เกาะยาวน้อยและเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา ใช้พลังงานแสงอาทิตย์หล่อเลี้ยงผู้คนได้อย่างไร

เกาะยาวน้อยและเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา ใช้พลังงานแสงอาทิตย์หล่อเลี้ยงผู้คนได้อย่างไร

ชาวบ้าน เกาะยาว หันมาใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แผงโซลาร์เซลล์จึงพบเห็นได้ทั่วไป ทั้งที่มัสยิด โรงเรียน พื้นที่เกษตรกรรมและกระชังปลากลางทะเล

ท่ามกลางสายฝนโปรยปราย สปีดโบ๊ทของเราฝ่าเกลียวคลื่นมุ่งหน้าสู่ เกาะยาว น้อยและ เกาะยาว ใหญ่ จังหวัดพังงา พื้นที่ต้นแบบโครงการ ‘เกาะพลังงานสะอาด’ ที่ชาวบ้านกำลังช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้วยการหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)

พลังงานหมุนเวียน คือพลังงานที่นำมาใช้ทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งทั่วโลกกำลังเร่งผลักดัน และหลายประเทศมีการตั้งเป้าหมายในการเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างอย่างจริงจัง เพราะเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบใด ๆ ต่อสภาพภูมิอากาศของโลก และที่สำคัญคือสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ไม่จำกัด

เกาะยาว, โซล่าเซลล์, พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานหมุนเวียน, พลังงานทดแทน
หมู่เกาะยาว จังหวัดพังงา ประกอบไปด้วย 44 เกาะกลางทะเลอันดามัน ที่มีเกาะยาวน้อย-ใหญ่เป็นศูนย์กลาง

ความยากลำบากในการใช้ชีวิตของชาวเกาะ คือแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าไม่มีเสถียรภาพ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เห็นได้จากหลาย ๆ เกาะขนาดเล็กในทะเลไทย ต่างยังต้องพึ่งพาเครื่องปั่นไฟที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งมีทั้งควัน เขม่า และคราบน้ำมันที่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมไม่น้อย ขณะที่เกาะขนาดใหญ่ก็ใช้ไฟฟ้าจากการส่งกระแสไฟฟ้ามาจากแผ่นดินใหญ่ด้วยสายเคเบิ้ลใต้ทะเล ซึ่งตามมาด้วยต้นทุนที่สูงและการซ่อมบำรุงที่ยุ่งยาก

เกาะพลังงานสะอาด คือโมเดลพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเกาะ ด้วยการลดต้นทุน ลดมลภาวะด้วยการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทนที่หาได้จากทรัพยากรธรรมชาติรอบเกาะ โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์

เกาะยาว, โซล่าเซลล์, พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานหมุนเวียน, พลังงานทดแทน
พื้นที่ป่าโกงกางกว่า 2,000 ไร่ ที่เคยถูกรุกราน ได้รับการฟื้นฟูและอนุรักษ์ไว้อย่างดีโดยชุมชนท้องถิ่นตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

เกาะยาวทั้งสองแห่งนี้พิเศษด้วยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ แม้จะเพิ่งเปิดรับการท่องเที่ยวอย่างเต็มตัว หลังเป็นหนึ่งในไม่กี่เกาะชายฝั่งทะเลอันดามันที่รอดพ้นภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อ พ.ศ. 2547 ด้วยความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นทำให้เกิดการรวมตัวกันสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยววิถีชุมชน ที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการจัดการและดูแลการท่องเที่ยวธรรมชาติเชิงวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด

ฝนเริ่มซาลง แดดยามบ่ายส่องกระทบผิวน้ำระยิบระยับ เรือเทียบท่า รถสองแถวสีสดแล่นมาจอดทันควัน จ๊ะเราะ-วิวา อุปมา รองนายก อบต. เกาะยาวน้อย ผู้เป็นที่เคารพรักของชาวชุมชนและ บังยา-ดุสิต ทองเกิด ผู้อาวุโสประจำท้องถิ่นเกาะยาวใหญ่ หนึ่งในทีมช่างโซลาร์เซลล์ชุมชน Doing Koh Yao ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องพลังงานทดแทนบนเกาะแห่งนี้ เดินมาทักทายอย่างอารมณ์ดีพร้อมบอกให้เรากระโดดขึ้นรถ

การเดินทางบนเกาะพลังงานสะอาดแห่งนี้ จึงเริ่มต้นขึ้น…

พลังงานชาวเกาะ

จ๊ะเราะเล่าว่าบรรพบุรุษของตนอยู่บนเกาะนี้ตั้งแต่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ต่อมาเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟด้วยเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง จนถึงปัจจุบันที่คนบนเกาะเชื่อมต่อพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งผลิตบนแผ่นดินใหญ่มาทางสายเคเบิ้ลใต้ทะเล ถึงอย่างนั้นไฟฟ้าบนเกาะก็ยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพ มีเหตุการณ์ไฟตกเกิดขึ้นเป็นประจำ ส่งผลให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหาย

ก่อนหน้านี้ชาวบ้านสร้างเครือข่ายท่องเที่ยววิถีชุมชน มีนักท่องเที่ยวแวะมาเยี่ยมเยือนมากมาย มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ จนกระทั่งโควิด-19 แพร่ระบาด เกาะแก่งต่าง ๆ รวมถึงเกาะยาวน้อยและเกาะยาวใหญ่ต้องทำการปิดเกาะ ไปไหนไม่ได้ ขึ้นแผ่นดินใหญ่ไม่ได้ ชาวบ้านเดือดร้อนเรื่องการหาแหล่งพลังงานพอสมควร

ทำให้ตระหนักว่าที่ผ่านมาการพึ่งพาพลังงานจำพวกน้ำมันเชื้อเพลิงและแก๊สหุงต้มจากภูเก็ตและกระบี่มากเกินไป แม้มีกุ้ง หอย ปู ปลา อยู่เต็มทะเล แต่ในแง่พลังงานชาวเกาะยาวน้อยและเกาะยาวใหญ่อยู่ไม่ได้ด้วยตัวเอง

เกาะยาว, โซล่าเซลล์, พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานหมุนเวียน, พลังงานทดแทน
เกาะยาวน้อย-ใหญ่ มีชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ประกอบไปด้วยผู้อาวุโสและคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างความยั่งยืนให้เกาะบ้านเกิดในมิติต่างๆ

“ถ้าชาวบ้านสามารถผลิตไฟฟ้าเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาแผ่นดินใหญ่ เปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนจากแดด ลม น้ำ และขยะได้ คงดีมาก นอกจากไม่ต้องขยายสายเคเบิ้ลใต้ทะเลที่มีต้นทุนสูงแล้ว พลังงานทดแทนยังไม่สร้างมลพิษให้เกาะของพวกเราด้วย

“เราเชื่อว่า ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนสามารถนำมาใช้ได้กับชาวบ้านทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกรและประมง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของพื้นที่ รวมไปจนถึงผู้ประกอบการและคนทำธุรกิจท่องเที่ยว” จ๊ะเราะเอ่ยขึ้น

โครงการเกาะพลังงานสะอาดจึงเกิดขึ้น จากความร่วมมือของคนหลายภาคส่วน ชาวบ้านต่างระดมสมองและสองมือร่วมแรง ในขณะเดียวกันก็ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และมีสถาบันอาศรมศิลป์มาเป็นพี่เลี้ยงให้ชุมชนชาวเกาะเล็ก ๆ แต่อบอุ่นแห่งนี้ โดยสามารถสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานได้สำเร็จตลอดเวลาเกือบ 1 ปี ที่ผ่านมา

พลังงานทดแทน

รถสองแถวขับลัดเลาะชายเขา ผ่านผืนป่า เรือกสวนไร่นา และบ้านเรือนของชุมชนมาจอดที่อาคารหลังเล็กหน้าตาร่วมสมัย โดดเด่นมาแต่ไกลด้วยแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งอยู่บนหลังคา

ที่นี่คือศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมเกาะยาวน้อยและพลังงานโซลาร์เซลล์ อาจารย์โจ้-ธนา อุทัยภัตรากูรหนึ่งในทีมสถาปนิกนักจัดกระบวนการมีส่วนร่วมจากสถาบันอาศรมศิลป์ และธรณพงศ์ เล็กสกุลดิลก ผู้ชำนาญการพิเศษฝ่ายยุทธศาสตร์และแผนกงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้ากำลังรอเราอยู่

เกาะยาว, โซล่าเซลล์, พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานหมุนเวียน, พลังงานทดแทน

เกาะยาว, โซล่าเซลล์, พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานหมุนเวียน, พลังงานทดแทน
ศูนย์ข้อมูลชุมชน อาคาร Zero Energy แห่งแรกบนเกาะยาวน้อย ที่ใช้กระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด โดยช่างโซลาร์เซลล์ชุมชน Doing Koh Yao

ศูนย์ข้อมูลชุมชนแห่งนี้ก่อสร้างโดยทีมช่างเกาะยาว ภายใต้แนวคิด Zero Energy โดยไฟฟ้า 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ใช้ภายในอาคารผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากเป็นจุดนัดพบสำหรับชาวบ้านและนักท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นพื้นที่จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมพื้นบ้านที่อยู่คู่เกาะมาช้านานที่โรงเรียนเกาะยาววิทยาเก็บรวบรวมไว้อย่างดีมานานนับสิบปี

อาจารย์โจ้เล่าถึงที่มาที่ไปว่า “สถาบันอาศรมศิลป์เป็นสถาบันการศึกษาเล็ก ๆ ที่คาดหวังว่าวิชาชีพการออกแบบจะช่วยเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ผ่านการออกแบบและกระบวนการมีส่วนร่วม ก่อนหน้านี้เราทำผังพัฒนาภาคประชาชนของจังหวัดพังงามาก่อน จึงทราบปัญหาเรื่องพลังงานของเกาะยาวน้อยและเกาะยาวใหญ่

“ในขณะเดียวกันเราก็ทราบว่า มีกองทุนที่สนับสนุนเรื่องการใช้พลังงานอยู่ จึงคิดหาหนทางในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างที่ถนัด เกาะพลังงานสะอาด คือโมเดลพัฒนาการใช้พลังงานบนพื้นที่เกาะที่เราคาดหวังให้ไปไกลกว่าเกาะยาว เพื่อเป็นต้นแบบการจัดการและการใช้พลังงานทดแทนบนพื้นที่เกาะอื่น ๆ ที่มีบริบทใกล้เคียงกันด้วย”

เกาะยาว, โซล่าเซลล์, พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานหมุนเวียน, พลังงานทดแทน
โครงการเกาะพลังงานสะอาด เป็นภารกิจความร่วมมือแบบพหุภาคี ที่ชาวบ้านทำงานร่วมกับนักออกแบบ นักวิชาการและองค์กรระดับประเทศ

ธรณพงศ์อธิบายต่อว่า “กองทุนสนับสนุนการใช้พลังงานจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการกระจายความมั่นคงของระบบพลังงานออกไปให้ทั่วถึง และเป็นการสนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด เงินกองทุนตรงนี้จะเป็นเงินตั้งต้นก้อนแรกที่จะได้ใช้เรียนรู้และพัฒนาร่วมกับพหุภาคี คือมีทั้งภูมิปัญญาจากชาวบ้าน และองค์ความรู้จากนักวิชาการที่มาประสานรวมกัน และจะยั่งยืนมากขึ้นหากได้รับการขับเคลื่อนต่อไปเรื่อย ๆ ด้วยตัวเองในอนาคต”

กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนเริ่มจากการชวนชาวบ้านตั้งคำถามว่า พลังงานทดแทนชนิดไหนเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และการใช้งานของชาวบ้านในปัจจุบันที่สุด คำตอบคือ ‘พลังงานแสงอาทิตย์’

“ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำนาและกระชังปลา การใช้โซลาร์เซลล์น่าจะตอบโจทย์ที่สุดในเรื่องพื้นที่ เพราะสามารถติดตั้งได้ไม่ยากบนหลังคา

“จริง ๆ พลังงานทดแทนอีกรูปแบบหนึ่งที่เราสนใจคือ ‘พลังงานชีวมวล’ เพราะชาวบ้านบนเกาะจัดการขยะอย่างจริงจังมาหลายปีแล้ว บนเกาะของเราไม่มีรถขนขยะ ไม่มีถังขยะ และไม่มีหลุมขยะ เมื่อจบกระบวนการคัดแยก เราขนขยะขึ้นไปจัดการบนฝั่งแผ่นดินใหญ่ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการขนย้ายสูงมาก ดังนั้นในอนาคตเราจึงอยากทำให้ขยะเปลี่ยนเป็นพลังงานที่ใช้อยู่ภายในพื้นที่” บังยาเสริม

เมื่อได้ข้อสรุปจากชาวบ้านว่า พลังงานทดแทนที่เหมาะกับพวกเขาที่สุดนั่นคือพลังงานแสงอาทิตย์ อาจารย์โจ้และทีมจากสถาบันอาศรมศิลป์ จึงจัดกระบวนการให้คนในชุมชนได้มาทำความเข้าใจและเรียนรู้วิธีการติดตั้งโซลาเซลล์ รวมถึงช่วยสร้างพื้นที่ต้นแบบในการใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ตั้งแต่การคัดเลือกพื้นที่ ออกแบบอาคาร ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ วางระบบการใช้งาน ตลอดจนการดูแลรักษา ร่วมกับชาวบ้านทุกขั้นตอน อย่างศูนย์การเรียนรู้หลังนี้ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ต้นแบบที่ว่าด้วยเช่นกัน

โซล่าเซลล์, พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานหมุนเวียน, พลังงานทดแทน
ข้าวของโบราณแสดงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวเกาะยาวที่หาชมไม่ได้อีกแล้ว ถูกจัดแสดงไว้ที่ศูนย์ข้อมูลชุมชน Zero Energy

มองไปรอบ ๆ นอกจากข้าวของโบราณที่จัดแสดงอยู่ เราเห็นองค์ประกอบเล็ก ๆ มากมาย ที่มีฟังก์ชันทางสถาปัตยกรรม และแสดงอัตลักษณ์ความเป็นพื้นถิ่นของเกาะยาวประกอบกันเป็นอาคารหลังนี้

อาจารย์โจ้บอกว่า แม้จะใช้เทคโนโลยีอย่างโซลาร์เซลล์มาผลิตพลังงานทดแทนแล้ว แต่การออกแบบอาคารก็มีส่วนช่วยในการลดพลังงานได้เช่นกันอย่าง การออกแบบช่องเปิดให้แสงแดดส่องเข้ามา และการออกแบบให้หลังคาสามารถป้องกันความร้อนจากแสงอาทิตย์ได้ ล้วนช่วยให้เราลดการใช้พลังงานกับเครื่องปรับอากาศ และพัดลมลงได้

พลังของชุมชน

รถสองแถวขับตะลุยพาเราไปสู่จุดหมายต่อไป นั่นคือบ้านของบังยัพ-จรัสพงศ์ ถิ่นเกาะยาว และที่ทำการวิสาหกิจชุมชน Doing Koh Yao ทีมช่างติดตั้ง และซ่อมแซมระบบโซลาร์เซลล์ ผู้เป็นกลไกลสำคัญในการผลักดันเกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่ ให้เป็นเกาะพลังงานสะอาดอย่างสมบูรณ์

โซล่าเซลล์, พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานหมุนเวียน, พลังงานทดแทน
ทีมช่างโซลาร์เซลล์ชาวบ้าน รวมตัวกันเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน Doing Koh Yao

บังยัพเล่าว่า “พอได้ศึกษาเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ และการติดตั้งโซลาร์เซลล์จากทีมอาศรมศิลป์ เราได้เห็นจุดอ่อนว่าทำไมที่ผ่านมาชาวบ้านบนเกาะจึงไม่นิยมใช้พลังงานทดแทน ทั้ง ๆ ที่มีประสิทธิภาพไฟฟ้าดีกว่า เพราะเมื่อหลายปีก่อนโซลาเซลล์หนึ่งแผ่นมีมูลค่าเหยียบหมื่นบ้าน แต่ทุกวันนี้ราคาลดลงเหลือแค่สองสามพันบาท ด้วยเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาขึ้น แต่ทำไมการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนเกาะยังมีราคาสูงอยู่ดี นั่นเป็นเพราะเวลาช่างจากแผ่นดินใหญ่มาติดตั้ง เขาจะคิดค่าบริการเผื่อล่วงหน้าไว้สองสามปี เพราะเขาต้องเดินทางข้ามทะเลมาไกล

“ดังนั้นถ้ามีช่างชุมชนเป็นคนในพื้นที่ช่วยติดตั้ง ดูแล ให้คำแนะนำแก่ชาวบ้านและผู้ประกอบการบนเกาะได้ว่า ธุรกิจในแบบของเขาใช้ไฟฟ้าเท่านี้ ควรติดตั้งโซลาร์เซลล์กี่แผง ใช้แบตเตอรี่กี่ลูก มีงบประมาณประมาณเท่าไหร่ โดยคิดค่าบริการย่อมเยาอย่างคนในพื้นที่ น่าจะเป็นผลดีทั้งในแง่การสร้างอาชีพและการใช้พลังงานทดแทน เพราะชุมชนเราอยากใช้พลังงานสะอาดกันอยู่แล้ว เราอยากเห็นเกาะของเราอุดมสมบูรณ์และงดงามแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ แต่ที่ผ่านมามันมีอุปสรรคเรื่องของราคาเท่านั้น”

ทีมช่าง Doing Koh Yao จึงเกิดขึ้นจากคนที่ไม่มีความรู้ไฟฟ้าพื้นฐาน แต่สามารถทำให้อาคารทั้งหลังกลายเป็นอาคารระบบโซลาเซลล์ได้อย่างสมบูรณ์ ตั้งแต่กระบวนการคิด ติดตั้งรูปแบบ และจัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆ

เกาะยาว, โซล่าเซลล์, พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานหมุนเวียน, พลังงานทดแทน
ชาวบ้านส่วนใหญ่บนเกาะประกอบอาชีพเกษตรกรรมและประมง เรียนรู้ที่จะประยุกต์พลังงานแสงอาทิตย์เข้ากับการประกอบอาชีพอย่างสร้างสรรค์

“ตอนนี้ทีมของเรามีอยู่ 6 คน ติดตั้งโซลาร์เซลล์ในกลุ่มเกษตรกรไปแล้วหลายแผง เพราะที่ทำการ Doing Koh Yao มีระบบโซลาร์เซลล์ที่ชาวบ้านสามารถมาทำความเข้าใจพลังงานแสงอาทิตย์ได้มากขึ้น เมื่อรู้ว่ามีข้อดีมากกว่าข้อเสีย คนก็เริ่มเปิดใจและอยากเปลี่ยนแปลง จริง ๆ มีผู้ประกอบการหลายรายอยากให้ไปช่วยติดตั้งแล้วเช่นกัน แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวยังไม่ค่อยดี จึงต้องเลื่อนการติดตั้งในกลุ่มผู้ประกอบการไปก่อน

“ปีหน้าพอสถานการณ์คลี่คลาย น่าจะได้เดินหน้า Go Green กันอย่างเต็มกำลัง” บังยัพเอ่ยอย่างมุ่งมั่น

พลังที่ยั่งยืน

แม้บังยัพบอกว่าต้องรอสถานการณ์คลี่คลายในปีหน้า ถึงจะ Go Green เต็มกำลัง แต่ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเดินทางไปจุดไหนบนเกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่ ก็สามารถมองเห็นแผงโซลาร์เซลล์ติดตั้งอยู่ทั่วไปแทบทุกพื้นที่ ตั้งแต่มัสยิด โรงเรียน พื้นที่เกษตรกรรม หรือแม้แต่กระชังปลาที่ลอยอยู่กลางทะเล

เราเดินไปเยี่ยมรักผักฟาร์ม พื้นที่เกษตรกรรมขนาดเล็กแต่ทันสมัยของบังหมาด หนึ่งใน Smart Farmer กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่บนเกาะยาวใหญ่ ที่ทำเกษตรกรรมโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและพลังงานทดแทนเข้าไว้ด้วยกัน

โซล่าเซลล์, พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานหมุนเวียน, พลังงานทดแทน

เกาะยาว, โซล่าเซลล์, พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานหมุนเวียน, พลังงานทดแทน
แผงโซลาร์เซลล์ขนาดเล็กถูกติดตั้งไว้บนเล้าไก่ เพื่อใช้สูบน้ำสำหรับการปลูกผักระบบพ่นน้ำหมอก

บังหมาดปลูกผักออร์แกนิกด้วยเทคโนโลยีระบบน้ำพ่นหมอก เชื่อมสมาร์ทโฟนเข้ากับการดูแลผลผลิต สามารถดูแลสั่งการระบบน้ำพ่นหมอกได้แม้ไม่อยู่ในพื้นที่ โดยน้ำที่ใช้มาจากระบบสูบน้ำที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งไว้บนหลังคาเล้าไก่ นอกจากนี้ไฟฟ้าที่เหลือจากการใช้ในพื้นที่เกษตร เขายังได้เก็บไว้ในแบตเตอรี่ และนำไปใช้กับตู้แช่ผักสด ช่วยลดทั้งต้นทุนและแรงงานคนได้อย่างดี

จากนั้นนั่งเรือออกไปเยี่ยมบังหนีดที่กระชังปลาบ้านมังกร และธนาคารปูม้า ในกระชังปลามีปลาอยู่หลายชนิด ทั้งปลาเก๋า ปลากะพง ไปจนถึงกุ้งมังกร สัตว์น้ำในกระชังเหล่านี้กินแพลงตอนและสัตว์เล็ก ๆ ในน้ำทะเลเป็นอาหาร โดยบนหลังคากระชังปลาขนาดเล็กนี้ก็ยังมีแผงโซลาร์เซลล์ติดตั้งอยู่

บังหนีดเล่าว่าพลังงานโซลาร์เซลล์นี้ช่วยผลิตออกซิเจน 24 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มอัตราการมีชีวิตรอดของปูม้า นอกจากนี้เขายังเก็บสำรองไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ใช้เป็นแบตเตอรี่สำหรับเรือประมงพื้นบ้านของตัวเองด้วย

โซล่าเซลล์, พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานหมุนเวียน, พลังงานทดแทน

โซล่าเซลล์, พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานหมุนเวียน, พลังงานทดแทน
กระชังปลาและแผงโซลาร์เซลล์ขนาดเล็ก ที่ชาวบ้านประยุกต์เก็บสำรองกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้ในการประมงและธนาคารปูม้า

ก่อนพระอาทิตย์จะลาลับขอบฟ้า บังหนีดนำซาชิมิปลากะพงที่เพิ่งจับขึ้นจากกระชังสด ๆ มาให้ลองชิม พร้อมเล่าให้ฟังว่า การทำประมงของชาวบ้านที่เน้นอิงอาศัยกับธรรมชาติ เป็นการประมงแบบพื้นบ้านที่มีเครื่องมือเฉพาะสำหรับการจับสัตว์น้ำแต่ละประเภท จับเท่าที่ต้องการ ไม่กว้านจับจนทำลายระบบห่วงโซ่อาหารและระบบนิเวศทางทะเล

พวกเขาผ่านการต่อสู้เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่บ้านเกิดมาหลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่การประมงเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ใช้อวนลาก อวนรุน ซึ่งทำลายแหล่งอาศัยของปลาใต้ทะเลใกล้ชายฝั่ง จนถึงการฟื้นคืนและดูแลรักษาป่าโกงกางที่ชุมชนหวงแหน เพราะเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ต้นกำเนิดของความอุดมสมบูรณ์ที่ชาวบ้านพึ่งพิงมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

เกาะยาวใหญ่และเกาะยาวน้อยคงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติไว้ได้จนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะเกิดจากความเข้มแข็งและเหนียวแน่นของชาวบ้านเหล่านี้เอง จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมพวกเขาถึงกระตือรือร้นที่จะผลักดันให้ที่นี่เป็นเกาะพลังงานสะอาด โดยมีเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเติบโตไปพร้อม ๆ กับการอนุรักษ์วิถีวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

โซล่าเซลล์, พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานหมุนเวียน, พลังงานทดแทน
ทัศนียภาพเกาะยาวใหญ่ที่แสดงถึงวิถีชีวิตแบบพึ่งพิงและอิงอาศัยกับธรรมชาติของชุมชนท้องถิ่น

เรื่อง มิ่งขวัญ รัตนคช
ภาพ สิทธิศักดิ์ น้ำคำ


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)

Recommend