Explorer Awards 2019
“เมื่อสำรวจ เราจะได้รู้แจ้งเห็นจริง
รู้ว่าสิ่งไหนเป็นอันตรายหรือน่าเป็นห่วง
เราจะรู้จากการสำรวจ จากการศึกษาเรียนรู้
ซึ่งจะพัฒนาให้เราได้องค์ความรู้
และนำไปสู่การอนุรักษ์ได้”
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์
ผู้เชี่ยวชาญและกรรมการมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก
ได้รับการยอมรับและขนานนามจากทั้งในประเทศและต่างประเทศว่าเป็น “มารดาแห่งนกเงือก” ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก ที่พัฒนาจากโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งศึกษาวิจัยและเก็บข้อมูลนกเงือกในเมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2521 จนกล่าวได้ว่า มีฐานข้อมูลด้านนกเงือกมากที่สุดในโลกและมีผลงานวิจัยดีเยี่ยมหลายสาขา เป็นผู้ริเริ่มโครงการอนุรักษ์นกเงือกหลายโครงการ เช่น โครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก โครงการปรับปรุงรังนก โครงการสร้างโพรงเทียมสำหรับนกเงือก จนได้รับรางวัลเกียรติคุณทั้งในและต่างประเทศ
เนื่องในโอกาสที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. พิไล พูลสวัสดิ์ ได้รับรางวัล Explorer Awards 2019 นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย จึงขอนำทรรศนะของอาจารย์แบ่งตามหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจและการอนุรักษ์มานำเสนอดังนี้
ความหมายของการสำรวจ
การสำรวจคือไปให้รู้ ให้เห็นแจ้งว่าอะไรเป็นอะไร เช่นสำรวจโพรงนกเงือก ในป่ามีโพรงเท่าไหร่ อย่างไร และที่นกเงือกจะใช้เป็นโพรงแบบไหน การสำรวจมีความสำคัญคืออย่างน้อยใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นได้ เช่น สำรวจว่านกในประเทศไทยมีกี่ชนิด เราอาจจะยังไม่ต้องลงลึกในตอนแรก แล้วแต่ว่าจะสำรวจลักษณะไหน อย่างที่อาจารย์ทำคือสำรวจเพื่อให้รู้แจ้ง เห็นจริงเรื่องนั้น จะได้นำมาพัฒนา และนำมาใช้ในเรื่องการอนุรักษ์
ป่าในยุคนั้นค่อนข้างบริสุทธิ์ คนรบกวนน้อยมาก แทบไม่เห็นนักท่องเที่ยวเลย แต่เดิมอาจารย์ไม่ได้เป็นนักสำรวจ เพราะพื้นฐานเป็นอาจารย์สอนด้านปรสิตวิทยา ถ้าจะสำรวจ ก็เป็นการสำรวจพยาธิในคนมากกว่า จะเป็นนักผจญภัยก็ไม่เชิง แต่ก็พาเพื่อนๆ ไปเห็นธรรมชาติ เพราะติดใจธรรมชาติว่ามีความสวยงามและทำให้จิตใจสงบ และเรียนรู้จากธรรมชาติว่าที่จริงมนุษย์เราไม่ได้ต้องการอะไรมาก สองเท้าเรานี่แหละที่สำคัญมาก [มี] น้ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์ กลางเต็นท์นอน ก็เพียงพอที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขได้
ตอนนั้นไม่มีใครทำเรื่องนกเงือกเลย ไม่ต้องในเมืองไทยหรอก ในเอเชียที่ไหนก็ไม่มี เพราะฉะนั้นเราต้องเริ่มด้วยตัวเองหมดทุกอย่าง ลองผิดลองถูก ไม่รู้อะไรเลย เพราะเราก็ไม่ใช่นักธรรมชาติวิทยาหรือนักชีววิทยา ทุกอย่างที่เรียนรู้มาคือประสบการณ์ตรงที่เจอ การสำรวจว่านกเงือกทำโพรงรังอยู่ในไม้ชนิดไหนถือเป็นพื้นฐานเลย แล้วงานวิจัยที่เราศึกษาต่อก็เป็นงานลงลึกไปอีก แน่นอนว่าอะไรก็ต้องมาจากการสำรวจ
สำรวจเพื่อให้รู้แจ้ง เห็นจริงเรื่องนั้น จะได้นำมาพัฒนา และนำมาใช้ในเรื่องการอนุรักษ์
งานวิจัยที่ควบคู่กับงานอนุรักษ์
ตอนนี้โครงการนกเงือกทำงานวิจัยควบคู่กับงานอนุรักษ์ เพราะงานวิจัยระยะยาวให้ประโยชน์มาก เพราะบางคนไม่เห็นความสำคัญของงานวิจัยระยะยาว ทำแค่สั้นๆ สองปีสามปีเลิก ก็จะไม่รู้เลยว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง พอทำวิจัยต่อเนื่อง ข้อมูลก็ยิ่งแน่น และพอจะเห็นว่าแนวโน้มจะเป็นอย่างไร ก็สามารถทำนายได้ อาจเห็นว่าข้อมูลสะเปะสะปะหรือเป็นวงจร ก็ใช้เฝ้าระวังได้
งานของเรามีข้อมูลที่ดีที่สุดในโลก แต่ในโลกที่มีนกเงือกคือที่แอฟริกากับเอเชีย เพราะฉะนั้นตอนนี้เราก็ไปฝึกสอนให้ที่อื่นๆ และเป็นศูนย์ฝึกอบรมนานาชาติเรื่องงานวิจัยนกเงือกให้กับที่อื่น
ตั้งคำถาม ไม่หยุดคิด ไม่หยุดพัฒนา
การสำรวจมีความจำเป็น เป็นพื้นฐานที่สำคัญเบื้องต้นที่เราจะสามารถต่อยอดไปได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะสำรวจแค่ปีเดียว อันเดียว ถ้าเราต้องการได้ความรู้ที่ถูกต้อง ก็ต้องทำต่อเนื่องออกไปจนทำให้เกิดองค์ความรู้ เพราะเวลาเราสำรวจ เราก็จะมีคำถามต่อไปอีกไม่สิ้นสุด การสำรวจก็ไม่มีที่สิ้นสุด
ตอนที่ปีนขึ้นไปดูนกเงือกครั้งแรกที่เขาใหญ่ ยังไม่ได้คิดไปไกล [ว่าจะทำงานอนุรักษ์นกเงือก] เราแค่ให้นกที่มีอยู่ทำรังได้ และมีลูกออกมาได้ การทำงานให้แต่ละวันประสบความสำเร็จได้ก็ดีใจแล้ว แต่เราค่อยๆ สะสมความรู้และประสบการณ์ และมันค่อยๆ พัฒนาไป เพราะเราไม่หยุดคิด ไม่หยุดพัฒนา นำไปสู่องค์ความรู้อื่นๆ ต่อไป เรามาคิดว่าลูกไม้ที่นกกินเข้าไปมีน้ำหนักเท่าไหร่ พอได้น้ำหนักลูกไม้มาแล้ว ก็คิดว่ามันจะได้สารอาหารประเภทไหนอย่างไร เราก็หาทุนวิเคราะห์เรื่องสารอาหารว่ามีอะไรบ้าง ได้พลังงานเท่าไหร่ อาหารที่ได้มาจากผลไม้ป่าในธรรมชาติ ทำให้เห็นว่านกเงือกจึงมีความสำคัญเรื่องการปลูกป่า เราก็จะได้งานที่คนอื่นเอาไปใช้ต่อได้
การสำรวจเป็นก้าวแรกสู่การอนุรักษ์
พอเราสำรวจ เราจะรู้ จะได้รู้แจ้งเห็นจริง ก็จะรู้ว่าอันไหนคืออันตรายหรือสิ่งที่น่าเป็นห่วง สัตว์หรือพืชที่เราศึกษาอยู่ อยู่ในภาวะเสี่ยงอย่างไร อะไรที่เป็นปัจจัยที่จะทำให้ประชากรนกลดลง เราจะรู้จากการสำรวจ จากการศึกษาเรียนรู้ จึงนำไปสู่เรื่องการอนุรักษ์ แต่การสำรวจถ้าทำเพียงผิวเผินก็ยาก [ที่จะรู้ถ่องแท้] พอบอกได้บางอย่าง บางครั้งผลการสำรวจที่ได้อาจมีปัจจัยทางฤดูกาล ถึงบอกว่า [เป็นงานที่] ต้องใช้เวลา การศึกษาเรื่องสัตว์ป่า อย่างน้อยต้องทำ 3 ปี ถึงพอจะบอกอะไรได้ ของเราเก็บข้อมูลนกเงือกเป็นพันๆ คู่ แล้วสะสมข้อมูลมาเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้นพอเรารู้ข้อมูลพื้นฐานแล้ว เราก็จะหาวิธีการที่จะศึกษาต่อไปว่าเราจะช่วยได้อย่างไร และอย่างกรณีของนกเงือก พอเราสำรวจแล้ว ในที่สุดเราก็รู้ว่าป้จจัยจำกัดของนกเงือกคือโพรงรัง เราก็จะช่วยเรื่องนี้ มีการซ่อม มีการปรับปรุงเพื่อรองรับประชากรที่จะสามารถขยายพันธุ์ได้ ทำให้ประชากรคงอยู่ ไม่อย่างนั้นก็จะลดลงเพราะไม่มีโพรง นกเงือกต้องทำรังในโพรงไม้เท่านั้น ถ้าจนตรอก ไม่มีโพรงไม้ก็ใช้โพรงหินหรือใช้ไห
พอเราสำรวจ เราจะรู้ จะได้รู้แจ้งเห็นจริง ก็จะรู้ว่าอันไหนคืออันตรายหรือสิ่งที่น่าเป็นห่วง สัตว์หรือพืชที่เราศึกษาอยู่ อยู่ในภาวะเสี่ยงอย่างไร อะไรที่เป็นปัจจัยที่จะทำให้ประชากรนกลดลง เราจะรู้จากการสำรวจ จากการศึกษาเรียนรู้ จึงนำไปสู่เรื่องการอนุรักษ์
ครอบครัวอุปการะนกเงือก
ปกติอาจารย์ไม่ชอบทำงานกับคนมากๆ แต่พอไปที่บูโด [จ. นราธิวาส] ก็ต้องไปคุยกับพวกพราน ตอนเราเข้ามาใหม่ๆ ก็ไม่รู้ว่าชาวบ้านต่อต้านไหม เพราะฟังภาษายาวีไม่ออก แต่เราก็ไม่สนใจ อาจารย์ไม่กลัวเรื่องอย่างนี้ อาจเพราะเราเป็นผู้ใหญ่ขึ้น มีความอดทนขึ้น มานึกดูว่าถ้าหากเราไม่ได้ทำอะไร นกเงือกต้องหมดแน่ๆ คิดดูว่ารังที่พรานไปเอาลูกนกเงือกมีตั้ง 40 รัง ถ้าปีๆ หนึ่ง ถ้าประสบความสำเร็จ [ในการป้องกันลูกนก] สัก 60-70% ก็ตั้งเท่าไหร่แล้ว มีน้องๆ บอกว่าหยุดเถอะ เราบอกว่าไม่ได้ ไม่อย่างนั้นเราตายไม่เป็นสุข นั่งคิดว่าทำอย่างไรถึงจะหาเงินได้ เลยคิดเรื่องครอบครัวอุปถัมภ์นกเงือก เริ่มจากพวกเพื่อนๆ แล้วค่อยๆ ขยายออกไป ตอนนั้นเป็นคนไทยทั้งนั้นเลย บางคนถามว่าทำไมไม่ขอทุนต่างประเทศ อ้าว รักษาสมบัติของเรา ทำไมต้องขอทุนจากต่างประเทศ แล้วคนไทยไม่รู้สึกหรือว่านี่คือหน้าที่ของคนไทย
เราอุปการะครอบครัวนกเงือกก็จริง แต่ครอบครัว [ของชาวบ้านผู้ดูแลและเก็บข้อมูลนกเงือกให้โครงการฯ] ก็ต้องการการดูแล เราทำโครงการที่ครบถ้วน เราได้ข้อมูลทางวิชาการด้วย และชาวบ้านก็มีรายได้ นกก็อยู่ พอเขาดูแล ก็ไม่มีใครมาล้วงลูกนกไปได้ และคนที่อุปการะก็ได้ความรู้ด้วย เพราะเมื่อฤดูทำรังสิ้นสุด ทีมงานเราก็จะทำรายงานส่ง มีรูปนก มีรูปต้นไม้ ทำให้ได้รู้ด้วยว่านกที่คุณจะอุปการะ มันคือนกอะไร ตัวนี้หน้าตาเป็นอย่างนี้ กินอาหารแบบนี้ รังอยู่ตรงไหน ต้นใหญ่แค่ไหน สูงแค่ไหน คนที่อุปการะก็ได้ความรู้ด้วย และไปเยี่ยมได้ด้วย
คนถ้าไม่ใช่ใจหินหรืออะไร ต้องรู้สึกอยู่แล้ว โดยเฉพาะคนที่มีครอบครัว เขาก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป จิตใจมนุษย์ ถึงจะเคยเป็นพรานมาก่อน ถ้าได้เห็นว่า [พ่อนก] ป้อนลูก ขยันมากที่จะหาอาหารมาให้ลูกให้เมียก็โดนใจนะ เพราะเขาก็ต้องหาเลี้ยงครอบครัว นกเงือกก็เหมือนกัน
เปลี่ยนพรานให้เป็นนักวิจัยและนักอนุรักษ์นกเงือก
ในที่สุดแล้วงานของเราก็ออกไปสู่ชุมชน เพราะชุมชนมีส่วนเกี่ยวข้องมาก เพราะเขาอยู่ตรงนี้ ถ้าชุมชนนี้มีจิตสำนึกของการอนุรักษ์ แน่นอนว่าประชากรนกเงือกก็จะอยู่ ทำให้เขามีความผูกพันกับนกเงือก เขาได้เห็นได้ดูทุกวัน เขาก็จะผูกพัน จากที่เคยเป็นพรานล่า ตอนหลังทัศนคติของเขาเปลี่ยนเลย เขาจะบอกเลยว่าถ้าทำแบบนี้จะรบกวนตัวเมีย พอคำพูดอันนี้ออกมาจากปากของพราน เราก็เริ่มรู้แล้วว่าเขามีความผูกพัน เพราะได้เห็น ได้นั่งเฝ้า ได้ศึกษา มันทำให้เกิดความประทับใจ
ตอนที่เขาไปขโมยลูกนกไปขาย เขาแค่ควักลูกจากโพรงไป แล้วเอาไปขาย ในขณะที่พอเราบอกให้สังเกตดูว่าพ่อนกป้อน [อาหาร] เท่าไหร่ อย่างไร เขาก็ต้องมาดูว่าพ่อป้อนอย่างไร ป้อนมากน้อยเท่าไร เขาก็ต้องจด แล้วก็เฝ้าจนกระทั่งลูกนกออกมา คนถ้าไม่ใช่ใจหินหรืออะไร ต้องรู้สึกอยู่แล้ว โดยเฉพาะคนที่มีครอบครัว เขาก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป จิตใจมนุษย์ ถึงจะเคยเป็นพรานมาก่อน ถ้าได้เห็นว่า [พ่อนก] ป้อนลูก ขยันมากที่จะหาอาหารมาให้ลูกให้เมียก็โดนใจนะ เพราะเขาก็ต้องหาเลี้ยงครอบครัว นกเงือกก็เหมือนกัน
พรานที่ทำงานกับเรามีรายได้แค่พื้นฐาน แต่บางคนก็เต็มใจทำ และพยายามหาอย่างอื่นทำด้วย เช่น โฮมสเตย์ เขาพัฒนาได้และขยายจิตสำนึกของการอนุรักษ์ มีผู้ใหญ่บ้านรุ่นหนุ่มที่ไปไหนๆ ต้องพูดเรื่องอนุรักษ์นกเงือก ถ้าคนในพื้นที่ใส่ใจจะดีที่สุด เราจะค่อยๆ ถอยออกมาได้ เพียงแต่ช่วยสนับสนุนเขาเรื่ององค์ความรู้ แนะนำว่าควรจะแก้ไขอย่างไรในแง่ของวิชาการ