Marina Abramovic Institute สถาบันที่ปลุกปั้นศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์ ผ่านการทำความรู้จักกับเบื้องลึกในจิตวิญญาณ
Marina Abramovic แม่มดแห่งวงการเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต ผู้คนทั่วโลกรู้จักเธอผ่านผลงานที่เล่นกับขีดจำกัดของความเป็นมนุษย์ การชวนผู้คนเข้าไปร่วมสำรวจแก่นแท้ของร่างกายและจิตใจของตน แต่หากพิจารณาดูดีๆ แล้ว การแสดงเหล่านั้นเรียบง่าย ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน หรือหวา แต่กลับให้ผลลัพธ์ทางความรู้สึกต่อผู้ชมอย่างท่วมท้น
มารีน่ากลับมายังงาน Bangkok Art Biennale อีกครั้ง นอกจากเพื่อจัดแสดงผลงานของเธอและศิลปินจาก MAI (Marina Abramović Institute) ซึ่งเป็นสถาบันที่เธอจัดตั้งขึ้นบนเจตนารมณ์ที่ต้องการบ่มเพาะศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์รุ่นใหม่แล้ว เธอยังมาพร้อมกับงานบรรยาย ‘History of Long Durational Work and MAI’ – ประวัติของการทำงานกับช่วงเวลาระยะยาวและสถาบัน Marina Abramović Institute และ The Abramović Method วิธีการฝึกตนจากบทเรียนแห่งประสบการณ์
ห้วงเวลาแสนยาวนาน กับ The Abramović Method
Long Duration ในที่นี้ ไม่ได้หมายความถึงเพียงระยะเวลาการทำงานศิลปะการแสดงอันยาวนานของเธอตั้งแต่ช่วง 1970 แต่ยังหมายถึงชิ้นงานแต่ละชิ้นที่กินเวลาแสนยาวนานด้วย
นิยามคำว่า Performance Art หรือศิลปะเพอร์ฟอร์แมนซ์สำหรับมารีน่าคือ ‘ชีวิต’ “การแสดงเป็นเหมือนกับการเดินทางทางอารมณ์ ต้องใช้พลังงาน ต้องใช้ตัวเอง ขณะที่ศิลปะดำเนินไป กายและจิตใจต้องจดจ่ออยู่กับห้วงเวลาและสถานที่ ณ ขณะนั้น และเมื่อการแสดงสิ้นสุดลง สิ่งที่หลงเหลืออยู่มีเพียงความทรงจำ ซึ่งงานจะเสร็จสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อความรับรู้ของผู้แสดงและผู้ชมทำงานร่วมกัน ศิลปะจะต้องเป็นความจริง ความสวยงามเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ศิลปะต้องมีผลกับผู้ชม”
เธอพูดแบบติดตลกว่า ยิ่งอายุมากขึ้นหรือทำงานมากขึ้น ความใหญ่ของงานจะยิ่งลดลง อย่างงานของเธอชิ้นแรกๆ กับเดินเท้าตามเส้นทางกำแพงเมืองจีนเป็นระยะ 3 เดือน มาจนถึงงานช่วงหลังที่ส่งบทสนทนาต่อผู้ชมแบบตัวต่อตัวผ่านทางการจ้องตาหรือกิจกรรมไร้เสียงพูด แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม นักแสดงจำเป็นต้องฝึกฝนอย่างหนักทั้งทางร่างกายและจิตใจ จากประสบการณ์ทำงานอันยาวนานสะสมจนเกิดเป็นวิถีทางการฝึกแบบ The Abramović Method
“นักแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตจำเป็นต้องผ่านการฝึกอย่างหนักทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อผลักศักยภาพของตัวเองให้ไปได้สุดเท่าที่ไปไหว ร่างกายต้องแข็งแรงก่อน เพราะการแสดงครั้งหนึ่งก็กินใช้เวลา 1-2 ชั่วโมงแล้ว อีกส่วนคือการควบคุมจิตใจ การฝึกฝนจิตใจเป็นเรื่องยาก ยากกว่าร่างกายเสียอีก จึงนับเป็นงานที่ต้องใช้เวลามาก”
การฝึกฝนตามวิถีของเธอถูกแปลความผ่านกิจกรรมในชีวิตประจำวัน จะว่าไปก็เหมือนกับการทำสมาธิ นั่นก็เพื่อให้แต่ละคนได้โฟกัสกับตัวเองอย่างแท้จริงโดยปราศจากสิ่งรบกวนจากรอบข้าง เริ่มต้นตั้งแต่การตื่นแต่เช้าตรู่มาออกกำลังกาย งดการพูดคุย ดื่มแต่น้ำหรือชาสมุนไพร เดินเรื่อยเปื่อยแบบไร้จุดประสงค์ ทำกิจกรรมแบบเชื่องช้า อย่างการนับเมล็ดข้าว การแยกเมล็ดข้าวสีขาวและดำออกจากกัน การเดินในป่าพร้อมกับส่องกระจกฝึกการสังเกตภาพสะท้อน การใช้หูฟังปิดกั้นเสียงรบกวนจากภายนอกให้ได้ยินเพียงเสียงของความเงียบ หรือแม้แต่การนอนหลับตาพร้อมกับจดจำขณะตื่นและหลับ
เธอเรียกมันว่า เวิร์กช็อปการทำความสะอาดบ้าน เพราะมันก็เหมือนกับการทำให้ร่างกายและจิตใจสงบและเงียบลง
Marina Abramović Institute และบทเรียนขนาดย่อมที่ฝึกได้ทุกวัน
“กฎก็คือ คุณจะต้องอยู่ตรงนี้ ณ ขณะนี้ และไม่มีใครอื่น อดีตผ่านไปแล้ว อนาคตยังไม่เกิดขึ้น ความเป็นจริงตรงหน้าคือชั่วขณะที่ต้องอยู่ร่วม”
มารีน่ายกข้อความหนึ่งโดย Alexander Dorner นักประวัติศาสตร์ศิลปะที่เคยพูดไว้ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่ว่า ‘สถาบันศิลปะรูปแบบใหม่จะไม่ได้เป็นเพียงพิพิธภัณฑ์ศิลปะอย่างที่เป็นมาจนถึงตอนนี้ แต่จะไม่มีพิพิธภัณฑ์อีกเลย รูปแบบใหม่ของสถาบันศิลปะจะเป็นเหมือนกับสถานีจ่ายพลังงาน ผู้สรรสร้างพลังงานใหม่ออกมา’ และ MAI ก็กำลังทำหน้าที่นั้นอยู่
เจตนารมณ์ของ MAI นอกเหนือจากการสนับสนุนศิลปะเพอร์ฟอร์แมนซ์ในระดับนานาชาติแล้ว ยังเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างศาสตร์ทั้งศิลปะ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และจิตวิญญาณ เพื่อสนับสนุนและสร้างสรรค์ศิลปินรุ่นใหม่จากทั่วทุกมุมโลก “ที่นี่เป็นพื้นที่ให้ได้แสดงออกทางความคิดผ่านศิลปะการแสดง และได้ทดลองทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยทำ เรียกว่าให้เข้าใกล้ความเป็นไม่ได้ให้ได้มากที่สุด”
จนถึงทุกวันนี้ นิยามข้างต้นที่ว่ายังคงทรงมนต์ขลังอยู่แม้ผ่านเวลาเกือบร้อยปี สารเริ่มต้นจากศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน ไม่ว่าจะในมิติใดก็ตาม มิติทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง หรือความรู้สึกนึกคิด พลังงานเหล่านี้จะส่งต่อสู่ผู้ชมที่ต้องการมีส่วนร่วมและประสบการณ์ร่วมกับงานศิลปะ อย่างที่เธอบอกไว้ว่า ผลงานศิลปะจะเสร็จสมบูรณ์ต้องประกอบด้วยผู้แสดง ผู้ชม และความรับรู้ร่วมกัน
มารีน่าจบงานบรรยายครั้งนี้ด้วยการยกห้องเรียน MAI ขนาดย่อมมาให้ผู้ร่วมงานได้ฝึกฝนวิถีฉบับ The Abramović Method ด้วยตัวเอง
ปิดตาแล้วหายใจเข้าออกตามจังหวะ 12 ครั้ง เหมือนการกำหนดลมหายใจ ค่อยเปิดตาแล้วเปิดประสาทสัมผัส เริ่มจากการมองเห็น กะพริบตา กลอกตาไปมา ออกกิริยาท่าทางด้วยการถูผมจนเกิดไฟฟ้าสถิต เปล่งเสียงออกจากส่วนต่างๆ ของร่างกายตั้งแต่ล่างขึ้นบน ก่อนกลับมาสงบใจด้วยการปิดตา ดำรงอยู่ในความเงียบสักครู่ กลั้นหายใจ จบบทของการโฟกัสตัวเองส่งต่อสู่ปฏิสัมพันธ์กับคนนั่งข้างๆ จ้องตากันแล้วจับไหล่ ทุกอย่างดำเนินไปอย่างเรียบช้า แต่มีจังหวะของตัวเอง
“มนุษย์เป็นสิ่งเปราะบาง” มารีน่าบอกในช่วงต้นของการบรรยาย ทุกอิริยาบถหรือการจดจ่อกับสิ่งใดย่อมต้องใช้พลังงาน ใช้ความพยายาม แน่นอนว่าความเหนื่อยล้าก็ตามมาเป็นเรื่องปกติ เธอนึกถึงช่วงเวลาที่ได้ไปยังท้องฟ้าจำลอง เอนหลังบนบีนแบ็ก แล้วกวาดสายตามองไปยังทางช้างเผือกซึ่งรายล้อมด้วยดวงดาวมากมาย โลกของเราก็เป็นแค่จุดสีฟ้าเล็กๆ จุดเดียวในภาพ
ขณะที่เราจ้องมองไปยังจุดเล็กจุดนั้น เวลาแต่ละนาทีบนโลกใบนั้นก็ผ่านพ้นไป ก็เหมือนกับศิลปะเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่จะต้องตรึงคุณเอาไว้ ณ จุดหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง “ทุกสิ่งที่คุณต้องพึงระลึกไว้คือ เราต้องดำรงอยู่ในชั่วขณะนี้”
เรื่อง ณัฐนิช ชัยดี
ภาพ พิชามญชุ์ สุวรรณธวัช