คนกว่า 300 ล้านคนทั่วโลก และไทย กำลังเผชิญภัยจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

คนกว่า 300 ล้านคนทั่วโลก และไทย กำลังเผชิญภัยจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

งานศึกษาใหม่ที่ได้ข้อมูลจากดาวเทียมระบุว่า ผืนแผ่นดินในหลายประเทศมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมภายในปี 2050 มากขึ้นกว่าการคาดการณ์เดิม และอาจเลวร้ายลงหากบรรดาประเทศต่างๆ ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดในความตกลงปารีสได้

รายงานใหม่ที่เผยแพร่ในวารสาร Nature Communication เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2019 ระบุว่า ผืนดินที่เป็นบ้านของผู้คนราว 300 ล้านคนจะถูกน้ำท่วมอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งภายในปี 2050 ถ้ายังไม่มีการลดการปล่อยคาร์บอนที่ชัดเจน และมาตรการป้องกันชายฝั่งที่มากพอ โดยจำนวนผู้ได้รับผลกระทบจาก ระดับน้ำทะเล ที่สูงขึ้น มีมากกว่าการคาดการณ์ขององค์การนาซาของสหรัฐอเมริกาที่ระบุว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบอยู่ที่ 80 ล้านคน

จำนวนตัวเลขในผลการศึกษานี้ได้มาจากการกระบวนการประเมินอันซับซ้อนของลักษณะภูมิประเทศชายฝั่งรอบโลก โดยรูปแบบการประเมินก่อนหน้านี้ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมที่ประเมินความสูงของพื้นที่เกินกว่าความเป็นจริง เนื่องจากได้มีการรวมความสูงของตึกและต้นไม้ในแต่ละพื้นที่ไปด้วย โดยวิธีการศึกษาแบบใหม่นี้ได้ใช้ปัญญาประดิษฐ์ เพื่อชดเชยความผิดพลาดดังกล่าว

ป่าชายเลน
ชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศบังกลาเทศเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากระดับทะเลที่กำลังสูงขึ้น  ในภาพ คลื่นพายุซัดฝั่งทำให้บางส่วนของเกาะสาคร ในแม่นํ้าฮูคลีทางใต้ของเกาะโฆรามาระถูกตัดขาดจากกัน

การศึกษาใหม่ครั้งนี้ให้ผลที่ชวนตะลึงยิ่งกว่าครั้งเดิม และ “การประเมินแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ทั้งเมือง เศรษฐกิจ ชายฝั่ง และทุกภูมิภาคของโลกเปลี่ยนแปลงไปในช่วงเวลาของเรา” สก็อต คัลป์ ผู้เขียนหลักของงานศึกษาชิ้นนี้และนักวิทยาศาสตร์อาวุโสแห่งองค์กร Climate Central ที่ทำงานด้านวิเคราะห์และรายงานเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สภาพภูมิอากาศ กล่าวไว้ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Guardian

โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุด คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นที่ทวีปเอเชีย อันเป็นพื้นที่ที่ประชากรโลกอาศัยอยู่มากที่สุด ซึ่งจำนวนประชากรที่เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างน้อยหนึ่งครั้งภายในปี 2050 ได้เพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น 8 เท่าในบังกลาเทศ, 7 เท่าในอินเดีย และ 12 เท่าในอินเดียและประเทศจีน

นอกจากนี้ ในเนื้อหาของรายงานมีแผนภูมิที่ระบุว่า กรุงเทพมหานครอยู่ในเกณฑ์พื้นที่เสี่ยงเหล่านี้ เนื่องจากมีระดับพื้นดินต่ำกว่าทะเล เช่นเดียวกับกรุงจาการ์ตา, พื้นที่ชายฝั่งทางตอนใต้ของบังกลาเทศ และพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง (Pearl River Delta) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน

ระดับน้ำทะเล
ภาพแผนที่จากรายงาน แสดงให้เห็นถึงพื้นที่ชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบจากระดับทะเลที่กำลังสูงขึ้น โดยภาพขวาล่างคือกรุงเทพมหานคร ซึ่งพื้นที่สีชมพูและสีน้ำเงินแสดงให้เห็นถึงพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก https://www.nature.com/articles/s41467-019-12808-z

เบนจามิน สเตราส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์กร Climate Central กล่าวว่า หลายๆ ประเทศที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบอาจจะต้องดำเนินการเช่นเดียวกับประเทศอินโดนีเซียที่วางแผนย้ายเมืองหลวง ถ้าไม่มีมาตรการป้องกันชายฝั่งและลดการปล่อยคาร์บอนมากพอ

โดยบรรดานักวิทยาศาสตร์กล่าวอีกว่า ถ้าสภาพเช่นนี้ยังคงดำเนินต่อไป ภายในปี 2100 ที่อยู่อาศัยของผู้คนราว 640 ล้านคนได้จะตกอยู่ในภาวะล่อแหลมและสุ่มเสี่ยง

บรรดาผู้เขียนงานศึกษานี้กล่าวว่า มีโอกาสที่การประเมินในครั้งนี้อาจประเมินอันตรายที่เกิดขึ้นต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากพวกเขาศึกษาโดยการอ้างอิงภาพฉายแบบมาตรฐาน (Standard Projection) ของระดับน้ำทะเลที่เรียกว่า RCP2.6 ซึ่งกำหนดจากรายละเอียดในความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งในขณะนี้หลายประเทศไม่สามารถปฏิบัติตามได้

“ความจำเป็นในการปกป้องชายฝั่งและแผนการขั้นสูงเพื่อเตรียมพร้อมระดับทะเลที่สูงขึ้นนั้นมีมากกว่าที่เราคิด หากเราต้องการหลีกเลี่ยงอันตรายและความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ” สเตราส์ กล่าว

แหล่งอ้างอิง

New elevation data triple estimates of global vulnerability to sea-level rise and coastal flooding

Rising sea levels pose threat to homes of 300m people – study

How rising seas will sink COUNTRIES: Scientists calculate that current satellite-based predictions are wrong and three times as many people will be hit by rising shore lines by 2050


อ่านเพิ่มเติม คิริบาตี กำลังทวนกระแสน้ำทะเลที่กำลังกลืนประเทศ 

คิริบาตี

Recommend