สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว ตัวการคร่าชีวิตในอนาคต?

สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว ตัวการคร่าชีวิตในอนาคต?

สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว ตัวการคร่าชีวิตในอนาคต?

อุทกภัยครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตชาวญี่ปุ่นไปราว 200 คน รวมไปถึงคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นทางตะวันออกของแคนาดา ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 70 คน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2018 อาจเป็นสัญญาณเตือนบางอย่างถึงการเปลี่ยนแปลงของ สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว ด้านผู้เชี่ยวชาญเองเชื่อว่าในอนาคตมนุษยชาติจะเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมากขึ้นเรื่อยๆ หากปัญหาก๊าซเรือนกระจกยังคงไม่ได้รับการแก้ไข

“เป็นอีกครั้งที่โลกของเราเผชิญกับสภาพอากาศรุนแรงอย่างสุดขั้ว ซึ่งรวมไปถึงกรณีคลื่นความร้อนและไฟป่าที่เกิดขึ้นในแคลิฟอร์เนีย และน้ำท่วมจากพายุฝนในญี่ปุ่น และภาวะโลกร้อนจะทำให้มันยิ่งเลวร้ายมากขึ้น” Stefan Rahmstorf ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศจากสถาบันวิจัยผลกระทบสภาพอากาศ Postdam ในเยอรมนี หรือ PIK กล่าว

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา สภาพอากาศรุนแรงอย่างพายุ, น้ำท่วมฉับพลัน, คลื่นความร้อน ตลอดจนอากาศเย็นนอกฤดูกาลได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วหลายแสนคน และอีกกว่าพันล้านคนที่ได้รับบาดเจ็บ รายงานจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO ร่วมกับสหประชาชาติ

ผลการศึกษาจาก The Lancet Planetary Health เมื่อปี 2017 ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในแต่ละปี ประกอบกับการพยากรณ์รูปแบบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พวกเขาคาดการณ์ว่าระหว่างปี 2017 – 2100 อาจมีชาวยุโรปมากถึง 152,000 คนที่เสียชีวิตจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแบบสุดขั้ว ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นจำนวนมากกว่าถึง 50 เท่า เมื่อเทียบกับสถิติการเสียชีวิตเพราะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงในระหว่างปี 1981 – 2010 โดยระบุว่าคลื่นความร้อนคือสิ่งที่น่ากลัวที่สุด

สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว
แผนภูมิแสดงจำนวนครั้งของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั่วโลกตั้งแต่ปี 1950 – 2017
กราฟิกโดย DW

 

การประมาณที่เกินจริง?

แม้ว่าผลกระทบจากความรุนแรงของสภาพอากาศจะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ทว่า Clare Nullis เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กรจาก WMO กล่าวกับสำนักข่าว DW ว่า ตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศเสมอไป โดยยกตัวอย่างสถานการณ์ของปีที่ผ่านมาที่แม้จะเผชิญกับมรสุม แต่การวิเคราะห์ข้อมูลนั้นจำเป็นต้องทำอย่างระมัดระวัง เนื่องจากมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย เช่น สภาพเศรษฐกิจ เป็นต้น

ด้าน Ovais Sarmad รองเลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC ประจำเยอรมนีเห็นด้วยในประเด็นนี้ โดยระบุว่าผลการคาดการณ์สภาพอากาศที่จะกระทบต่อชีวิตของชาวยุโรปนั้นค่อนข้างที่จะเกินจริงไป “แม้ว่าจะมีการบันทึกข้อมูลและผลกระทบจากสภาพอากาศทุกปี แต่มันยากที่จะคาดการณ์” นอกจากนั้นยังเสริมว่ากว่า 50% ของผู้คนที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นนั้น ได้รับผลกระทบจากผลข้างเคียงของภัยพิบัติ เช่นดินถล่มที่เกิดตามมาจากพายุฝน จึงสร้างความซับซ้อนเพิ่มไปอีกขั้นในการเก็บข้อมูล

สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว
ช่วงหลายปีที่ผ่านมาชาวเยอรมันเผชิญกับน้ำท่วมบ่อยครั้งขึ้น
ขอบคุณภาพจาก Getty Images

 

ข้อตกลงปารีสคือกุญแจสำคัญ

ท่ามกลางการถกเถียงถึงความรุนแรงของผลกระทบ แต่มีสิ่งหนึ่งที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันก็คือ “จะหยุดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแบบสุดขั้วได้ก็ต่อเมื่อข้อตกลงปารีสได้รับการดำเนินการอย่างรวดเร็วเต็มรูปแบบ” Rahmstorf กล่าว

Sarmad ชี้ว่าที่ผ่านมาทางสหประชาชาติเองก็ทำงานอย่างเต็มที่ร่วมกับรัฐบาลของ 178 ประเทศที่ให้สัตยาบันกับข้อตกลงปารีส รวมไปถึงบรรดาธุรกิจและหน่วยงานเอกชน โดยมีจุดประสงค์เดียวกันเพื่อลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก “สหประชาชาติร่วมมือกับหลายองค์กรที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนรัฐบาลเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ด้วยวิธีนี้จะช่วยให้เราหยุดความกังวลต่อตัวเลขผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติในอนาคตได้” เขากล่าว

สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว
แผนที่แสดงประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้วตั้งแต่ปี 1997 – 2016 โดยสีแดงคือประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
กราฟิกโดย DW

ทั้งนี้ในความร่วมมือนั้นยังรวมไปถึงการเตรียมพร้อมสำหรับการเกิดภัยพิบัติอีกด้วย ด้าน Nullis เสริมประเด็นที่น่าสนใจ โดยระบุว่ากุญแจสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเน้นย้ำถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศแบบสุดขั้ว เพื่อกระตุ้นให้สังคมตื่นตัวกับเรื่องนี้กันมากขึ้น “เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนั้นส่งผลกระทบในทุกด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นอาหาร, สุขภาพ, การบริหารจัดการน้ำ ไปจนถึงที่อยู่อาศัย ทว่าการพยากรณ์ที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนความพยายามในการลดความเสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัติจะสามารถช่วยชีวิตมนุษยชาติได้”

อย่างไรก็ดีท่ามกลางความเบื่อหน่ายประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมในมุมมองของคนทั่วไป ขณะนี้มีหลายรัฐบาลที่ยังคงพยายามลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามที่ให้สัตยาบันไว้ ยกตัวอย่างเช่น ในสหภาพยุโรป รายงานจากปลายปี 2017 หรือสองปีหลังข้อตกลงปารีส พวกเขาระบุว่าสามารถลดการผลิตก๊าซเรือนกระจกได้จริง และจะเดินหน้าลดไปเรื่อยๆ ให้ถึงอย่างน้อย 40% ภายในปี 2030 นี้

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าว DW

 

อ่านเพิ่มเติม

ผู้คนราว 143 ล้านคนจะกลายเป็นผู้ลี้ภัยจากสภาพภูมิอากาศ

Recommend