“หลายปีแล้วที่ผมลงไปทำงานคลุกคลีในพื้นที่ชายฝั่งทะเลของจังหวัดสตูล สัมผัสความผูกพันของวิถีชีวิตผู้คนกับท้องทะเลที่สมบูรณ์ เห็นประวัติศาสตร์ทางธรณีของโลกใบนี้ที่ซ่อนตัวอยู่ตามภูเขาหิน ยลเสน่ห์ของโลกใต้น้ำสีเขียวที่มีความพิเศษอย่างที่ไม่เคยพบเจอ รับรู้ถึงความรักและหวงแหนทะเลบ้านเกิดของชุมชน ปากบารา… แผนการที่จะคืนชีวิตให้โครงการท่าเรือน้ำลึก ปากบารา ขึ้นมาอีกครั้งในวันนี้ ทำให้ผมต้องตั้งคำถามว่า ผลประโยชน์จะเกิดกับชุมชนในพื้นที่จริงหรือ จะคุ้มค่ากับผลกระทบต่อท้องทะเลที่สมบูรณ์ของจังหวัดสตูลหรือเปล่า เป็นคำถามที่สังคมไทยต้องช่วยกันขบคิด ถกเถียงอภิปรายอย่างโปร่งใส อยู่บนฐานของข้อมูลและข้อเท็จจริง รับฟังเสียงประชาชนในพื้นที่อย่างจริงใจ อย่าให้เป็นเหมือนอีกหลายโครงการที่อ้างว่าทำเพื่อประชาชน แต่สุดท้ายแล้วกลับไม่ต่างจากการทำลาย ในนามของคำว่า การพัฒนา”
– ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพ นักอนุรักษ์ และนักสำรวจเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก, พฤศจิกายน 2562
———————————————-
ปากบารา : มรดกแบบไหนที่เราจะส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป
เรื่อง ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง
ภาพถ่าย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย
หลังจบการศึกษาจากออสเตรเลียเมื่อ พ.ศ. 2540 ผมมุ่งหน้ามาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยบนด้ามขวานของไทย แผ่นดินที่มีทะเลขนาบอยู่สองฝั่ง ฝั่งหนึ่งคืออ่าวไทย อีกฝั่งคือทะเลอันดามัน ในตอนนั้น แม้ผมกำลังหาพื้นที่เพื่อทำงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งทะเลอ่าวไทย แต่ผมกลับขับรถข้ามมาฝั่งทะเลอันดามัน ไกลถึงจังหวัดสตูล พร้อมพกพาความคาดหวังในใจว่าป่าชายเลนผืนใหญ่และแนวปะการังตามเกาะแก่งต่าง ๆ ของอันดามันน่าจะเป็นเป้าหมายให้งานวิจัยของผมได้
ยามเช้าในชุมชนเล็ก ๆ อันเงียบสงบของอ่าว ปากบารา ที่ร้านโรตีริมถนนในชุมชนปากบารา ภายใต้ผ้าคลุมฮิญาบสีเข้ม สาวมุสลิมนัยน์ตาคมกำลังตวัดแผ่นแป้งโรตีอย่างคล่องแคล่วเหนือกระทะแผ่นแบนกลมที่ตั้งบนเตาถ่านข้าง ๆ มีชายหนุ่มกำลังชงชาชักกลิ่นหอมกรุ่น แสงแดดอ่อน ๆ สาดส่องท้องทะเลสีคราม เรือหางยาวทยอยเข้ามาเทียบฝั่ง ตะกร้าใส่ปู ปลา กุ้ง หมึก ถูกแบกขึ้นมาจากเรือ ชีวิตริมชายฝั่งทะเลของชุมชนแห่งนี้ดูอบอุ่นและเป็นมิตรอย่างยิ่ง
ข้างบนเวิ้งว้าง ข้างใต้มหัศจรรย์
ต้นปี พ.ศ. 2541 ผมร่วมงานกับ รศ.ดร.วิภูษิต มัณฑะจิตร ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ทำโครงการค้นหาศักยภาพของทะเลสตูลในการเป็นต้นแบบการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเลให้กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นโอกาสที่ทำให้ผมได้สำรวจแนวปะการังและระบบนิเวศทางทะเลบริเวณปากบารา และหมู่เกาะต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง พวกเราล่องเรือไปตามลำคลองในป่าชายเลน ลัดเลาะชายฝั่งทะเลจากคลองปากบาราขึ้นไปทางบ้านบ่อเจ็ดลูก แล้วข้ามลงไปสำรวจแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นทั้งระบบนิเวศและแหล่งอาหารสำคัญของพะยูนที่เกาะลิดีซึ่งอยู่ถัดลงไปทางใต้ ระหว่างการสำรวจแนวปะการังในครั้งนั้น เรือประมงเช่าเป็นทั้งพาหนะและที่พัก พาเราพร้อมอุปกรณ์ดำนํ้าข้ามนํ้าข้ามทะเลออกจากอ่าวปากบาราไปยังหมู่เกาะต่าง ๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราและเกาะตะรุเตาผ่านจากหัวเกาะเขาใหญ่ ผมมุ่งหน้าสู่หมู่เกาะบุโหลนที่อยู่ห่างจากฝั่งราว 12-17 กิโลเมตร นํ้าทะเลในบริเวณนี้ค่อนข้างใสกว่าบริเวณเกาะเขาใหญ่และอ่าวปากบารา ทั้งนี้เพราะตะกอนอินทรีย์จากปากบาราไม่ถูกพัดพามายังบริเวณนี้มากนัก คนมาท่องเที่ยวยังน้อย คงเนื่องมาจากการเดินทางที่ค่อนข้างลำบาก
นํ้าทะเลที่เกาะบุโหลนแม้จะใส แต่ก็ยังมีตะกอนแขวนลอยอยู่บ้าง เรือประมงของเราแล่นผ่านเงาสีดำทะมึนของก้อนปะการังใต้นํ้า เข้าไปด้านในที่มีปะการังเขากวางกระจายอยู่ทั่วไปบนพื้นทรายสีขาว แซมด้วยปลิงทะเลสีดำ ตามก้อนปะการังมีหอยมือเสือฝังตัวอยู่ เห็นได้จากเนื้อเยื่อสีสันต่าง ๆ ที่โผล่พ้นจากขอบเปลือกดูสวยงาม เม่นทะเลหลายตัวเกาะกลุ่มกันแทะเล็มสาหร่ายที่ขึ้นอยู่ตามซากปะการัง เรือแล่นขนานไปกับเกาะได้สักพักก็มาถึงบริเวณที่นํ้าลึกประมาณสามเมตร เราจัดแจงสวมชุดดำน้ำที่เตรียมมาด้วย แล้วตรวจเช็กอุปกรณ์ที่ต้องพึ่งพายามเมื่ออยู่ใต้นํ้าเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อแน่ใจว่าทุกอย่างทำงานเป็นปกติ ผมก็ทิ้งตัวลงสู่ผืนนํ้าทันที
โลกใต้ทะเลของเกาะบุโหลนมีทัศนียภาพที่แตกต่างจากความเวิ้งว้างเงียบสงบเหนือผิวนํ้าอย่างสิ้นเชิง ปะการังที่นี่แม้จะไม่สวยงามเหมือนที่พบในเกาะอื่น ๆ ที่นักท่องเที่ยวและนักดำนํ้าไปเยี่ยมชมกัน แต่กลุ่มปะการังก้อน ปะการังแผ่น และปะการังเขากวาง ก็เป็นที่แหล่งอาศัยของสรรชีวิตใต้ทะเลจำนวนมาก
แรก ๆ ฝูงปลาที่แหวกว่ายไปมาดูจะหวาดกลัวผมอยู่บ้าง แต่สักพักก็เลิกสนใจกับสิ่งแปลกปลอมนี้ พวกมันว่ายผ่านหน้าผมไป เช่นเดียวกับปลาผีเสื้อปากยาวที่ยังคงว่ายเวียนจ้องมองผมด้วยสัญชาตญาณแห่งการระวังภัย เมื่อผมเข้าใกล้อาณาเขตของมัน แต่พอรู้ว่าผมไม่เป็นอันตราย มันก็กลับไปหาสัตว์นํ้าขนาดเล็กกินตามเดิม ผมบันทึกความหลากหลายของสรรพชีวิตในแนวปะการังลงบนแผ่นบันทึกข้อมูล ก่อนมุ่งหน้าไปสำรวจยังเกาะอื่น ๆ ต่อไป เมื่อเสร็จงานสำรวจแนวปะการังในแต่ละวัน บางคํ่าคืน ผืนทรายสีขาวใต้ร่มไม้บนเกาะเป็นที่ให้เราพักค้างแรม แต่บางคืน การนอนบนเรือประมงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่ช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางไปกลับจากที่พักบนเกาะ พวกเรามีเสบียงอย่างกุ้ง หอย ปู ปลา และหมึกรสชาติหวานฉํ่าที่จับได้เป็นอาหารในแต่ละวัน
ป่าชายเลนผืนใหญ่ที่อ่าวปากบารา แหล่งหญ้าทะเลรอบเกาะลิดี แนวปะการังอุดมสมบูรณ์ และฝูงปลานานาชนิดตามเกาะแก่งต่าง ๆ สะท้อนความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพของทะเลปากบาราและหมู่เกาะใกล้เคียง พวกเราทำรายงานเสนอการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเพื่อบอกว่าที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศทางทะเลที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ท้องทะเลปากบารา และหมู่เกาะบุโหลนในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา และเกาะตะรุเตากลายเป็นห้องเรียนทางธรรมชาติชั้นเลิศที่ผมพานักศึกษาวิชานิเวศวิทยาแนวปะการัง นิเวศวิทยาป่าชายเลน และวิชาโครงงานวิจัยของนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ไปศึกษาภาคสนามและลงพื้นที่จริง
ป่าชายเลนผืนใหญ่ที่อ่าวปากบารา แหล่งหญ้าทะเลรอบเกาะลิดี แนวปะการังอุดมสมบูรณ์ และฝูงปลานานาชนิดตามเกาะแก่งต่าง ๆ สะท้อนความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพของทะเลปากบาราและหมู่เกาะใกล้เคียง พวกเราทำรายงานเสนอการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเพื่อบอกว่าที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศทางทะเลที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
ตำนานแห่งบรรพกาล ณ ปากบารา
ระหว่างปี พ.ศ. 2549 – 2552 ยังเป็นช่วงที่ผมทำงานเป็นหัวหน้าโครงการจัดทำเอกสารเพื่อนำเสนอพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ผมกับทีมงานออกสำรวจอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา อุทยานแห่งชาติตะรุเตา และอุทยานแห่งชาติทะเลบัน จังหวัดสตูล เพื่อทำข้อมูลเสนอกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขณะที่ทีมงานอื่น ๆ ลงพื้นที่เพื่อศึกษาหาจุดเด่นของอุทยานแห่งชาติทางทะเลอื่น ๆ ทางฝั่งอันดามันในพื้นที่จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง สำหรับขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ
ในเอกสารนำเสนอพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกครั้งนั้น อาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ หนึ่งในทีมนักวิจัยของโครงการ เขียนถึงธรณีวิทยาของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา และชายฝั่งจังหวัดสตูลไว้อย่างน่าสนใจว่า “ในทางวิชาการ ชั้นหินตลอดชายฝั่งและภูเขาหลายลูก รวมถึงเกาะในทะเล เช่น เกาะเขาใหญ่มีความสำคัญในเชิงธรณีวิทยาอย่างมากเนื่องจากเป็นชั้นหินที่พบซากดึกดำบรรพ์จำนวนมาก บริเวณนี้ไม่มีการแทรกดันของมวลหินแกรนิตหรือการแปรสภาพจากแรงกระทำทางเทคโทนิค [หรือกระบวนการแปรสัณฐานทางธรณีวิทยา] มากนัก ทำให้หลักฐานของซากดึกดำบรรพ์ไม่ถูกทำลายและมีโอกาสในการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้อีกมาก”
ในช่วง 540 – 480 ล้านปีก่อนซึ่งตรงกับยุคแคมเบรียน (Cambrian Period) อันเป็นจุดเริ่มต้นของมหายุคพาลีโอโซอิก ท้องทะเลแถบนี้มีไทรโลไบต์ (trilobite) บรรพบุรุษของแมงดาทะเล และนอติลอยด์ (nautiloid) บรรพบุรุษหอยงวงช้าง แหวกว่ายไปมา หอยทะเลยุคโบราณอย่างหอยตะเกียง หอยโข่งทะเลคืบคลานไปตามโขดหินและพื้นทะเล บรรพบุรุษของปะการังซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่สร้างหินปูนเป็นโครงสร้างคํ้าจุนร่างกาย ตลอดจนพลับพลึงทะเล และสัตว์โบราณสารพัดชนิดแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในช่วงเวลานี้และยุคถัด ๆ มา
เป็นที่ทราบกันดีในหมู่นักธรณีวิทยาว่า เกาะตะรุเตาเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ทะเลโบราณที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย แต่มีน้อยคนนักที่จะรู้ว่า เกาะและภูเขาหลายลูกในเขตอำเภอละงูและทุ่งหว้าก็เป็นแหล่งฟอสซิลที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน น่าเสียดายที่ภูเขาลูกแล้วลูกเล่าซึ่งเต็มไปด้วยซากฟอสซิลกลับถูกระเบิดเพื่อนำหินไปก่อสร้างและทำถนนโครงการต่าง ๆ
“ครูนก” ธรรมรัตน์ นุตะธีระ แห่งโรงเรียนกำแพงวิทยา พานักเรียนออกเดินทางไปศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของสัตว์ทะเลโบราณที่กลายเป็นฟอสซิลตามภูเขาต่าง ๆ ในบริเวณอำเภอละงู แล้วจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ของโรงเรียน ทั้งครูและนักเรียนช่วยกันค้นหา แบกก้อนหินซึ่งถูกระเบิดทำถนนก้อนใหญ่ ๆ ซึ่งมีฟอสซิลกลับมา แล้วจัดทำเป็นสื่อการเรียนรู้ของท้องถิ่น เพื่อบอกเล่าเรื่องราวในบรรพกาลของทะเลจังหวัดสตูล จนมีผู้สนใจมากขึ้น วันนี้ผลงานของพวกเขาส่งเสียงดังพอที่จะนำไปสู่การผลักดันให้จัดตั้งเป็นอุทยานธรณี (Geopark) ระดับชาติ โดยกรมทรัพยากรธรณี และหากกระบวนการจัดตั้งอุทยานธรณีแล้วเสร็จ ก็สามารถนำเสนอต่อยูเนสโก เพื่อตรวจสอบและขึ้นทะเบียนให้เข้าเป็นเครือข่ายอุทยานธรณีระดับโลก (Global Geopark Network) ต่อไป
ตลอดระยะเวลา 500 ล้านปีที่ผ่านมา ทะเลสตูลผ่านกระบวนการแปรสัณฐาน หรือการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกและสภาพภูมิอากาศหลายครั้ง สัตว์โบราณหลายชนิดสูญพันธุ์ไป หลายชนิดมีวิวัฒนาการ กำเนิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ มีสัตว์ใหญ่อย่างไดโนเสาร์ที่กำเนิดมาทีหลัง แต่กลับสูญพันธุ์ไปก่อน แต่สัตว์ทะเลหลายชนิดในยุคนั้นยังคงเติบโต เปลี่ยนแปลง และปรับตัว สืบทอดสายพันธุ์อยู่คู่กับท้องทะเลสตูลมาจนถึงปัจจุบัน
เกาะตะรุเตาเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ทะเลโบราณที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย แต่มีน้อยคนนักที่จะรู้ว่า เกาะและภูเขาหลายลูกในเขตอำเภอละงูและทุ่งหว้าก็เป็นแหล่งฟอสซิลที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน น่าเสียดายที่ภูเขาลูกแล้วลูกเล่าซึ่งเต็มไปด้วยซากฟอสซิลกลับถูกระเบิดเพื่อนำหินไปก่อสร้างและทำถนนโครงการต่าง ๆ
มีทุกอย่างของระบบนิเวศทางทะเล
หากดูจากแผนที่โลก เราจะเห็นว่าภาคใต้ของไทยขนาบด้วยมหาสมุทรแปซิฟิกทางด้านขวาและมหาสมุทรอินเดียทางด้านซ้าย ด้ามขวานของแหลมทองตั้งแต่ภาคใต้จนถึงมาเลเซียเป็นแผ่นดินที่เป็นรอยต่อระหว่างพันธุ์พืชและสัตว์บกจากซีกโลกเหนือกับซีกโลกใต้ นํ้าทะเลจากสองมหาสมุทรไหลมาบรรจบกันที่ปลายคาบสมุทรมลายู เราจึงพบว่าทะเลบริเวณนี้ไม่เพียงมีความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลสูง แต่ยังรุ่มรวยไปด้วยสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งที่พบได้ในมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย อย่างปลาผีเสื้อ ปะการัง และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ตามแนวปะการัง ป่าชายเลน แหล่งหญ้าทะเล และท้องทะเลนอกชายฝั่ง
คุณลักษณะพิเศษเหล่านี้ตรงกับเกณฑ์ข้อที่ 9 ของการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติที่กำหนดไว้ว่า “เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของกระบวนการทางนิเวศวิทยาและชีววิทยาที่ยังดำเนินอยู่ ที่สำคัญต่อวิวัฒนาการและพัฒนาการของระบบนิเวศบนบก ระบบนิเวศนํ้าจืด ระบบนิเวศชายฝั่งและทะเล และต่อสังคมพืชและสังคมสัตว์” ท้องทะเลในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราและอุทยานแห่งชาติตะรุเตาจึงถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเสนอพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันให้เป็นมรดกโลก
ขณะเดียวกัน ชายฝั่งทะเลบริเวณนี้ยังมีระบบนิเวศครบทุกรูปแบบ ตั้งแต่ป่าชายเลน หาดหิน หาดทราย และหาดโคลน เรื่อยไปจนถึงแนวปะการัง หญ้าทะเล และปากแม่นํ้า ถิ่นอาศัยเหล่านี้ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ประกอบกับพื้นที่ตั้งแต่ใต้จังหวัดภูเก็ต อ่าวพังงา ลงมาถึงสตูล ตั้งอยู่ปากช่องแคบมะละกา ซึ่งมีเกาะสุมาตราอยู่ทางซ้าย มีภูเขาและเกาะแก่งล้อมรอบ กระแสนํ้าหลักที่ไหลผ่านบริเวณนี้จึงพัดพาสารอาหารทั้งจากบนบกและในทะเลมาสะสมรวมที่ชายฝั่งและวนอยู่ในอ่าว ทำให้ชายฝั่งตลอดแนวนี้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก
ยิ่งไปกว่านั้น ชายฝั่งสตูลยังได้แร่ธาตุและสารอาหารจากแผ่นดินที่แม่นํ้าพัดพามาสะสมที่ชายฝั่งทะเลอีกทางหนึ่ง ระบบนิเวศเช่นนี้เรียกว่าชะวากทะเลหรือปากแม่นํ้า (estuary) ชายฝั่งของไทยจากสตูลไล่ขึ้นไปถึงอ่าวพังงามีปากแม่นํ้าหลายแห่ง เช่น ปากนํ้าสตูล ปากบารา ปากนํ้ากันตัง ปากนํ้ำปะเหลียน ปากนํ้าสิเกา ศรีบอยา ปากนํ้ากระบี่ และอ่าวพังงา ทั้งหมดล้วนเป็นระบบนิเวศปากแม่นํ้า หาดเลนและป่าชายเลนขนาดใหญ่ ปลาเก๋า ปูม้า ปูทะเล และสารพัดสัตว์ทะเลวัยอ่อนถือกำเนิดและหลบภัยอยู่ตามซอกหลืบรากไม้ในป่าชายเลน เมื่อเติบใหญ่ก็ว่ายออกสู่ท้องทะเล
ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นชายฝั่งสตูลเป็นชายหาดโคลน หาดโคลนสีดำของชายฝั่งจังหวัดสตูลไม่ใช่ความสกปรกอย่างที่ตาเห็น แต่เป็นสีของสารอินทรีย์และธาตุอาหารที่สะสมจนเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งหากินของสัตว์นํ้านานาชนิด ตั้งแต่แบคทีเรียทะเล ไส้เดือนทะเล ไปจนถึงสัตว์หน้าดิน ที่จะเป็นอาหารของกุ้งหอยปูปลาต่อไป
ความอุดมสมบูรณ์เช่นนี้เองที่ทำให้ชาวบ้านที่นี่มีอาหารทะเลสดและสะอาด กุ้งหอยปูปลาที่ได้กินมาตั้งแต่เด็ก รสชาติที่เขาบอกว่าธรรมดาสุด ๆ นั้น กลับเป็นรสชาติที่เราไม่อาจหาได้จากกุ้งหอยปูปลาที่เลี้ยงขาย กุ้งที่ผมนั่งกินกับชาวบ้านเมื่อวันที่ไปเยือนปากบารานั้น หวานกว่ากุ้งขาวที่เลี้ยงตามบ่อชนิดเทียบกันไม่ติด
ที่สำคัญ แนวปะการังที่หลากหลายและถือว่าดีที่สุดในทะเลอันดามันตอนล่างในปัจจุบันและยังคงสภาพสมบูรณ์ก็อยู่ที่หมู่เกาะอาดัง-ราวีและตะรุเตาด้วย แต่เพราะยังมีคนมาเที่ยวน้อยกว่าหมู่เกาะสุรินทร์และสิมิลัน ชื่อเสียงจึงไม่โด่งดังเท่า แม้แต่ชาวบ้านที่ปากบารายังเคยคิดว่าแนวปะการังที่บ้านเขาสวยงามสู้ที่อื่นไม่ได้
เมื่อเกือบสิบปีก่อนที่เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวปะการังที่หมู่เกาะสุรินทร์ สิมิลัน ภูเก็ต และพีพี ตายลงเป็นจำนวนมาก แต่แนวปะการังที่สตูล นอกจากจะสามารถปรับตัวและทนต่อการฟอกขาวได้ดีแล้ว บางส่วนที่ฟอกขาวไป ก็ยังคืนสภาพกลับมาจนไม่เห็นร่องรอยของปรากฏการณ์ฟอกขาวเลยอีกด้วย คงเป็นผลมาจากประสบการณ์ในการเผชิญการเปลี่ยนแปลง และปรับตัวมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ
ความสามารถในการต้านทานและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศของโลกอย่างที่ปะการังสตูลมีนั้น เป็นหลักประกันว่า เราจะมีแนวปะการังที่สมบูรณ์ตลอดไป และแนวปะการังที่นี่จะเป็นแหล่งพ่อแม่พันธุ์ให้กับแนวปะการังอื่น ๆ ในจังหวัดตรังขึ้นไปจนถึงพังงาด้วย ผมเห็นแนวปะการังมามากจนพูดได้ว่าแนวปะการังที่สตูลมีความหลากหลายและมีสภาพดีที่สุดของทะเลไทย
ยิ่งไปกว่านั้น ปากบารายังมีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กัลปังหาแพร่กระจายอยู่ทั่วไป ครั้งหนึ่งที่กรมประมงจัดวางปะการังเทียมไว้ที่หน้าเกาะตะเกียง ซึ่งเป็นเกาะเล็ก ๆ ทางตอนใต้ของอ่าวปากบารา ด้วยความตั้งใจจะให้เป็นที่รวมสัตว์นํ้าและฝูงปลาให้กับชาวประมง วันนี้กองปะการังเทียมแห่งนั้นเริ่มทำหน้าที่เลียนแบบแนวปะการังธรรมชาติ มีกัลปังหาจำนวนมากลงเกาะบนแท่นคอนกรีต เรื่องที่ว่าเหตุใดที่นี่จึงเป็นแหล่งกัลปังหาที่อุดมสมบูรณ์มากยังคงเป็นปริศนาอาจเป็นเพราะความสะอาด อาจเป็นเพราะสารอาหาร กระแสนํ้า หรือปัจจัยอื่นที่เรายังศึกษาได้ไม่ครบถ้วน
สตูลมีทุกอย่างของระบบนิเวศทางทะเล และมีความสำคัญในฐานะที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์นํ้าวัยอ่อนที่จะเติบโตและแหวกว่ายออกสู่ท้องทะเล มีทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน คนอยู่ได้ และทะเลก็อยู่ได้จนชั่วลูกชั่วหลาน
ท่าเรือนํ้าลึกกับผลกระทบที่ไม่มีคนเอ่ยถึง
หลังจากใช้เวลาศึกษาความเหมาะสมในการดำเนินการสร้างท่าเรือนํ้าลึกภาคใต้มาราว 6 – 7 ปี ในปี พ.ศ. 2547 กรมเจ้าท่าก็สรุปว่า ปากบาราเป็นพื้นที่เหมาะสมในการสร้างท่าเรือนํ้าลึก อันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาภาคใต้ที่รัฐริเริ่มกำหนดเป็นแผนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2518 เนื่องจากการขนส่งทางทะเลมีมูลค่าปีละมากกว่า 20 ล้านล้านบาทและการเดินเรืออ้อมผ่านช่องแคบสุมาตราก็มีความแออัดมากขึ้นทุกวัน จึงมีความพยายามหาเส้นทางการขนส่งทางทะเลที่ประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าเดิม รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยจึงพยายามเชื่อมเส้นทางขนส่งทางทะเลระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน ตั้งแต่การขุดคลองกระ สะพานเศรษฐกิจที่ขนอมถึงกระบี่ หรือแม้แต่ท่าเรือระนองและท่าเรือภูเก็ต โครงการก่อสร้างท่าเรือนํ้าลึกปากบาราจึงเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสะพานเชื่อมเศรษฐกิจหรือแลนด์บริดจ์ที่เชื่อมโยงฝั่งทะเลอ่าวไทยที่ท่าเรือสงขลาแห่งที่สอง อำเภอจะนะ กับฝั่งทะเลอันดามันที่ท่าเรือนํ้าลึกปากบารา
อันที่จริงกระบวนการคัดเลือกพื้นที่ตลอดชายฝั่งอันดามัน ตั้งแต่จังหวัดระนองถึงจังหวัดสตูล เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2540 – 2541 แต่โครงการก่อสร้างท่าเรือ นํ้าลึกขนาดใหญ่ลักษณะนี้กลับไม่เป็นที่ยอมรับของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะในจังหวัดที่มองว่ายุทธศาสตร์การพัฒนาของพื้นที่คือการท่องเที่ยวทางทะเลที่สร้างรายได้ปีละหลายแสนล้านบาทอย่างภูเก็ต พังงา กระบี่ ส่วนตรังก็เป็นแหล่งพะยูนใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้ไปด้วยกัน ไม่ได้กับการพัฒนาเส้นทางเดินเรือและการพัฒนาทางอุตสาหกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพระบบนิเวศทางทะเลอันเป็นต้นทุนทางธรรมชาติที่สำคัญของการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง
สตูลมีทุกอย่างของระบบนิเวศทางทะเล และมีความสำคัญในฐานะที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์นํ้าวัยอ่อนที่จะเติบโตและแหวกว่ายออกสู่ท้องทะเล มีทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน คนอยู่ได้ และทะเลก็อยู่ได้จนชั่วลูกชั่วหลาน
สำหรับผม ข้อน่ากังวลสำคัญหากมีการก่อสร้างท่าเรือนํ้าลึกปากบารามีสองประการ ประการแรกคือการฟุ้งกระจายและทับถมของตะกอนที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการก่อสร้างท่าเรือ การขุดลอกร่องนํ้า และหลังเปิดใช้งานอีกประการหนึ่งคือการสะสมของมลพิษทางทะเล หากเกิดการรั่วไหลของนํ้ามัน
การก่อสร้างท่าเรือย่อมต้องขุดลอกร่องนํ้าให้ลึกกว่าเดิม ตะกอนฟุ้งกระจายไปทับถมบนปะการังที่อยู่รอบ ๆ นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดจุดทิ้งตะกอนห่างจากกองหินขาว แหล่งปะการังอ่อนหลากสีและสัตว์นํ้านานาชนิดเพียงห้ากิโลเมตร ยิ่งเมื่อท่าเรือเปิดดำเนินการแล้ว มีเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่เข้ามาเทียบท่ามากขึ้น ก็ย่อมทำให้เกิดตะกอนฟุ้งกระจายอีก ต่อให้มีความพยายามป้องกันผลกระทบจากตะกอนตั้งแต่ช่วงก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกช่วงเวลาที่มีคลื่นลมพายุไม่แรงมากเพื่อลดการพัดพาของตะกอน หาพื้นที่ใหม่รองรับตะกอนที่เกิดจากการขุดร่องนํ้า หรือการปรับเส้นทางการเดินเรือ ก็ล้วนเป็นไปได้ยากและไม่คุ้มค่า
ตะกอนที่ถูกกระแสนํ้าพัดพาลงไปตกบนแนวปะการังจะทำให้ปะการังต้องสร้างเมือกเพื่อขับตะกอน หรือใช้หนวดปัดกวาดออกไป แต่ถ้าตะกอนมีมากขึ้น ปะการังกำจัดออกไม่ทัน ก็ถูกตะกอนทับถมจนตายไป ปะการังรุ่นใหม่ที่เพิ่งเกิดมา ก็ไม่สามารถเติบโตบนพื้นทะเลที่มีตะกอนปกคลุมได้ ในที่สุดแนวปะการังจะค่อย ๆ หายไป เหลือเพียงเศษซากปะการังที่ปราศจากสิ่งมีชีวิตเข้ามาอาศัย ผลกระทบประการหลังที่อาจเกิดขึ้นคือการรั่วไหลของนํ้ามัน ผมเคยสอบถามคนสตูลว่า พวกเขาเชื่อไหมว่าเมื่อมีการขนส่งทางทะเล จะไม่มีเหตุการณ์นํ้ามันและสารเคมีรั่วไหลเกิดขึ้นเลย ผมสัมผัสได้ถึงความกังวลใจของพวกเขา เมื่อนึกถึงข่าวคราวเหตุการณ์นํ้ามันรั่วในอ่าวไทยหลายครั้งที่ผ่านมา
สตูลเป็นส่วนหนึ่งของช่องแคบมะละกา ไม่ใช่ทะเลเปิดเช่นเดียวกับทะเลตะวันออก หากเกิดเหตุการณ์นํ้ามันหรือสารเคมีรั่วไหล สารพิษเหล่านั้นย่อมถูกพัดพามาตกสะสมตลอดชายฝั่งของสตูลเช่นกัน ทุกวันนี้ ในช่วงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ขยะจำนวนมากจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย และจากเรือเดินสมุทรทั้งหลาย ถูกกระแสนํ้าพัดมากองตลอดแนวชายฝั่งมากมายอยู่แล้ว และหากชายฝั่งสตูลเป็นแหล่งสะสมของมลพิษ สัตว์ทะเลและคนที่กินสัตว์ทะเลย่อมได้รับสารพิษไปด้วยตามลำดับ
ข้อน่ากังวลสำคัญหากมีการก่อสร้างท่าเรือนํ้าลึกปากบารามีสองประการ ประการแรกคือการฟุ้งกระจายและทับถมของตะกอนที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการก่อสร้างท่าเรือ การขุดลอกร่องนํ้า และหลังเปิดใช้งานอีกประการหนึ่งคือการสะสมของมลพิษทางทะเล หากเกิดการรั่วไหลของนํ้ามัน
E I A ที่น่าแปลกใจ และข้อสงสัยที่ยังไม่มีคำตอบ
เพราะชายฝั่งสตูลมีระบบนิเวศทางทะเลครบถ้วน อุดมไปด้วยแร่ธาตุและสารอาหาร มีสิ่งมีชีวิตหลากหลายจากสองฝั่งมหาสมุทร หากพูดในทางวิชาการ ตัวเลขแสดงค่าดัชนีความหลากหลายทางชีวภาพควรอยู่ในระดับ 2.5 ขึ้นไปถึง 3 ซึ่งเป็นค่าสูงที่สุด การที่ชาวบ้านจับสัตว์นํ้าในทะเลย่านนั้นได้มาก โดยเฉพาะบริเวณปากแม่นํ้าเป็นเครื่องยืนยันได้อีกประการหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ในรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือนํ้าลึกปากบาราและถมทะเลระยะที่หนึ่ง กลับระบุว่าทรัพยากรธรรมชาติและจำนวนชนิดของสิ่งมีชีวิตที่พบน้อยกว่าความเป็นจริงมาก บางบริเวณที่เก็บข้อมูล เมื่อคำนวณเป็นค่าดัชนีความหลากหลายทางชีวภาพได้เพียง 1.39 ซึ่งถือว่าตํ่ามาก แม้แต่การเปรียบเทียบระหว่างฤดูกาล ก็ระบุว่าพบชนิดสิ่งมีชีวิตเพียง 4 หรือ 7 ชนิดต่อตารางเมตร ตลอดจนความชุกชุมหรือจำนวนตัวที่พบต่อตารางเมตรก็น้อยกว่าที่ควรจะเป็นอย่างน่าแปลกใจ
ทุกวันนี้ ชาวบ้านปากบารากำลังกังวลว่าอากาศจะเป็นพิษนํ้าทะเลจะปนเปื้อนไปด้วยคราบนํ้ามันและสารพิษที่สะสมตลอดชายฝั่ง กุ้งหอยปูปลาจะหายไป อาหารทะเลจะปนเปื้อนไปด้วยสารพิษ นํ้าตกและลำธารจะมีสารพิษ และนักท่องเที่ยวจะไม่กลับมา ฝนที่ตกลงมาจะมีสภาพเป็นกรดมากขึ้น ชาวสวนจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง การแย่งชิงนํ้าจืดที่ชาวบ้านใช้เพื่อการเกษตรกับที่ต้องใช้ในเขตอุตสาหกรรมและท่าเรือก็จะเกิดขึ้น ฯลฯ และไม่อาจเข้าถึงหรือเข้าใจเนื้อหาในเอกสารรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้ ทั้งยังไม่รู้ด้วยว่าทรัพยากรธรรมชาติของปากบาราสมบูรณ์เพียงใด
ที่ผ่านมา ชาวบ้านทราบแต่เพียงว่า จังหวัดสตูลต้องการการลงทุนจากภาครัฐเพื่อให้งบประมาณลงมายังจังหวัด ราคาที่ดินจะสูงขึ้น ชาวบ้านจะมีงานทำ มีเงินหมุนเวียนจำนวนมาก และพวกเขาจะมีเงินมากขึ้น โครงการก่อสร้างท่าเรือนํ้าลึกผ่านการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว และแม้จะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา กรมเจ้าท่า ก็กำลังยื่นเรื่องให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ เพิกถอนพื้นที่ออกจากการเป็นอุทยานแห่งชาติ
ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า การสร้างท่าเรือนํ้าลึกปากบาราจะส่งผลอย่างไรต่อวิถีชีวิตของผู้คนและชุมชน พวกเขายังไม่เข้าใจว่า รัฐจะมีโครงการพัฒนาอะไรตามมาอีก และคนในท้องถิ่นจะมีโอกาสได้ทำงานอะไรในการพัฒนาครั้งนี้
อย่างน้อยในวันนี้ คนปากบารายังมีธรรมชาติแห่งท้องทะเลสตูลซึ่งมีคุณค่าในระดับสากลที่สมควรได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก คนสตูลจะตอบรับการพัฒนาในโครงการท่าเรือนํ้าลึก การขนส่งทางทะเล สินค้า นํ้ามันและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง หรือจะช่วยกันรักษาท้องทะเลสตูลเพื่อใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนบนวิถีชีวิตของตัวเอง ผมคิดว่าพวกเขาไม่จเป็นต้องมีชีวิตแบบเดียวกับคนในพื้นที่อื่น ๆ แต่พวกเขาควรจะมีสิทธิเลือกวิถีชีวิตที่เป็นตัวของตัวเอง
หมายเหตุ: สารคดีเรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกรกฎาคม 2560
สารคดีแนะนำ