ขยะพลาสติก : ภัยคุกคามใหม่แห่งท้องทะเล
ลูกปลาเกิดใหม่กำลังกิน ขยะพลาสติก ขนาดจิ๋วแทนอาหาร หากลูกปลาตาย ปลาใหญ่จะมีจำนวนน้อยลง และนั่นอาจสะเทือนห่วงโซ่อาหารได้
เมื่อไม่นานมานี้ ฉันไปดำน้ำแบบสนอร์เกิลในมหาสมุทรแปซิฟิก ห่างจากชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะโอวาฮูราว 750 เมตร สันเกาะช่วงนี้ลาดชันทีเดียว และพื้นทะเลก็หายไปอย่างรวดเร็วใต้ท้องเรือที่กำลังแล่นไปยังจุดดำน้ำ ตามปกติทิวเขาจะช่วยบังผืนน้ำบริเวณนี้จากลมค้า แต่วันนั้นสายลมอ่อนก่อให้เกิดคลื่นเบาๆ ทำให้ฉันเกือบพลาดสิ่งที่ตั้งใจมาดู นั่นคือคราบมันบางๆบนผิวน้ำซึ่งอุดมไปด้วยอนุภาคอินทรีย์ ที่ลูกปลาเกิดใหม่ใช้เป็นแหล่งอาหารและดิ้นรนเอาชีวิตรอดในช่วงสัปดาห์แรกๆของชีวิต
ฉันจุ่มหน้าลงในคราบมันนั้น รู้สึกเหมือนกำลังมองเข้าไปในแหล่งอนุบาลปลา ไข่ปลาลอยฟ่องเหมือนโคมไฟดวงจิ๋ว ถุงไข่แดงวับวาวกลางแสงแดด ตัวอ่อนปลาขนาดเท่าแมลงเต่าทองพุ่งไปมา ปลาสลิดหินบั้งขนาดเท่าปลายนิ้วที่ว่ายผ่านไปดูตัวใหญ่ขึ้นมาทีเดียว เบื้องล่างเราคือฝูงปลาตาโตหน้าตาเหมือนปลาแมกเคอเรลแต่ตาโตกว่า ขนาด 30 เซนติเมตร พวกมันกินทุกอย่างที่โชคร้ายเกิดมามีขนาดเล็ก
มัคคุเทศก์ของฉันวันนั้นคือเจมิสัน โกฟ นักสมุทรศาสตร์ และโจนาทาน วิตนีย์ นักชีววิทยาด้านปลาจากสำนักงานบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือโนอา ในโฮโนลูลู พวกเขาทำโครงการวิจัยที่มุ่งศึกษาฉากอันสับสนวุ่นวายนี้มาเกือบสามปีแล้ว
สิ่งที่โกฟและวิตนีย์ค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ และสิ่งที่เดวิด ลิตต์ชวาเกอร์ ถ่ายภาพได้จากตัวอย่างน้ำที่พวกเขาเก็บมา คือคราบมันนอกชายฝั่งฮาวายไม่ได้มีแค่ปลากับอาหารปลาเท่านั้น แต่ยังมีไมโครพลาสติก หรือขยะพลาสติกขนาดเล็กจิ๋วของมนุษย์รวมอยู่ด้วย และมีมากเสียจนตัวอ่อนปลากินมันในวันแรกๆของชีวิต
สำหรับลูกปลาแรกเกิด การกินคือการอยู่รอดต่อไปอีกวัน แต่ถ้าอาหารมื้อแรกคือขยะพลาสติก พวกมันจะไม่ได้พลังงานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตพอที่จะอยู่รอดไปถึงวันที่สอง “พวกมันต่อสู้อย่างหนักกว่าจะมาได้ไกลขนาดนี้ครับ” โกฟบอกและเสริมว่า “พวกมันฟักออกจากไข่ พบคราบมัน กินและเติบโต นี่คือปลาหนึ่งในสิบของหนึ่งเปอร์เซ็นต์ที่มาได้ขนาดนี้ พวกมันคือผู้โชคดี แล้วขยะพลาสติกก็ดันเข้ามาเสียนี่”
ขยะพลาสติกซึ่งส่วนใหญ่มาจากแม่น้ำหรือถูกทิ้งขว้างบนบก ไหลลงสู่มหาสมุทรในอัตราเฉลี่ยประมาณปีละเก้าล้านตัน ตามผลการศึกษาเมื่อปี 2015 ของเจนนา แจมเบ็ก จากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย แสงแดด ลม และคลื่น ค่อยๆกร่อนทำลายพลาสติกในมหาสมุทรให้เป็นเศษเสี้ยวที่มองด้วยตาเปล่าแทบไม่เห็น หนึ่งในสิ่งที่เรายังไม่รู้และเป็นข้อวิตกใหญ่หลวงที่สุดคือ ไมโครพลาสติกซึ่งมีขนาดไม่ถึงห้ามิลลิเมตรเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อปลาอย่างไรบ้าง
ปลาคือแหล่งโปรตีนสำคัญของผู้คนเกือบสามพันล้านคน รวมทั้งนกทะเลและสัตว์ทะเลอื่นๆอีกนับไม่ถ้วน แต่ผลการสำรวจชี้ว่า ประชากรปลาทั่วโลกลดลงครึ่งหนึ่งตั้งแต่ปี 1970 การลดลงส่วนใหญ่เกิดจากการทำประมงเกินขนาด แต่มลพิษรวมถึงน้ำที่อุ่นขึ้นและกลายเป็นกรดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ส่งผลกระทบมากขึ้นด้วย
ปลาส่วนใหญ่ในมหาสมุทรเป็นพ่อแม่ที่แย่ พวกมันปล่อยไข่หลายพันหรือกระทั่งหลายล้านฟองกับสเปิร์มลงสู่มหาสมุทรอันไพศาลโดยไม่เคยเห็นหน้าลูกเลย เมื่อไข่ฟักเป็นตัวในอีกวันสองวันต่อมา ลูกปลาก็ต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดด้วยตัวเอง
ปลาที่เพิ่งฟักเป็นตัวจะดูผิดรูปผิดร่าง หัวใหญ่เกินขนาด หางแทบไม่มี พวกมันต้องกินเป็นพายุบุแคมเพื่อให้ร่างกายเจริญเติบโต ขณะที่ลูกมนุษย์พัฒนาร่างกายในมดลูก พัฒนาการหลักๆของปลาจะเกิดหลังลืมตาออกมาดูโลกที่โหดร้ายแล้ว
“ปลาฟักตัวเร็วสุดๆครับ” วิตนีย์บอก “พวกมันมีสมองขนาดเล็ก ครีบบางส่วนยังไม่มีด้วยซ้ำ ตับก็ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ระบบการได้ยินหรือการเห็นก็ด้วย พวกมันพัฒนาแค่ครึ่งๆกลางๆเท่านั้น แต่ว่ายน้ำ กินอาหาร และป้องกันตัวเองได้เป็นอย่างดีครับ”
ลูกปลาส่วนใหญ่ตายเพราะสัตว์นักล่าหรือการอดอาหาร “นั่นคือเหตุผลที่ปลาวางไข่จำนวนมากมายมหาศาลค่ะ” ซู สปอนอเกิล นักนิเวศวิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยออริกอนสเตต ผู้เชี่ยวชาญเรื่องชีวิตในระยะแรกๆของปลา บอก
ระยะตัวอ่อนนั้นอันตรายทุกย่างก้าว เริ่มจากความจำเป็นที่ตัวอ่อนปลาต้องหาอาหาร ซึ่งพวกมันจะหาได้จากคราบมันบนผิวน้ำที่ส่วนใหญ่ก่อตัวอยู่ในภูมิภาคชายฝั่งทั่วโลก ที่ใดก็ตามที่กระแสน้ำ น้ำขึ้นลง หรือคลื่นใต้น้ำทำให้ไขอินทรีย์ที่ลอยอยู่มารวมตัวและจับตัวกัน
ตัวอ่อนปลาบางส่วนว่ายน้ำไปหาคราบมัน บางส่วนลอยล่องไป เช่นเดียวกับไข่ที่ยังไม่ฟัก สัตว์นักล่ามารวมตัวกันบนคราบมันด้วย ถ้าลูกปลาหาทางหลบเลี่ยงการถูกกินและหาอาหารได้มากพอ มันจะมีความยาวราวห้าเซนติเมตรตอนบ่ายหน้ากลับไปยังถิ่นอาศัยถาวรของมัน หากกระแสน้ำเป็นใจ ก็จะพาพวกมันไปส่งถึงที่ หากกระแสน้ำไม่เป็นใจ ก็จะพัดพวกมันออกสู่ทะเล ชีวิตตัวอ่อนปลาเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายตั้งแต่ยังไม่เจอขยะพลาสติกแล้ว
วิทยาศาสตร์ยังไม่รู้แน่ชัดว่า พลาสติกเหล่านั้นก่ออันตรายอย่างไร แต่การทดสอบในห้องปฏิบัติการพบเงื่อนงำบางอย่าง พลาสติกลดความอยากอาหารและอัตราการเติบโตของปลาที่กินพลาสติกเข้าไป นั่นอาจส่งผลต่อการสืบพันธุ์และจำนวนประชากรได้ในที่สุด
ในห้องปฏิบัติการ วิตนีย์กับโกฟดูแลการผ่าตัวอ่อนปลากว่า 650 ตัว ส่วนใหญ่มีความยาวระหว่าง 8 ถึง 13 มิลลิเมตร พวกเขาพบพลาสติกในตัวอ่อนปลาร้อยละ 8.6 ที่จับได้ในคราบมัน นั่นฟังดูเหมือนไม่มาก และปลาที่อยู่ด้านนอกคราบมันก็มีพลาสติกน้อยกว่านั้นครึ่งหนึ่ง แต่นักวิทยาศาสตร์รู้ว่า การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในการเอาชีวิตรอดของตัวอ่อนปลา อาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงของประชากรปลาซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นทอดๆขึ้นไปตามห่วงโซ่อาหาร
เรื่อง ลอรา ปาร์กเกอร์
ภาพถ่าย เดวิด ลิตต์ชวาเกอร์
อ่านสารคดีฉบับเต็มได้จาก นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนพฤษภาคม 2562
อ่านเพิ่มเติม
การทำความสะอาดชายหาดไม่อาจเก็บขยะพลาสติกจำนวนหลายล้านชิ้น