การปกป้องป่า คือสิ่งจำเป็นเพื่อโลกที่ยั่งยืนในอนาคต

การปกป้องป่า คือสิ่งจำเป็นเพื่อโลกที่ยั่งยืนในอนาคต

หมู่บ้าน Mian Gu ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำ Nu ของประเทศจีน เป็นโครงการสร้างบ้านของรัฐบาลที่ออกแบบเพื่อจูงใจประชาชนที่อาศัยอยู่บนภูเขาให้ย้ายลงมาที่แม่น้ำเพื่อลดการตัดไม้ทำลายป่า ภาพถ่ายโดย ADAM DEAN, NAT GEO IMAGE COLLECTION


เมื่อปีที่แล้ว ยูเอ็นได้เตือนให้ระวังวิกฤตภูมิอากาศที่ใกล้เข้ามา ในปีนี้ ยูเอ็นวิงวอนให้ อนุรักษ์ป่า ไว้ก่อนจะสายเกินไป

รายงานจาก คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ (The United Nation’s Intergovernmental Panel on Climate Change – IPCC) ซึ่งเผยแพร่เมื่อต้นเดือนสิงหาคมได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นของการเปลี่ยนวิธีการจัดการที่ดินของโลกอย่างรวดเร็วและเร่งด่วน

เดบราห์ ลอว์เรนซ์ (Deborah Lawrence) นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย กล่าวว่า เพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ต้องมีการใช้กลยุทธ์ที่ยั่งยืนซึ่งจัดการปัญหาได้ตรงเป้าและส่งผลกระทบได้อย่างกว้างขวาง

“การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศเป็นภัยคุกคาม เราต้องหาหนทางที่เป็นไปได้ในทุกแง่มุมเพื่อจัดการกับมัน” เดบราห์ กล่าว

ในรายงานของ IPCC มีเนื้อหาเกี่ยวกับคำแนะนำว่าทั้งประชาชน นักวิทยาศาสตร์ และผู้กำหนดนโยบาย ควรกำหนดความสำคัญอย่างไร และนี่คือหัวข้อสำคัญในคำแนะนำดังกล่าว

การปรับปรุงยกเครื่องระบบการผลิตอาหารครั้งใหญ่ของมนุษย์เป็นเรื่องที่จำเป็น

โดยในรายงานกล่าวว่า ปัญหาสภาวะภูมิอากาศสุดขั้วเช่น ภัยแล้งหรือน้ำท่วม ความต้องการพลังงานชีวภาพที่เพิ่มมากขึ้น และประชากรที่กำลังเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยเตือนให้โลกทราบถึงความเป็นไปได้ของวิกฤตทางอาหาร

ความมั่นคงทางอาหารที่เพียงพอต่อประชากรทั่วทั้งโลกซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งหมื่นล้านคนภายในปี 2050 กลายมาเป็นเรื่องน่ากังวลของผู้กำหนดนโยบาย แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์ก็ออกโรงเตือนว่าถ้าเรายังคงตัดไม้ทำลายป่าและละเลยการหาวิธีผลิตอาหารให้เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศจะย่ำแย่ลง

อนุรักษ์ป่า, ภัยแล้ง, แห้งแล้ง
ในที่ราบสูงโบลิเวีย ชายคนหนึ่งกำลังสำรวจพื้นดินของทะเลสาบ Lake Poopó ซึ่งเคยเป็นทะเลสาบที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ ความแห้งแล้งและประเด็นในการจัดการคือสาเหตุที่ทำให้ทะเลสาบแห่งนี้แห้งเหือด ภาพถ่ายโดย MAURICIO LIMA, NAT GEO IMAGE COLLECTION

ในระดับโลก เหตุการณ์สภาวะภูมิอากาศสุดขั้วทั่วโลกได้เปลี่ยนภูมิทัศน์ของโลกโดยการกัดเซาะชายฝั่ง น้ำแข็งในชั้นดินละลาย (permafrost) และเปลี่ยนดินที่เคยอุดมสมบูรณ์ให้กลายเป็นฝุ่นผง

มีการคาดการณ์ว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่าร้อยละ 23 เกิดจากการทำการเกษตร การผลิตอาหารเช่นการทำปศุสัตว์ และการตัดไม้ทำลายป่า ครึ่งหนึ่งของก๊าซมีเทนที่มนุษย์ผลิตขึ้น อันเป็นก๊าซอันตรายที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก เกิดจากการผลิตข้าวและการทำปศุสัตว์

บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ถ้าเราลงมืออย่างรวดเร็วและกระตือรือร้น เราจะไม่ต้องเลือกระหว่างป่ากับอาหาร

แนวคิดการทำเกษตรอัจฉริยะคือพระเอกของเรื่องนี้

“สิ่งสำคัญคือเราต้องหาวิธีการเพื่อจัดการกับสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว” บรูซ สไตน์ (Bruce Stein) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์แห่งสหพันธ์สัตว์ป่าแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา กล่าว

เขาแนะนำเทคนิคในการจัดการพื้นที่เพาะปลูก เช่นการปฏิรูปการทำเกษตรกรรมเป็นตัวเลือกในการทำฟาร์มอย่างยั่งยืน โดยการปฏิรูปการทำเกษตรกรรมนี้คือวิธีแบบองค์รวมในการปลูกพืชแบบอาศัยร่มไม้ของไม้ยืนต้น (tree cover) การปลูกพืชคลุมดิน (cover crops) การปลูกพืชหมุนเวียน และใช้ปุ๋ยหมักเพื่อปรับปรุงคุณภาพหน้าดิน

การเกษตรแม่นยำสูง (Precision Farming) คือหนึ่งในวิธีของการเกษตรที่ยั่งยืนซึ่งใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อติดตามจำนวนการใช้ปุ๋ยและน้ำในปริมาณที่พืชต้องการได้อย่างถูกต้อง ซึ่งดีกว่าปูพรมรดน้ำหรือใช้สารเคมีแบบไม่มีเป้าหมาย

อนุรักษ์ป่า, โรงไฟฟ้าถ่านหิน
โรงไฟฟ้า Scherer ในรัฐจอร์เจีย เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินที่ใหญ่สุดในสหรัฐฯ ในทุกวัน มีการเผาไหม้ถ่านหินราว 34,000 ตัน ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 25 ล้านตันปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศในทุกปี ภาพถ่ายโดย ROBB KENDRICK, NAT GEO IMAGE COLLECTION

พึ่งพาชนพื้นเมืองที่อยู่กับป่ามาตลอดชีวิต

รายงานของ IPCC ฉบับนี้ได้สนับสนุนสิทธิการเป็นเจ้าของที่ดินของชนพื้นเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์บรรเทาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก

ชุมชนชนพื้นเมือง โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในป่าแอมะซอน ได้ดิ้นรนมาอย่างยาวนานเพื่อสิทธิใน “บ้าน” ของพวกเขาเอง การขาดสิทธิทางกฎหมายได้สร้างเหตุผลทางกฎหมายให้บรรดาบริษัทต่างๆ ใช้ทรัพยากรในที่ดินของชนพื้นเมืองแล้วอ้างสิทธิว่าเป็นของตนเอง

ในรายงานระบุว่า ด้วยวิธีการส่งเสริมสิทธิของชนพื้นเมืองให้เข้มแข็ง ผืนป่าจะได้รับการจัดการให้เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนได้ ชนพื้นเมืองจะป้องกันการทำเหมืองและอุตสาหกรรมค้าไม้ในพื้นที่ของพวกเขา และวิธีการทำการเกษตรแบบพื้นเมืองมีความยั่งยืนกว่าวิธีการทำการเกษตรของบริษัทใหญ่ๆ

ลดคาร์บอนโดยเร่งด่วน

ทั้งการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากรถยนต์ และการเปลี่ยนมาใช้แหล่งพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ สามารถช่วยให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนมีอัตราช้าลงได้ การตัดไม้ทำลายป่า ไม่เพียงแต่ทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอน แต่ยังเป็นการทำลายเครื่องมือที่สำคัญ นั่นคือต้นไม้ ซึ่งช่วยทำความสะอาดอากาศจากการปล่อยก๊าซสู่ชั้นบรรยากาศ

อนุรักษ์ป่า, ป่าแอมะซอน
ป่าแอมะซอนกำลังสูญเสียพื้นที่ราวสนามฟุตบอลหนึ่งล้านแห่งในทุกปี โดยส่วนมากเป็นการตัดไม้เพื่อทำการเกษตร โดยเมื่อมีการสูญเสียป่าไม้ คาร์บอนจะลอยไปในอากาศและเร่งปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภาพถ่ายโดย FRANS LANTING, NAT GEO IMAGE COLLECTION

ต้นไม้ดูดซับคาร์บอนได้ประมาณ 22 กิโลกรัมโดยเฉลี่ยต่อปี และพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ เช่นป่าฝนแอมะซอนได้รับการพิจารณาว่าเป็นที่กักเก็บคาร์บอน ด้วยเหตุนี้ ในภูมิภาคนี้สามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าที่ปล่อยออกมา

อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้ยังมีการตัดไม้อยู่ในป่าแอมะซอน ถ้าแอมะซอนยังถูกทำลายจนเกินฟื้นฟู ภูมิอากาศของโลกจะเปลี่ยนไปอย่างมาก

แล้วคนทั่วไปสามารถทำอะไรได้บ้าง

การร้องขอให้ชาวนาเปลี่ยนวิธีการทำการเกษตรต้องใช้เงิน และการเรียนชุดทักษะใหม่ๆ ก็อาจเป็นเรื่องที่น่าหวาดหวั่นสำหรับพวกเขา

“ผมคิดว่าอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดเป็นเรื่องของจิตวิทยา ผู้คนชอบทำแต่วิธีที่เคยทำมาก่อนแล้ว” สไตน์กล่าวและเสริมว่า “แม้กระทั่งในชุมชนที่มีการอนุรักษ์ ก็ยังมีวิธีการดั้งเดิมเกี่ยวกับการจัดการที่ดิน และเราต้องทบทวนวิธีการปฏิบัติของเรามากเลยทีเดียว”

รายงานของ IPCC นั้นเป็นเพียงหนึ่งในงานวิจัยที่กล่าวว่า ปัจเจกบุคคลควรเปลี่ยนวิธีการกินเพื่อให้โลกดีขึ้นในระดับปัจเจกบุคคล การลดการกินเนื้อและการลดขยะอาหารคือสิ่งที่รายงานเน้นว่าเป็นวิธีที่เราสามารถได้อย่างยั่งยืนได้

“เราควรทำในสิ่งที่เราทำได้ ไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่ทำ เราอาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่เราก็ทำให้มันมีสภาพที่ดีขึ้น” เดบราห์ กล่าว

เธอกล่าวเสริมอีกว่า หากเราอยากช่วยโลก การมีส่วนร่วมในภาคพลเมืองเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการเลือกตั้ง “ทุกคนควรคิดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเมื่อต้องลงคะแนน” (กับพรรคการเมืองที่มีนโยบายสำคัญในเรื่องนี้)

เรื่อง SARAH GIBBENS 


อ่านเพิ่มเติม ระดับน้ำแม่น้ำโขงต่ำที่สุดในรอบ 100 ปี และส่งผลสะเทือนใหญ่หลวงต่อธรรมชาติ แม่น้ำโขง

Recommend