มหาสมุทรโลกสามารถถูกฟื้นฟูให้กลับไปรุ่งเรืองได้ภายใน 30 ปี

มหาสมุทรโลกสามารถถูกฟื้นฟูให้กลับไปรุ่งเรืองได้ภายใน 30 ปี

บทวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์รายงานว่ามีการฟื้นฟูของบรรดาสัตว์ทะเลมากขึ้นใน  มหาสมุทร หลายแห่งทั่วโลก แต่ยังคงต้องพยายามกันอย่างหนักต่อไป

ความรุ่งโรจน์แห่งท้องทะเลโลกจะกลับมาฟื้นฟูอีกครั้งภายในยุคสมัยนี้ จากบทวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ที่รายงานว่ามีการกลับมาของสิ่งมีชีวิตทางทะเลหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นวาฬหลังค่อมไปจนถึงช้างน้ำในสหรัฐอเมริกา และเต่าตนุในญี่ปุ่น

แม้จะมีการทำประมงเกินขนาด ปัญหามลพิษ และชายฝั่งถูกกัดเซาะ และมนุษยชาติมีส่วนทำให้เกิดความเสียหายต่อมหาสมุมรและถิ่นที่อยู่อาศัยทางทะเลมานานนับทศวรรษ แต่โครงการอนุรักษ์ทั้งหลายก็ประสบความสำเร็จ เห็นได้จากยังมีพื้นที่ทางทะเลที่ได้รับการฟื้นฟูแม้จะเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าขณะนี้เราสามารถสร้าง ‘การกำเนิดใหม่ของท้องทะเล’ ภายในปี 2050 โดยการสนับสนุนจากกิจการที่คนทั้งโลกต้องพึ่งพา ไม่ว่าจะเป็นกิจการอาหาร ไปจนถึงกิจกรรมปกป้องชายฝั่งเพื่อเสถียรภาพแห่งสภาพภูมิอากาศ

อย่างไรก็ตาม ยังมีความต้องการในการดำเนินการอนุรักษ์ต่างๆ ต่อไปรวมไปถึงการปกป้องพื้นที่ซึ่งโอบล้อมมหาสมุทร การทำประมงที่ยั่งยืน และการควบคุมมลพิษ เป็นต้น โดยนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าจะต้องใช้เงินนับพันล้านดอลลาร์ต่อปี (ราว 32,000 ล้านบาท) แต่จะให้ผลตอบแทนที่มากถึง 10 เท่าเลยทีเดียว

สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
ปลากระโทงสีน้ำเงินว่ายอยู่ในทะเลคอร์เตส บริเวณคาบสมุทรบาฮากาลิฟอร์เนีย ปลากระโทงเป็นหนึ่งในบรรดาปลาที่ว่ายขึ้นสู่ผิวน้ำของมหาสมุทรเพราะหนีเขตออกซิเจนต่ำที่อยู่เบื้องล่าง

นอกจากนี้ จะต้องมีการจัดการวิกฤตทางสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้นเพื่อปกป้องทะเลจากปรากฏการณ์ทะเลกรด (Ocean Acidification) ซึ่งจะก่อให้เกิดการสูญเสียออกซิเจนและปะการัง แต่มีข่าวดีคือ นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า มีการับรู้ถึงความสามารถของพื้นที่ที่อยู่อาศัยชายฝั่งทะเล เช่นป่าชายเลนและบ่อเกลือชายฝั่งทะเล ที่สามารถดูดซึมเอาคาร์บอนไดออกไซด์และเสริมความแข็งแกร่งให้แนวชายฝั่ง ซึ่งสามารถรับมือปัญหาระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นได้

ศาสตราจารย์ คัลลัม โรเบิร์ต แห่งมหาวิทยาลัยยอร์ก หนึ่งในทีมนักวิจัยนานาชาติที่ออกบทวิคราะห์ กล่าวว่า ปัญหาการทำประมงเกินขนาดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้รรุนแรงขึ้น แต่ก็ยังมีความหวังในวิทยาศาสตร์ที่ใช้ฟื้นฟูสิ่งเหล่านี้ได้

โดยหนึ่งในข้อความสำคัญของบทวิเคราะห์นี้คือ ถ้าคุณหยุดสังหารสัตว์ทะเลและปกป้องมันเอาไว้ มันก็จะกลับมาเพิ่มขึ้น และท้องทะเลก็จะดีขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีในทางเศรษฐกิจ และมนุษย์ก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้น และแน่นอนว่าส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน

บทวิเคราะห์ที่เผยแพร่ในวารสาร Nature พบอีกว่าการทำประมงระดับโลกค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นวิถีที่ยั่งยืนอย่างช้าๆ และการทำลายที่อยู่อาศัยชายฝั่งทะเลอย่างทุ่งหญ้าทะเลและป่าชายเลนก็เกือบยุติลงแล้ว นับตั้งแต่อ่าวแทมปาในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ไปจนถึงหมู่เกาะฟิลิปปินส์

ทะเลทรายนามิเบีย
บริเวณที่ทะเลทรายที่เก่าแก่ที่สุดในโลกมาปะทะเข้ากับมหาสมุทรแอตแลนติก สถานที่แห่งนี้เรียกว่า “Long Wall” ย้อนกลับไปเมื่อ 500 ล้านปีก่อน แนวชายฝั่งแห่งนี้เคยติดกับแนวชายฝั่งของอเมริกาใต้ ก่อนที่การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกจะแยกพวกมันออกจากกัน

เรื่องราวการอนุรักษ์ที่ประสบความสำเร็จอย่างหนึ่งคือวาฬหลังค่อมที่อพยพจากแอนตาร์กติกามาทางตะวันออกของออสเตรเลีย ซึ่งมีจำนวนเพียงไม่กี่ตัวในปี 1968 จนมีการสั่งห้ามล่าวาฬ ในวันนี้ได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 40,000 ตัว ส่วนนากทะเลในพื้นที่ทางตะวันตกของแคนาดาก็เพิ่มขึ้นจากจำนวนไม่กี่ตัวในปี 1980 มาเป็นนับพันตัวในทุกวันนี้ และในทะเลบอลติก ประชากรแมวน้ำเทาและนกกาน้ำก็เพิ่มจำนวนขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าดังกล่าวยังไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยังมีปัญหามลพิษจากฟาร์มและพลาสติกยังคงส่งผลต่อมหาสมุทร ผืนน้ำยังคงมีอุณหภูมิสูง การทำประมงแบบทำลายล้างยังคงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เห็นได้จากจำนวนปลาอย่างน้อยหนึ่งในสามที่อยู่ในคลังสินค้าเกิดจากการจับที่มากเกินไป

“พื้นที่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนยังคงย่ำแย่” ศาสตราจารย์โรเบิร์ต กล่าวและเสริมว่า “และยังมีการทำประมงเกินขนาดอย่างน่าสยดสยองในพื้นที่ส่วนใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย อันเป็นพื้นที่ที่การประมงคือการจับเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่อวนลากมาจากใต้พื้นทะเลและเอาไปทำเป็นอาหารปลาและน้ำมัน”

อุณหภูมิทะเลที่สูงขึ้นทั่วโลกส่งผลให้วาฬไรต์แอตแลนติกเหนือ (North Atlantic right whale) ซึ่งอยู่ตามชายฝั่งของแอตแลนติกเหลืออยู่เพียงแค่ 200-300 ตัว เนื่องจากในพื้นที่แห่งนี้ยังเต็มไปด้วยเรือประมงล็อบสเตอร์ ซึ่งวาฬมักไปชนหรือถูกรัดด้วยเชือกจากเรือ โดยข้อบังคับใหม่ที่เพิ่งออกไปอาจช่วยแก้ปัญหานี้ได้

ปีศาจ
2ภาพถ่ายของแมนนาทีอินเดียตะวันตก จาก kids.nationalgeographic.com

อย่างไรก็ตาม โรเบิร์ตก็กล่าวว่า ตัวอย่างของการฟื้นฟูที่ได้ผลยังคงมีเพิ่มขึ้น ทั้งจากการกลับมาของหอยนางรมที่มีส่วนช่วยให้น้ำสะอาดขึ้น และบรรดาพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลที่มีส่วนให้พื้นที่ใกล้เคียงสามารถจับปลาได้มากขึ้น เช่นเกาะ Isle of Arran ในสกอตแลนด์

“ตอนที่ผมเริ่มทำงานในพื้นที่คุ้มทางทะเลเมื่อต้นทศวรรษที่ 1990 มันเป็นงานที่มีคนสนใจไม่มาก” โรเบิร์ตกล่าวและเสริมว่า “แต่ในขณะนี้มีการพูดคุยถกเถียงกันในระดับนานาชาติ และเรามีหลายประเทศที่ลงนามเพื่อขยายการอนุรักษ์ไปยังพื้นที่มหาสมุทรโลกถึงร้อยละ 30 ภายในปี 2030” โดยพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.9 ของพื้นที่มหาสมุทรทั้งหมดในปี 2000 มาเป็นร้อยละ 7.4 แล้ว แม้บางพื้นที่จะไม่ได้ทำการอนุรักษ์แบบเต็มที่ก็ตาม

บทวิเคราะห์จากนักวิทยาศาสตร์นี้สรุปว่า การฟื้นฟูมหาสมุทรให้ได้ภายในปี 2050 ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายยิ่งเนื่องจากต้องอาศัยการอนุรักษ์ร่วมกันในระดับโลก สามารถทำให้สำเร็จได้ “การไปให้ถึงความท้าทายนี้จะเป็นหมุดหมายที่สำคัญของมนุษยชาติ ในภารกิจบรรลุเป้าหมายแห่งความยั่งยืนในอนาคต”

แปลเรียบเรียงจากแหล่งข้อมูลดังต่อไปนี้

Oceans can be restored to former glory within 30 years, say scientists

Wrecked sea life could be largely revived in 30 years under action plan, say scientists

Rebuilding marine life


อ่านเพิ่มเติม พื้นที่คุ้มครองทางทะเล ความหวังสุดท้ายของทะเลไทย

พื้นที่คุ้มครองทางทะเล

Recommend