Blue Lagoon แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของไอซ์แลนด์ สร้างจากน้ำพุร้อนใต้พิภพที่ผ่านการนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า โดยไอซ์แลนด์ขับเคลื่อนประเทศด้วยพลังงานหมุนเวียนเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์
แม้จะมีประชากรเพียง 332,000 คน แต่ไอซ์แลนด์ต้อนรับนักท่องเที่ยวกว่า 1.8 ล้านคนต่อปี มากกว่าจำนวนประชากรถึง 6 เท่า โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เดินทางมายังเกาะแห่งนี้ เพื่อชื่นชมภูมิประเทศที่ต่างจากพื้นที่อื่นในโลก ผสมผสานกันระหว่างความหนาวเย็นและความร้อนระอุ ไม่ว่าจะเป็นถ้ำน้ำแข็ง ธารน้ำแข็ง ทุ่งน้ำแข็ง ไปจนถึงทุ่งลาวาและน้ำพุร้อนไกเซอร์
หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ Blue Lagoon ที่มีนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมเยียนมากกว่า 1 ล้านคนต่อปี และสิ่งที่คนส่วนใหญ่อาจไม่รู้คือทะเลสาบน้ำร้อนแห่งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติอย่างแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ของไอซ์แลนด์ แต่เป็นฝีมือการสร้างของมนุษย์
มองข้ามขอบน้ำสีฟ้าสดใสของทะเลสาบไป คุณสามารถมองเห็นอาคารและท่อโลหะที่มีไอน้ำพวยพุ่งอยู่แทบจะตลอดเวลา ไม่ต้องแปลกใจ เพราะนั่นคือโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ Svartsengi ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ ค.ศ. 1976
และน้ำอบอุ่นในทะเลสาบที่คนนับล้านข้ามน้ำข้ามทะเลมาแช่เพื่อผ่อนคลายดื่มด่ำนี้ คือน้ำอุณหภูมิร้อนจัดจากใต้ผิวโลกที่ถูกนำขึ้นมาผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่หล่อเลี้ยงผู้คนและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของไอซ์แลนด์ทั้งประเทศ
การผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานความร้อนใต้พิภพ เป็นหนึ่งในพลังงานหมุนเวียนที่มีขั้นตอนในการสร้างยุ่งยากที่สุด เพราะระหว่างกระบวนการสามารถปล่อยมลพิษออกมาได้ หากโรงไฟฟ้าไม่ได้รับการออกแบบระบบควบคุมแบบปิด ที่ป้องกันการเล็ดรอดของสารพิษอย่างเชี่ยวชาญ
ด้วยวิสัยทัศน์ของภาครัฐตั้งแต่เมื่อ 80 ปีก่อน ทำให้ทุกวันนี้ ไอซ์แลนด์ขับเคลื่อนประเทศด้วยพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตภายในประเทศเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ความเชี่ยวชาญในการประยุกต์ศาสตร์ของพลังงานหมุนเวียนก่อให้เกิดนวัตกรรมมากมายเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
เราพาคุณมุ่งสู่ไอซ์แลนด์ เพื่อเยี่ยมชม Blue Lagoon พื้นที่รับน้ำ (Catchment Area) ที่หลงเหลือจากกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ เมื่อแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียน กลายเป็นเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันเลื่องชื่อไปทั่วโลก และสร้างรายได้มากกว่า 1 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ
01 แหล่งความร้อนใต้พิภพ
แกนกลางของโลกลึกลงไปใต้พื้นผิวกว่า 6,000 กิโลเมตร การสลายตัวของสารกัมมันตรังสี การเคลื่อนไหวภายในภูเขาไฟ ไปจนถึงรังสีของดวงอาทิตย์ที่พื้นผิวโลกดูดซับไว้ ทำให้อุณหภูมิใต้พิภพสูงกว่าพื้นผิวโลกหลายพันองศาเซลเซียส โดยเฉลี่ยทุกความลึก 33 เมตร อุณหภูมิใต้พื้นผิวจะสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส
การจะนำพลังงานความร้อนใต้พิภพมาใช้ได้ มนุษย์ต้องขุดเจาะลงไปใต้แผ่นเปลือกโลก เพื่อเข้าถึงและปลดปล่อยน้ำพุร้อนหรือไอน้ำร้อนใต้ดินขึ้นมาสู่พื้นผิว แหล่งกักเก็บพลังงานความร้อนใต้พิภพแต่ละแห่ง อาจตั้งอยู่ในความลึกที่ต่างกันตามสภาพภูมิประเทศ บางแห่งอาจต้องขุดเจาะลึกหลายกิโลเมตร ในขณะที่บางแห่งขุดเจาะลึกไม่กี่ร้อยเมตร อุณหภูมิของแหล่งกักเก็บอาจสูงถึง 370 องศาเซลเซียส
โดยทั่วไปแหล่งกักเก็บพลังงานความร้อนใต้พิภพ มักกระจุกตัวหนาแน่นอยู่ในพื้นที่มีภูเขาไฟหรือบริเวณแผ่นเปลือกโลกบาง อย่างไอซ์แลนด์หรือประเทศในเอเชีย ที่มีการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานความร้อนใต้พิภพติดอันดับโลกอย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ล้วนแต่เป็นประเทศที่มีภูเขาไฟทั้งสิ้น
02 ผลลัพธ์เมื่อภาครัฐเอาจริง
ไอซ์แลนด์ขับเคลื่อนประเทศด้วยพลังงานหมุนเวียนเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นประเทศที่ใช้พลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนที่สูงที่สุดในโลก โดยประมาณ 73 เปอร์เซ็นต์ มาจากไฟฟ้าพลังน้ำ และดูแลการผลิตโดยบริษัทพลังงานแห่งชาติ Landsvirkjun ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าหลักในไอซ์แลนด์
อีก 27 เปอร์เซ็นต์มาจากจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ ธรณีวิทยาที่เป็นเอกลักษณ์ของไอซ์แลนด์ บนเทือกเขากลางมหาสมุทรแอตแลนติก ทำให้ที่นี่มีการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกมากที่สุดในโลก เกิดเป็นภูเขาไฟมากกว่า 200 แห่ง บ่อน้ำพุร้อนมากกว่า 600 แห่ง และทุ่งไอน้ำอุณหภูมิ 150 ถึง 250 องศาเซลเซียล 20 แห่ง
นี่คือสิ่งที่ทำให้ไอซ์แลนด์สามารถผลิตพลังงานความร้อนใต้พิภพได้ ทุกวันนี้บ้านเรือนมากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ในไอซ์แลนด์ ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ
ชาวไอซ์แลนด์อาบน้ำและซักผ้าในบ่อน้ำพุร้อนมานานหลายศตวรรษ จนกระทั่ง ค.ศ. 1907 เกษตรกรคนหนึ่งทดลองต่อท่อคอนกรีตจากบ่อน้ำพุร้อนเพื่อนำไอน้ำเข้ามาสู่ตัวบ้าน นับเป็นการพยายามสร้างระบบการใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพครั้งแรก
ค.ศ. 1930 ท่อส่งไอน้ำอย่างเป็นทางการความยาว 3 กิโลเมตร ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกจากบ่อน้ำพุร้อนในชนบทสู่เมือง Reykjavík เพื่อสร้างความร้อนให้โรงพยาบาล โรงเรียน 2 แห่ง และบ้านอีก 60 หลัง ทศวรรษต่อมาท่อส่งไอน้ำขยายเป็น 18 กิโลเมตรและเชื่อมต่อเข้ากับบ้าน 2,850 หลัง
รัฐบาลไอซ์แลนด์มีบทบาทอย่างมาก ในการพัฒนาพลังงานความร้อนใต้พิภพ โดย รัฐบาลก่อตั้งการไฟฟ้าแห่งชาติขึ้นใน ค.ศ. 1940 โดยมีจุดมุ่งหมายในการศึกษา เพื่อนำทรัพยากรภายในประเทศมาใช้เป็นแหล่งพลังงานทดแทน ซึ่งต่อมาประสบความสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากสามารถประยุกต์ใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพในหลากหลายอุตสาหกรรมทั่วประเทศได้อย่างสร้างสรรค์
03 ในความกรีน มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
ทุกวันนี้ประเทศไอซ์แลนด์มีโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ 5 แห่งทั่วประเทศ โดยโรงไฟฟ้า Hellisheiði ซึ่งเป็นโรงงานผลิตพลังงานความร้อนใต้พิภพที่ใหญ่ที่สุดของไอซ์แลนด์และใหญ่เป็นอันดับสามของโลก สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 303 เมกะวัตต์
การผลิตไฟฟ้าด้วยการใช้พลังงานความร้อนใต้พิภพ คือการผลิตไฟฟ้าด้วยการใช้น้ำพุร้อนหรือไอน้ำร้อนที่พบในชั้นหินที่อยู่ใกล้กับบริเวณแผ่นเปลือกโลก มาเป็นพลังงานหมุนกังหันไอน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า
ข้อดีของพลังงานความร้อนใต้พิภพ คือเสถียรภาพที่สามารถนำมาใช้ได้ตลอดเวลา สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอ ต่างจากพลังงานหมุนเวียนอื่นอย่างพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม ซึ่งอาจมีความผันผวนตามสภาพอากาศ
โดยสาเหตุที่พลังงานทดแทนชนิดนี้ยังไม่เติบโตมากเท่าชนิดอื่น เนื่องจากหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นคือความเชี่ยวชาญและการลงทุนที่สูงมาก เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพแต่ละแห่ง ต้องได้รับการออกแบบอุปกรณ์ และติดตั้งระบบท่อเฉพาะพื้นที่เป็นพิเศษ ตามสภาพภูมิประเทศที่พบแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพแห่งนั้นเพียงแห่งเดียว
พลังงานความร้อนใต้พิภพส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก เมื่อเทียบกับพลังงานรูปแบบอื่น ๆ แต่ในการใช้ประโยชน์จาก แต่อย่างไรก็ตาม ไอน้ำและความร้อนที่นำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้ามีองค์ประกอบที่เป็นพิษ ดังนั้นโรงไฟฟ้าจะต้องมีระบบควบคุมการปล่อยไอน้ำแบบปิด ที่ป้องกันการเล็ดรอดของสารพิษได้อย่างเด็ดขาด
และในการสร้างพื้นที่รับน้ำที่ผ่านกระบวนการผลิตไฟฟ้า ก็ต้องมีการออกแบบอย่างครบวงจร เพื่อเป็นการรักษาระบบนิเวศโดยรอบโรงไฟฟ้าอย่างเข้มแข็ง
04 ทะเลสาบฝีมือมนุษย์
ทะเลสาบน้ำร้อน Blue Lagoon ตั้งอยู่บริเวณทุ่งลาวาใน Grindavík ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะ โดยที่นี่คือหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดในไอซ์แลนด์
น้ำร้อนในทะเลสาบมีสีฟ้าน้ำนม เนื่องจากประกอบไปด้วยซิลิกาเข้มข้น โดยเป็นน้ำอุณหภูมิร้อนจัดจากใต้ดินที่ถูกดึงขึ้นมา และผ่านการหมุนกังหันสร้างกระแสไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ Svartsengi (กำลังผลิตกระแสไฟฟ้า 76.5 เมกะวัตต์) มาแล้ว ก่อนจะถูกลำเลียงมายังทะเลสาบแห่งนี้
โดยน้ำในทะเลสาบได้รับการเปลี่ยนถ่ายใหม่ทุก 48 ชั่วโมง และได้รับความร้อนจากการไหลของลาวาในบริเวณใกล้เคียง ทำให้น้ำมีอุณหภูมิคงที่เฉลี่ย 40 องศาเซลเซียส ตลอดทั้งปีแม้ในฤดูหนาวที่สภาพเยือกแข็ง
อุณหภูมิของน้ำใน Blue Lagoon เหมาะสำหรับการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ทำให้ผู้คนนิยมมาแช่ตัวและแหวกว่ายเพื่อคลายความหนาวเย็นและเมื่อยล้า โดยจุดเริ่มต้นแรก ๆ ที่ทำให้ทะเลสาบแห่งนี้เป็นที่รู้จัก เกิดจากการบอกต่อของบุคคลที่ประสบปัญหาโรคผิวหนัง โดยเฉพาะโรคสะเก็ดเงิน ที่เมื่อมาแช่น้ำร้อนที่นี่แล้วอาการดีขึ้น
เนื่องจากน้ำแหล่านี้ถูกดึงขึ้นมาจากใต้พิภพ จึงมีแร่ธาตุเข้มข้นหลายชนิด นอกจากซิลิกาแล้ว ยังประกอบไปด้วยฟลูออรีน โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม และซัลเฟต
ใน ค.ศ. 1995 Blue Lagoon ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ ทุกวันนี้นอกจากทะเลสาบน้ำร้อนขนาดใหญ่ ที่นี่ยังมีห้องซาวนา ห้องอบไอน้ำที่ออกแบบอย่างงดงามภายในถ้ำลาวา โดยใน ค.ศ. 2017 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชมและแช่น้ำร้อนจากใต้พิภพนี้ถึง 1.3 ล้านคน
สืบค้นและเรียบเรียง มิ่งขวัญ รัตนคช
ข้อมูลอ้างอิง
- WWF Asia Report
- How Iceland is undoing carbon emissions for good
- Iceland, a world leader in clean energy, supports Africa’s push for geothermal power
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : พลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal Energy)