ความร้อนเร่งให้สารเคมีในพลาสติกละลายปนเปื้อนอาหารเข้าสู่ร่างกาย

ความร้อนเร่งให้สารเคมีในพลาสติกละลายปนเปื้อนอาหารเข้าสู่ร่างกาย

(ภาพปก) แม้การดื่มน้ำจากขวดน้ำครั้งเดียวใช้แล้วทิ้งซึ่งถูกวางทิ้งไว้ในอากาศร้อนจะไม่ทำให้คุณเจ็บปวด แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการใช้งาน บรรจุภัณฑ์พลาสติก ที่ถูกวางทิ้งไว้ในอากาศอันร้อนระอุ ภาพโดย MARK THIESSEN, NATIONAL GEOGRAPHIC


ยิ่งอากาศร้อนมากเท่าไร พลาสติกยิ่งอาจปนเปื้อนในอาหารหรือน้ำมากยิ่งขึ้น

ในช่วงที่อากาศร้อน การเลือกดื่มเครื่องดื่มจากขวดพลาสติกเป็นเรื่องที่หลายคนคุ้นชิน แต่ก่อนที่คุณจะดื่มน้ำจากขวดพลาสติกเพื่อเติมน้ำในร่างกาย คุณคงต้องคิดให้ดีในเรื่องที่พลาสติกมีโอกาสบุบสลายภายใต้ดวงอาทิตย์ที่ร้อนระอุ

“ยิ่งอากาศร้อนมากเท่าไหร่ ส่วนผสมต่างๆ ในบรรจุภัณฑ์พลาสติกมีโอกาสเข้าไปปนเปื้อนในอาหารหรือน้ำดื่มมากเท่านั้น” โรลฟ์ ฮัลเดน (Rolf Halden) ผู้อำนวยการศูนย์วิศวกรรมสุขภาพสิ่งแวดล้อม แห่งสถาบันการออกแบบชีวภาพ มหาวิทยาลัยแอริโซนา กล่าว

บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกโดยส่วนใหญ่ได้ปล่อยสารเคมีจำนวนเล็กน้อยลงไปในอาหารหรือเครื่องดื่มที่บรรจุอยู่ในพลาสติก เมื่อเวลาผ่านไปและอุณหภูมิสูงขึ้น พันธะเคมีในพลาสติกจะแตกตัวและมีแนวโน้มเกิดการละลาย

จากการศึกษาของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สหรัฐอเมริกา พบว่า จำนวนของสารเคมีดังกล่าวมีน้อยเกินกว่าจะให้เกิดปัญหาสุขภาพ แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์กำลังคิดในแง่ของผลกระทบระยะยาวของการที่ชีวิตมนุษย์เต็มไปด้วยพลาสติก หากร่างกายสะสุมอนุภาคเล็กๆ เหล่านี้ ก็อาจเกิดปัญหาใหญ่ขึ้นได้

พลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในยามที่อากาศร้อนระอุ

ขวดพลาสติกโดยส่วนใหญ่ที่เรามักพบตามชั้นวางสินค้าในซุปเปอร์มาเกตทำมาจากพลาสติกที่ชื่อว่า พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (polyethylene terephthalate – PET) ซึ่งเป็นพลาสติกที่มีการนำไปรีไซเคิลมากที่สุด นักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตต ได้ศึกษาว่าความร้อนได้เร่งการสลายแร่พลวง (antinomy) ในขวดพลาสติกประเทศ PET อย่างไรบ้าง โดยแร่พลวงถูกนำไปใช้เพื่อผลิตพลาสติก ซึ่งสามารถเป็นพิษได้หากมีการใช้มากไป และยิ่งในวันที่อากาศร้อนมากเท่าไหร่ ก็มีโอกาสที่น้ำจะมีการปนเปื้อนมากเท่านั้น

(เชิญชมสารคดีสั้นเรื่องความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพลาสติกที่อยู่รอบตัวเรา)

“โดยปกติแล้ว ความร้อนจะเป็นปัจจัยเร่งให้พันธะเคมีในพลาสติก เช่นขวดพลาสติก เกิดการสลายพันธะ และสารเคมีเหล่านี้สามารถปนเปื้อนไปในเครื่องดื่มที่บรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์พลาสติกได้” จูเลีย เทย์เลอร์ นักวิทยาศาสตร์ที่วิจัยในเรื่องพลาสติกแห่งมหาวิทยาลัยมิซซูรีกล่าวไว้ในอีเมล์

ตามข้อมูลจากสมาคมน้ำบรรจุขวดนานาชาติ ได้ชี้แนะว่า ควรเก็บรักษาน้ำดื่มบรรจุขวดในแบบเดียวกับสินค้าของชำอื่นๆ

“น้ำบรรจุขวดมีบทบาทสำคัญในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน ถ้าคุณมีภาวะเสี่ยงในการขาดน้ำ ก็ไม่สำคัญว่าน้ำนั้นจะถูกบรรจุมาในภาชนะแบบไหน” ฮัลเดนกล่าวและเสริมว่า “แต่สำหรับผู้บริโภคทั่วไป ไม่มีประโยชน์เลยที่จะใช้บรรจุภัณฑ์เหล่านี้”

แล้วบรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ล่ะ

ขวดน้ำที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ส่วนใหญ่ทำมาจากพอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง (High Density Polyethylene – HDPE) หรือโพลีคาร์บอเนต (Polycarbonate) HDPE นั้น เป็นที่ยอมรับในการนำไปรีไซเคิล (รหัสรีไซเคิลหมายเลขสอง) แต่โพลีคาร์บอเนตนั้นยากที่จะนำไปรีไซเคิล (รหัสรีไซเคิลหมายเลขเจ็ด)

เพื่อที่จะให้ขวดเหล่านี้มีคงทนและเปล่งประกาย บรรดาผู้ผลิตมักใช้บิสฟีนอล-เอ (Bisphenol-A หรือ BPA) สารประกอบซึ่งกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องความเป็นพิษ โดย BPA คือสารรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อในร่างกาย ซึ่งหมายความว่า สารนี้สามารถรบกวนการทำงานของฮอร์โมนและมีโอกาสที่เกิดอันตรายต่อร่างกาย และมีงานวิจัยที่ชี้ว่าสารนี้มีส่วนเชื่อมโยงการเกิดมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ ได้สั่งห้ามใช้ BPA ในขวดน้ำสำหรับและซิปปี้คัพ (sippy cup) แต่ยังไม่มีหลักฐานปรากฏถึงการควบคุมในแบบอื่นๆ

บรรจุภัณฑ์พลาสติก
แม้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบแคลมเชลเหล่านี้สามารถนำไปรีไซเคิลได้ แต่พวกมันก็ไม่ได้ถูกนำไปรีไซเคิลเสมอไป ภาพโดย HANNAH WHITAKER, NATIONAL GEOGRAPHIC

อย่างไรก็ตาม มีผู้ผลิตหลายรายได้ตอบสนองความกังวลของผู้บริโภคโดยการทำให้ผลิตภัณฑ์ของพวกเขาปลอดจากสาร BPA

แต่ “คำว่า ‘ปลอดสาร BPA’ ไม่ได้แปลว่ามันปลอดภัย” เทย์เลอร์ กล่าว

แล้วภาพรวมที่แท้จริงของปัญหาคืออะไร

จำนวนร่องรอยสารเคมีที่คนหนึ่งคนรับประทานในบรรจุภัณฑ์ที่เก็บไว้ในความร้อน ไม่ทำให้กระบวนการทางสุขภาพหยุดชะงัก แต่ฮัลเดนกล่าวว่า เราควรกังวลในเรื่องของจำนวนพลาสติกที่อยู่รอบตัวในชีวิตประจำวัน

“การดื่มน้ำจากขวดพลาสติกจะทำอันตรายต่อร่างกายคุณหรือ อาจจะไม่” เขากล่าวเสริมว่า “เว้นเสียแต่ว่าคุณจะดื่ม 20 ขวดต่อวัน ”

ฮัลเดนกล่าวว่า ผลสะสมของการที่ชีวิตของเราถูกล้อมรอบไปด้วยพลาสติกในสิ่งของต่างๆ ในชีวิตประจำวัน หรือไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำนั้นจะมีโอกาสส่งผลกระทบส่งร่างกายได้มากกว่า

โดยความเห็นส่วนตัว ฮัลเดนเลือกที่จะใช้ขวดน้ำโลหะมากกว่าใช้ขวดพลาสติกที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เมื่อเราต้องการพกน้ำดื่มไปดื่มน้ำข้างนอก

“ถ้าคุณไม่อยากให้พลาสติกเข้าไปในร่างกาย คุณต้องไม่เพิ่มพลาสติกในสังคมของเรา” ฮันเดน กล่าว

เรื่อง SARAH GIBBENS


อ่านเพิ่มเติม รู้หรือไม่ มนุษย์กินพลาสติกเข้าไปทีละนิดโดยไม่รู้ตัว พลาสติก

Recommend