“กรยณัฐน์ โฮะซึมิ” เล่าชีวิตนักวิจัยที่ NASA กับการศึกษาวิทยุความถี่สูงในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและอวกาศ

“กรยณัฐน์ โฮะซึมิ” เล่าชีวิตนักวิจัยที่ NASA กับการศึกษาวิทยุความถี่สูงในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและอวกาศ

สัมภาษณ์นักวิจัยไทยกับประสบการณ์ทำงานวิจัยอวกาศที่ NASA และชีวิตการทำงานในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและอวกาศ

ดร. กรยณัฐน์ โฮะซึมิ ไม่ได้อยู่ประเทศไทย หากอยากจะสนทนากับเธอผ่านเสียง ต้องหักลบเวลาราว 12 ชั่วโมง เพื่อหาข้อตกลงระหว่างรัฐแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา กับกรุงเทพฯ

ต้นเดือนสิงหาคม กรยณัฐน์ ตอบข้อความตอนหนึ่งว่า เธอเพิ่งได้งานใหม่ ในฐานะนักวิจัย ที่ The University of Scranton ภายหลังใช้เวลา 1 ปีในการทำงานที่ NASA ไม่นับหน้าที่คุณแม่ลูกชายวัยน่ารักที่ทำให้กิจวัตรประจำวันของเธอในช่วงนี้ค่อนข้างยุ่งเหยิง

“เราไม่ได้เป็น US citizen จึงไม่สามารถเข้าไปเป็นเจ้าหน้าที่ของ NASA ได้ ดังนั้นการเข้าไปทำที่ NASA จึงเป็นการเข้าไปทำแบบสัญญาจ้างโดยเขาจ้างงานเราผ่านทางมหาวิทยาลัยที่นี่ นั่นคือ The Catholic University of America ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เราได้เข้าไปเป็น Research Scientist ของ CCMC หรือชื่อเต็มว่า Community Coordinated Modeling Center” เธอ แนะนำตัวเองเมื่อถามถึงการเริ่มต้นอาชีพในอเมริกา และเป็นการแนะนำตัวเช่นทุกๆครั้งเมื่อต้องบรรยายให้นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในฐานะศิษย์เก่า

จริงอยู่ที่ว่า ดร. กรยณัฐน์ ไม่ใช่คนไทยคนแรกที่ทำงานกับองค์กรด้านอวกาศระดับนานาชาติอย่าง  NASA แต่เส้นทางอาชีพของเธอก็น่าสนใจ อย่างน้อยๆในฐานะคนไทย ที่เกิดและโตที่นี่ แต่มองหาโอกาสเพื่อเข้าไปทำงานที่ใฝ่ฝัน

 

อยากให้ช่วยแชร์ประสบการณ์การไปทำงานที่ NASA ทำในโปรเจคไหน แล้วเข้าไปทำได้อย่างไร?

ต้องอธิบายก่อนว่า เนื่องจากเราไม่ได้เป็น US citizen จึงไม่สามารถเข้าไปเป็น Civil Servant (เจ้าหน้าที่ประจำ) ของ NASA ได้ ดังนั้นการเข้าไปทำที่ NASA จึงเป็นการเข้าไปทำแบบสัญญาจ้าง โดยเขาจ้างงานเราผ่านทางมหาวิทยาลัย ซึ่งเราได้เข้าไปเป็น Research Scientist ของ CCMC หรือชื่อเต็มว่า Community Coordinated Modeling Center ซึ่งตั้งอยู่ใน NASA Goddard Space Flight Center ที่รัฐแมริแลนด์

ความที่เป็น Modeling Center งานที่ CCMC ส่วนใหญ่คือเป็นตัวกลางระหว่าง Modeler (คนสร้างโมเดลทั้งหลาย) กับ Community ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็คือ Research Community ซึ่งก็เป็นทีมงานที่กำลังค้นคว้าทำโปรเจคต่างๆอยู่ เนื้องานจะครอบคลุมงานทั้งหมดที่จะทำให้โมเดลที่ modeler สร้างขึ้นมาในห้องปฏิบัติการนั้นใช้งานได้จริง ดังนั้นเราจะร่วมมือกับคนสร้างโมเดลทั้งหลาย ทดสอบโมเดลด้วยเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าโมเดลใช้งานได้จริง และงานของเราก็ต้องทำการตรวจสอบโมเดลด้วยข้อมูลจริงที่ได้จากการสังเกตการณ์ จากทั้งภาคอวกาศและจากภาคพื้น และเมื่อเรียบร้อยแล้วเราจะทำการใช้งานจริงในโมเดลนั้นๆ โดยขั้นตอนนี้จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์และทีมโครงสร้างของ CCMC

ถ้าใครได้เข้าไปดู บนเว็บไซต์ของ CCMC นั้นจะมีบริการที่หลากหลายเพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงและใช้งานโมเดลได้ง่ายขึ้น เข้าใจได้ไม่ยาก แม้จะไม่เก่งเรื่องการเขียนโปรแกรม เพราะเราเชื่อว่าวิทยาศาสตร์เป็นของทุกคน เราพยายามที่จะทลายกำแพงใดใดก็ตามที่จะปิดกั้นการเข้าถึงโมเดลอย่างเท่าเทียม โมเดลที่มีก็จะครอบคลุมตั้งแต่พระอาทิตย์ลงมาถึงบรรยากาศชั้นล่างสุดของโลกเรา (Troposphere) ซึ่งผู้ใช้บริการนอกเหนือไปจาก mission ต่างๆใน NASA เองแล้ว คลังข้อมูลของโมเดลเหล่านี้ก็จะเป็นประโยชน์กับนักวิจัยจากทั่วโลกเลยทีเดียว

ที่มาที่ไปในการเรียนก่อนจะมาทำงานที่ NASA เป็นอย่างไร?

เราจบตรีและโทภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แล้วได้ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นไปต่อปริญญาเอกด้าน Informatics ที่ Kyoto University สาขา Communications and Computer Engineering โดยสาขาที่เรียนจะเน้นทางด้าน Remote Sensing ในงานด้านอวกาศ

ตอนเรียนอยู่ไทย สาขาที่เรียนจะออกแนววิศวกรรม แต่พอไปต่อที่ญี่ปุ่นหลักสูตรที่นั่นจะออกแนวบูรณาการทั้งด้าน Science และ Engineering และส่วนตัวก็โชคดีที่ตอนเรียนปริญญาเอก อาจารย์ที่ปรึกษาหลักมาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์และอาจารย์ที่ปรึกษารองมาจากคณะวิทยาศาสตร์ เราเองก็ได้คลุกคลีกับอาจารย์และเพื่อนๆ จากทั้งสองคณะ เลยได้เรียนรู้ทั้งตัวองค์ความรู้และมุมมอง และปรับใช้ทั้งสองศาสตร์ไปพร้อมๆกันอย่างลงตัวค่ะ

ส่วนตัวมองว่าการผสานระหว่างวิศวกรรมกับวิทยาศาสตร์ด้านอวกาศ ทำให้เรามีการตั้งคำถามที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร และสามารถเชื่อมโยงงานวิจัยไปสู่การใช้งานจริงและการแก้ปัญหาที่เกิดในโลกแห่งความเป็นจริงได้ดี เพราะความเป็นวิศวกรสอนให้เรามองทุกอย่างอย่างเป็นระบบ สอนให้เรามี Critical thinking เวลาเจอปัญหาเฉพาะหน้า สอนให้เราทำงานร่วมกับผู้คน และมีความรู้พื้นฐานในการใช้เครื่องมือทางวิศวกรรมและการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่างๆที่เราต้องใช้ใน field work เพื่อสังเกตการณ์ (observe) ชั้นบรรยากาศ Ionosphere จากภาคพื้นดิน มีพื้นฐานการเขียนโปรแกรม

ส่วนความเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านอวกาศที่มาศึกษาเพิ่มหนักๆตอนเรียนปริญญาเอกก็ทำให้เราเข้าใจจริงๆว่าข้อมูลที่ได้จากการสังเกตการณ์เหล่านี้มันสำคัญยังไง เราต้องทำงานกับอุปกรณ์ด้วยข้อมูลชุดไหน เพราะอะไร ข้อมูลที่เก็บได้เชื่อถือได้หรือไม่ เมื่อนำมาแปลผลแล้วมี Significant meaning ที่เป็นไปได้หรือเชื่อถือได้ทางวิทยาศาสตร์หรือไม่ หรือเป็นเพียง Noise จากทางวิศวกรรม เป็นต้น พอเอาทั้งสองศาสตร์มารวมกันในคนเดียวเลยหลอมตัวเราให้เป็นบุคลากรที่ทำงานได้ครอบคลุมเนื้องานที่กว้างแต่ก็ลงลึกได้ด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเป็นได้ทั้งผู้นำและผู้ตามที่เข้าใจทั้งทีม ส่งผลให้เราสามารถได้รับโอกาสต่างๆในชีวิตได้มากขึ้น

นักเรียนทุนรัฐบาลไทยไปสมัครงานที่ NASA ได้เลยไหม?

ถ้าเป็นตำแหน่งที่เขารับก็ทำได้ หลังจากเรียนจบจาก Kyoto University ที่ประเทศญี่ปุ่น ก็มาได้งานเป็นนักวิจัยที่ NICT (National Institute of Information and Communications Technology) ประเทศญี่ปุ่น และเราก็ได้ย้ายตามครอบครัวไปอเมริกา มีวันหนึ่งได้โอกาสไปร่วมงานใน validation project ของ CCMC เขากำลังเฟ้นหาผู้เชี่ยวชาญเข้าไปร่วมทีมอยู่พอดี และตำแหน่งนี้เกี่ยวข้องกับโมเดลของชั้นบรรยากาศ Ionosphere และการ simulate คลื่นวิทยุในย่านความถี่สูง เป็นงานที่ต้องใช้ความรู้แบบบูรณาการทั้งจาก Science และ Engineering ซึ่งตรงกับความรู้และประสบการณ์ที่เราสะสมมาอย่างโชกโชน ก็เลยเป็นความลงตัวที่พอเหมาะพอเจาะ เราเลยได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทีม

หลังจากเข้ามาทำงานที่ CCMC แล้วได้รับผิดชอบโปรเจคอะไรบ้าง ที่นั่นมีบรรยากาศการทำงานอย่างไร?

เรารับผิดชอบโปรเจค Validation project คือโปรเจคที่ทำภายในกำกับของ CCMC ภายใต้ Code 674 ของ NASA โดยการที่จะทำงานชิ้นนี้ให้สำเร็จ เราจะต้องใช้ข้อมูลภาคพื้นจากโปรเจค HamSCI ซึ่งเป็นอีกโปรเจคที่แยกจากกันอย่างชัดเจนและไม่ได้ถูกกำกับด้วย CCMC หน้าที่เราเหมือนเป็นตัวประสานสองโปรเจคนี้เข้าด้วยกันเพื่อ Validate โมเดลของชั้นบรรยากาศ Ionosphere ในส่วนของความสามารถในการทำนายการ Propagate ของคลื่นวิทยุย่านความถี่สูง

ถึงตรงนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าแม้ในยุคปัจจุบัน การสื่อสารผ่านดาวเทียมพัฒนาไปไกลแล้ว แต่การสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุย่านความถี่สูงยังเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ เสมอ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเครื่องบินต้องบินผ่านขั้วโลกเหนือ จะเป็นโซนที่คาดหวังว่าจะใช้การสื่อสารผ่านดาวเทียมยากด้วยเหตุผลด้านตำแหน่งของดาวเทียม ในเส้นทางเหล่านี้จะกลับมาใช้คลื่นวิทยุย่านความถี่สูงในการสื่อสารเป็นหลัก  หรือช่วงภัยพิบัติที่การสื่อสารแบบปกติเช่นโทรศัพท์หรืออินเตอร์เน็ตไม่สามารถใช้การณ์ได้ การสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุย่านความถี่สูงจะถูกนำมาใช้งานระหว่าง Disaster Relief Operations หรืออีกตัวอย่างแบบ extreme สุดๆ เลย เช่น หากเกิดสงครามโลกครั้งที่สาม แล้วมีการ target ไปที่ดาวเทียมสื่อสาร เมื่อดาวเทียมสื่อสารถูกทำลายแล้วเกิดเป็นขยะอวกาศ (Space debris) ขยะอวกาศที่ไม่ถูกเผาไหม้เหล่านี้จะสามารถสร้างความเสียหายให้กับดาวเทียมดวงอื่นๆที่อยู่ในวงโคจรเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ซึ่งสามารถส่งผลให้ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมล่มทั้งหมด เหตุการณ์แบบนี้แหละค่ะที่จะต้องกลับมาพึ่งพาการสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุย่านความถี่สูง จะเห็นได้ว่าการสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุย่านความถี่สูงเป็น backbone system ที่สำคัญต่อทั้งงานด้านพลเรือนและงานด้านความมั่นคงของแต่ละประเทศ งานนี้จึงมีความสำคัญในตัวของมันเอง

เนื่องจากชั้นบรรยากาศ Ionosphere มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทั้งรายวัน ราย 28 วันตาม solar rotation รายฤดูกาล รายปี และราย 11 ปีตาม solar cycle เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคลื่นวิทยุย่านความถี่สูงที่มีการ propagate ไปตกกระทบหรือไปผ่านชั้นบรรยากาศ Ionosphere งานที่รับผิดชอบคือทำการ Validate โมเดลของชั้นบรรยากาศ Ionosphere หลายๆโมเดลด้วยการ simulate คลื่นวิทยุย่านความถี่สูง โดยจำลองว่า หากปล่อยคลื่นวิทยุที่ความถี่ต่างๆในย่านความถี่สูงจากแต่ละตำแหน่งบนโลกไปในทิศทางต่างๆ ในแต่ละวัน เวลา หรือฤดูกาลที่ต่างๆกัน ชั้นบรรยากาศ Ionosphere ที่การเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานั้นส่งผลอย่างไรต่อการคุณลักษณะการ propagate ของคลื่นวิทยุ สัญญาณวิทยุจะส่งไปได้ไกลแค่ไหน เป็นต้น จากนั้นก็จะนำผลที่ได้ไปเปรียบเทียบกับข้อมูลการ propagate ของคลื่นวิทยุย่านความถี่สูงที่ได้มาจากการสังเกตการณ์จริงจากภาคพื้นดินซึ่งมาจากโปรเจค HamSCI ซึ่งเป็น official citizen science project ของ NASA นำโดย The University of Scranton  และ สุดท้ายแล้วเราจะบอกได้ว่าสถานที่ไหนในช่วงเวลาแบบไหน เราควรใช้โมเดลของชั้นบรรยากาศ Ionosphere โมเดลไหนป้อนเข้า HF simulator เพื่อให้ได้ผลการ propagate ของคลื่นวิทยุย่านความถี่สูงออกมาแม่นยำที่สุด ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้ในการวางแผนการสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุย่านความถี่สูงค่ะ

ส่วนบรรยากาศตอนทำงานที่นั่น ก็ต้องบอกว่าช่วงที่เราไปน่าเสียดายนิดนึงตรงที่ได้ทำงานกับนาซ่าหลังจากเกิด covid-19 ไปแล้ว วัฒนธรรมการทำงานเลยถูกปรับไปเป็นแบบไฮบริด บรรยากาศที่ออฟฟิศที่นาซ่าเลยไม่คึกคักเท่าไหร่ แต่ข้อดีคือเราก็ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาไปกับการเดินทางในทุกๆวัน สามารถเอาเวลาที่ได้เพิ่มมาไปโฟกัสกับคุณภาพงาน กับครอบครัว กับสุขภาพ ได้มากขึ้น เราชอบและสนุกกับการทำงานที่นี่มากและไม่รู้สึกแปลกแยกถึงจะไม่เคยเจอคนไทยที่นี่เลยก็ตามเพราะนาซ่าผู้คนมาจากทั่วทุกมุมโลกเลยค่ะ เป็นที่ที่สามารถพูดได้เต็มปากว่าเป็น Multicultural working environment ที่แท้จริง

จริงๆแล้วทักษะที่ใช้ในการทำงาน ไม่ว่าจะทำงานที่ไหนก็คงเหมือนๆกัน แต่ทักษะที่มองว่าสำคัญนอกเหนือไปจากทักษะทางวิชาชีพแล้วก็คือทักษะการการปรับตัว การสื่อสาร และความกล้าแสดงออก เราต้องสามารถปรับตัวเพราะแต่ละที่ก็จะมีวัฒนธรรมองค์กรณ์ที่แตกต่างกันไป

เราต้องสามารถสื่อสารเพราะหากคุณเก่งประเภทหาตัวจับไม่ได้เลยแต่คุณไม่สามารถอธิบายความคิดหรืองานของคุณให้คนอื่นเข้าใจได้ คุณค่าของงานของคุณมันอาจจะไม่สามารถเปล่งประกายได้เท่าที่ควรจะเป็น เราต้องกล้าแสดงออกเพราะหากเราไม่กล้าแสดงความเห็นออกไป ใครเล่าจะสามารถอ่านใจเราได้

การทำงานไกลบ้านแบบนี้แน่นอนว่าย่อมมีความคิดถึงบ้านบ้างเป็นธรรมดา แต่ถ้าเราชัดเจนกับตัวเองว่า งานที่เราทำนั้น สุดท้ายแล้วมันไปได้ถึงจุดที่ว่ามันจะช่วยปรับปรุงคุณภาพและความปลอดภัยของการใช้งานสัญญาณวิทยุในเทคโนโลยีต่างๆให้กับคนทั้งโลกได้ มันก็คุ้มที่จะแลก

มองว่าคุณสมบัติของผู้ที่ทำงานใน NASA มีสิ่งไหนที่องค์กรให้ความสำคัญ และอาจแตกต่างกับที่อื่น?

NASA ให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์คือความจริงและเป็นของทุกคน ทุกคนที่นี่เท่าสัมผัสได้คือถ่อมตัวแต่รู้ลึกและรู้จริงในสิ่งที่ได้รับผิดชอบอยู่ กล้าที่จะตั้งคำถามและเห็นต่างในตัวงาน วิจารณ์ในตัวงานไม่ใช่ตัวบุคคล พร้อมโอบรับความแตกต่างและการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ วันนี้เวลานี้คำตอบอาจจะเป็นอย่างนึงแต่เมื่อมีข้อพิสูจน์ใหม่ขึ้นมาก็ต้องต้องพร้อมเรียนรู้และเปิดรับสิ่งใหม่ๆที่อาจจะเพิ่งค้นพบ ต้องพร้อมที่จะเป็นผู้นำหรือผู้ตามตามแต่สถานการณ์จะกำหนด ต้องมีความยืดหยุ่นสูง ในบางสถานการณ์คุณจะได้อิสระอย่างเต็มที่แต่ในบางสถานการณ์คุณก็จะถูกตรวจเช็คทุก step ได้เช่นกัน

ในฐานะนักวิจัยด้านโทรคมนาคมและอวกาศ คุณค่า ความสนุก และความสุขในงานที่ทำอยู่คืออะไร

โปรเจคที่ทำมีความสำคัญต่อทั้งงานด้านพลเรือนและงานด้านความมั่นคงอย่างที่ได้ได้เล่าไป ส่วนตัวงานนี้จึงมีคุณค่าในตัวมันเองสูงมาก เรารู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานชิ้นนี้ และแน่นอน การได้เป็นส่วนนึงของ NASA ในช่วงเวลานึงในชีวิตมันไกลเกินฝันของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่เติบโตมาในต่างจังหวัดที่ห่างไกลของประเทศไทย อีกทั้งเป็นการท้าทายที่ได้ใช้ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่มีมาลงในโปรเจคนี้

อีกอย่างคือการได้เป็นส่วนนึงของโปรเจค HamSCI เป็นอะไรที่สนุกมากๆ เพราะ HamSCI เป็นการประสานกันที่ลงตัวของนักวิทยุสมัครเล่นทั้งโลกกับนักวิจัยด้านอวกาศ นักวิจัยจะคอยให้ความรู้และคอยเป็นแกนนำในการตั้งโจทย์ทางวิทยาศาสตร์ สร้าง campaign ต่างๆเพื่อทำงานร่วมกัน

ที่เราชอบคือ campaign ตอน total solar eclipse เมื่อเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งได้ให้นักวิทยุสมัครเล่นจะคอยให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลจากวิทยุสมัครเล่นของตัวเองโดยอัพข้อมูลลงในเว็บไซต์เพื่อเก็บข้อมูลเหล่านี้โดยเฉพาะ เพื่อนักวิจัยสามารถนำข้อมูลสมัครเล่นเหล่านี้ไปใช้ในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ แต่การเอาข้อมูลสมัครเล่นไปใช้ด้านวิทยาศาสตร์จะต้องมีความ Creative นิดนึง เพราะจะมีความยากในการแปลผลข้อมูลอยู่ค่ะ ข้อดีก็คือประหยัด เพราะเราคงไม่สามารถทำการติดตั้งเครื่องมือแบบ science grade ลงทุกจุดทั้งประเทศหรือทั่วโลกได้อย่างที่ครอบคลุมด้วย HamSCI ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ ทุกๆปีจะมีมาแชร์ข้อมูลกันที่งาน HamSCI Workshop มีการเชิญนักวิจัยหรืออาจารย์ที่เก่งๆมา lecture ให้กับทุกคน ส่วนนักวิทยุสมัครเล่นที่มางานนั้นก็มีความ proud to present ผลงานที่ตนได้เรียนรู้และทำกับ HamSCI เป็นอย่างมากค่ะ ถือเป็นอีกโปรเจคดาวรุ่งที่กระตุ้นการตื่นตัวและการรับรู้ด้านวิทยาศาสตร์ให้กับประชาชนคนทั่วไปในภาคสังคมในวงกว้าง และเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆมาสนใจงานด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น

มองว่าตลาดแรงงานในสาขาอาชีพด้านวิทยุและโทรคมนาคมเป็นอย่างไร และการเรียนสาขานี้ตอบโจทย์การใช้ความรู้ และใช้ทักษะทางอาชีพมากน้อยเพียงใด?

จริงๆแล้ว อวกาศใกล้ตัวเรามากกว่าที่เราคิด เทคโนโลยีการสื่อสารและนำทางต่างๆ (เช่น GPS ในรถ เกษตรอัจฉริยะที่ใช้ GPS ระบบรถไร้คนขับ โดรนรับ-ส่งของอัตโนมัติ เป็นต้น) ล้วนต้องใช้ความรู้ด้านอวกาศมาช่วยทำให้เทคโนโลยีเหล่านี้มีความเสถียรและปลอดภัยมากขึ้นในอนาคต หากเป้าหมายของประเทศคือความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ ประเทศไทยของเรายังขาดแคลนบุคลากรคุณภาพและการสนับสนุนในสายงานนี้เป็นอย่างมาก ถ้ามองตลาดงานตอนนี้ ขึ้นอยู่กับว่าจบไปแล้วอยากทำอะไร ถ้าอยากทำวิจัยแน่นอนว่าแนะนำให้ไปถึงปริญญาเอกเพราะต้องลงลึกจริงๆ ตลาดงานวิจัยที่ไทย เท่าที่ทราบนอกจากที่มหาวิทยาลัยแล้วก็น่าจะเป็นที่ GISTDA ค่ะ แต่จริงๆแล้วงานด้านการนำทางและการสื่อสารก็ทำได้เช่นกันค่ะ จากประสบการณ์การทำงานทั้งที่ญี่ปุ่นและที่อเมริกาพบว่า สายงานนี้ได้คั้นเอาความรู้ความสามารถทุกหยดที่มีมาใช้จริงๆ

เรื่อง : อรรถภูมิ อองกุลนะ

ภาพ : กรยณัฐน์ โฮะซึมิ


อ่านเพิ่มเติม : “จักรกริช สังขมณี” มานุษยวิทยามหาสมุทร ถอดรหัสมนุษย์ในระบบนิเวศใต้ทะเล

Recommend