เต่ามะเฟือง : บันทึกภาคสนามนักอนุรักษ์

เต่ามะเฟือง : บันทึกภาคสนามนักอนุรักษ์

เต่ามะเฟือง : บันทึกภาคสนามนักอนุรักษ์

ราว 3.00 น. ของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ท่ามกลางความมืด ณ​ ชายหาดท่าไทร อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา แสงสีแดงถูกสาดส่องไปบนชายหาด ลูก เต่ามะเฟือง ตัวแล้วตัวเล่าค่อยๆ คลานลงสู่ทะเล ท่ามกลางความปลื้มปีติของสักขีพยาน อาสาสมัครและช่างภาพกว่าร้อยชีวิตที่เฝ้ารออย่างอดทนเป็นเวลาหลายวัน

เรื่อง เพชร มโนปวิตร

ภาพถ่าย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย

เต่ามะเฟือง (Dermochelys coriacea) หรือ Leatherback turtle เป็นเต่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีความยาวเมื่อโตเต็มที่ถึงสองเมตร และหนักเกือบหนึ่งตัน เต่ามะเฟืองเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่สืบสายพันธุ์มากว่า 100 ล้านปี ประชากรเต่ามะเฟืองในมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียจัดอยู่ในขั้นใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (critically endangered)

ในประเทศไทย บริเวณหาดทรายที่ยังเงียบสงบและปราศจากการรบกวนของอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง และชายหาดบริเวณใกล้เคียง ตั้งแต่เขาหลักในจังหวัดพังงา ลงไปถึงหาดไม้ขาวในจังหวัดภูเก็ต คือแหล่งวางไข่แห่งสุดท้ายของเต่ามะเฟืองในประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีการพบรังเต่ามะเฟืองมากว่า 5 ปีแล้ว การกลับมาวางไข่ของเต่ามะเฟืองจึงนับเป็นข่าวสำคัญของการอนุรักษ์ทะเลไทยในรอบหลายปี

เช้าวันรุ่งขึ้น ข่าวการกำเนิดของลูกเต่ามะเฟืองรังที่สองจำนวน 35 ตัวถูกสื่อสารออกไปทั่วประเทศ ไม่น่าเชื่อว่าจะมีสัตว์อะไรที่สามารถปลุกกระแสการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากและระบบนิเวศชายฝั่งของประเทศไทยได้มากขนาดนี้

เต่ามะเฟือง
รังที่สองของเต่ามะเฟืองบนแนวหาดทรายหน้าวัดท่าไทรได้รับการล้อมรั้วเพื่อป้องกันการรบกวน แนวชายหาดที่ทอดยาวตลอดชายฝั่งทะเลอันดามันของจังหวัดพังงาเป็นพื้นที่วางไข่หลักของสัตว์ทะเลหายากที่ถูกคุกคามชนิดนี้ ซึ่งไม่มีการพบเห็นการวางไข่ของเต่ามะเฟืองมานานกว่า 5 ปี แต่ตั้งแต่ช่วงท้ายปี 2018 มีการพบรังของเต่ามะเฟืองถึง 3 รัง ซึ่งสร้างความหวังถึงการอยู่รอดของสายพันธุ์เต่ามะเฟืองในน่านน้ำไทย (ภาพถ่าย: ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย)
เต่ามะเฟือง
เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครที่มาทำงานเฝ้าดูแลรังเต่ามะเฟืองรังที่สอง คอยให้ข้อมูลกับประชาชนที่สนใจมาเยี่ยมชมรอเฝ้าดูการกำเนิดของเต่ามะเฟือง รังเต่ามะเฟือง 3 รังที่พบได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก และมีการร่วมมือกันจากหลายหน่วยงาน เช่น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และภาคประชาชนในท้องที่ในการติดตามคอยดูแลสถานการณ์ในพื้นที่ (ภาพถ่าย: ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย)

ไม่กี่วันก่อนหน้าที่ลูกเต่ามะเฟืองจะลืมตาดูโลก ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช นักวิชาการ สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสัตว์ทะเล ตัวแทนจากกองทัพเรือ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดพังงาและภูเก็ต ตัวแทนภาคเอกชนโรงแรม 11 แห่ง อาสาสมัครและประชาชนกว่า 500 คน มารวมตัวกันเพื่อลงนามในปฏิญญาอนุรักษ์เต่าทะเลแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมกันดูแลและปกป้องแหล่งอาศัยและวางไข่ของเต่ามะเฟืองในระยะยาว

“หากเทพธิดาแห่งท้องทะเลมีตัวตน แม่เต่ามะเฟืองตัวนี้แหละคือเธอ อะไรที่เคยผลักดันยากเย็นในสมัยก่อน แม่เต่าตัวเดียวช่วยขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ได้อย่างเหลือเชื่อ” ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือ อาจารย์ธรณ์นักวิชาการและผู้ปลุกกระแสการอนุรักษ์ทะเลและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยกล่าว

อาจารย์ธรณ์เป็นหนึ่งในผู้พยายามผลักดันให้มีการขึ้นบัญชีสัตว์ทะเลหายากสี่ชนิดคือเต่ามะเฟือง วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ และฉลามวาฬเป็นสัตว์สงวน รวมไปถึงการแก้ปัญหาขยะทะเลอย่างจริงจังด้วยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ซึ่งภายหลังการขึ้นวางไข่ของเต่ามะเฟือง ประเด็นเหล่านี้ดูจะมีความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมทั้งการปรับปรุงพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และแผนการแก้ปัญหาขยะทะเลแห่งชาติที่รวมถึงการแบนพลาสติกใช้แล้วทิ้ง 8 ชนิดในประเทศไทย

เต่ามะเฟือง
อาสาสมัครจากกลุ่มวาฬไทยที่มาช่วยงานกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งนั่งดูกราฟเปรียบเทียบอุณหภูมิภายในรังเต่าและทรายในบริเวณใกล้เคียงเพื่อคาดเดาถึงการเจริญเติบโตของลูกเต่าซึ่งสามารถช่วยในการคาดคะเนวันที่ลูกเต่าจะขุดทรายออกมาจากรังได้

 (ภาพถ่าย : ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย)
เต่ามะเฟือง
ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ (ซ้าย) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเต่าทะเล และเจ้าหน้าที่ขุดทรายเพื่อช่วยลูกเต่าออกมาจากรัง เนื่องจากลูกเต่าไม่ขุดทรายออกมา แม้ว่าจะถึงเวลาตามกำหนดที่พวกมันควรเริ่มการเดินทางออกสู่ทะเล (ภาพถ่าย: ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย)

นอกจากปัญหาขยะทะเลแล้ว ภัยคุกคามร้ายแรงต่อพื้นที่วางไข่เต่ามะเฟืองและเต่าทะเลทุกชนิดคือโครงการพัฒนาสิ่งก่อสร้างและการเปลี่ยนแปลงสภาพชายหาด หลักฐานโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมชายฝั่งทะเลอันดามันความยาวกว่า 340 เมตร บริเวณวัดเทสก์ธรรมนาวา (วัดท่าไทร) ในพื้นที่อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ด้วยงบประมาณ 30 ล้านบาท ตั้งอยู่ห่างจากรังเต่ามะเฟืองไปเพียง 200 เมตรเท่านั้น

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการพูดคุยกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ในเรื่องหลักการของการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งทั้งหมด ซึ่งปกติแล้วกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะพยายามไม่ให้มีโครงการลักษณะนี้ในบริเวณชายฝั่ง เพราะการสร้างแนวกันคลื่นที่มีโครงสร้างแข็งจะทำให้ชายหาดบริเวณโดยรอบเปลี่ยนสภาพและได้รับผลกระทบตามไปด้วย

จากการพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เจ้าอาวาสวัดท่าไทร ต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า โครงการนี้อาจมีผลกระทบกับระบบนิเวศชายหาดและพื้นที่วางไข่เต่าในอนาคต กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงได้ใช้อำนาจตามมาตรา 17 ของ พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สั่งระงับการก่อสร้างเขื่อนไปก่อน แม้จะมีความคืบหน้าไปกว่า 70% แล้วก็ตาม โดยหลังจากนี้อาจมีการพิจารณาปรับแบบเพื่อลดผลกระทบต่อไป

น่าสังเกตว่านี่เป็นการใช้มาตรา 17 ที่มีความเด็ดขาดเป็นครั้งแรกต่อกรณีโครงการก่อสร้างที่อาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศชายฝั่ง ซึ่งอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเห็นว่าเป็นทางออกในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ และต่อไปจะนำมาใช้กับทุกโครงการที่สร้างแล้วจะกระทบต่อระบบนิเวศและทรัพยากรทางทะเล เพราะขณะนี้มีคณะกรรมการระดับจังหวัด ผู้ทรงคุณวุฒิที่จะมาช่วยคัดกรองความเหมาะสมของโครงการอยู่แล้ว

เต่ามะเฟือง
ภาพมุมสูงของโครงการสร้างเขื่อนกันคลื่นที่ชายหาดบริเวณใกล้วัดท่าไทร หนึ่งในภัยคุกคามที่ร้ายแรงต่อการอยู่รอดของเต่าทะเลทุกชนิดคือการสูญเสียพื้นที่วางไข่จากการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง ปัจจุบัน โครงการนี้ได้ถูกสั่งระงับไว้โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งด้วยมาตรา 17 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แต่ผลกระทบต่อระบบนิเวศหาดทรายในอนาคตจากโครงสร้างที่อยู่ภายใต้ทรายในตอนนี้นั้นยังไม่อาจคาดคะเนได้ (ภาพถ่ายจากโดรน / Anonymous)

“หากเทพธิดาแห่งท้องทะเลมีตัวตน แม่เต่ามะเฟืองตัวนี้แหละคือเธอ อะไรที่เคยผลักดันยากเย็นในสมัยก่อน แม่เต่าตัวเดียวช่วยขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ได้อย่างเหลือเชื่อ” – ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

ในแง่ของการสำรวจและวิจัย ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) กล่าวว่า “เรายังต้องการข้อมูลอื่นๆ อีกมากครับในการจัดการอนุรักษ์ประชากรเต่ามะเฟือง โดยเฉพาะเส้นทางการหากิน และพัฒนาการของลูกเต่า อย่างครั้งนี้เราก็พยายามช่วยให้เขามีโอกาสรอดมากที่สุด”ดร.ก้องเกียรติ อธิบายถึงการตัดสินใจขุดรังเต่าเพื่อช่วยเหลือลูกเต่าออกจากรัง เพราะเมื่อตรวจดูอุณหภูมิภายในหลุม พบว่าลูกเต่าได้ออกมาจากไข่หมดแล้ว จากประสบการณ์ติดตามการฟักไข่เต่ามะเฟืองรังที่ 1 พบว่าลูกเต่าชุดที่แข็งแรงน้อยสุดได้ขาดอากาศหายใจตายในหลุม ครั้งนี้เมื่อรอจนครบ 12 ชั่วโมง ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุดยังไม่มีลูกเต่าขึ้นมา จึงตัดสินใจลงมือขุดหลุมนำลูกเต่าขึ้นวางบนหาดทราย เพื่อให้มีการปรับสภาพก่อนที่จะคลานลงสู่ทะเลได้

ความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานราชการ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจและชุมชนนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภารกิจเฝ้าระวังรังเต่ามะเฟืองตลอด 2 เดือนที่ผ่านมาจนกระทั่งลูกเต่าออกจากไข่และกลับคืนสู่ทะเลประสบความสำเร็จ

เต่ามะเฟือง
ลูกเต่ามะเฟืองที่เพิ่งฟักออกจากรังว่ายน้ำฝ่าเกลียวคลื่นที่ซัดสาดใส่แนวชายหาด เพื่อเดินทางไกลออกไปเติบโตกลางทะเลเปิดในยามค่ำคืน ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลทางชีววิทยาถึงวัยเจริญพันธุ์ของเต่ามะเฟืองที่ชัดเจน แต่มีการคาดคะเนว่าอยู่ที่ประมาณ 15 ปี เราได้แต่คาดหวังว่า ลูกเต่าเหล่านี้จะมีชีวิตรอดและกลับมาวางไข่บนชายหาดนี้อีกครั้งเมื่อถึงเวลา (ภาพถ่าย: ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย)

“ที่ผ่านมาเราติดตามเรื่องเต่ามะเฟืองมาตลอดครับ น่าดีใจที่ตอนนี้ชุมชนตื่นตัวขึ้นมาก กระแสการอนุรักษ์จากภายนอกก็ดีขึ้น ต้องยอมรับว่าเมื่อก่อนยังมีการลักลอบขุดเอาไข่เต่าไปขายอยู่บ้าง เพราะเป็นของหายากมีราคา การจัดตั้งกองทุนให้รางวัลแก่ชาวบ้านที่ช่วยแจ้งข้อมูลการพบเห็นรังเต่าช่วยลดปัญหานี้ไปได้มาก” พี่ปรารภ หรือ นายปรารภ แปลงงาน หัวหน้าศูนย์ศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติทางทะเลจังหวัดภูเก็ต หนึ่งในแกนนำการอนุรักษ์เต่ามะเฟือง อธิบาย

กองทุนอนุรักษ์เต่าทะเลหาดไม้ขาว-หมู่เกาะสุรินทร์-หมู่เกาะสิมิลัน เป็นความร่วมมือกับมูลนิธิเพื่อการอนุรักษ์เต่าทะเลหาดไม้ขาว ซึ่งเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์เต่าทะเล โดยมีการมอบเงินรางวัลให้เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่ราษฎรจิตอาสา ช่วยแจ้งข้อมูลและเบาะแสในกรณีที่พบเห็นรัง นอกจากนี้ก็ยังมีการอบรมเยาวชนเกี่ยวกับความสำคัญของเต่าทะเลและรณรงค์เรื่องปัญหาขยะทะเลอย่างต่อเนื่องเพื่อลดการสร้างขยะพลาสติกที่ไม่จำเป็น

การกลับมาของเต่ามะเฟืองเป็นตัวจุดประกายให้มีการปกป้องชายหาดธรรมชาติ และอนุรักษ์ระบบนิเวศชายฝั่งที่สำคัญของพื้นที่ทะเลอันดามันตอนเหนือลงไปถึงชายหาดของภูเก็ตอีกครั้งหนึ่ง หากเต่ามะเฟืองยังสามารถอยู่ได้ ทะเลไทยก็ยังมีความหวัง


อ่านเพิ่มเติม

บันทึกภาคสนามนักอนุรักษ์: “ฉลาม” นักล่าผู้ตกเป็นเหยื่อ

 

 

Recommend