ถอดรหัส หลักสูตร 2 ปริญญา KMITLxCMKL ผสาน AI Engineering กับนวัตกรรมคอมพิวเตอร์แห่งแรกในไทย

ถอดรหัส หลักสูตร 2 ปริญญา KMITLxCMKL ผสาน AI Engineering กับนวัตกรรมคอมพิวเตอร์แห่งแรกในไทย

รู้จักหลักสูตร  วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต 2 ปริญญา การผสานระหว่าง Computer Innovation Engineering (CIE)  ที่เน้นเรื่องการสร้างนวัตกรรมคอมพิวเตอร์ชั้นสูงกับ Artificial Intelligence and Computer Engineering จาก CMKL

AI (Artificial Intelligence) และนวัตกรรมคอมพิวเตอร์ขั้นสูง การพัฒนาซอฟต์แวร์, Coding, Internet of Things, Cloud Computing, Data Analytics คือหัวใจหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจใหม่อย่างไม่ต้องสงสัย และในงานประชุม World Economic Forum 2024 ก็ได้ให้ความสำคัญกับ AI และนวัตกรรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในตีมหลักของหลายหัวข้อ ทั้งในบริบทการให้บริการด้านสุขภาพ การเงินการลงทุน, การขนส่งเดินทาง, การบิน, การตลาด และอีก ฯลฯ

ในประเทศไทย หนึ่งในหลักสูตรที่มุ่งมั่นสร้างความเชี่ยวชาญทางด้าน AI โดยเฉพาะแห่งหนึ่งคือ หลักสูตรนานาชาติ สาขาปัญญาประดิษฐ์และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (Bachelor of Engineering in Artificial Intelligence & Computer Engineering) ซึ่งมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) ร่วมมือกับสถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) อันถือเป็นประเทศแรกในเอเชียที่สถาบันที่ขึ้นชื่อด้านเทคโนโลยีในระดับโลกมาจัดการเรียนการสอน

CMKL คือการร่วมมือกันระหว่าง Carnegie Mellon University (CMU) กับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) โดย CMU เป็นมหาวิทยาลัยที่ทั่วโลกให้การยอมรับในด้านวิศวกรรม โดยเฉพาะด้านซอฟต์แวร์ และคอมพิวเตอร์ เหตุนี้การที่มหาวิทยาลัยระดับโลกอย่าง CMU ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาของไทย และจัดตั้ง CMKL ขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ดีอย่างมากสำหรับประเทศไทย

จนถึงปัจจุบันนี้ CMKL ได้เปิดรับนักศึกษาในระดับปริญญาตรีหลักสูตรนานาชาติ เป็นครั้งแรก ในสาขา Artificial Intelligence & Computer Engineering เมื่อปีการศึกษา 2565

กระทั่งในปี 2567 ได้เปิดหลักสูตรใหม่ที่ควบ ปริญญาตรี 2 ปริญญา วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต โดยเป็นการผสานหลักสูตรระหว่าง Computer Innovation Engineering (CIE) สจล. ที่เน้นเรื่องการสร้างนวัตกรรมคอมพิวเตอร์ชั้นสูง  กับหลักสูตร Artificial Intelligence and Computer Engineering จาก CMKL ซึ่งถือเป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทยเพื่อรองรับการพัฒนาบุคลากรในวิชาวิศวคอมพิวเตอร์ ร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยอย่างเต็มรูปแบบ

หลักสูตร Dual Degree มีที่มาที่ไปอย่างไร ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) ให้สัมภาษณ์ National Geographic ภาษาไทย ว่า เป็นการควบรวมโดยดึงเอาจุดเด่นที่แต่ละสถาบันมีมารวมกัน โดยเป็นแนวคิดเกิดขึ้นจากแนวคิด AI SANDBOX เพื่อตอบสนองเป้าหมายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แผน AI แห่งชาติ ในการสร้างทรัพยากรบุคคลของประเทศที่มีศักยภาพตามสาขาความต้องการด้าน AI

ผู้เรียนสามารถเลือกลงทะเบียนเรียนในรายวิชาของหลักสูตร Computer Innovation Engineering (CIE) และหลักสูตร Artificial Intelligence and Computer Engineering (AiCE) จาก CMKL ได้ทั้งหมด โดยเน้นเรียนการสอนแบบเน้นสมรรถนะของผู้เรียน (Competency-based learning)

“ที่เป็นหัวใจสำคัญคือ การเรียนรู้แบบเน้นสมรรถนะ (Competency-based education / CBE) เป็นแนวทางการเรียนรู้ที่ใช้รูปแบบการกำหนดหน่วยกิตจากการวัดผลตามระดับความสามารถ (Mastery level) บนสมรรถนะที่ได้กำหนดขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากการเรียนรู้โดยปกติที่ใช้จำนวนหน่วยกิตตามจำนวนชั่วโมงในชั้นเรียนหรือกิจกรรม ทำให้ผู้เรียนในระบบ CBE สามารถใช้ระยะเวลาการเรียนรู้ที่แตกต่างกันได้ โดยในสังคมปัจจุบันที่มีการพัฒนาทั้งด้านเทคโนโลยีทำให้ผู้เรียนที่พื้นฐานแตกต่างกันสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบระยะเวลาการเรียนรู้ที่ถูกบังคับในหลักสูตรปกติ โดย CBE จะมีการกำหนดสมรรถนะ ผ่านชุดทักษะ ความรู้และคุณลักษณะของผู้เรียน เป็นพื้นฐานตั้งต้น”

ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University)

 

ห้อง APEX Supercomputer (The Next Generation of Cloud ML Infrastructure) สำหรับข้อมูลปริมาณมหาศาล มาเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ (Machine Learning) เพื่อสร้าง AI

ถอดรหัสการเรียน 2 ปริญญา

หลักสูตร AiCE X CIE ยังคงเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยใช้การเรียนแบบ Competency-based Program เน้นผลักดันศักยภาพของผู้เรียน โดยเอาความถนัดและความสนใจของผู้เรียนแต่ละคนเป็นโจทย์ตั้งต้น จากนั้นจะวางแผนเลือกวิชาเรียนหรือ Module ไปตามเส้นทางสู่เป้าหมายปลายทาง ซึ่งอาจจะเหมือนหรือแตกต่างกันในแต่ละคน เป็น Personalize Training ที่คล้ายการเล่นเกมซึ่งนักเรียนสามารถเลือกไปในระดับที่วางไว้

รายวิชาจะประกอบไปด้วย Knowledge และ Skill Set ใน 11 กลุ่ม ได้แก่ Software Engineer, Artificial Intelligence, Scalable sSystem, Cybersecurity, Mathematic, Entrepreneurship, Human Centered Design, Science, Humanities, Art, and Social Sciences, Communication & Presentation and Soft skill

“ผู้เรียนจะเลือกได้ว่า เขาจะพัฒนาศักยภาพของตัวเองด้านไหน ค่อยๆเก็บ Skill ไปเรื่อยๆ เหมือนกับการเล่นเกม ทำให้ผู้เรียนเกิดความชำนาญเฉพาะแบบรายบุคคล (Personalization) เพราะเราเห็นว่าแต่ละคนก็มีความถนัด และความเก่งเป็นของตนเอง”

“การรวม 2 ปริญญามาไว้ด้วยกัน ไม่ได้หมายความว่าจะใช้เวลานานขึ้น หรือเรียนหนักเพิ่มเป็น 2 เท่า แต่เราทำให้มีความยืดหยุ่น เช่น ยังยึดแนวทางการเรียน เน้นสมรรถนะของผู้เรียน (Competency-based learning) ซึ่งเป็นแนวทางหลักของ CMKL แต่อาจจะเพิ่มการฝึกงานหรือการทำโปรเจคแบบ CIE ซึ่งนักศึกษาที่นี่จะมีโปรเจคตั้งแต่ปี 1 เทอม 1 โดยสถาบันจะมีพาร์ตเนอร์อุตสาหกรรม มีโค้ชมาช่วยดูแล ซึ่งการมีพาร์ทเนอร์มาร่วมหมายถึงการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเป็นผู้ประกอบการหรือก่อตั้งธุรกิจเองได้ โดยมีเครือข่ายเหล่านั้นคอยสนับสนุน”

สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI Engineering Institute; AIEI) เป็นความร่วมมือกันภายใต้มหาวิทยาลัยชั้นนำ 6 แห่งของประเทศไทย นำโดยมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้มีการแลกเปลี่ยนทรัพยากรระหว่างสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานวิจัย และภาคอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ ผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และคอมพิวเตอร์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถกางการแข่งขันและตอบสนองความต้องการของประเทศ

AI และนวัตกรรมคอมพิวเตอร์ ภาคปฏิบัติ

ดร.สุพันธุ์ ยกตัวอย่างว่า นักศึกษาชั้นปีที่ 1 จะเริ่มทำโปรเจคตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่เริ่มเรียน โดยใช้ Skill ด้าน AI และการพัฒนาซอฟต์แวร์ พัฒนาตามความสนใจ เช่น ในปีแรกได้กำหนดธีม Entrepreneurship หรือเทคโนโลยีเพื่อผู้ประกอบการ โดยโปรเจ็กต์นี้ผู้เรียนจะคิดและลงมือทำตั้งแต่ชั่วโมงแรกๆ คือการคิดโจทย์เพื่อให้งานที่ทำสามารถตอบสนองความต้องการและช่วยลบ Pain Point ที่อยู่ในตลาดได้จริง

“นักศึกษาคนหนึ่ง ครอบครัวมีธุรกิจทำสวนปาล์ม เขาจะระบบเพื่อหาเทคโนโลยีมารองรับว่า จะตรวจสอบว่าผลปาล์มของเขาถึงระยะเวลาเก็บได้หรือยัง หรือนักศึกษาอีกคนสนใจเรื่องการดำน้ำ เขาร่วมคิดค้นกับผู้ประกอบการโรงแรมรีสอร์ต เอากล้องไปเก็บข้อมูลและถ่ายภาพใต้น้ำเพื่อสำรวจทรัพยากรปะการัง และทำออกมาเป็นภาพ 3 มิติเพื่อส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว”

ในโปรแกรม AiCE นักเรียนชั้นปีที่ 1 จะโฟกัสไปที่การพัฒนา AI Project ในด้าน Entrepreneurship และ Innovation มุ่งเน้นที่การเสริมสร้างธุรกิจที่นักศึกษาสามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตจริง

“ในชั้น ปี 2 เนื้อหาจะโฟกัสในเรื่องของ AI for society ซึ่งคือการใช้ AI ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้น ตัวอย่างเช่นมีนักศึกษาที่สนใจเรื่อง AI เพื่อผู้พิการที่มีปัญหาการมองเห็น เขาจึงเริ่มพัฒนาโปรเจ็กต์ที่ใช้ AI มาสร้างเป็นอุปกรณ์นำทางที่ผู้พิการสามารถพกพาได้ง่าย โดยเขาคาดหวังว่าจะสามารถเข้าไปช่วยทำให้ชีวิตคนเหล่านี้ดีขึ้นได้บ้าง หรือมีนักศึกษาที่ทำโปรเจ๊กต์ AI เพื่อค่ายผู้ลี้ภัย ซึ่งเขาจะเริ่มตั้งแต่การคิด คำนวณต้นทุน ดีไซน์การใช้งาน”

พอปลายเทอมก็จะมีการนำเสนอ มหาวิทยาลัยก็จะเชิญพาร์ทเนอร์ และอุตสาหกรรมที่สนใจเข้ามาฟังและซักถาม เพื่อให้เกิดทักษะรอบด้าน นี่คือการปลูกฝังที่เราทำมาโดยตลอด และโปรเจ๊กต์ไหนที่มีศักย์ภาพ นั่นหมายถึงการช่วยระดมทุนเพื่อให้ความตั้งใจนั้นเป็นจริงด้วย

ในชั้นปีที่ 3 และ 4 นักศึกษาจะเข้าสู่ Experiential Learning Program ซึ่งพวกเขาจะได้ทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมโดยตรง ผ่านการคิดโปรเจ๊กต์ที่ได้รับโจทย์จากอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการฝึกฝนการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในการทำงาน เช่นมีนักศึกษาของเราคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมงานกับธนาคารแห่งหนึ่ง โดยการเข้าไปช่วยถ่ายทอดความรู้ด้าน AI ให้กับองค์กรนั้น

โปรเจคเหล่านี้ ถูกถอดออกเป็น 6 แกนหลัก ได้แก่ Software Engineering, Artificial Intelligence: หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์, Human-centered Design การออกแบบโดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง, Scalable System ระบบที่สเกลเพื่อประยุกต์ใช้ในโลกของความเป็นจริง และ Cybersecurity ความมั่นคงทางไซเบอร์ โดยจะผสมผสานแกนทั้งหมดนี้มารวมสู่การเรียนรู้แบบ Project-based Learning ลงมือทำจริง ทดลองจริงและ Entreprenuership & Innovation

นักศึกษาปริญญาตรีหลักสูตร AI Computer Engineering (AiCE) กำลังใช้แว่น MR – Oculus Quest Pro เพื่อสาธิตงานวิจัย ที่ใช้ AR ในทางการแพทย์
บรรยากาศภายใน มหาวิทยาลัย CMKL ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ อาคารสำนักหอสมุดกลาง ชั้น 7 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

“ประเทศไทยมีหลักสูตรที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์มากมาย แต่เมื่อจบออกมา พวกเขากลับยังไม่สามารถคิดค้นนวัตกรรม หรือการสร้างธุรกิจนวัตกรรมในฐานะผู้ประกอบการได้ หลักสูตรนี้สนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาใหม่ในระดับสากล ผ่านอาจารย์ และทีมงานที่มีทั้งไทยและต่างชาติ ทำให้มั่นใจว่าผู้ที่เรียนสามารถเป็นนักปฏิบัติ เป็นผู้ริเริ่มเองได้เมื่อมีโจทย์ที่สนใจ ไม่ใช่แค่ทำข้อสอบ”

CMKLใช้ระบบการเรียนและส่งเสริมการใช้ชีวิตของนักศึกษาให้พร้อมสำหรับการเป็นบุคคลากรคุณภาพระดับโลกในทุกมิติและเรายังให้ความสำคัญกับเรื่องของการพัฒนาทักษะภาษาทำให้นักศึกษาของเรามีศักยภาพและความพร้อมที่ไม่ได้มีขีดจำกัดแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่คือการผลักดันความสามารถให้ผู้เรียนออกไปสร้างความเปลี่ยนแปลง

เป็นแรงบันดาลใจ สำหรับการพัฒนาศักยภาพวิศวกรด้านคอมพิวเตอร์และ AI ที่สร้างคุณค่าให้กับประเทศและโลกใบนี้ได้

เรื่อง : อรรถภูมิ อองกุลนะ

ภาพ : อภินัยน์ ทรรศโนภาส

อ่านเพิ่มเติม : AiCE CMKL หลักสูตรวิศวกรรมแห่งอนาคต ที่ทักษะและความรู้ออกแบบตามผู้เรียน

Recommend