นเป็นตอนได้”

ทางด้านกาจพลที่มาจากโรงเรียนมัธยมหลักสูตรไทย การเรียนในหลักสูตรนานาชาติทำให้เขาต้องปรับตัวทั้งกับวิธีการเรียนรูปแบบใหม่และสิ่งแวดล้อมแบบใหม่ แต่ก็นับเป็นการฝึกฝน Soft Skill หรือทักษะการพัฒนาตัวเองผ่านรูปแบบการเรียนไปในตัว “โปรเจกต์ที่ผมทำอยู่คือ Internet Fingertip สำหรับช่วยเหลือคนพิการในการใช้งานเมาส์และคีย์บอร์ด ซึ่งตอนแรกก็อึ้งเหมือนกันที่ได้ทำโปรเจกต์ใหญ่ขนาดนี้ แต่ก็รู้สึกว่าได้ฝึกฝนการทำงานเป็นกลุ่ม ได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ผ่านการทำงาน และได้เรียนรู้วิธีการปรับตัวเพื่อการแก้ไขปัญหาระหว่างการทำงานจริง”

“ตั้งแต่ยังเด็กก็ผูกพันกับคอมพิวเตอร์มาโดยตลอด และมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเรียนสายนี้ จนกระทั่งได้รับทุนการศึกษาที่นี่” Chan Bormei Suy นักศึกษาจากกัมพูชาผู้มีความตั้งใจในสายงานนวัตกรรมเล่าให้เราฟัง” การเรียนรู้ที่นี่ทำให้ได้ลงลึกไปถึงเรื่องที่อยากศึกษาและเข้าใจจริงๆ อย่างการทำโปรเจกต์เกี่ยวกับการใช้ Machine Learning ในการวิเคราะห์และคัดเลือกขยะรีไซเคิล ก็ได้เรียนรู้ทั้งการทำงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเรียนที่นี่ถึงแม้จะท้าทาย แต่แน่นอนว่า เราไม่ได้ผ่านความยากลำบากเหล่านั้นไปคนเดียว ยังมีคณาจารย์ที่ช่วยชี้แนะและไต่ถามอยู่เสมอ เพื่อแนะนำว่าเราควรจะเรียนรู้หรือฝึกฝนในเรื่องไหนเพิ่มเติมต่อไปอีกบ้าง”

สิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้คือเรื่องสำคัญที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ให้นักศึกษาอยู่เสมอ “อาจารย์ที่นี่ทุกคนมีความเอาใจใส่นักศึกษาทุกคนค่ะ” ในสายตาของภัคศรัณย์แล้ว สิ่งแวดล้อมทางการเรียนหลักสูตรนานาชาติช่วยสร้างความกระตือรือร้นให้กับการเรียนขึ้นอีก “สำหรับหนูที่ภาษาอาจจะไม่ได้ดีขนาดนั้น อาจารย์ก็จะถามว่าวันนี้เรียนเข้าใจไหม ทำให้หนูรู้สึกสบายใจ ไม่เครียด และเรารู้สึกว่าต้องพยายามต่อไปให้ได้ตลอด”

Small Program, Big Impact

“สำหรับนศ.ระดับปริญญาตรี AiCE ตอนนี้พึ่งเทอมแรก เรามีเด็กประมาณ 22 คน ซึ่งถือว่าเป็นคลาสเล็ก แต่ทำให้เราดูแลนักศึกษาได้ทั่วถึง และมีปฏิสัมพันธ์ตรงกับทุกคน เขาสนใจอะไรเราก็สามารถคุยด้วยได้” อ.อักฤทธิ์เล่าถึงการเรียนการสอนในเทอมแรกสุดของ AiCE “เพราะเด็กๆ ต้องคิดต้องลงมือทำตลอด นักศึกษาสนุก อาจารย์ก็สนุกด้วย ในขณะเดียวกันก็ได้เห็นการเติบโตของนักศึกษา เป็นสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และผลักดันให้เขาไปข้างหน้า

คณาจารย์มองภาพของบัณฑิตที่จะจบไปจากที่นี่ จะมีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งทักษะในการทำงานร่วมกันกับภาคอุตสาหกรรม การเป็นนวัตกรผู้ประกอบการ และมีความเป็นผู้นำ ซึ่งทั้งหมดนี้เสริมสร้างขึ้นจากรูปแบบการเรียนการสอนและสิ่งแวดล้อมแบบนานาชาติ

“นอกจากจะรู้ลึกรู้จริงจากพาร์ทเนอร์ทางด้านอุตสาหกรรมที่เข้ามาร่วมเป็นองค์ความรู้และสร้างทักษะให้กับนักศึกษาแล้ว ขณะเดียวกันนักศึกษาก็ต้องรู้บริบทว่า สิ่งนี้จะเอาไปใช้งานหรือแก้โจทย์ธุรกิจอย่างไร แล้วการทำงานกับเพื่อนร่วมงานที่มาจากแบ็คกราวด์ที่ต่างกัน อย่างเพื่อนร่วมชั้นปีที่มาจากหลายๆ ชาติทั้งสหรัฐอเมริกา อินเดีย จีน หรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกันเอง จะทำให้เขาได้เห็นมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย และคิดต่อยอดออกไปได้ไกลกว่าเดิมอีก”

“เราคาดหวังว่าบัณฑิตจากที่นี่จะต้องทำงานที่มีความหมาย จากการสนับสนุนโดยคณาจารย์และภาคอุตสาหกรรม” อ.อักฤทธิ์กล่าวสรุป “สุดท้ายเราอยากเห็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในประเทศไทยที่สามารถผลักดันแล้วมีผลอันยิ่งใหญ่ได้จริงในระดับโลก”

ทางด้าน อ.สุพันธุ์ ปิดท้ายถึงเรื่องสำคัญที่ต้องการสร้างเสริมในตัวนักศึกษาทุกคนของที่นี่ “เวลาที่เราสอน สิ่งที่เราให้ความสำคัญคือ วิธีการเรียนรู้ของเด็ก อย่างที่เราออกแบบอะไรหลายๆ อย่าง สุดท้ายแล้วสิ่งที่เราหวังว่าเราจะฝังให้มันติดตัวไปกับตัวเด็กก็คือ ความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เค้าจะสามารถที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เวลาที่เรามีเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลง เวลาผ่านไปมันมีอะไรใหม่ๆ เค้าจะสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง”

“วัฒนธรรมที่เราต้องการปลูกฝังในตัวนักศึกษาทุกคน คือการเรียนรู้ตลอดชีวิต ถึงแม้อนาคตองค์ความรู้จะเปลี่ยนแปลง แต่ความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จำเป็นจะต้องติดตัวเค้าไป นี่เป็นเรื่องสำคัญที่สุด”

เรื่อง ณัฐนิช ชัยดี

ภาพ หทัยรัตน์ ดีนวลพะเนาว์

Recommend