1 ปี หลังไฟป่าครั้งประวัติศาสตร์ ชาวออสเตรเลียยังคงดิ้นรนเพื่อกอบกู้วิถีชีวิตกลับคืนมา

1 ปี หลังไฟป่าครั้งประวัติศาสตร์ ชาวออสเตรเลียยังคงดิ้นรนเพื่อกอบกู้วิถีชีวิตกลับคืนมา

หนึ่งปีหลังจากไฟไหม้ครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ เปลวไฟขนาดมหึมาที่โหมลุกไหม้พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ยังคงทิ้งบาดแผลฉกรรจ์อันน่าเศร้า ชาวออสเตรเลียที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก ยังคงดิ้นรนเพื่อกอบกู้วิถีชีวิตกลับคืนมา

วันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 2019 Ron Corby วัย 88 ปี เข้านอนตามปกติในหมู่บ้านเล็ก ๆ บนชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลียที่ชื่อ Cobargo จากนั้นเวลาตี 2 ครึ่ง เขาก็ตื่นขึ้นด้วยเสียงโทรศัพท์ เสียงลูกสาวที่ดังมาตามสาย บอกให้เขาอพยพออกจากบ้านของตัวเองทันที

เมื่อ Corby ขนข้าวของออกมา เพื่อเตรียมขึ้นรถลูกสาวที่มารอรับหน้าบ้าน เขาเห็นเปลวเพลิงขนาดใหญ่ลุกไหม้อยู่ไม่ไกล บ้านของเธอที่อยู่ห่างออกไปไม่กี่ช่วงถนนถูกมันกลืนกินไปแล้วทั้งหลัง

Corby อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน Cobargo มานานนับทศวรรษ ดำรงชีพด้วยการทำเกษตรกรรม เขาเผชิญหน้ากับภัยพิบัติและสภาพอากาศอันเลวร้ายของออสเตรเลียมานับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่วิกฤติความแห้งแล้ง ไปจนถึงน้ำท่วมและไฟป่า แต่ไม่มีครั้งใดรุนแรงเทียบเท่าเปลวไฟมหึมาที่ลุกไหม้ทุกอย่างที่ขวางหน้า รวมถึงบ้านของเขาในครั้งนี้มาก่อน

อุทยานแห่งชาติ Wadbilliga ในรัฐ New South Wales ถูกเปลวไฟเผาทำลายทั่วทั้งพื้นที่

1 ปีที่แล้ว ไฟไหม้รุนแรงเกิดขึ้นทั่วประเทศออสเตรเลีย คร่าชีวิตคนไป 33 คน ทำลายบ้านเรือนหลายพันหลังและทำให้สัตว์ป่ามากกว่า 1 พันล้านตัว ต้องจบชีวิตลงกับเศษเถ้าธุลี

พื้นที่มากกว่า 100 ล้านไร่ถูกเผาทำลายจนราบ ตั้งแต่ป่าฝนไปจนถึงระบบนิเวศอันเป็นเอกลักษณ์ สิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ไปตลอดกาลจากมหันตภัยในครั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของหายนะจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก ที่กำลังคืบคลานเข้ามาและจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ นับจากนี้

“มันคือเปลวไฟที่ร้อนยิ่งกว่าอะไร ผมเห็นล้ออลูมิเนียมรถยนต์หลอมละลายและไหลไปตามรางเหมือนของเหลว ลมร้อนพัดมาจากทุกทิศทาง” Corby เล่าถึงประสบการณ์ในการหนีออกจากวงล้อมไฟ

Janie Wetzler และสภาพบ้านของเธอใน Quaama หลังไฟสงบ เมื่อวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 2020

ศาสตราจารย์ David Bowman ผู้เชี่ยวชาญด้าน Pyrogeography และวิทยาศาสตร์อัคคีภัย แห่งมหาวิทยาลัย Tasmania อธิบายว่า สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ไฟป่าครั้งนี้รุนแรงและขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ มาจากความแห้งแล้งรุนแรงและอุณหภูมิสูงมากกว่าค่าเฉลี่ยเป็นกระวัติการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า

สภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งถึงขีดสุด ทำให้เพียงแค่ประกายไฟเล็ก ๆ ก็สามารถจุดชนวนเปลวเพลิงขนาดใหญ่ได้ในชั่วพริบตา “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาวะโลกร้อน ทำให้ไฟป่าในฤดูแล้งที่ปกติเกิดขึ้นทุกปี จากนี้จะรุนแรงและถี่ขึ้นเรื่อย ๆ อย่างที่มนุษย์คาดไม่ถึงและไม่เคยประสบมาก่อน”

ชาวออสเตรเลียต้องคิดหามาตรการในการปรับตัวที่เด็ดขาดและทันท่วงที โดยเฉพาะพื้นที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงการรับมือกับฤดูไฟป่าทั้งเชิงรุกและเชิงรับ โดยรัฐบาลจะต้องเป็นตัวตั้งตัวตีหลักในการรับผิดชอบการประสานงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าระดับประเทศ รวมถึงต้องระบุแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลงในยุทธศาสตร์ชาติอย่างเป็นรูปธรรม

“ไม่มีสักคนเดียวในทั้งภูมิภาคที่ไม่บอบช้ำ ฉันดีใจมากที่ยังมีชีวิตอยู่และไม่พิการ” Jenni Bruce หน้าบ้านและสตูดิโอของเธอใน Brogo เมื่อวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 2020

ท้องฟ้าสีเลือด

หนึ่งในเปลวไฟที่รุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นเมื่อ 1 ปีก่อนของออสเตรเลีย เกิดขึ้นในรัฐ New South Wales และ Victoria ช่วงค่ำคื่นแห่งการเฉลิมฉลองต้อนรับปีใหม่

ควันพิษจากการเผาไหม้จำนวนมหาศาล เปลี่ยนท้องฟ้ายามรุ่งอรุณเป็นสีดำสนิท ดูดกลืนออกซิเจนทั้งหมดจากท้องฟ้า จนนกที่บินผ่านบริเวณนั้นขาดอากาศหายใจและตกลงมาตายบนพื้นดินจำนวนมาก

ในขณะที่ทั่วโลกกำลังดื่มด่ำกับวันแรกของปี ภาพข่าวจากออสเตรเลียแสดงให้เห็นฝูงชนจำนวนมาก รวมถึงนักท่องเที่ยวที่กำลังพักผ่อนในวันหยุด ต่างตะลึงงันไร้ทางหนีอยู่บนชายหาดที่ล้อมรอบไปด้วยเปลวไฟ

ความช่วยเหลือจากทั่วโลกหลั่งไหลมายังออสเตรเลีย โดยเฉพาะกำลังทหารและนักดับเพลิงจากหลายประเทศทั่วโลกที่รู้วิธีต่อกรกับเปลวเพลิงร้อนระอุ

ซ้าย: อลูมิเนียมที่หลอมละลายจากรถที่ถูกเพลิงลุกไหม้ใน Cobargo รัฐ New South Wales ขวา: ป่าต้นทีทรี พืชพื้นเมืองของประเทศออสเตรเลียที่ถูกเผาทำลาย ใน Mallacoota รัฐ New South Wales

ช่วงต้น ค.ศ. 2020 Gideon Mendel ช่างภาพชางอังกฤษ เดินทางไปยังหมู่บ้าน Cobargo ระหว่างเมือง Melbourne และ Sydney หนึ่งในพื้นที่ ๆ ได้รับความเสียหายมากที่สุด รวมถึงหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อบันทึกความสูญเสียครั้งใหญ่ โดยถ่ายภาพผู้คนยืนอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพังของบ้านที่ถูกทำลาย

“เราไม่อยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นอีกแล้ว” Corby บอกกับ Mendel ในคืนที่เขาสูญเสียทรัพย์สินทั้งหมดไป บ้าน 7 หลังที่ครอบครัว Corby อยู่อาศัยมากว่าสามชั่วอายุคนถูกตอนนี้เหลือเพียงตอตะโกที่ไหม้ดำ

ค่ำวันเดียวกัน 30 ธันวาคม ค.ศ. 2019 Jenni Bruce ศิลปินจากเมือง Brogo ที่อยู่ห่างออกไป 17 กิโลเมตร กำลังขับรถกลับบ้าน และเธอเห็นสีแดงดั่งเลือดเรืองแสงตรงเส้นขอบฟ้า

“ตอนแรกผมสงสัยว่าทำไมพระอาทิตย์จึงใช้เวลานานกว่าปกติในการลาลับขอบฟ้า จนแน่ใจภายหลังว่าแสงไฟนั้นคือเพลิงสูง 250 ฟุต ที่โยนลูกไฟลงมายังบ้านและรถ ผมหนีไปไหนไม่ได้ ผมยังมีชีวิตอยู่ เพราะเพื่อนของผมขับรถเสี่ยงตายมาช่วย” Jamie Robinson และสุนัขของเขา Yowrie เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 2020

“นั่นไม่ใช่ไฟหรอก แต่มันคือสัตว์ประหลาดที่กลืนกินพื้นดินเป็นอาหาร ฉันไม่เคยเห็นอะไรแบบนั้นมาก่อนเลยในชีวิต” Bruce วัย 65 ปี ผู้ทำงานร่วมกับหน่วยงานดับเพลิงท้องถิ่นในรัฐ New South Wales มากว่า 3 ทศวรรษกล่าว

แทนที่จะมุ่งหน้ากลับบ้าน Bruce หันรถกลับทันทีและขับออกไปในทิศทางตรงกันข้าม เธอไม่หยุดพักเลยจนกระทั่งเช้าวันต่อมาเมื่อขับรถมาถึงศูนย์อพยพในเมือง Bermagui เธอก็พบกับผู้คนอีกนับพันที่มารวมตัวกัน รอฟังข่าวความคืบหน้าและชะตากรรมของตัวเอง จากมหันภัยใหญ่ในครั้งนี้

สองวันต่อมา เมื่อเพลิงสงบลง Brice ขับรถกลับมายังบ้านที่ครั้งหนึ่งเคยรายล้อมไปด้วยสวนบลูเบอร์รี่และภายในบ้านที่เต็มไปด้วยภาพวาดมากมาย ที่เธอใช้เวลาหลายปีในการสร้างสรรค์ ถูกสิ่งทุกอย่างถูกเผาทำลายไปจนหมดเหลือเพียงความทรงจำ

โดดเดี่ยวและถูกลืมเลือน

รัฐบาลออสเตรเลียที่มีความผูกพันกับธุรกิจอุตสาหกรรมถ่านหินมายาวนาน ดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกเชื่องช้ามาก ทั้งที่ทุกวันนี้ ความร้อนและความแห้งแล้งในออสเตรเลียรุนแรงถึงขนาดที่เปลวเพลิงสามารถถูกจุดได้ด้วยประกายไฟเล็ก ๆ

จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ประชาชนต่างพากันโยนประเด็นเผ็ดร้อนและปฏิเสธที่จะจับมือกับ Scott Morison นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย เมื่อเขาลงพื้นที่ไปสำรวจความเสียหายที่หมู่บ้าน Cobargo

“ไม่มีสีเขียวปรากฏให้เห็น มีเพียงร่องรอยรุนแรงราวกับระเบิด ยี่สิบปีที่ผ่านมา เราสอนให้ผู้คนเรียนรู้ในการอยู่กับธรรมชาติอย่างบรรพบุรุษชาวอะบอริจินที่อยู่บนผืนดินนี้มานานกว่าแสนปี” Uncle Noel และ Trish Butler ผู้มีเชื้อสายอะบอริจินพื้นเมือง และก่อตั้งศูนย์การศึกษาเยาวชนพื้นเมืองที่ถูกเพลิงไม้เผาทำลายเช่นกัน

“เขาสมควรได้รับปฏิกิริยาแบบนั้น” Anthony Montagner หนึ่งในชาวบ้านผู้สูญเสียทุกสิ่งไปกับเปลวเพลิงกล่าว “นายกรัฐมนตรีเดินไปรอบ ๆ พร้อมรอยยิ้มและคิดว่าทุกอย่างเรียบร้อยดี ดูเหมือนเขาจะไม่เข้าใจอะไรเลย”

สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง เมื่อ COVID-19 มาถึง หลายรัฐของออสเตรเลียล็อกดาวน์เมืองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และนั่นยิ่งทำให้ผู้คนในหมู่บ้านและเมืองเล็ก ๆ ที่ประสบไฟป่าอย่างรุนแรงต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวและถูกลืมเลือน ท่ามกลางความเสียหายที่ไม่มีวันเยียวยาได้ หลายคนต้องใช้ชีวิตอยู่ในเต้นท์และรถบ้าน ในขณะที่บ้านหลังใหม่ค่อย ๆ ถูกก่อสร้างขึ้นแทนที่ซากปรังหักพัง

แม้จะมีการคาดการณ์ว่าไฟป่าปีนี้จะไม่รุนแรงเท่า เนื่องจากออสเตรเลียจะมีปริมาณฝนตกมากกว่าเฉลี่ย แต่นักวิทยาศาสตร์ต่างระบุว่า ในไม่อีกกี่ปีข้างหน้าไฟป่าขนาดใหญ่ที่นำหายนะมาสู่พืชพรรณ สัตว์ป่าและผู้คนอยากที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 1 ปีก่อนจะหวนกลับมา

9 สัปดาห์หลังไฟสงบ ผืนป่าเริ่มฟื้นฟูตัวเอง พืชพรรณค่อย ๆ เติบโตจากเถ้าถ่านอีกครั้ง ป่าแห่งนี้อยู่ระหว่างรัฐ Victoria และรัฐ New South Wales

“รัฐบาลและคนที่มีอำนาจต้องรับฟังได้แล้ว คุณต้องเปลี่ยนแปลงมันก่อนที่จะสายเกินไป” แม้พื้นที่บริเวณนี้เสี่ยงประสบกับไฟป่าทุกปี แต่ Bruce กลับกล่าวอย่างหนักแน่นว่าไม่คิดจะย้ายที่ไปไหน เพราะมันเหมือนการทอดทิ้งเพื่อนที่ป่วยให้ต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว

“ในชั่วชีวิตของฉัน สวนบลูเบอร์รี่ที่เคยเขียวชอุ่มอาจไม่กลับคืนมา แต่ฉันเชื่อว่าหลาน ๆ ของฉันในเจเนอเรชั่นต่อไป จะได้เห็นผืนป่าอีกครั้งอย่างแน่นอน”

เรื่อง LIVIA ALBECK-RIPKA

ภาพ GIDEON MENDEL


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ดอยหลวงเชียงดาว 2 ปี หลังไฟป่าครั้งใหญ่ อัศจรรย์ธรรมชาติในการฟื้นฟูตัวเอง

Recommend