เจาะลึกระบบการศึกษาเยอรมันที่สอนให้เยาวชนเข้าใจ Climate Change ในทุกมิติ

เจาะลึกระบบการศึกษาเยอรมันที่สอนให้เยาวชนเข้าใจ Climate Change ในทุกมิติ

เป็นเวลา 17 ปีมาแล้วที่การเรียนการสอนเกี่ยวกับ “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” กลายมาเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของระบบการศึกษาเยอรมัน

ระบบการศึกษาของประเทศเยอรมัน ไม่ได้มีหลักสูตรที่กำหนดโดยรัฐบาลกลางแบบที่กระทรวงศึกษาธิการบ้านเรากำหนด แต่ละ 16 รัฐของเยอรมนีกำหนดแนวทางการเรียนการสอนของตนขึ้นมา ในกรอบของการศึกษาแนวคิดแบบยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมที่ผนวกเข้ากับรายวิชาอื่นๆ

และที่นี่เด็ก ๆ  ไม่ได้เรียนแค่ว่าภาวะโลกร้อนคืออะไร แต่พวกเขายังถูกกระตุ้นให้เรียนรู้กันลึกลงไปกว่านั้น ว่าจะร่วมกันรับผิดชอบแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เผชิญอยู่อย่างไร

เรียนรู้ความเชื่อมโยงกันของธรรมชาติ

เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ความสำคัญของการอยู่กับธรรมชาติกันตั้งแต่เล็ก รายงานจาก Petra Lewalder คุณครูวิชาภูมิศาสตร์จากโรงเรียน Clara Schumann Gymnasium ในเมืองบอนน์ เด็ก ๆ ชั้นอนุบาลจะได้เรียนรู้ว่าต้นไม้ และผืนป่ามีความสำคัญอย่างไร พวกเขาได้รู้จักชื่อของต้นไม้ผ่านการสังเกตใบ ดอก ผล พอปีต่อมาพวกเขาจะได้เรียนรู้ว่าธรรมชาติเชื่อมโยง มีความสัมพันธ์กันอย่างไร

ต่อมาในเกรด 5 พวกเขาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และขยายองค์ความรู้ขึ้นเรื่อย ๆ ในชั้นที่สูงขึ้น ยกตัวอย่างโจทย์ในชั้นเรียนวิชาเคมีระดับมัธยม นักเรียนต้องแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาเอกสารเรียกร้องการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพอย่าง ไบโอเอทานอล ท่ามกลางข้อถกเถียงที่ว่าอาจกำลังขัดขวางราคาข้าวโพดในประเทศที่กำลังพัฒนา

เด็ก ๆ สวมบทบาทเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย, เกษตรกร, นักสิ่งแวดล้อม และตำแหน่งอื่น ๆ โต้แย้งกันด้วยข้อมูล ก่อนตัดสินใจว่าจะอนุมัติเอกสารหรือไม่ 87% ของนักเรียนเล่าว่าพวกเขารู้สึกว่าตนได้เรียนรู้บางอย่าง ส่วนอีก 75% ชี้ว่าพวกเขามีมุมมองต่อเชื้อเพลิงชีวภาพที่ต่างออกไป

เด็กนักเรียนเกรดหนึ่งใน Nuremburg ชูกล่องอาหารใบใหม่ที่ภายในบรรจุอาหารออร์แกนิก ภาพจาก DW

เรียนรู้ได้ไม่จำกัดรายวิชา

แม้แต่ในวิชาต่าง ๆ ก็มีการปลูกฝังเรื่องรักษ์โลก ที่โรงเรียนมัธยม Emmy-Noether ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของกรุงเบอร์ลิน ประมาณ 1 ใน 4 ของเนื้อหาหนังสือเรียนวิชาภาษาอังกฤษเด็กเกรด 10 กำลังบอกเล่าถึงภัยคุกคามที่มีต่อโลก นั่นหมายความว่านอกจากเด็ก ๆ จะได้เรียนรู้ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษแล้ว พวกเขายังได้รับรู้สถานการณ์ทางสิ่งแวดล้อมไปในตัว

เช่น ประโยค “If we don’t do something about global warming, more polar ice will start to melt.” หรือในชั้นเรียนเกรด 11 พวกเขาได้รับโจทย์ให้แต่งกลอนเกี่ยวกับ “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” และนี่คือตัวอย่าง “The water level rises, the fish are in a crisis.”

โครงสร้างจากอิฐและไม้นี้เด็กๆ สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักใหม่ของบรรดาผึ้งที่กำลังถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภาพจาก Pia Ranada/Rappler

เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย

หลายกิจกรรมไม่ได้ถูกจำกัดแค่ในห้องเรียน ที่โรงเรียน Gustav Falke มีโครงการ “Berlin Climate Schools” เพื่อสอนให้เด็ก ๆ ตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นั่นทำให้พื้นที่บางส่วนของโรงเรียนกลายมาเป็นแปลงผักขนาดเล็ก

คุณครูมีโจทย์ที่น่าสนใจที่พวกเขาใช้สอนเด็ก ๆ ด้วยการให้นักเรียนลองวาดภาพโรงเรียนสีเขียวดู จินตนาการว่าโรงเรียน Gustav Falke จะเป็นอย่างไรหากนำแนวคิดความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมมาใช้ นักเรียนช่วยกันสร้างโมเดลของโรงเรียนในสัดส่วน 1 ต่อ 100 ขึ้นมา และเติมต้นไม้ตลอดจนพื้นที่สีเขียวอื่น ๆ เข้าไป จากนั้นคุณครูช่วยให้ไอเดียของพวกเขาเป็นจริง ด้วยการปลูกต้นไม้เพิ่มตามแผน ทั้งยังเพิ่มไม้เลื้อยตามกำแพงเข้าไป

หนึ่งในเด็กนักเรียนอธิบายว่าการมีต้นไม้เลื้อยปกคลุมกำแพงจะช่วยให้ความอบอุ่นในหน้าหนาว และลดความร้อนในหน้าร้อน เท่ากับว่าลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในการทำความอบอุ่นและความเย็นของตัวอาคารไปด้วย

ส่วนอีกชั้นเรียน ให้โจทย์เด็ก ๆ ไปลองเดินสำรวจในละแวกบ้านของตนเอง เพื่อหาว่าจะช่วยให้ละแวกบ้านรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้อย่างไร

เด็กนักเรียนเกรด 5 จากโรงเรียน Gustav Falke ในกรุงเบอร์ลิน กำลังอธิบายถึงคุณค่าของหนองน้ำเล็กๆ ในธรรมชาติ ภาพจาก Pia Ranada/Rappler

เรียนรู้การประยุกต์ใช้ความรู้

ข้ามไปที่นครฮัมบวร์ก กระบวนการเรียนการสอนของพวกเขาไปไกลกว่าแค่ในรั้วโรงเรียน สมาคมการจราจรฮัมบวร์ก หรือ HVV เปิดโครงการสอนเด็ก ๆ ให้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ระบบขนส่งมวลชน แม้แต่เด็กเล็ก ๆ อย่างเด็กวัย 3 ขวบ การสอนประกอบด้วยข้อควรระมัดระวังด้านความปลอดภัย อย่างการรอหลังเส้นที่กำหนด ไปจนถึงมารยาทการใช้รถสาธารณะ

และในฐานะที่เมืองแห่งนี้ติดกับแม่น้ำ เด็ก ๆ จึงได้รู้จักการใช้บริการเรือสัญจร ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบขนส่งมวลชนสำคัญของเมืองด้วย เพื่อที่พวกเขาจะสามารถเดินทางไปโรงเรียนเองได้เมื่อเติบโตขึ้น มากไปกว่านั้นคุณประโยชน์ตกต่อเมืองเอง เพราะถ้าเด็ก ๆ หันมาใช้รถสาธารณะ นั่นหมายถึงจำนวนรถยนต์บนท้องถนนที่น้อยลงไปด้วยเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวที่มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมการเรียนการสอน ซึ่งมุ่งเน้นความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมแก่เด็ก ๆ เธอลองถามเด็กชายชาวเยอรมันคนหนึ่งว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคืออะไร?

คำตอบของเขาช่างเรียบง่ายแต่ตรงใจ “มันคือตอนที่คุณขับรถ รถของคุณปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนลอยอยู่ในอากาศและเมื่อแสงจากดวงอาทิตย์ส่องลงมา มันถูกคาร์บอนกักเอาไว้ในโลกทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นครับ”

Christoph Unland เจ้าหน้าที่จาก HVV กำลังใช้ของเล่นและวัตถุที่หาได้ทั่วไปสอนเด็กๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนน ภาพจาก Pia Ranada/Rappler

เรียนรู้ตลอดชีวิต

เห็นตัวอย่างการเรียนรู้แบบชาวเยอรมันแล้ว เราจะนำมาปรับใช้อย่างไรได้บ้าง? 

อันที่จริงเด็ก ๆ เรียนรู้เรื่องนี้ได้ในทุกช่วงเวลา ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นแค่ในห้องเรียนเสมอไป คุณอาจสอนให้พวกเขารู้จักถึงคุณค่าของสิ่งของ ผ่านการประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ จากวัสดุอุปกรณ์เหลือใช้ภายในบ้าน ปลูกฝังนิสัยการประหยัดอดออม โดยเริ่มต้นจากการประหยัดทรัพยากรภายในบ้าน เช่น ปิดน้ำทุกครั้งระหว่างแปรงฟัน หรือปิดไฟดวงที่ไม่ใช้

หากพวกเขาเริ่มรู้จักวิธีประหยัดพลังงานแล้ว ขั้นต่อไปจึงสามารถปลูกฝังการประหยัดทรัพยากรในประเทศ เช่น ลดการใช้ถุงพลาสติก และมอบกระเป๋าผ้ากับลูก ๆ ติดตัวเวลาไปซื้อของภายนอกบ้าน ให้ความรู้แก่พวกเขาในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และความมีเมตตาต่อสัตว์โลก เช่น เล่าเรื่องราวของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ พร้อมเปิดรูปภาพหรือสารคดีให้เด็กได้รับชมวิถีชีวิตของสัตว์เหล่านั้น หรือพาไปทำกิจกรรมที่สวนสัตว์ เพื่อสร้างความเพลิดเพลินและได้เห็นถึงการดำรงชีวิตของสัตว์หลายๆ ชนิด

ไม่ว่าจะวิธีไหนล้วนดีทั้งสิ้น เพราะอนาคตของโลกขึ้นอยู่กับคนเหล่านี้ คนรุ่นถัดไปที่ได้รับการปลูกฝัง และตระหนักถึงความสำคัญของการร่วมมือกันเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

เรื่อง กองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


ข้อมูลอ้างอิง


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ สำรวจประเด็นสังคมในแอนิเมชันครอบครัวแห่งปี The Mitchell vs. The Machines

Recommend