แพลงก์ตอนในโลกที่ท่วมท้นไปด้วยไมโครพลาสติก

แพลงก์ตอนในโลกที่ท่วมท้นไปด้วยไมโครพลาสติก

แพลงก์ตอนในโลกที่ท่วมท้นไปด้วย ไมโครพลาสติก

ชีวิตมีทางของมันในทุกที่ และเบ่งบานงอกงามแม้ไม่อาจมองเห็นด้วยตา กระแสน้ำในมหาสมุทรที่พัดเวียนได้สร้างให้ผิวน้ำทะเลเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดแก่บรรดาแพลงก์ตอนตัวจิ๋ว และเมื่อพวกมันรวมตัวกันมากเข้า ปลาที่หิวโหยก็จะตามมา ก่อกำเนิดห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ แต่ทุกวันนี้นักวิจัยพบสมาชิกใหม่ที่ไม่ได้รับเชิญ “พลาสติก”

“ปริมาณที่พบแค่ในตัวอย่างเล็กๆ สำหรับผมมันน่าตกใจมาก” David Liittschwager ช่างภาพ และนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกกล่าว เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ตัวเขาร่วมกับนักวิทยาศาสตร์เก็บตัวอย่างน้ำทะเลจากชายฝั่งของฮาวาย สถานที่ซึ่งอุดมไปด้วยแพลงก์ตอนจำนวนมาก พวกเขาตักผิวน้ำทะเลปริมาณ 400 ลูกบาศก์เมตรบรรจุลงถัง 5 แกลอนกลับไปยังห้องปฏิบัติการบนเกาะใหญ่ นอกจากนั้น Liittschwager ยังศึกษาตัวอย่างน้ำผิวดินจากเมือง Plymouth บนเกาะอังกฤษควบคู่ไปด้วย

Littschwager แบ่งตัวอย่างน้ำที่เก็บได้ใส่ถาด เพื่อเตรียมถ่ายภาพในระยะใกล้ที่สุด โลกที่ปรากฏคืออาณาจักรอันแยกจากกันไม่ได้ของแพลงก์ตอนและไมโครพลาสติก ลูกปลาตัวจิ๋วว่ายเคียงคู่อยู่กับชิ้นพลาสติกสีสันสดใส ถัดออกไปคือเศษของเอ็นตกปลา และบางถาดมีขยะแน่นเสียจนตัวเขาแยกไม่ออกว่าสิ่งใดคือสิ่งมีชีวิต และสิ่งใดไม่มีชีวิต

ภาพถ่ายชุดนี้ดูราวกับงานศิลปะแอบสแตรกที่เต็มไปด้วยสีสันแห่งมหาสมุทร ทว่าภายใต้ความสวยงามนี่คือภัยร้ายที่กำลังคุกคามและเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ไมโครพลาสติกคือชื่อเรียกของขยะพลาสติกที่มีขนาดไม่เกิน 5 มิลลิเมตร พบได้ทั่วมหาสมุทร ในแม่น้ำ หรือแม้แต่ร่องลึกที่สุดของโลก พวกมันคือผลผลิตจากการแตกหักของขยะพลาสติกในทะเลเมื่อเผชิญกับคลื่นและแสงยูวี

ไมโครพลาสติก
ภาพเปรียบเทียบระหว่างสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วในทะเล (ซ้าย) กับขยะพลาสติก (ขวา) ทั้งหมดมาจากตัวอย่างน้ำปริมาณ 358 ลูกบาศก์เมตรของฮาวาย
ภาพถ่ายโดย David Liittschwager

ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์มากมายพยายามที่จะหาว่าไมโครพลาสติกเหล่านี้อันตรายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในทะเลมากแค่ไหน ในปี 2017 งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าปลาแอนโชวี่มากมายกินไมโครพลาสติกเข้าไป เพราะกลิ่นที่คล้ายสาหร่ายทำให้เข้าใจผิดว่าขยะเหล่านี้คืออาหาร ปลาเล็กๆ จะถูกปลาใหญ่กินต่อตามห่วงโซ่อาหาร สร้างความกังวลว่าสุดท้ายแล้วไมโครพลาสติกจากขยะที่เราทิ้งจะวนกลับมายังมื้ออาหาร และส่งผลต่อสุขภาพตัวของเราเอง รายงานอีกชิ้นเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมาพบว่าขณะนี้ 90% ของเกลือที่ใช้ปรุงอาหาร ล้วนปนเปื้อนไปด้วยไมโครพลาสติกแล้ว

“พลาสติกคือวัสดุที่มหัศจรรย์มาก” Liittschwager กล่าว “แต่ความคิดที่นำวัสดุนี้ไปผลิตข้าวของที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งต่างหากที่น่าเหลวไหล” และวิกฤตนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น ในปี 1994 ตัวเขาออกสำรวจชายหาดในฮาวายที่รับขยะมาจากแพขยะแห่งแปซิฟิก สิบปีต่อมาดูเหมือนว่าผลกระทบจะลุกลามมากขึ้น ตัวเขาอยู่บนเกาะห่างไกลในฮาวายอีกครั้ง ร่วมหาคำตอบกับนักวิทยาศาสตร์ว่าทำไมลูกนกอัลบาทรอสถึงล้มตายตั้งแต่ยังเล็ก ผลการชันสูตรพบฝาขวดน้ำ และเศษพลาสติกอื่นๆ ในท้องของมัน

กระนั้น Liittschwager เล่าว่าสิ่งที่เขาทำเป็นเพียงบันทึกความจริง “ผมอยากให้ผู้คนได้เห็นว่าขณะนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง” เขากล่าว

เรื่อง Sarah Gibbens และ Laura Parker

ภาพถ่ายโดย David Liittschwager

ไมโครพลาสติก
ปลาวัว และไมโครพลาสติกภายในตัวอย่างน้ำทะเลจากชายหาด Kiholo ของฮาวาย พิจารณาจากขนาดแล้ว นักวิทยาศาสตร์ของ NOAA คาดว่าเจ้าปลาตัวนี้น่าจะมีอายุได้ 50 วัน
ภาพถ่ายโดย David Liittschwager
ไมโครพลาสติก
ปลา mahi-mahi วัยหนุ่ม (ตรงกลาง) ว่ายวนอยู่ในโลกใบจิ๋วที่ท่วมท้นไปด้วยขยะพลาสติก
ภาพถ่ายโดย David Liittschwager

 

อ่านเพิ่มเติม

โลกของ Aquaman กำลังจมขยะพลาสติก

 

Recommend