ไฟป่า : ภารกิจดิ่งสู่ไฟนรกของเหล่าสโมกจัมเปอร์

ไฟป่า : ภารกิจดิ่งสู่ไฟนรกของเหล่าสโมกจัมเปอร์

ไฟป่า : ภารกิจดิ่งสู่ไฟนรกของเหล่าสโมกจัมเปอร์

ทุกฤดูร้อน นักผจญเพลิงทางอากาศระดับหัวกะทิที่เรียกกันว่า สโมกจัมเปอร์จะกระโดดร่มลงสู่พื้นที่ทุรกันดารของอะแลสกา เพื่อเร่งรุดดับ ไฟป่า ในพื้นที่ห่างไกล

ะวันยังลอยโด่งบนท้องฟ้าฤดูร้อนของอะแลสกา ตอนที่มีรายงานไฟไหม้ป่าเข้ามาเมื่อเวลา 21:47 น.

ทันทีที่เสียงหวอดังขึ้น สโมกจัมเปอร์ (smokejumper – พลร่มผจญไฟป่าของสหรัฐฯ) แปดนายรีบพุ่งไปยังราวแขวนชุดกระโดดร่ม ในสภาพแต่งกายพร้อมอยู่ก่อนแล้วในชุดรองเท้าบูตเดินป่า กางเกงสีเขียวเข้ม และเสื้อเชิ้ตสีเหลืองสดใส  ทุกคนต่างรีบคว้าชุดกระโดดร่มผ้าเคฟลาร์มาสวมใส่

“พลร่มชุดแรกเจอกันที่เครื่องบิน!” คำสั่งเรียกตัวดังจากอินเตอร์คอม

ตอนนี้พวกเขามีเวลาสองนาทีเป๊ะสำหรับสวมเครื่องเคราและขึ้นไปประจำที่บนเครื่องบิน ซึ่งเป็นขั้นตอนปฏิบัติการที่ฝึกซ้อมกันมาแล้วอย่างเข้มข้น  มือไม้พวกเขาเคลื่อนไหวรวดเร็วไปทั่วร่างกาย ระหว่างสวมสนับเข่าและสนับแข้ง รูดซิปชุดกระโดดร่ม และสวมชุดสายรัดตัวไนลอนอย่างหนา ชุดกระโดดร่มของพวกเขาบรรจุพร้อมอยู่ก่อนแล้วด้วยอุปกรณ์ต่างๆ เช่น แผงโซลาร์เซลล์กับเสื้อกันฝนบรรจุอยู่ในกระเป๋าที่ขากางเกงข้างหนึ่ง กระเป๋าที่ขาอีกข้างมีธัญพืชอัดแท่งบรรจุรวมกับเชือกยาว 45 เมตร และอุปกรณ์การโรยตัวไว้ใช้ในกรณีโดดลงไปตกบนยอดไม้ ส่วนกระเป๋าขนาดใหญ่เป็นพิเศษด้านหลังกางเกงก็มีเต็นท์หนึ่งหลังกับถุงเก็บร่มชูชีพบรรจุอยู่

สองนาทีหลังเสียงหวอดังขึ้น ทีมสโมกจัมเปอร์เดินเตาะแตะเข้าสู่ลานบิน แต่ละคนแบกเครื่องมืออุปกรณ์หนักเกือบห้าสิบกิโลกรัม เมื่อแต่งเครื่องเคราครบชุดแล้วพวกเขาดูพะรุงพะรังเก้งก้าง แต่ทุกคนพกพาชุดอุปกรณ์ที่ผ่านการพิสูจน์ด้วยกาลเวลามาแล้ว ว่าล้วนเป็นข้าวของสำคัญที่สโมกจัมเปอร์ทุกคนจำเป็นต้องมี เพื่อใช้ดับไฟและเอาตัวรอดในพื้นที่ป่าห่างไกลและยากลำบากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

ร่างสีกากีตัวอ้วนพองเดินโซเซเป็นแถวเรียงหนึ่งขึ้นไปยังประตูด้านข้าง แล้วเข้าไปในท้องเครื่องบินซึ่งแน่นขนัดไปด้วยลังไม้บรรจุอุปกรณ์ผจญเพลิงซึ่งจะถูกทิ้งไปลงพร้อมกับพวกเขา  เครื่องบินทะยานขึ้น จากนั้นเจ้าหน้าที่อำนวยการบินก็วิทยุแจ้งพิกัดของไฟป่าให้ทราบ ระยะเวลาถึงที่หมายคือ1 ชั่วโมง 28 นาที

หลังบินออกมาได้ห้านาที เจ้าหน้าที่ชี้เป้า บิลล์ เครเมอร์ ยกมือข้างหนึ่งขึ้นแทนคำสั่งโดยไม่ใช้คำพูดให้ “ตรวจเช็ค สโมกจัมเปอร์แต่ละนายจัดแจงเช็คความพร้อมครั้งสุดท้ายของอุปกรณ์ต่างๆให้คู่หูของตน

พวกเขาบินอยู่เหนือเขตอาร์กติกเซอร์เคิลที่บริเวณชายขอบด้านใต้ของเทือกเขาบรูกส์ ตอนที่เห็นควันพวยพุ่งขึ้นมาจากผืนป่าเขียวเข้ม ซึ่งเป็นไฟที่เกิดจากฟ้าผ่า

นักบินขับวนเป็นวงกลมที่ระดับความสูง 450 เมตร  เครเมอร์ระบุเป้าหมายที่จะกระโดดร่มลงไป แล้วโยนสายรุ้งกระดาษย่นสามเส้นออกไป  ริ้วสายรุ้งแผ่นกว้างสีเหลือง สีน้ำเงิน และสีส้มสดที่คลี่พลิ้วอยู่กลางอากาศช่วยให้เขาประเมินความเร็วและทิศทางลมได้

หลังได้รับสัญญาณ สโมกจัมเปอร์คนแรกระโจนออกไปจากเครื่องบิน  อีกสามนายโดดตามหลังเขาไป พลร่มอีกสี่คนที่เหลือกระโดดลงไปในรอบที่สอง ชูชีพสีแดง ขาว และน้ำเงินของพวกเขาลอยวนอยู่เหนือป่าลุกติดไฟเหมือนผีเสื้อกลางคืนตัวน้อยโต้ลมอยู่เหนือกองไฟ

ทีมสโมกจัมเปอร์ล่องลมไปทางกลุ่มควันทีละคน ทีละคน

ไฟป่า
แมต โอ๊กลีฟ ซึ่งติดตั้งกล้องไว้บนถุงอุปกรณ์ของเขา กระโดดร่มตามหลังพลร่มที่เหลือทั้งหมดในทีม ลงไปยังจุดกระโดดลงใกล้กับผืนป่าเขตหนาวที่มีไฟคุกรุ่นอยู่  เหล่าพลร่มที่สวมชุดอุปกรณ์หนักเกือบ 50 กิโลกรัม สามารถประจำการบนเครื่องบินได้ภายในไม่กี่นาที ภารกิจของพวกเขาคือดับไฟป่าให้ได้ ก่อนที่จะลุกโหมจนควบคุมไม่อยู่
ไฟป่า
เครื่องบินไฟเออร์บอสทิ้งน้ำดับไฟเพื่อเสริมกำลังให้กับหมู่ดับไฟภาคพื้นดินที่กำลังต่อกรกับไฟป่า 320 ในเทือกเขาบรุกส์ รัฐอะแลสกา เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2016 เครื่องบินชนิดเครื่องยนต์เดี่ยวรุ่นนี้มีทุ่นลอยติดตั้งอยู่ซึ่งสามารถสูบและทิ้งน้ำลงมาได้ 3,000 ลิตรในเวลาไม่กี่นาที ในภาพเป็นน้ำที่สูบมาจากทะเลสาบอิเนียคักที่อยู่ใกล้ๆ

สโมกจัมปอร์ทั้งแปดนายที่กำลังดิ่งลงจากท้องฟ้าล้วนสามารถย้อนรอยเส้นทางอาชีพของพวกเขากลับไปถึงเหตุฟ้าผ่าต้นไม้ต้นหนึ่งที่อยู่ติดกับพื้นที่ด้านตะวันออกของอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 1937  ฟ้าที่ผ่าลงมาครั้งนั้นก่อให้เกิดไฟป่าขนาดเล็กที่เริ่มคืบคลานไปตามผืนป่า และท้ายที่สุดก็ลุกลามกลายเป็นไฟป่าแบล็กวอเตอร์ชื่อกระฉ่อนที่คร่าชีวิตนักผจญเพลิงไป 15 คน และเผาผลาญผืนป่าเกือบ 4,375 ไร่  การสืบสวนโดยกรมป่าไม้สหรัฐฯ ได้ผลสรุปออกมาว่า หนทางเดียวที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมเช่นนี้อีก คือจะต้องให้นักผจญเพลิงรีบจู่โจมดับไฟป่าในพื้นที่ทุรกันดารอย่างรวดเร็วตั้งแต่ยังเป็นไฟขนาดเล็ก

ในช่วงทศวรรษ 1930 กรมป่าไม้สหรัฐฯ เริ่มทดสอบความเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติของการส่งทีมพลร่มดับไฟป่าทีมเล็กๆ ลงไปในพื้นที่ป่าห่างไกล และในวันที่ 12 กรกฎาคม ปี 1940 สโมกจัมเปอร์ชุดแรกก็ถูกส่งลงไปผจญไฟป่ามาร์เทนครีกในป่าสงวนแห่งชาติเนซเพิร์ซที่รัฐไอดาโฮ ในช่วงหลายทศวรรษต่อมา กรมป่าไม้สหรัฐฯ ก่อตั้งฐานสโมกจัมเปอร์เจ็ดแห่งที่ปฏิบัติงานคลอบคลุมพื้นที่ 48 รัฐถัดลงมาจากอะแลสกา ขณะที่สำนักงานบริหารจัดการที่ดินจัดตั้งขึ้นอีกสองแห่ง โดยแห่งหนึ่งอยู่ในรัฐอะแลสกา ปัจจุบันมีพลร่มสโมกจัมเปอร์ประจำการราว 450 นายที่ถูกส่งออกไปดับไฟป่าจากฐานเหล่านี้

“ช่วงปีแรกๆ เหล่านั้นพิสูจน์ให้เห็นว่า การส่งเจ้าหน้าที่ไปดับไฟป่าตั้งแต่ยังมีขนาดเท่าห้องนั่งเล่นของเรา แทนที่จะไหม้ไปนับพันไร่แล้ว ช่วยประหยัดเงิน รักษาผืนป่า ชีวิตและทรัพย์สินส่วนบุคคลเอาไว้” ชัค เชลลีย์ พลร่มบำนาญ และรองประธานสมาคมสโมกจัมเปอร์แห่งชาติ กล่าวและเสริมว่า “หลักการเดียวกันนี้ยังใช้ได้อยู่ในปัจจุบันครับ”

ไฟป่า
ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ทาย ฮัมฟรีย์ วิทยุโต้ตอบกับนักบินที่ทิ้งลังพัสดุลงมาใกล้ๆ กับพื้นที่เกิดไฟป่า สมาชิกพลร่มดับไฟป่ากำลังช่วยกันแกะร่มออกจากต้นไม้ที่พัสดุตกลงมาโดน
ไฟป่า
สโมกจัมเปอร์ใช้ไม้ตบไฟซึ่งเป็นแผ่นยางแข็งๆ ติดอยู่ปลายด้ามจับที่มีความยืดหยุ่น ตบมอสกับกอหญ้าที่ไหม้ไฟให้ลงไปอยู่ในชั้นมอสด้านล่าง ซึ่งเปียกชื้นจากการละลายของชั้นดินเยือกแข็งคงตัว  ป่าสนหรือป่าไทกาชุ่มน้ำเช่นนี้พบได้ทั่วไปในพื้นที่ละติจูดสูงๆทางเหนือ

การฝึกเป็นสโมกจัมเปอร์ในอะแลสกานั้นติดอันดับโหดหินที่สุดในโลก  ในจำนวนผู้สมัครเข้าฝึกที่อาจมากถึง 200 คนในแต่ละปี มีแค่ราวสิบคนที่จะถูกคัดเลือกให้เข้าฝึกเป็นพลร่มดับไฟป่า ผู้สมัครที่มีโอกาสสูงที่สุดในการแข่งขันล้วนเคยผ่านประสบการณ์ผจญเพลิงในพื้นที่ธรรมชาติกันมาแล้วห้าถึงสิบปี และสามารถออกกำลังท่าซิตอัปได้ 60 ครั้ง วิดพื้นได้ 35 ครั้ง วิ่งระยะทางราว 2.5 กิโลเมตรได้ภายใน 9 นาที 30 วินาที หรือราวห้ากิโลเมตรภายในเวลาน้อยกว่า 22 นาที 30 วินาที รวมทั้งสามารถแบกของหนัก 50 กิโลกรัมได้ห้ากิโลเมตรภายในเวลาต่ำกว่า  55 นาที  พลร่มสโมกจัมเปอร์แต่ละคนจะต้องผ่านการทดสอบคล้ายกันนี้ให้ได้ทุกปีเพื่อรักษางานของเขาหรือเธอไว้ (ปัจจุบันพลร่มสโมกจัมเปอร์ทั้ง 64 คนของอะแลสกาเป็นผู้ชาย แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเคยมีผู้หญิงรวมอยู่ด้วยเจ็ดคน)

“เราเลือกเฉพาะคนที่ปฏิบัติภารกิจได้ภายใต้ความเครียดครับ” โรเบิร์ต ยีเกอร์ อดีตครูฝึกพลร่มดับไฟป่ามือใหม่ กล่าว “คนที่ควบคุมสติ ความกังวล และอะดรินาลีนของตัวเองได้  พวกที่ยินยอมพร้อมใจรับความท้าทายระดับเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายน่ะครับ”

พวกที่ได้เข้าคอร์สฝึกเป็นเวลาห้าอาทิตย์รู้วิธีผจญเพลิงกันมาแล้วทั้งสิ้น แต่พวกเขาต้องฝึกความสามารถในการกระโดดร่มขั้นสูง เช่น เรียนรู้วิธีปรับความแม่นยำและรับมือกับปัจจัยผันแปรที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  ไม่ว่าจะเป็นกระแสลม ลักษณะภูมิประเทศ สภาพของร่มชูชีพ หรือพื้นที่เป้าหมายที่จะกระโดดลงไป ผู้ฝึกมือใหม่จะฝึกกระโดดร่มอย่างน้อย 20 ครั้ง ซึ่งจะถูกถ่ายวีดิโอไว้และนำมาวิพากษ์วิจารณ์ ร้อยละ 40 ของผู้ฝึกเหล่านี้จะไม่ผ่านมาตรฐานที่ตั้งไว้

แต่คนที่ผ่านการฝึกหฤโหดนี้ได้จะกลายเป็นสมาชิกของคณะภารดรภาพชั้นหัวกระทิ ซึ่งรวมถึงคนอย่างวิลลี อันโซลด์ หนึ่งในชาวอเมริกันคนแรกๆ ที่พิชิตยอดเขาเมาต์เอเวอเรสต์ สจวร์ต รูซา นักบินผู้ควบคุมยานบังคับการของยานอะพอลโล 14 และดีแอน ชุลแมน  ผู้หญิงคนแรกที่เข้าร่วมคณะชั้นหัวกะทินี้เมื่อปี 1981

เรื่อง มาร์ก เจนกินส์

ภาพ มาร์ก ทีสเซน

*** อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ใน นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับมิถุนายน 2562


อ่านเพิ่มเติม

เจาะเบื้องลึกวิกฤติหมอกควัน

Recommend