ดอยสุเทพวิทยา กับองค์ความรู้ที่เกิดจากความผูกพันและความต้องการปกปักรักษาผืนแผ่นดินรอบด้านครบทุกศาสตร์
ดอยสุเทพวิทยา – ดอยสุเทพคือทัศนียภาพที่เหมือนกับเป็นสวนหลังบ้านของชาวเชียงใหม่ เราผูกพันกับยอดดอยแห่งนี้มาแสนยาวนานในทุกมิติ อย่างวันที่หมอกหรือควันไฟหนาแน่นเปลี่ยนยอดดอยให้ลับหายไป ประเพณีสร้างความสามัคคีของนักเรียนนักศึกษาในท้องที่ หรือยามที่ต้องการความสบายใจก็ขึ้นไปไหว้พระบนดอย
เพราะดอยสุเทพคือบ้านของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เช่นกัน “ความสัมพันธ์ระหว่างดอยสุเทพกับ มช. เห็นชัดเจนก็คือ เราตั้งอยู่ตรงนี้ มองมิติทางสังคม เรามีประเพณีขึ้นดอย มีวิถีชีวิต ส่วนมิติทางวิชาการ อาจารย์ของเราก็ทำวิจัยกับดอยสุเทพมาตั้งแต่มหาวิทยาลัยเริ่มตั้ง” รศ.ดร.ประสิทธิ์ วังภคพัฒนวงศ์ หัวหน้าศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างบทบาทของการเป็นองค์ความรู้และแหล่งเรียนรู้ที่อยู่คู่กันมาโดยตลอด
ดอยสุเทพ ดอยสุเทพศึกษา สู่ ดอยสุเทพวิทยา
คนเชียงใหม่ผูกพันกับดอยสุเทพมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยังเด็ก โรงเรียน หน่วยงานการศึกษา หรือภาคีเครือข่ายมักจะมีการจัดกิจกรรม การทัศนศึกษา หรือการทำงานที่มุ่งเป้าหมายเพื่อการรักษาและพัฒนา สิ่งนี้บ่มเพาะอยู่ในหัวใจของชาวเชียงใหม่เสมอมา
“ตั้งแต่สมัยผมยังเป็นนักศึกษา อาจารย์ของภาควิชาชีววิทยา ทั้งด้านนิเวศวิทยา ปักษีวิทยา หรือนิเวศวิทยาประชากร ก็จะชวนให้เราไปจัดกิจกรรมให้กับเยาวชนในรูปแบบค่ายอนุรักษ์ หรือการดูนก” อ.ประสิทธิ์เริ่มต้นที่มาของศูนย์ฯ
“และรวมกลุ่มจัดต่อเนื่องจนทาง มช. ได้ที่ตั้งและสร้างเป็นศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ ด้วยแนวความคิดที่ต้องการสร้างศูนย์เชิงวิชาการที่สนับสนุนทุกกิจกรรมที่เกี่ยวกับดอยสุเทพ และเราก็มีองค์ความรู้ต่างๆ ที่อาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ สะสมและค้นคว้ากันมาอย่างยาวนาน เพื่อใช้องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับดอยสุเทพ”
ภายในศูนย์นี้ครอบคลุมงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย โดยเน้นเชิงงานบริการวิชาการ ในส่วนสถานที่ประกอบด้วยนิทรรศการถาวร นิทรรศการชั่วคราว ธนาคารเมล็ด และส่วนบริการกับการจัดกิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน พร้อมกับการเป็นศูนย์บริการการท่องเที่ยวโดยมีนักสื่อความหมายธรรมชาติเป็นผู้นำเส้นทางศึกษา
วิชา ‘ดอยสุเทพศึกษา’ เป็นหนึ่งในวิชาการศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ชวนนักศึกษาไปสำรวจดอยสุเทพในเชิงวิทยาศาสตร์ อย่างเช่น ลักษณะทางกายภาพ ชีวภาพของดอยสุเทพ และสัตว์ป่า, เชิงสังคมศาสตร์ในเรื่องชาติพันธุ์วิทยา ศึกษาการใช้พืชของชนเผ่า ประวัติศาสตร์เชิงพันธุกรรม และเชิงการท่องเที่ยว
จากวิชาดอยสุเทพศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ทางศูนย์ฯ ต้องการส่งต่อองค์ความรู้เหล่านี้มาสู่ประชาชนทั่วไปและผู้สนใจ จึงเกิดเป็นการริเริ่มวิชา ‘ดอยสุเทพวิทยา’ โดยวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“ก่อนที่จะมาเป็นวิชา ‘ดอยสุเทพวิทยา’ ทางศูนย์ฯ เองก็มีวิชาที่ชื่อว่า ‘เทคโนโลยีการฟื้นฟูป่า’ โดยร่วมกับหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า (FORRU) ซึ่งอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับดอยสุเทพโดยตรง แต่มีพื้นที่ศึกษาเป็นดอยสุเทพ ซึ่งมีหลักสูตรเป็นแบบออนไลน์สำหรับผู้สนใจการฟื้นฟูป่า เพราะวิธีการฟื้นฟูมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับความเสื่อมโทรมของพื้นที่ โดยจะส่งอุปกรณ์การเพาะเมล็ดให้ไปทดลองลงมือทำจริงด้วยตัวเอง”
“พอมาถึง ‘ดอยสุเทพวิทยา’ เราตั้งใจให้เป็นวิชาที่ให้ความรู้เพิ่มขึ้นสำหรับคนที่อยากรู้จักดอยสุเทพในเชิงลึก โดยตลอดทั้งปี 2565 ที่ผ่านมา ทางศูนย์ได้รับทุนสนับสนุนวิชาการรับใช้สังคม จากมช. ซึ่งสำหรับสนับสนุนโครงการใดๆ ก็ตามที่เอาองค์ความรู้ไปทำร่วมกับชุมชน และได้ผลลัพธ์ออกมาเพื่อชุมชน” เหล่านี้ทำให้วิชาดอยสุเทพวิทยาเบ่งบานเติบโต เกิดองค์ความรู้ และสร้างสรรค์กิจกรรมเชื่อมโยงผู้คนเข้ากับดอยสุเทพในทุกมิติกับภาคีความร่วมมือ
ความสามัคคี และภาคีเครือข่าย
ในปีที่ผ่านมากับ 3 โครงการที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างองค์ความรู้ให้กับชุมชน แต่เป็นการรวบรวมเครือข่ายคนรักดอยสุเทพทั้งภาคประชาสังคมและบุคคลทั่วไป ได้ตระหนักและลงมือทำ เพราะระบบนิเวศของดอยสุเทพก็คือชีวิตของทุกคน
“โครงการแรก เราเรียกว่าโครงการสร้างเครือข่าย เรามีภาคีเครือข่ายอยู่แล้ว แต่ก็มีหลายแห่งที่ขาดการติดต่อไป เราก็จะกลับไปเชื่อมต่อเพื่อสร้างกลุ่มคนทำงานกับดอยสุเทพให้เข้มแข็งขึ้น โครงการที่สองเกี่ยวกับองค์ความรู้ เป็นการรวบรวมความรู้ทุกมิติของดอยสุเทพที่กระจัดกระจายอยู่มารวมกันให้เป็นหมวดหมู่ และต่อเนื่องไปถึงโครงการที่สามคือ นำความรู้ที่รวบรวมเหล่านี้ย้อนกลับไปหาชุมชน และประยุกต์ใช้งานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
การทำงานกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนย่อมต้องอาศัยหลากหลายภาคส่วนจากหลายความถนัดมาร่วมด้วยช่วยกันในการผลักดันและสร้างศูนย์กลางของการเรียนรู้ “ถ้าจะให้ความรู้กับคนทั่วไปเกี่ยวกับดอยสุเทพมันก็มีทั้งมิติสิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งแต่ละมิติก็จะมีเจ้าภาพ”
“อย่างมิติสิ่งแวดล้อมก็จะมีศูนย์ดอยฯ ภาควิชาชีววิทยา ส่วนมิติสังคมก็ได้ความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งทำเรื่องชาติพันธุ์อยู่แล้ว, สภาลมหายใจเชียงใหม่, เครือข่ายเขียว สวย หอม ทางด้านมิติทางประวัติศาสตร์ หลักๆ จะมาจากสถาบันวิจัยสังคม มช. คณะวิจิตรศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และมิติวัฒนธรรมมีเครือข่ายสิ่งแวดล้อมม้งดอยสุเทพ-ปุย”
เมื่อทั้งหมดมาผนวกรวมกัน กลายเป็นหนึ่งกระบวนวิชาที่ชวนผู้คนมาเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต มาสู่การสร้างสรรค์โครงร่างของเนื้อหาการเรียนวิชา ‘ดอยสุเทพวิทยา’ ที่ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ พร้อมกับลงสนามเพื่อเข้าถึงผู้คนผ่านทางการแจกแผ่นพับและเอกสารข้อมูลทั้งสิ่งมีชีวิตเด่นที่พบบนดอยสุเทพ ข้อมูลเส้นทางศึกษาธรรมชาติ และการสร้างสรรค์กิจกรรมกระตุ้นความสนใจของผู้คนทุกเพศทุกวัย
“เมื่อปีที่แล้วระหว่างที่เราคุยกับภาคีเยอะๆ ก็จะมีแนวความคิดน่าสนใจหลายอย่าง อย่างเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้ามาทำงานใหม่ในเชียงใหม่ โดยเฉพาะพื้นที่ดอยสุเทพถ้าเรามองในแง่กายภาพ หรือพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จะครอบคลุม 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง แม่ริม หางดง และแม่แตง เพราะฉะนั้นก็คุยกันว่า เจ้าหน้าที่ที่จะมาทำในพื้นที่จะต้องมาผ่านวิชานี้ แต่ในทางปฏิบัติอาจจะต้องคุยต่อ เพราะเมื่อปีที่แล้วก็จะมีทั้งเทศบาลตำบลสุเทพและช้างเผือกเข้ามาเรียนวิชานี้ ก็นับเป็นแนวคิดที่ดีให้กับเจ้าหน้าที่เทศบาล ถ้าได้รู้เรื่องดอยสุเทพมากกว่าคนทั่วไปก็น่าจะดี”
บทบาทของการอนุรักษ์-ฟื้นฟู และการขยายต่อสู่พื้นที่อื่นทั่วประเทศ
นอกจากบทบาททางด้านบริการวิชาการแล้ว ทางศูนย์ฯ ยังทำงานอย่างต่อเนื่องในด้านการฟื้นฟูป่า โดยกระบวนการที่ครอบคลุมทั้งหมดนี้ คาดหวังจะให้เป็นกรอบการทำงานที่ขยายต่อสู่พื้นที่ทางธรรมชาติอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป
“เมื่อปีที่แล้วกิจกรรมอย่างหนึ่งที่เราทำ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ศูนย์ดอยไม่เคยทำโดยตรงมาก่อน แต่เป็นผลที่เราทำงานกับภาคีเครือข่าย คือการอบรมไกด์ท้องถิ่น เพื่อเพิ่มความรู้ทางด้านวิชาการ บวกกับการอนุรักษ์เข้าไประหว่างการท่องเที่ยวด้วย”
“คิดถึงภาพพอไปเดินเส้นทางธรรมชาติแล้วไกด์มีความรู้ จะกระตุ้นความรู้สึกว่าหลายๆ อย่างต้องอนุรักษ์ เช่น เห็ดทรัฟเฟิล 3 ชนิดในเขตร้อนที่ค้นพบในอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ถ้าเราไม่มีความรู้เชิงวิชาการ เราจะไม่รู้เลยว่าเขาจะต้องอาศัยอยู่กับต้นไม้ใหญ่ แล้วตอนนี้ยังเป็นงานวิจัยอยู่ว่า เขาอาศัยอยู่กับต้นไม้ชนิดไหนก็ได้หรือจะต้องอาศัยเจาะจงชนิด แล้วยังต้องศึกษาในห้องแล็บว่ามันขึ้นกับต้นไม้ชนิดอื่นได้ไหม การอนุรักษ์หรือต้องการใช้ประโยชน์จากเห็ดเหล่านี้ ถ้าคุณไม่เก็บต้นไม้ไว้ คุณก็จะไม่มีเห็ด มันเหมือนเป็นการสร้างจิตสำนึกหรือซาบซึ้งมากขึ้นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันสัมพันธ์กันหมดเลย”
“การสื่อสารโดยตรงกับนักท่องเที่ยวในเรื่องการอนุรักษ์ ถ้าเขาได้เห็นและสัมผัสสิ่งที่ดอยสุเทพมีอยู่ เราก็จะให้สถานการณ์หลายๆ อย่าง อย่างสัตว์ใหญ่ก็หายไปเยอะแล้ว อาจจะเหลือแต่สัตว์ที่ขนาดกลางหรือนกบางอย่าง ทีนี้มันสำคัญอย่างไร? อย่างวิธีการฟื้นฟูป่าที่เราใช้ คือการเก็บเมล็ดแล้วไปปลูก ซึ่งพืชเหล่านั้นเป็นอาหารของนก นกก็มากินไป และนกก็จะถ่ายทิ้งไว้พร้อมกับเอาเมล็ดเหล่านั้นไปที่อื่นด้วย ทั้งหมดนี้ก็จะเป็นการเร่งกระบวนการอนุรักษ์ไปด้วย”
ในส่วนความรู้เรื่องการอนุรักษ์ มีทั้งการอนุรักษ์ในสถานที่ และการอนุรักษ์นอกสถานที่ ซึ่งเป็นบทบาทของศูนย์ฯ โดยตรงผ่านการสร้างกลไกให้กับกระบวนการอนุรักษ์ ยกตัวอย่างธนาคารเมล็ด ซึ่งเป็นฐานข้อมูลสำหรับเมล็ดพืชที่ใช้ฟื้นฟูป่าดอยสุเทพ โดยปัจจุบันมีเมล็ดพันธุ์ถึง 600 เมล็ด ส่วนหนึ่งเก็บไว้สำหรับการวิจัย และอีกส่วนใช้สำหรับการฟื้นฟูป่าในสถานที่จริง
“เมื่อปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่บอกว่าลองไปดูงานโรงเรียนนักเดินป่า จังหวัดน่าน จัดโดยทีมเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จริงๆ กิจกรรมในป่าคล้ายกับเราเลย แต่ที่ต่างคือเขามีนอนค้างที่ยอดดอย และกิจกรรมเป็นฐานคล้ายๆ กับเส้นทางศึกษา ป่ามีความเงียบอย่างไร มีเรื่องสิ่งมีชีวิตที่พึ่งพาอาศัยอย่างไร สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากเราคือเรื่องเชิงวิชาการ เราอาจจะมีมากกว่า เลยมองว่าถ้าเกิดดอยสุเทพวิทยาเป็นโมเดลที่ดี จะไปทำที่น่าน หรือเชียงดาว หรือที่ดอยอื่นๆ ก็ได้ เพราะฉะนั้นมันขยายออกไปได้”
สุดท้ายแล้วสิ่งที่วิชา ‘ดอยสุเทพวิทยา’ และศูนย์จะส่งกลับไปให้กับชุมชน คือนิยามของคำว่า บริการของระบบนิเวศ (Ecological Services)
“คำนี้มีหมายความว่า ระบบนิเวศหนึ่งๆ ให้บริการกับมนุษย์ได้หลายรูปแบบ หากพูดถึงเชิงวิชาการ อย่างแรกก็คือให้โดยตรง อย่างถ้าเราไปเก็บเห็ด ไม้ และทางอ้อม ผ่านอากาศที่เราหายใจ น้ำที่เราใช้ ทั้งหมดต้องอาศัยนิเวศ โดยเฉพาะระบบนิเวศป่าในการช่วยทำให้อากาศบริสุทธิ์ขึ้น น้ำไม่สกปรกจนเกินไป บริการสนับสนุนก็คือ ดิน ที่เกิดขึ้นในป่าจากการสะสมของเศษซากพืชเป็นดินที่มีสารอินทรีย์อยู่ ซึ่งหากเข้าไปร่วมในระบบของเรา ก็คือระบบเกษตรก็จะช่วยให้ผลผลิตดีขึ้น แต่ในเชิงวัฒนธรรม ก็คือ อย่างเรื่องการท่องเที่ยว ชาติพันธุ์ อย่างเวลาเราไปเที่ยวก็อยากไปเที่ยวแบบตื่นตาตี่นใจ”
“เราจะพยายามบอกว่า การที่เรามีชีวิตอยู่ในแต่ละวัน ต้องอาศัยบริการเหล่านี้ ถ้าเราอยากจะได้บริการเหล่านี้ เราก็ต้องเก็บรักษาระบบที่ให้บริการกับพวกเราไว้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ศูนย์ให้หรือวิชาให้ อาจจะไม่ได้เป็นสิ่งของหรือตัวเงิน แต่เป็นองค์ความรู้ ทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างดอยที่เราเห็น สวยงามเขียวสบายตา แต่มีอะไรมากกว่านั้นคือบทบาทกับชีวิตของพวกเราโดยตรงที่เราได้ประโยชน์ และเชื่อมโยงกับชีวิตคน”
เรื่อง : ณัฐนิช ชัยดี
ศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
239 ถนนห้วยแก้ว ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200
โทร 0-5394-1451-3 หรือ 08-4611-6345
https://doisuthep.science.cmu.ac.th