นักมนุษยธรรมเป็นอาชีพได้ไหม? กัณวีร์ สืบแสง อดีตลูกจ้างชั่วคราวด้านความมั่นคง สู่นักการเมืองที่ฝันเรื่องสันติภาพ

นักมนุษยธรรมเป็นอาชีพได้ไหม? กัณวีร์ สืบแสง อดีตลูกจ้างชั่วคราวด้านความมั่นคง สู่นักการเมืองที่ฝันเรื่องสันติภาพ

กว่า 1 เดือนหลังเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566  ชื่อ “กัณวีร์ สืบแสง” ถูกอธิบายมากมายในฐานข้อมูลออนไลน์ ทั้งในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งเดียวจากพรรคเป็นธรรมซึ่งถูกทาบทามให้ร่วมรัฐบาล วลี “มนุษยธรรมนำการเมือง” เมื่อครั้งหาเสียง การนำเสนอนโยบายสร้างสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ รวมจนถึงมุมมองของการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากการเป็นอดีตหัวหน้าสำนักงาน UNHCR

เขาเป็นคนเดียวกับที่ในช่วงปี  2011 ซึ่งอยู่ในช่วงซูดานใต้ก่อตั้งเป็นประเทศ แต่ปัญหาการเมืองและชาติพันธุ์ภายในลุกลามกลายเป็นสงคราม และเป็น กัณวีร์ซึ่งเป็นคนไทยหนึ่งเดียวที่ถูกฝึกอบรมพร้อมเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือที่เรียกว่า ERT (Emergency Roster Team) ก่อนเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ทันที

“ที่ซูดานใต้มีคนสัก 25,000-30,000 คนในแคมป์ ทุกคนมีความต้องการเหมือนกัน อาหาร น้ำ ที่พักที่ปลอดภัย และใช้ชีวิตอยู่ปกติสุขเหมือนกับมนุษย์คนอื่นๆ แต่ในช่วงสงคราม เขาไม่มีทางทำแบบนั้นได้ แม้จะอยู่ในค่ายก็ไม่ใช่ว่าปลอดภัย ครั้งหนึ่งมีเครื่องบินมาทิ้งระเบิดห่างจากเราไปไม่เท่าไรเอง ในเหตุการณ์ต่างๆ หน้าที่ของนักมนุษยธรรมคือ เข้าไปช่วยเหลือให้เขาได้มีชีวิต มีอาหาร มีที่พักอาศัย เราไปประสานงานหาทรัพยากรที่จำเป็น และจะทำอย่างไรให้ทรัพยากรและเวลา ทุกวินาทีตรงนั้นเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด”

“มันฟังดูน่าสนุก ฟังดูลุยๆ เท่ๆ ใช่ไหม แต่เอาเข้าจริงมันลำบากมากนะ กิจวัตรประจำวันในค่ายผู้ลี้ภัยก็ไม่มีอะไรที่โรแมนติกสักนิด มีอยู่วันหนึ่งผมรู้สึกตัวว่ามีผู้บุกรุกเข้ามาในเตนท์ของผม และผมเห็นว่าเขามีปืน ตอนนั้นก็รู้แล้วว่าเรากำลังถูกปล้น ก็บอกว่าอยากได้อะไรก็เอาไปเลย เงินมีอยู่จำนวนหนึ่ง คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค อุปกรณ์ส่งสัญญาณ แต่สิ่งที่เขาชี้บอกความต้องการกลับเป็นน้ำ เพราะในบางพื้นที่ อาหารหรือน้ำนี่มีค่ามากกว่าทองเสียอีก ในการปฏิบัติพื้นที่ภาคสนามสิ่งที่เราต้องพกไปด้วยทุกครั้งคือเม็ดแท็บแลตที่ช่วยฆ่าเชื้อโรคในน้ำ เพราะเราไม่รู้ว่าสถานที่ที่เราจะไปจะมีน้ำให้บริโภคแค่ไหน ตื่นแต่เช้ามาสิ่งแรกที่ต้องทำจึงคือการเตรียมน้ำไว้ใช้ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เจ้าหน้าที่ภาคสนามจำนวนไม่น้อยต้องเป็นนิ่ว เพราะบริโภคน้ำที่ไม่สะอาดพอ”

ถึงตรงนี้ ถ้าเราคุ้นเคยกับนักเศรษฐศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ และอีก ฯลฯ ที่เคยผันตัวมาลงสนามการเมือง National Geographic ภาษาไทย ขอพาไปทำความรู้จักอาชีพ “นักมนุษย์ธรรมและสิทธิมนุษยชน” ผ่านเรื่องเล่าของ กัณวีร์ สืบแสง ที่อาชีพและจังหวะชีวิตพาเขาไปไกล และเขาน่าจะเป็นนักมนุษยธรรมรายแรกๆที่เข้าสู่สนามการเมือง

เคยคิดมาก่อนไหมว่าวันหนึ่งจะทำงานด้านมนุษยธรรม และได้มาเป็นนักการเมืองเช่นในวันนี้?

ผมสนใจการเมืองอยู่แล้ว แต่การทำงานเริ่มอย่างไรก็ต้องมาจากการเรียน ผมเรียนจบมัธยม แล้วก็มาเรียนราม แล้วก็ไปเรียนต่อด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนและกฎหมายด้านผู้ลี้ภัยโดยตรง สนใจด้านมานุษยวิทยา แต่ก็ไม่ได้เรียนต่อให้จบในระดับที่สูงขึ้น กลับมาทำงานที่ไทยก็เริ่มงานที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักนายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งลูกจ้างประจำ จากนั้นเมื่อมีการเปิดสมัครสอบเป็นข้าราชการก็ค่อยๆไต่เต้าไปเรื่อยๆ

ที่สมช. เราดูเรื่องผู้หนี้ภัยทางการสู้รบของเมียนมาทั้งหมด ทั้ง 9 แคมป์ และรวมถึงโรฮิงญาด้วย พอทำสัก 1-2 ปี ก็มีสถานการณ์กรือแซะ เขาก็ส่งลงไปในพื้นที่ ก็ไปดูโครงการความมั่นคง แผนงานที่เกี่ยวกับความมั่นคงที่สมช.รับผิดชอบ เราเลยมีโอกาสได้ลงภาคสนาม ตั้งแต่ตอนนั้น พอกลับมาก็ทำเรื่องการเตรียมความพร้อมแห่งชาติ นโยบายความมั่นคงกับประเทศเพื่อนบ้าน ตำแหน่งสุดท้ายก่อนออกจากราชการ เป็นหัวหน้าฝ่ายเตรียมพร้อมของสำนักความมั่นคงกิจการชายแดนและการป้องกันประเทศ ดูแลเรื่องการเตรียมพร้อมของชาติ ดูแลเรื่องการฝึกอบรม ดูแลว่าหากใครเผชิญกับสงครามหรือภัยพิบัติ เราจะดูแลเขาอย่างไร

หลังจากทำงานมาได้พอสมควรสักประมาณ 7-8 ปี จึงสมัครเข้าไปทำงาน ที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์การของสหประชาชาติที่มีอาณัติในการให้ความคุ้มครองระหว่างประเทศแก่ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ก็ได้เริ่มทำงานกับ UNHCR ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทำงานได้ประมาณ 2 ปี ตอนหลังก็มาประจำที่กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ประสานงานของ UNHCR ดูแลทั้งหมดของประเทศ ตั้งแต่ชาวอุยกูร์ ชาวโรฮิงญา ผู้ลี้ภัยการสู้รบบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ทำได้อยู่ 2 ปีครึ่ง ก็ได้ไปประจำที่ซูดานใต้ ซูดานเหนือ ชาด อูกันดา บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ เมียนมา ก็เรียกว่าทำงานด้านนี้ จนมาตั้งมูลนิธิของตัวเอง และเข้าพรรคการเมืองในที่สุด จนถึงวันนี้ แต่ชีวิตของผมดูจะเป็นซินเดอเรลล่าหลังจากที่คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้สัมภาษณ์ (หัวเราะ)

มันทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น?

ใช่ครับ โทรศัพท์ดังตลอด

ทำไมถึงเลือกทำงานมนุษยธรรม คุณค่าของอาชีพนี้คืออะไร?

มันเกิดจากความสนใจของเรา เป็นความต้องการบุคคล เราคิดว่าชีวิตหนึ่งนั้นมีค่า และถ้าการทำงานของเรามันช่วยชีวิตคนได้ มันก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก และจากการเรียนกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งจากพื้นฐานการศึกษาทำให้เราได้ศึกษา กฎหมายระหว่างประเทศ เช่น กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (IHRL)

ทำให้เห็นว่าสิทธิมนุษยชนคือสิทธิตามธรรมชาติ ทุกคนมีสิทธิตรงนี้ และหลังจากเข้าไปทำงาน เราได้อยู่ในภาคสนาม ได้ไปทำงานในกลุ่ม ERT เหล่านี้เป็นความสนใจที่ค่อยๆ ชัดเจนขึ้น

การเป็นนักมนุษยธรรมที่นั่งในสำนักงานกับลงไปทำงานภาคสนามต่างกันอย่างไร เหมือนที่เราเห็นในภาพยนตร์หรือไม่?

มีทั้งที่เหมือนและไม่เหมือนครับ เอาเป็นว่า มันสอดคล้องกัน ตอนนั่งโต๊ะเราก็ดูข้อมูลจากทุก กระทรวง ทบวง กรม ซึ่งวิเคราะหืมาให้เราแล้ว แต่เมื่อเราลงภาคสนามเราไม่มีข้อมูลที่มาขนาดนั้น แต่เราไปเห็นความเป็นจริงในพื้นที่ บางที่การวิเคราะห์ของหน่วยราชการก็ไม่ตรงกับพื้นที่ แต่ถ้าเราได้คุยจริงก็ได้มุมที่แตกต่าง มันก็เป็นความแตกต่างระหว่างข้อมูลชั้นปฐมภูมิ กับ ทุติยภูมิ

นักมนุษยธรรมจะเป็นคนที่ทำงานเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ภัยสงครามต่างๆ ที่มีผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามนั้นๆ สู่การประสานงานต่างๆ ทางหน่วยงานอย่างเช่น UNHCR ก็จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม พูดง่ายๆ ก็คือให้เขารอดตายและยืนด้วยขาของตัวเองได้ ไม่ต้องแบมือขอใคร อันนี้คืองานด้านมนุษยธรรม

ช่วยเล่าการทำงานในแต่ละวัน (Routine) ในค่ายผู้ลี้ภัยให้ฟังหน่อย?

ใช้ชีวิตเหมือนผู้ลี้ภัยแทบทุกอย่าง ทุก 6 โมงเช้าเราจะเห็นคนมาลงทะเบียน วันหนึ่งๆ ต้องมี 400-500 คน เราจะมีกลุ่มไปนั่งคนอยู่รับลงทะเบียน ทุกวันต้องลง พอสัก 10 โมงเราก็จะเดินไปหาผู้ลี้ภัยในแต่ละ shelter

ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ไม่มีบัตรประชาชน ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร การลงทะเบียนนั้นสำคัญมาก เพราะมันจะบอกว่าคุณคือใคร มีครอบครัว มีสมาชิกที่เกี่ยวเนื่องกับใครบ้าง

น้ำก็ไม่มี ไฟก็ไม่ต้องพูดถึง อาหารคืออาหารป่า เช่น ไก่ป่า และเราก็มีอาหารสำเร็จรูปที่นำไป เช่น มาม่า ก็แบ่งกินวันละซอง น้ำตอนแรกเอาไปแพ็คเดียว พอน้ำไม่พอเราก็ต้องขุดดิน เอาน้ำในดินมาใส่ที่เราเรียกว่าถุงพิเศษ แล้วเราก็จะเอาไปตากแดดตั้งแต่เช้าจรดเย็น พอตากแดดก็เอาน้ำใส่หม้อ แล้วก็ต้ม แล้วก็ใส่แท็บเลตเม็ดๆที่ช่วยละลายระหว่างน้ำบริสุทธิ์กับสิ่งแปลกปลอม วันหนึ่งเราทำน้ำได้ 3 ลิตร /คน

หรือในบางเหตุการณ์ เช่นที่ฟิลิปปินส์ที่เกิดภัยพิบัติ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และรัฐบาลไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะจัดการ หน้าที่ของเราอย่างแรกคือช่วยเก็บศพ   พอเรานั่งก็มีศพเข้าไปเรื่อยๆ คนเหล่านั้นถือเป็นผู้ผลัดถิ่นในประเทศที่เขาไม่มีบ้าน ไม่มีอาหาร เราไปทำข้อมูลและดูคนได้รับผลกระทบเราเพื่อจัดหาทรัพยากรให้เพียงพอ ดูว่ามีผู้ได้รับผลกระทบกี่คน และเราจะช่วยอย่างไร ทั้งนี้เพราะเราไม่สามารถให้แบบ blanket distribution ซึ่งเอาไปจำนวนมากแล้วแจกทุกคนได้ แต่ต้องมีเหตุผลให้การช่วยเหลือ อย่างครั้งนั้นเราส่งจข้อมูลดาวเทียมไปแล้วของมาส่งที่ท่าเรือ หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ก็ต้องประสานงานเพื่อหารถมาขนถ่ายสินค้าไปสู่ผู้ประสบภัย

เห็นอะไรในค่ายผู้ลี้ภัยบ้าง?

เห็นผู้ถูกผลักจากรัฐ เห็นผู้ที่ไม่มีสถานะ เราเป็นนักมนุษยธรรมไม่ใช่พระเจ้าที่จะช่วยชีวิตคนได้ หน้าที่เราคือพาเขาไปหาการช่วยเหลือ เราทำงานในภาคสนามเราก็ต้องไปหาความต้องการที่แท้จริง

สิ่งที่จะทำให้เราทำงานได้คือหลักการด้านมนุษยธรรมที่ต้องจำไว้ให้ขึ้นใจ ซึ่งของผมมี 4 ข้อ คือ มนุษยธรรม (Humanity) การไม่เลือกปฏิบัติ (Impartiality) ไม่เอนเอียง แม้อีกฝ่ายจะมีปืนเราก็ไม่สามารถเอนเอียงได้

ความเป็นกลาง (Neutrality) ซึ่งต้องไม่เป็นคู่ขัดแย้ง เราเอาเหตุผลมาวางในฐานะผู้อำนวยความสะดวก ความเป็นอิสระ(Independence) ที่เราต้องดูว่าบุคคลที่ให้เราดูแลต้องการอะไร ไม่ได้สนใจว่าประเทศไหนเป็นผู้บริจาคแล้วเราต้องทำตามเขา

สำหรับผมมันเคยมีเหตุการณ์ที่เรารู้สึกสะเทือนใจ คือการเห็นคนตายต่อหน้าต่อตา มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมรู้สึกสะเทือนใจมากคือ เมื่อครั้งแรกเลยที่ผมไปเป็นชุดเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉินที่ค่ายผู้ลี้ภัยเมือง Yida ประเทศซูดานใต้ ในระหว่างที่เรากำลังเปิดจุดรับลงทะเบียนอยู่นั้น ปรากฏว่ามีชายคนหนึ่งขาขาดเดินเข้ามาจะลงทะเบียน ซึ่งทีมของเราขอให้เขาไปพบแพทย์ก่อน แต่เขาไม่ยอม เพราะเขาบอกว่าต้องลงทะเบียนก่อนถึงจะมีข้าวกิน เราจึงให้เขาลงทะเบียนก่อนแล้วพาเขาไปพบแพทย์ ซึ่งหลังจากที่เขาลงทะเบียนเสร็จได้ไม่นาน เขาก็เสียชีวิต เขายอมที่จะทนเจ็บเพื่อที่จะมีข้าวกิน

การทำงานมนุษยธรรม ไม่ใช่แค่การทำงานฉุกเฉิน แต่ต้องก้าวข้ามผสานระหว่างงานฉุกเฉินกับงานพัฒนา มองเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จากการขอไปสู่การพัฒนา ไม่ใช่แค่ให้  เราจะมีการ Focus Group Discussions ดูความต้องการของคู่สนทนาว่าเขาต้องการอะไร ในแต่ละกลุ่มคน เอาความต้องการของแต่ละกลุ่มมาสร้างแผนงาน หรือในหลายวัฒนธรรม ผู้หญิงไม่สามารถเป็นผู้นำได้ เราก็ต้องมีโปรแกรมพัฒนาศักยภาพ Empower คนกลุ่มนั้น ค้นหาความถนัดและอะไรนที่จะสร้างศักยภาพได้กับคนในแต่ละกลุ่ม

ในสถานการณ์ค่ายลี้ภัยที่ต่างคน ต่างต้องการมาก เราจัดการอย่างไร?

ยึดหลักการให้แม่น และต้องทำให้การช่วยเหลือมีระบบไม่ใช่แค่การช่วยเหลือระยะสั้น สมมติว่ามีเงินจำกัด เราอาจจะพัฒนาในส่วนของการทำการเกษตร สร้างแหล่งอาหาร เพื่อเลี้ยงตัวเองได้ และถ้ามากกว่านั้นเมื่อเขามีผลผลิตเขาสามารถเอาของไปขายได้ เราต้องคิดเป็นระบบ  หรืออย่างการศึกษา แม้เราจะไม่ถึงขนาดสร้างหลักสูตร แต่ถ้ารัฐบาลผู้ลี้ภัยสนับสนุน เด็กก็จะมีความรู้ ได้เรียน ได้ใบประกาศนียบัตรรับรองที่ไปต่อได้

ตอนเริ่มต้นอาชีพ มอง Career Part อย่างไร?

ก็อยากเติบโต ในสมช. อยากจะขึ้นให้สูงที่สุด อยากจะเป็นหนึ่งในพลเรือนที่ได้ขึ้นมาเป้นเลขาธิการ สมช. เราคิดว่าการเป็นราชการมันจะช่วยคนได้มาก ยิ่งเป็นหน่วยงานราชการที่อยู่ใกล้ผู้มีอำนาจ ตอนทำ สมช.แรกๆ เป็นลูกจ้างชั่วคราวด้วย ตอนนั้นข้าราชการไม่ได้เปิดสอบตรง แล้วก็รอให้มีตำแหน่ง เปิดแข่งขันสอบ พอเข้าไปเริ่มราชการ

รายได้เป็นอย่างไร?

ตอนนั้นเริ่มต้นยังหลักพัน ไม่ถึงหมื่นเลย เรื่องกู้เงินนี่ไม่ต้องพูดถึง เพื่อนร่วมงานกู้ออมสินกันทุกคน จำได้ว่าตอน ออกมา เป็นซี 6  ทำงานอยู่ 8 ปี ก็ไต่มา กู้ทุกเดือน

แล้วตอนมาอยู่ UN ล่ะ?

พอเขาเปิดสอบ ก็ไปสอบ แล้วพอสอบได้คือจำได้เลยว่าไม่ดูสัญญาเลย เดือนแรกที่เงินเดือนออก พอเงินได้กระเป๋า เดินไปหาการเงินว่า เงินที่จ่ายมาคือจ่ายเป็นปีหรือเปล่า เพราะมันเยอะมากกว่าเงินเดือนที่เก่าเรามาก จนคิดว่าเขาจ่ายให้เรา 1 ปีรึเปล่านะ (หัวเราะ)

ที่  UN ก็จะมีแท่งเงินเดือน ระหว่าง General Staff กับ National Officer ซึ่งอย่างหลังจะมีค่าตอบแทนมากกว่า จากนั้นก็มีลำดับชั้น A B C D มีเข้าไปเป็น NOA และเป็น NOA ภาคสนามคนแรกที่ UNHCR แม่ฮ่องสอน เงินเข้ามา

หลักสูตร ERT ที่คล้ายกับการคัดเลือกเจ้าหน้าที่ระดับผู้ชำนาญการ สอนอะไรบ้าง?

อย่างแรกคือต้องสมัครไป และสอบแข่งขันกัน คนกลุ่มนี้จะเป็นผู้ที่ต้องถึงที่เกิดเหตุใน 72 ชั่วโมง เช่นไปเผชิญเหตุที่ ซีเรีย ฟิลิปปินส์ ต้องสมัครไปที่เจนีวา มีทีมงานที่คัดเลือก แข่งขันว่าใครคนใดเหมาะสม ทั้งประสบการณ์ การพิจารณาว่าสามารถเผชิญสถานการณ์จริงๆหรือไม่ บางหน้าที่ต้องมีการแข่งขัน และได้รับคัดเลือกก็ต้องไปแข่งขันอีกทอดสมัยพี่ไปแข่งขันกันที่เยอรมัน

ส่วนการเรียนก็จะเป็นวิชาการ ปฏิบัติการ ขับรถ การใช้เข็มทิศ การใช้วิทยุ โทรศัพท์ดาวเทียว คอมพิวเตอร์ดาวเทียม การขับรถแบบสภาพภูมิอากาศต่าง การใช้วิทยุ  HF / VHF / UHF

การจำลองสถานการณ์การถูกลักพาตัว การถูกคลุมผ้าในการทำต่างๆเพื่อคุมสติ เพราะการคลุมผ้าจริงๆ แม้จะรู้ว่าเป็นการฝึก แต่ก็ไม่ง่ายที่จะคลุมสติ ทั้งอากาศที่น้อย การผ่านด่านความมั่นคง การให้สัมภาษณ์กับสื่อกรณีสถานการณ์ฉุกเฉิน

คาแรกเตอร์ของคนทำอาชีพนักมนุษยธรรมต้องเป็นอย่างไร?

คือต้องอึดนะ หมายถึงอดทนทั้งร่างกายและจิตใจ เพราะเจอสถานการณ์ที่บอกไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ผมมีเพื่อนร่วมงานที่เคยถูกลักพาตัว กลับมากลายเป็นอีกคนหนึ่งไปเลย หรือส่วนตัวเราก็เคยโดนเครื่องบินทิ้งระเบิดใกล้ๆ ถ้าเราไม่อึดทางจิตใจ มันคงอยู่ไม่ได้ และเราก็เห็นเจ้าหน้าที่หลลายคนอยู่ไม่ได้ ต้องขอกลับบ้าน

ที่สำคัญไม่แพ้กันคือต้องเป็นคนอ่อนตัว หมายถึงปรับตัว ประสานงานทุกฝ่าย หลักการมนุษยธรรมเราต้องท่องไว้ให้ดี เพราะหน้าที่ไม่ใช่การช่วยเหลือฝ่ายผู้ลี้ภัย หรือช่วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่คือการวางตัวเป็นกลาง ไม่เอนเอียง เอาประชาชนเป็นศูนย์กลางซึ่งมันมีหลักที่เราต้องยึดถือให้เราทำได้ ประสานงานได้ทั้งจากฝั่งอำนาจรัฐและกลุ่มผู้ลี้ภัย

ผมเชื่อว่าความรู้มีทุกคน นักมนุษยธรรมที่เข้ามามีหลักการ มีตำราที่อ่านมาหลายรอบก็จริง แต่สถานการณ์จริง ความรู้ที่เราร่ำเรียนมาจะถูกจัดระบบได้ดีแค่ไหน เช่น เรารู้ว่าเตนท์ต้องมีขนาด 2 เมตร คูณ 1.5 เมตร แต่ไปถึงจริงๆเราไม่มีแม้แต่พื้นที่

เช่น ที่ค่ายผู้ลี้ภัยค็อก บาซาร์ ถือเป็นค่ายผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่นั่งยังไม่มี แออัดมาก และความที่อยู่บนเนิน เมื่อฝนตกก็ดินถล่ม เสียชีวิตกันทุกวัน สภาวะความเป็นจริงกับหนังสือมันแตกต่างกัน ความเป็นจริงในเรื่องผู้ลี้ภัยไม่มีในหนังสือ แต่เราต้องคุยกับทุกฝ่ายให้ได้ ถ้ามีอีโก้สูงคงลำบาก

ตอนลาออกมาจากการเป็นมนุษยธรรม เพื่อนๆว่าอย่างไร?

ก็หัวเราะ แล้วถามว่าแน่ใจเหรอ  นั่นเพราะหากทำงานได้ระดับหนึ่ง รายได้ สวัสดิการถือว่ามั่นคง แต่ก็ตัดสินใจที่จะมาทำการเมือง เพราะมองว่าการเมืองที่มีพื้นฐานจากนักมนุษยธรรมยังไม่มี หรือมีแต่ยังไม่เด่นชัดเท่าไร และย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 2014 เราก็ไปทำงานช่วยเหลือชาวอุยกูร์มา ผมก็เป็นคนประสานงานผ่านรัฐบาลตุรกี ในการหาเที่ยวบินมารับผู้ลี้ภัยไปตั้งถิ่นฐานใหม่ แม้ที่สุดก็ไม่ได้เกิดขึ้น เพราะมีข้อจำกัดอะไรบางอย่าง แต่ก็สะท้อนว่าการอยู่ใกล้ผู้มีอำนาจสั่งการ จะทำให้ผลักดันประเด็นนี้ได้

หากได้เป็นหนึ่งในรัฐบาลจริง แนวทางการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจะเป็นอย่างไร?

เวลาเราพูดถึงมุมมองมนุษยธรรม มุมมองด้านสิทธิมนุษยชน ความมั่นคงของมนุษย์เป็นใจกลางสำคัญสูงสุดที่ทุกคนจะต้องทำหน้าที่เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งนั้น  เพียงแต่ว่าประเทศไทยเรายังมีจุดยืนด้านความมั่นคงและจุดยืนทางการทูตที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงตั้งแต่สมัยสงครามเย็น คือเน้นจุดยืนแบบอนุรักษนิยม เน้นเรื่องทวิภาคี เน้นการดีลตรงกับประเทศมหาอำนาจ และยังยึดติดกับความรู้สึกไม่อยากสูญเสียดินแดนหรือโดนล่าอาณานิคม ในมุมมองของผม ภาพกว้างคือจุดยืนของไทยจะต้องเปลี่ยนแปลง และต้องให้ไทยมีพื้นที่และมีภาพที่จะให้พื้นที่และใช้ศักยภาพกับคนเหล่านั้นตามความเหมาะสม เช่น ดึงเขามาสร้างอาชีพ มาเสียภาษี

ฝากอะไรถึงนักเรียนที่กำลังจะเลือกอนาคต และอยากเป็นนักมนุษยธรรม?

เปิดโอกาสในการมองหาสิ่งที่ตัวเองชอบจริงๆ ใช้เวลาในการเรียนมัธยม ศึกษาประสบการณ์จากพี่ มองหาความถนัด ถ้าอยากทำงานด้านนี้ มองหาโอกาสในมหาวิทยาลัย หาประสบการณ์ที่จะสร้างทางเลือก แล้วสำหรับพี่เองใครที่อยากได้ประสบการณ์ก็พร้อมเสมอ การมีต้นแบบที่ดีก็จะช่วยเราผลักดันในสิ่งที่ตัวเองจะเป็น เช่น ผมมี “เซอร์จิโอ วีอีรา เดอมอลโล” (Sergio Vieira de Mello) ซึ่งเป็นอดีตผู้แทนเลขาธิการพิเศษขององค์การสหประชาชาติในอิรักเป็นต้นแบบ

เรื่อง : อรรถภูมิ อองกุลนะ

ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข

 

อ่านเพิ่มเติม:  ของเล่นทำมือ สมบัติเดียวที่เด็กผู้ลี้ภัยในยูกันดามี

Recommend