“เมื่อผมรู้สึกได้ว่าอากาศและสิ่งแวดล้อมกำลังแย่ลง ผมจึงอยากช่วยเป็นหนึ่งเสียงที่ช่วยให้คนในสังคมสนใจเรื่องนี้” โตโน่ – ภาคิน คำวิลัยศักดิ์
ภายในอาคารของคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สระว่ายน้ำในร่มที่ใช้เป็นสถานที่ฝึกซ้อมการว่ายทวนกระแสน้ำ ตั้งอยู่กลางโถงใหญ่ดูคล้ายฐานปฏิบัติการลับในภาพยนตร์ วันนี้ กองบรรณาธิการออนไลน์ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย กำลังพูดคุยกับ โตโน่ นักร้อง นักแสดง และล่าสุดเขาคือ ทูตแห่งมหาสมุทรเพื่อความยั่งยืนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากองค์การสหประชาชาติเพื่อมหาสมุทร (UN Ocean Conference) เขามาฝึกซ้อมว่ายน้ำที่นี่กับคุณครูและผู้ฝึกสอน เพื่อเตรียมตัวสู่โปรเจกต์ใหญ่ในชีวิต ONE MAN & THE SEA หนึ่งคนว่าย หลายคนช่วย
บรรยากาศสบายและเป็นกันเองภายในห้องควบคุมบริเวณด้านบนของสระน้ำ โตโน่เล่าย้อนไปถึงกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่เขาลงมือทำมาเป็นเวลาหนึ่งปี “โครงการเก็บรักษ์” เป็นกิจกรรมที่เขาได้เริ่มมองเห็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และตระหนักว่า ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมกำลังขยายวงกว้างออกไป “ผมเห็นว่าทะเลกำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาขยะ ซึ่งทะเลเป็นแหล่งกำเนิดของสรรพชีวิต แต่ก็เป็นปลายทางของขยะด้วยเช่นกัน” โตโน่บอกและเสริมว่า “กิจกรรมการว่ายน้ำครั้งนี้จึงน่าจะเป็นตัวเชื่อมโยง และเป็นกระบอกเสียงหนึ่ง ที่สร้างความตระหนักให้กับทุกคนหันมาใส่ใจเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น”
คุณคิดว่า ตัวคุณเองได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างไร จนทำให้คุณต้องลุกขึ้นมาทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม
จากชีวิตประจำวันก็คงเป็นเรื่อง PM2.5 สภาพภูมิอากาศที่ร้อนและยาวนานขึ้น และภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้นทุกวัน เช่นกรณีอุทกภัยครั้งล่าสุดที่อุบลราชธานี สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่เราสัมผัสได้ตอนนี้มันเปลี่ยนไปมาจากความทรงจำตอนวัยเด็ก เราอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมในสเกลระดับประเทศให้ดีขึ้นภายในหนึ่งเดือนหรือหนึ่งปี แต่เราก็ต้องเริ่มทำอะไรสักอย่างเพื่อไม่ให้สิ่งแวดล้อมแย่ลงไปกว่านี้ เราจึงเริ่มจากโครงการเก็บรักษ์ เมื่อเราเริ่มลงมือทำอย่าจริงจัง และมีคนเห็นความสำคัญของสิ่งที่เราทำ ผมจึงมีโอกาสได้รับเชิญไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น เรื่องการบริหารจัดการขยะอย่างถูกต้อง ตั้งแต่การแยกขยะระดับครัวเรือน การจัดการขยะที่โรงทิ้งขยะ และการนำขยะกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล
สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากกว่าเรื่องการจัดการ ผมมองว่า คือเรื่องจิตสำนึกส่วนบุคคล ที่เข้าใจและตระหนักว่า เราช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เพราะกฎหมายหรือข้อบังคับ แต่เพราะสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติกำลังแย่ลงจริงๆ
การว่ายน้ำในทะเลมีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ยากขึ้น คุณฝึกซ้อมอย่างไร
ผมไม่ใช่นักว่ายน้ำ และไม่เคยว่ายน้ำในทะเลมาก่อน ในตอนเริ่มซ้อม ผมคิดว่า ผมสามารถว่ายท่ากบเป็นระยะทางไกลได้ แต่ครูฝึกบอกว่า ไม่สามารถว่ายท่ากบสำหรับระยะทางไกลได้ เนื่องจากส่งผลต่อหัวเข่า ผมจึงต้องเริ่มฝึกว่ายน้ำท่าฟรีสไตล์เพื่อว่ายในทะเลเมื่อเจ็ดเดือนที่ผ่านมา ผมซ้อมที่จุฬาฯ เป็นการฝึกว่ายทวนกระแสน้ำ ที่บึงตะโก้ และในทะเลเปิด ผมรู้ว่าสิ่งที่กำลังทำยากมาก แต่เมื่อผมมองเห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้น ผมรู้สึกว่า ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยกลับน่ากลัวยิ่งกว่า ผมได้รับการสนับสนุนจากทีมงานภาคสนามอย่างเต็มที่ ทั้งทีมเรือคายัค ทีมครูสอนว่ายน้ำ และหน่วยงานอื่นๆ เรื่องที่จะเกิดขึ้นในวันจริงผมคงคาดเดาอะไรไม่ได้ แต่อย่างน้อยเรารู้ว่า เราทำเพื่ออะไร
ภาพประชาสัมพันธ์โครงการที่มีมนุษย์ว่ายน้ำอยู่กับขยะ คุณมีแนวความคิดในการถ่ายภาพชุดนี้อย่างไร
ทางทีมงานทุกคนช่วยกันระดมความคิดครับ เราคิดว่า เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง ผมจึงชวนเพื่อนๆ ในวงการบันเทิงมาช่วยกัน และได้รับเกียรติจากคุณติ๋ม-พันธ์สิริ สิริเวชชะพันธ์ เป็นช่างภาพในการถ่ายคอลเล็กชันนี้ เราพยายามสื่อว่าขยะแต่ละประเภทส่งผลกระทบอย่างไร และมนุษย์ได้รับผลกระทบอย่างไรจากขยะ และเราสามารถใช้วัสดุอะไรทดแทน เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติก จึงเกิดเป็นภาพชุดนี้ขึ้นมา ในภาพ ทีมงานใช้ขยะที่มาจากโครงการเก็บรักษ์ บางส่วนได้รับมาจากหน่วยงานอื่นๆ ที่ทำงานด้านขยะ ผมรู้สึกขอบคุณทุกคนที่มีส่วนช่วยโครงการนี้ ทุกคนมาด้วยใจโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเลย
ช่วยพูดถึงโครงการ ONE MAN & THE SEA หนึ่งคนว่าย หลายคนช่วย
เป็นโครงการที่ผมต้องการเป็นหนึ่งกระบอกเสียงปลุกจิตสำนึกคนไทยให้ทันมาสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยการว่ายน้ำตัวเปล่า ข้าม 12 เกาะ จากสุราษฎร์ธานีถึงเกาะสมุย เริ่มต้นวันที่ 19 มีนาคม 2020 และคาดว่าจะสิ้นสุดวันที่ 5 เมษายน 2020 พร้อมชวนคนไทยร่วมสมทบทุนซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อช่วยเหลือสัตว์ทะเล และโรงพยาบาลริมชายฝั่ง ในหลังจบโครงการผมจะนำเงินที่ได้มาทั้งหมดมอบให้กับศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร จังหวัดภูเก็ต ส่วนงานช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก จังหวัดระยอง และศูนย์อนุกรักษ์พันธุ์เต่าทะเล เกาะมันใน จังหวัดระยอง รวมถึงโรงพยาบาริมชายฝั่ง โดยสามารถบริจาคผ่านทาง บัญชีธนาครไทยพาณิชย์ สาขาเพชรบุรีตัดใหม่ ชื่อบัญชี: มูลนิธิเพื่อชนบทแห่งประเทศไทยฯ เพื่อโครงการเทใจ (TRRM FOR TAEJAI) เลขบัญชี 043-272833-9 สามารถติดตามรายละเอียดโครงการเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ เก็บรักษ์ และทางอินตาแกรม เก็บรักษ์