หลักสูตรวิทยาการหุ่นยนต์สุขภาพ ม.หัวเฉียวฯ สร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมสูงวัย

หลักสูตรวิทยาการหุ่นยนต์สุขภาพ ม.หัวเฉียวฯ สร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมสูงวัย

วิทยาการหุ่นยนต์สุขภาพ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มองไปข้างหน้ากับการสร้างบัณฑิตที่ตอบโจทย์นวัตกรรมดูแลสุขภาพในสังคมสูงวัย

ขณะที่ประเทศไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย เป็นเวลาเดียวกันกับที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีเติบโตขึ้นและเข้ามาช่วยในเรื่องความสะดวกสบายในหลากหลายรูปแบบอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในทศวรรษก่อนหน้า ทั้งหน้าบ้านอย่างหุ่นยนต์ดินสอ หรือหลังบ้านอย่างหุ่นยนต์จัดยา

มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะมหาวิทยาลัยทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ตามนโยบายในการสร้างหลักสูตรที่ทันสมัยและตอบโจทย์ตามแนวทางของมหาวิทยาลัย จึงเกิดขึ้นเป็นหลักสูตรวิทยาการหุ่นยนต์สุขภาพ หลักสูตรนานาชาติ (Health Robotics) เป็นสาขาวิชาใหม่ล่าสุดในคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อผนวกรวมเอา 3 ศาสตร์ ได้แก่ วิทยาศาสตร์สุขภาพ, ปัญญาประดิษฐ์ และวิศวกรรม มาสร้างสรรค์บุคลากรผู้ใช้นวัตกรรมให้เกิดประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพประชากร

รศ.ดร.ประยูรศักดิ์ เปลื้องผล อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการหุ่นยนต์สุขภาพ

“ทำไมต้องเป็น Health Robotics? Health มาจาก Healthcare คือการดูแลสุขภาพผู้ป่วยหรือผู้สูงวัยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ ซึ่งก็เป็นตัวตนของหัวเฉียวฯ ส่วน Robotics เป็นทักษะและเครื่องมือชั้นสูงรูปแบบใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในโลกยุคนี้ เมื่อทั้งสองมารวมกัน จึงตอบความต้องการของสังคมในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีก้าวหน้า จับต้องได้ และช่วยเหลือลูกหลานในวัยทำงาน ซึ่งอาจมีเวลาในการดูแลผู้สูงอายุไม่ได้มากเท่าที่ควร” รศ.ดร.ประยูรศักดิ์ เปลื้องผล เล่าให้เราฟังถึงที่มาของการเริ่มต้นหลักสูตรนี้

หุ่นยนต์สุขภาพ ผู้ช่วยคู่ใจของผู้คนในโลกอนาคต

แล้วหุ่นยนต์สุขภาพแตกต่างจากหุ่นยนต์ธรรมดาที่เรารู้จักอย่างไร?

เพราะหุ่นยนต์สุขภาพ คือหุ่นยนต์ที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์ และทำหน้าที่ช่วยเหลือโดยตรงกับผู้ป่วย ถ้ายกตัวอย่างให้เห็นภาพก็เช่น หุ่นยนต์ดินสอ ที่สามารถพูดคุยและโต้ตอบกับผู้ป่วยแบบรายบุคคลในโรงพยาบาล จึงทำหน้าที่เป็นผู้คัดกรองผู้ป่วยในขั้นต้นก่อนส่งถึงมือบุคลากรทางการแพทย์ ช่วยในเรื่องความรวดเร็วและอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงผู้ป่วย

หรือในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา หุ่นยนต์ช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมีบทบาทเป็นอย่างยิ่งในการลดความเสี่ยงในการสัมผัสของผู้ปฏิบัติงานบริบาล เพื่อให้สามารถส่งผู้ป่วยได้ถึงมือแพทย์ตามมาตรการรักษาระยะห่างในขณะนั้น ตัวอย่างของหุ่นยนต์สุขภาพแสดงให้เห็นว่า การโฟกัสในเรื่องของการดูแลผู้ป่วยเป็นอีกผู้ช่วยในระบบสาธารณสุขของเมืองไทยได้เป็นอย่างดี

โดยนิยามของคำว่าหุ่นยนต์สุขภาพ ก็ตีความไปได้ไกลนอกจากเป็นโรบอท ยังอาจเป็นอุปกรณ์ หรือเครื่องมือสื่อสาร เพื่อติดตาม เป็นสัญญาณเตือน หรือป้องกันไว้ก่อนล่วงหน้า ซึ่งทั้งหมดนี้หมายความถึง ‘อุปกรณ์หรือหุ่นยนต์ที่ช่วยผ่อนคลายให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกดีขึ้น ช่วยเหลือบริการฟื้นฟูดูแลสุขภาพ ไปจนถึงการบรรเทาความทุกข์ ความเครียด ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งในการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสะดวกสบายขึ้น”

Big Data ก็เป็นอีกหนึ่งในประเด็นสำคัญในการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของประเทศไทย ซึ่งภาพรวมระบบสาธารณสุขของประเทศมีการจัดเก็บข้อมูล รวมทั้งการดูแลช่วยเหลือแล้ว การดึงเอาข้อมูลปริมาณมากมาวิเคราะห์เพื่อใช้ประโยชน์ในการติดตามหรือพยากรณ์สถานการณ์สุขภาพทั้งโรคหรือภาวะต่างๆ ของประชากร จึงเป็นหน้าที่และสิ่งสำคัญสำหรับการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขของประเทศในอนาคต

ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ กับทักษะนวัตกรรม

หลักสูตรนี้นับว่าเป็นเรื่องใหม่ทั้งหมดที่จะต้องรวมทั้ง 3 ศาสตร์เข้ามาบูรณาการร่วมกัน ทางหัวเฉียวฯ ที่ทำงานในสายการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพอยู่แล้ว จึงเซ็นสัญญา MOU ร่วมกันกับสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในองค์ความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ และได้รับความอนุเคราะห์จากสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน โดยอาศัยองค์ความรู้และผู้เชี่ยวชาญมาเป็นผู้จัดการเรียนการสอนทางด้านโรบอติกและวิศวกรรม

“เพราะเราต้องบูรณาการทั้ง 3 ศาสตร์มารวมกัน เพราะฉะนั้น ตัวเด็กก็จะต้องหลากหลายกว่า เท่ากับในเด็กหนึ่งคนจะมีสกิลที่ทำได้หลายอย่างมากขึ้น รวมทั้งการเรียนการสอนในแบบนานาชาติ จะทำให้เขามีทักษะในเรื่องความรู้ความเข้าใจและการอัปเดตนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก”

รูปแบบการเรียนการสอนเริ่มต้นที่ชั้นปีที่ 1 ที่จะได้เรียนวิชาพื้นฐานทั้งทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ อย่างวิชาทางด้านกายวิภาคและสรีระ พร้อมกันกับกลไกในทางวิศวกรรม อย่างวิชาโปรแกรมมิ่ง หรือดรออิ้ง เพื่อปูพื้นฐานขึ้นไปยังปีที่ 2 ที่เข้าสู่วิชาเฉพาะทางมากขึ้น อย่างวิชาเครื่องมือทางการแพทย์ (Medical Instruments and Robotics)

เมื่อเข้าสู่ชั้นปีที่ 3 จะเข้าสู่วิชาเฉพาะในทางวิศวกรรมมากขึ้น​ โดยได้รับความช่วยเหลือจาก สจล. ก่อนไปสู่การเรียนกับตลาดแรงงานอย่างแท้จริงผ่านวิชาสหกิจศึกษา โดยนักศึกษาจะได้อัปเดตความรู้และลงมือปฏิบัติจริงด้วยการเรียนรู้กับผู้ประกอบการโดยตรง “เพราะผู้ประกอบการจะอัปเดตและมีเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ ดังนั้น การที่เรามีคอนเนกชันและส่งเด็กไปฝึกงานในที่จริง จะทำให้เด็กของเราอินเทรนด์อยู่ตลอดเวลา และได้คิดกลับกันในมุมของผู้ประกอบการด้วย”

‘ภาษาจีนคืออัตลักษณ์ของหัวเฉียวฯ’ นักศึกษาที่เรียนในหลักสูตรนี้จะได้เรียนภาษาจีนพื้นฐานได้ถึง 7 ระดับ โดยสามารถเลือกเรียนได้ตามความต้องการของแต่ละคน ซึ่งภาษาจีนนี่เองจะเป็นสะพานที่พานักศึกษาไปสู่การฝึกงานหรือแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยเครือข่ายในประเทศจีน จุดนี้เองที่ช่วยเสริมให้หลักสูตรนี้ของหัวเฉียวฯ แข็งแกร่งและโดดเด่น

นอกจากทักษะด้านวิชาความรู้ สิ่งที่ต้องการมองเห็นในนักศึกษาสาขาวิชานี้ของหัวเฉียวฯ คือความมุ่งมั่นตั้งใจ “ตอนสมัครเข้า เราก็จะให้เขียนเรียงความเกี่ยวกับความมุ่งมั่นที่และแรงจูงใจจะเรียนหลักสูตรนี้ เพื่อให้ตัวเด็กเองมั่นใจว่าจะก้าวเข้าสู่การศึกษาด้วยความรักและความสนใจ”

เส้นทางอาชีพหลังจบการศึกษาจากหลักสูตรวิทยาการหุ่นยนต์สุขภาพ เป็นไปได้ทั้งนักวิชาการหุ่นยนต์ที่มีศักยภาพในการออกแบบหรือควบคุมกลไกการทำงานหุ่นยนต์ โดยเฉพาะในด้านสุขภาพเป็นหลัก หรือจะเป็นผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีที่มีความเข้าใจกลไกทางด้านสุขภาพที่สามารถปฏิบัติได้จริง

“สรุปแล้วคือ เราจะได้บัณฑิตผู้รู้จริงทางด้านการดีไซน์หรือเข้าใจหุ่นยนต์ และยังเป็นผู้ที่มีความรู้งานพื้นฐานทางด้านสุขภาพด้วย”

“หลักสูตรนี้เหมือนกับเรากำลังมองไปยังอนาคต” อาจารย์ประยูรศักดิ์กล่าวสรุป “เรามองว่าอนาคตหุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จากที่เรามองเห็นปัญหาผู้สูงวัยที่กำลังเกิดขึ้น ขณะเดียวกันกับยุคเทคโนโลยีที่มีคำว่านวัตกรรมเข้ามา ดังนั้นทุกอย่างจึงตอบโจทย์กันและกัน และเป็นแนวโน้มของอนาคตที่หลักสูตรมอง เพราะทั้งโลกต้องช่วยกันพัฒนาไปเรื่อยๆ”

เรื่อง : ณัฐนิช ชัยดี

ภาพ:  ฤทธิรงค์ จันทองสุข


อ่านเพิ่มเติม : วิทยาลัยพัฒนามหานคร กับพันธกิจสร้างบัณฑิตที่เข้าใจเมือง

Recommend