ความล้มเหลวของเราในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำลังสร้างความเสียหายแก่โลก นวัตกรรมอาจช่วยเราไว้ได้ แต่โลกคงไม่น่าดูอีกต่อไป
“วันพิเศษยิ่งในประวัติศาสตร์อเมริกากำลังสิ้นสุดลง” วอลเตอร์ ครองไคต์ กล่าวอย่างเคร่งขรึมในรายการซีบีเอสอีฟนิ่งนิวส์ เมื่อวันที่ 22 เมษายน ปี 1970 การเฉลิมฉลองวันคุ้มครองโลก (Earth Day) ครั้งแรกในวันนั้นดึงดูดผู้คนให้ออกมาชุมนุมตามท้องถนนราว 20 ล้านคน เกินความคาดหมายของวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ เกย์ลอร์ด เนลสัน ผู้ปลุกปั้นงานนี้ไปมาก ผู้ร่วมเฉลิมฉลองแสดงความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมในรูปความรื่นเริงอันเป็นเอกลักษณ์ พวกเขาร้องรำทำเพลง สวมหน้ากากป้องกันก๊าซพิษ เก็บขยะที่ถูกทิ้งเรี่ยราด
ในนิวยอร์ก พวกเขาลากซากปลาไปตามท้องถนนในบอสตัน พวกเขาประท้วงโดยการแสร้งตายในสนามบินนานาชาติโลแกน ส่วนที่ฟิลาเดลเฟีย พวกเขาร่วมลงนามใน “คำประกาศแห่งการพึ่งพาอาศัยกัน” ของสิ่งมีชีวิตทุกเผ่าพันธุ์ฉบับใหญ่ยักษ์
ฉันเองก็เป็นผลผลิตจากช่วงเวลา “พิเศษยิ่ง” ครั้งนั้น ทั้งการประท้วงแบบแกล้งตายและคำประกาศต่างๆ ฉันใช้เวลาในช่วงทศวรรษ 1970 ไปกับการประท้วงกลางสายฝนพยายามชักชวนเพื่อนร่วมชั้นให้รีไซเคิลกระป๋องนํ้าอัดลม ใส่กางเกงขาบานพิมพ์ลายดอกไม้สีม่วงดอกโต ๆ และเป็นห่วงอนาคตของโลก
ย้อนหลังไปเมื่อปี 1970 คำว่า “ภาวะโลกร้อน” ยังไม่ถูกคิดค้นขึ้นมา นักวิทยาศาสตร์รู้ว่าก๊าซกลุ่มหนึ่งซึ่งมีคาร์บอนไดออกไซด์รวมอยู่ด้วย กักความร้อนใกล้พื้นผิวโลกเอาไว้ เราเข้าใจปรากฏการณ์นี้ตั้งแต่ยุควิกตอเรีย แต่มีไม่กี่คนที่พยายามคำนวณว่าการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง และแบบจำลองสภาพภูมิอากาศยังเป็นเหมือนทารกแรกเกิด
นับแต่นั้นมา แบบจำลองต่าง ๆ ละเอียดซับซ้อนขึ้นมาก และแม้ชาวอเมริกันจำนวนมากยังจงใจไม่เชื่อในวิทยาศาสตร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัจจุบัน เราต่างกำลังมีชีวิตอยู่กับผลพวงของปรากฏการณ์นี้ ครอบนํ้าแข็งอาร์กติก (Arctic Ice Cap) ที่ปกคลุมตลอดปี หรือนํ้าแข็งทะเลที่คงอยู่ตลอดฤดูหนาวและฤดูร้อนกำลังละลายหายไปอย่างช้า ๆ
ก่อนปี 1970 ไฟป่าขนาดใหญ่ (megafire) หรือไฟที่เผาผลาญพื้นที่มากกว่า 400 ตารางกิโลเมตร เกิดขึ้นน้อยมากในสหรัฐอเมริกา แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีไฟป่าขนาดใหญ่เกิดขึ้นหลายสิบครั้ง เมื่อฤดูร้อนปี 2019 ไฟป่าลุกลามเผาไหม้กินบริเวณกว่า 70,000 ตารางกิโลเมตรในไซบีเรีย ขณะที่ในชว่ งปลายปี 2019 และต้นปี 2020 ไฟป่าในออสเตรเลียเผาทำลายพื้นที่วอดวายไปกว่า 95,000 ตารางกิโลเมตร
ไม่เพียงเท่านั้น ความเสื่อมโทรมของผืนดิน ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว คลื่นความร้อนที่ร้ายแรงถึงชีวิต การแผ่ขยายของโซนมรณะในทะเล [dead zone – พื้นที่ในมหาสมุทรหรือทะเลสาบขนาดใหญ่ที่มีระดับออกซิเจนตํ่ามากจนสิ่งมีชีวิตไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ ซึ่งมักเกิดจากมลพิษที่มนุษย์สร้างขึ้น] ทั้งหมดนี้กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน และยังมีทีท่าว่าจะรุนแรงมากขึ้นทุกปี
ในปี 2070 เมื่อวันคุ้มครองโลกจะเวียนมาบรรจบครบ 100 ปี โลกจะมีหน้าตาอย่างไร เห็นได้ชัดว่าคำตอบขึ้นอยู่กับว่า เราจะปลดปล่อยคาร์บอนมากเท่าใดระหว่างตอนนี้จนถึงเวลานั้น แต่ในระดับหนึ่งที่น่าหวั่นใจ อนาคตดูเหมือนจะถูกกำหนดไว้แล้ว
เมื่อปี 1970 โลกเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ 3,700 ล้านคน ตอนนั้นมีรถเก๋งและรถบรรทุกอยู่บนถนนราว 200 ล้านคัน การบริโภคนํ้ามันอยู่ที่ราว 45 ล้านบาร์เรลต่อวันปีนั้นประชากรโลกรวมกันผลิตเนื้อหมูได้ราว 30 ล้านตัน สัตว์ปีกราว 13 ล้านตัน และเก็บเกี่ยวอาหารทะเลได้ราว 65 ล้านตัน
ปัจจุบัน โลกมีประชากรเกือบ 8,000 ล้านคน และยวดยานราว 1,500 ล้านคัน การบริโภคนํ้ามันทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า การใช้พลังงานก็เช่นกัน การบริโภคเนื้อหมูต่อหัวเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า ขณะที่การบริโภคสัตว์ปีกเพิ่มเกือบสี่เท่า ปริมาณปลาในธรรมชาติที่จับได้ทั่วโลกเพิ่มขึ้นราวครึ่งหนึ่ง แม้การทำประมงเกินขนาดจะทำให้ปลาหายากขึ้นก็ตาม
กระนั้น ชาวโลกหาใช่เพียงแค่รอดมาได้เท่านั้น แต่มีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยในเกือบทุกทางอายุขัยเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 59 ปีเมื่อปี 1970 เป็น 72 ปีในปัจจุบัน แม้จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า แต่จำนวนคนที่ใช้ชีวิตอย่างยากจนข้นแค้นก็ลดลงถึงครึ่งหนึ่ง
นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของวันคุ้มครองโลกก็มีส่วนกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน กฎหมายหลายฉบับในสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงรัฐบัญญัตินํ้าสะอาด รัฐบัญญัติสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ และการแก้ไขรัฐบัญญัติอากาศสะอาดในหลายจุดสำคัญ ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาภายในไม่กี่ปีต่อมา กฎหมายเหล่านี้นำไปสู่การพัฒนาทางเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ เช่น ระบบบำบัดอากาศสำหรับฟอกก๊าซเสียจากโรงไฟฟ้า เป็นต้น
ถ้าเป็นเช่นนั้น ทำไมเราจึงไม่ตั้งสมมุติฐานว่า นวัตกรรมทำนองเดียวกัน ทั้งทางเทคโนโลยีและทางสังคม จะช่วยให้เรารอดพ้นจากอนาคตอันทุกข์ยากเพราะภาวะโลกร้อน แน่นอน ฉันเชื่อว่าจะมีความก้าวหน้าสำคัญ ๆ หลายอย่างเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนนี้จนถึงปี 2070
แต่โชคร้ายที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาที่แตกต่างออกไป คาร์บอนไดออกไซด์ล่องลอยอยู่ในบรรยากาศมานานนับร้อยปี หรือกระทั่งเป็นพันปีแล้วซึ่งหมายความว่า แม้เราจะเริ่มลดปริมาณการปล่อยตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ยังจะดำเนินต่อไปอยู่ดี พูดอีกนัยหนึ่งคือ โลกจะร้อนขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าเราจะยุติการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อย่างสิ้นเชิง
แม้เราจะเริ่มลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่วันนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ยังจะดำเนินต่อไปอยู่ดี
ระหว่างนี้ เราจะยังไม่เผชิญกับผลกระทบเต็มรูปแบบของคาร์บอนไดออกไซด์ที่เราปล่อยไปแล้ว หลัก ๆ แล้วเป็นเพราะมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล ต้องใช้เวลานานกว่าจะร้อนขึ้นเพื่อตอบสนองต่อปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้นราวหนึ่งองศาเซลเซียสนับจากทศวรรษ 1880 เป็นต้นมา แต่เนื่องจากระบบต้องใช้เวลายาวนานกว่าที่ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นจะสอดคล้องกับอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้น นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า เราจะต้องเจอกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นอีกราวครึ่งองศาเซลเซียส จึงจะเห็นผลกระทบของระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในปัจจุบัน
อุณหภูมิจะสูงขึ้นอีกเท่าใด ก่อนที่การเปลี่ยนแปลงระดับหายนะจะเริ่มส่งผล (ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงระดับหายนะก็คือ หากพืดนํ้าแข็งกรีนแลนด์ละลายไปจนหมดสิ้นระดับทะเลทั่วโลกจะสูงขึ้นราวหกเมตร) นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า ขีดจำกัดน่าจะอยู่ที่เมื่อโลกร้อนขึ้นราวสององศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับในยุคก่อนอุตสาหกรรม หรืออาจจะเพียงแค่ 1.5 องศา เนื่องจากอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นไปแล้วราวหนึ่งองศา และยังเหลืออีกครึ่งองศาที่ “จะต้องเจอ” จึงมั่นใจได้เลยว่าจะต้องเลย 1.5 องศาอย่างแน่นอน เพื่อรักษาอุณหภูมิให้อยู่ตํ่ากว่าขีดจำกัดสององศาเซลเซียสให้ได้ การปล่อยคาร์บอนทั่วโลกจะต้องลดลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่งในช่วงหลายสิบปีข้างหน้า จนกระทั่งเหลือศูนย์ในราวปี 2070
เรื่องนี้เป็นไปได้ในทางทฤษฎี โครงสร้างพื้นฐานที่ขับเคลื่อนโดยพลังงานฟอสซิลส่วนใหญ่ หรืออาจทั้งหมดในโลก อาจถูกแทนที่ด้วยโซลาร์เซลล์ กังหันลม และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ในทางปฏิบัติ ความเฟื่องฟูในอุตสาหกรรมพลังงานลมและแสงอาทิตย์ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ยังไม่ส่งผลให้การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลของเราลดลง เพราะเรายังเรียกร้องต้องการใช้พลังงานมากขึ้นเรื่อย ๆ
และแม้ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะปรากฏชัดขึ้นเรื่อย ๆ การปล่อยคาร์บอนทั่วโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้น ในปี 2019 ปริมาณการปล่อยสูงจนทำลายสถิติอีกครั้งด้วยตัวเลข 43,100 ล้านตัน ในกรุงมาดริดเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา การเจรจาตกลงว่าด้วยสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติจบลงด้วยความล้มเหลวอีกครั้ง หากแนวโน้มในปัจจุบันยังดำเนินต่อไป
โลกในปี 2070 จะแตกต่างและอันตรายขึ้นมาก เป็นโลกที่อุทกภัย ภัยแล้ง ไฟป่า และอาจรวมถึงสถานการณ์ไม่สงบสืบเนื่องจากสภาพภูมิอากาศ จะบีบบังคับให้ผู้คนนับล้านต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด
คำถามสำคัญสำหรับอีก 50 ปีข้างหน้าก็คือ แนวโน้มต่าง ๆ ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาจะยังดำเนินต่อไปหรือไม่ มนุษย์อาจร่วมแรงร่วมใจกันลดผลกระทบที่ตนจะก่อให้เกิดแก่สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ได้ เช่น หาทางยุติการตัดไม้ทำลายป่า และเชื่อมต่อถิ่นอาศัยผืนเล็กผืนน้อยให้กลับมาเป็นผืนเดียวกันอีกครั้ง กระนั้น ก็ยังไม่มีหลักฐานชี้ให้เห็นว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้น ไม่ต่างจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของเรา
รายงานที่เผยแพร่เมื่อปีที่แล้วโดยองค์กรนานาชาติที่ได้รับมอบหมายภารกิจติดตามสังเกตระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพเตือนว่า มนุษยชาติไม่อาจอยู่ดีมีสุขได้ในขณะที่สิ่งมีชีวิตอื่นจำนวนมากกำลังตกที่นั่งลำบาก “ธรรมชาติจำเป็นต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์” รายงานดังกล่าวระบุอย่างชัดเจน
“สายใยแห่งชีวิตที่จำเป็นและเชื่อมโยงสัมพันธ์กันบนโลกใบนี้กำลังหดเล็กลงและแหว่งวิ่นมากขึ้นเรื่อย ๆ” โจเซฟ เซตเทิลลี จากศูนย์เฮลม์โฮลต์ซเพื่อการวิจัยทางสิ่งแวดล้อมในเยอรมนี และประธานร่วมของรายงานชิ้นนี้ กล่าว
แน่นอน เซตเทิลลีกับเพื่อนร่วมงานอาจทำนายผิดก็ได้ มนุษย์อาจประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์โดรนช่วยผสมเกสร (ปัจจุบันมีการทดสอบใช้แล้ว) และอาจคิดหาวิธีจัดการกับระดับทะเลที่กำลังสูงขึ้น พายุที่เกรี้ยวกราดขึ้น และภัยแล้งที่รุนแรงขึ้นได้ด้วย พืชดัดแปรพันธุกรรมชนิดใหม่ ๆ อาจช่วยให้เรามีอาหารเลี้ยงประชากรที่เพิ่มขึ้นได้แม้ขณะที่โลกร้อนขึ้น เราอาจค้นพบว่าถึงที่สุดแล้ว “สายใยแห่งชีวิตที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน” ไม่ใช่ปัจจัยจำเป็นต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์
สำหรับบางคน ทั้งหมดนี้อาจฟังดูเหมือนผลลัพธ์ที่น่ายินดี แต่ในความคิดของฉันนี่เป็นความเป็นไปได้ที่น่ากลัวกว่าเดิมด้วยซํ้า เพราะหมายความว่า เราสามารถเดินไปตามเส้นทางในปัจจุบันต่อไปอย่างไร้ที่สิ้นสุด นั่นคือ ทำให้ชั้นบรรยากาศเปลี่ยนไปพื้นที่ชุ่มนํ้าเหือดหาย มหาสมุทรว่างเปล่า ท้องฟ้าปราศจากสิ่งมีชีวิต และเมื่อปลดแอกตนเองจากธรรมชาติได้แล้ว เราจะพบว่าตัวเองเปล่าเปลี่ยวเดียวดายมากขึ้นเรื่อย ๆ เว้นแต่อาจจะมีโดรนแมลงของเราคอยเป็นเพื่อน
เรื่อง เอลิซาเบท โคลเบิร์ต
เนื้อหาส่วนหนึ่งจากสารคดี เหตุผลที่เราไม่อาจเลี่ยงหายนะ เผยแพร่ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนเมษายน 2563
อ่านเพิ่มเติม วันคุ้มครองโลก 2070: อีก 50 ปี โลกจะสวยด้วยมือเราหรือไม่