ภาพถ่ายเล่าวิกฤต Climate Change รอบโลก และความหวังถึงวันที่ดีกว่า

ภาพถ่ายเล่าวิกฤต Climate Change รอบโลก และความหวังถึงวันที่ดีกว่า

ถึงแม้ว่าการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 หรือ COP26 จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมบนโลกใบนี้ยังคงดำเนินต่อไปทุกวินาที พร้อมกันกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แสดงให้เห็นว่า วิกฤตการณ์อันยิ่งใหญ่ถูกคลี่คลายลงได้ด้วยนโยบายและความร่วมแรงร่วมใจ

บางครั้ง ภาพถ่ายเพียงภาพเดียวก็สามารถจุดประกายความหวังเหล่านั้นได้ บางครั้ง ภาพถ่ายอาจเป็นสื่อกลางบอกเล่าให้เห็นภาพความเสี่ยงที่กำลังเกิดขึ้น และที่สำคัญ ภาพถ่ายยังจุดประกายแนวคิดที่ว่า เราจะมีส่วนร่วมลงมือทำอะไรได้บ้าง หรือจะว่าง่าย ๆ ก็คือ ภาพถ่ายสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ และในขณะที่โลกของเรากำลังเผชิญกับความจริงในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ก็ไม่มีเรื่องไหนใหญ่เท่านี้อีกแล้ว

บางภาพ ราวกับฉุดกระชากใจตั้งแต่แรกเห็น อย่างภาพแนวปะการังที่กำลังตายบน Great Barrier Reef วางคู่กันกับภาพเก่าที่เคยบอกเล่าว่าปะการังเคยมีชีวิตชีวามากมายเพียงใด บางภาพ สร้างแรงบันดาลใจในการแสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงไม่เพียงแต่เป็นไปได้เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นได้จริง และพวกเราก็เฉลียวฉลาดและทักษะมากพอที่จะสร้างความแตกต่างได้อย่างเห็นได้ชัด

แต่ท่ามกลางความผิดปกติแหล่านี้ยังมีความหวัง ธรรมชาติคือความยืดหยุ่น และมอบโอกาสแห่งความเปลี่ยนแปลงให้สามารถฟื้นฟูกลับคืนมาได้เสมอ หากเพียงเรามีความกล้าที่จะทำให้มันเกิดขึ้น

 

ภาพ Ciril Jazbec

สถูปกรวยน้ำแข็งขนาดใหญ่ ตั้งตระหง่านอยู่เหนือชายคนหนึ่งในดินแดนทางตอนเหนือของลาดักห์ เมื่อหิมะและธารน้ำแข็งลดน้อยลง เจดีย์จะถูกสร้างขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำในรูปแบบน้ำแข็ง โครงสร้างซึ่งชนะการประกวดสถูปน้ำแข็งขนาด 110 ฟุต (33.5 เมตร) นี้ ตั้งอยู่ใกล้หมู่บ้าน Shara Phuktsey มีหน้าที่เก็บกักน้ำเกือบสองล้านแกลลอนซึ่งจะช่วยทดน้ำสำหรับทุ่งนาในสี่หมู่บ้าน

 

ภาพ Emile Ducke

ในเคอเรลยา รัสเซีย อาสาสมัครนักดับเพลิงวัย 37 ปีชื่อว่า Oleg Shcherbakov กำลังขับรถมอเตอร์ไซค์ฝ่ากลุ่มควันหนาทึบ ในขณะที่ออกเดินทางไปดับเพลิงยังพื้นที่ที่อยู่ห่างออกไปไม่ถึง 400 เมต

 

ภาพ Matthieu Paley

หญิงคนหนึ่งเป็นลมจากความร้อนในระหว่างพิธี Hinglaj การแสวงบุญของชาวฮินดูผ่านทะเลทรายทางตะวันตกของปากีสถาน ความร้อนจัดนำไปสู่สถิติการเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก ยิ่งเป็นเหมือนการย้ำให้เห็นความต่างระหว่างคนที่สามารถปรับตัวได้กับคนที่ปรับไม่ไหว บางคนถึงกับหนีออกมาจากพื้นที่ที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจนทนไม่ไหว

 

ภาพ Gabriel Barathieu

แม่วาฬหลังค่อมและลูกของเธอว่ายน้ำผ่านเกาะ Reunion ในมหาสมุทรอินเดีย ประชากรวาฬหลังค่อมถูกทำลายโดยการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ในครึ่งแรกของทศวรรษที่ 20 การล่าวาฬเชิงพาณิชย์สิ้นสุดลงในช่วงต้นศตวรรษที่ 1970 และจำนวนประชากรวาฬหลังค่อมกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ในบางพื้นที่ เกือบเท่ากับจำนวนก่อนการล่าวาฬเกิดขึ้น

 

ภาพ Paul Nicklen

น้ำที่ละลายกัดเซาะให้เกิดร่องบนภูเขาน้ำแข็งในแอนตาร์กติกา ภูเขาน้ำแข็งมักละลายอยู่เสมอ แต่คาบสมุทรแอนตาร์กติกเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่อุ่นเร็วที่สุดในโลก ภูมิภาคนี้คาดว่าจะอบอุ่นขึ้นอีก 2 องศาฟาเรนไฮต์ (1.1 องศาเซลเซียส) ในอีก 20 ปีข้างหน้า

 

ภาพ Nichole Sobecki

ในไนโรบี เคนยา John Chege และ Amos Kimani ออกลาดตระเวนป่า Karura ซึ่งเป็นป่าขนาดใหญ่ของเมือง พวกเขาขี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่พึ่งเปิดตัวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่องเพื่อลดมลพิษทางอากาศ ปรับปรุงความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และสร้างงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เสียงเครื่องยนต์เดินเงียบคือความเปลี่ยนแปลงที่น่ายินดีสำหรับผู้มาเยือนป่า ซึ่งครั้งหนึ่งการเดินอย่างสงบสุขถูกรบกวนด้วยเสียงเครื่องยนต์เสียงดังและควันพิษจากเครื่องยนต์ดีเซล

 

ภาพ Raj K Raj

คนงานพ่นควันกำจัดยุงบนถนนในกรุงนิวเดลี อินเดีย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย และชิคุนกุนยา เมื่ออุณหภูมิอากาศสูงขึ้น ความเสี่ยงที่ผู้คนจะติดโรคที่มียุงเป็นพาหะจะเพิ่มขึ้น บทบรรณาธิการซึ่งตีพิมพ์โดยนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังในวารสารการแพทย์หลายร้อยฉบับเรียกร้องให้มีการดำเนินการด้านสภาพอากาศอย่างรวดเร็ว เพื่อปกป้องสุขภาพมนุษย์

 

ภาพ Philipp Spalek

แท่น BorWin beta เป็นส่วนหนึ่งของฟาร์มกังหันลม Veja Mate ในทะเลเหนือ แท่นดังกล่าวจะถ่ายโอนพลังงานไปยังโครงข่ายพลังงานในเยอรมนีซึ่งอยู่ห่างออกไป 70 ไมล์

 

ภาพ Ciril Jazbec

ครอบครัว Carlen ดูแลถ้ำในธารน้ำแข็ง Rhône Glacier ในสวิตเซอร์แลนด์มาตั้งแต่ปี 1988 แต่เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นเริ่มทำให้น้ำแข็งละลาย พวกเราก็เกิดไอเดียใหม่ขึ้นมา เป็นเวลาแปดปีที่พวกเขาได้ห่มผ้าให้กับธารน้ำแข็งด้วยผ้าห่มขนแกะสะท้อนแสงอาทิตย์ ด้วยความหวังที่จะปกป้องธารน้ำแข็งซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งนี้ไว้ให้ได้

 

ภาพ Lynsey Addario

ในเดือนสิงหาคม เปลวเพลิง Caldor ลุกโชนไปยังแอ่งทะเลสาบ Tahoe ในแคลิฟอร์เนีย นักผจญเพลิงกับ CAL FIRE และแผนกดับเพลิงอื่น ๆ พยายามปกป้องบ้านและที่พักพิง สุดท้ายแล้วโครงสร้างราว 1,000 หลัง ซึ่งมากกว่า 700 หลังเป็นบ้าน ถูกทำลายลง

 

ภาพ Rhein-Erft-Kreis

อุทกภัยรุนแรงที่เกิดขึ้นจากน้ำฝนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในเยอรมนีช่วงเดือนกรกฎาคม ภาพนี้ถูกแชร์บนทวิตเตอร์โดยเจ้าหน้าที่ในโคโลญ แสดงให้เห็นภาพน้ำท่วมใน Erftstadt-Blessem น้ำฝนที่ตกภายในวันเดียวทั่วทั้งภูมิภาคมีปริมาณเทียบเท่ากับน้ำฝนที่ตกในเวลาเกือบ 2 เดือน บ้านเรือนหลายหลังถูกกวาดล้าง และผู้คน 170 คนเสียชีวิต

 

ภาพ David Doubilet

งานวิจัยที่น่าตกใจชี้ให้เห็นว่า ภายในปี 2040 นี้ แนวปะการัง 70-90% กำลังจะตายลง เป็นความผิดของใคร? อุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นทำให้ปะการังอยู่รอดได้ยาก แนวปะการังอาศัยในภาวะพึ่งพิงอย่างซับซ้อนกับสาหร่าย ในฐานะผู้ให้สารอาหารกับปะการัง ในน้ำอุ่น ปะการังจะขับสาหร่ายทิ้งแล้วเปลี่ยนเป็นสีขาว นั่นคือกระบวนการที่รู้จักกันดีในชื่อปะการังฟอกขาว

ภาพถ่ายนี้ในปี 2010 มาจากแนวปะการัง Great Barrier Reef ในออสเตรเลียถูกวางเคียงข้างกับแนวปะการังจุดเดียวกันในปี 2019 ซึ่งอุณหภูมิของมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้นในปี 2016 น่าจะเป็นสาเหตุของเหตุการณ์นี้

 

ภาพ Josh Edelson

ช่วงกันยายน เรือนแพตั้งอยู่บนผืนน้ำแคบๆ ในทะเลสาบ Oroville ในแคลิฟอร์เนีย ในขณะนั้น ทะเลสาบมีปริมาณเพียง 23% ของความจุเต็มที่อันเนื่องมาจากภัยแล้งรุนแรงในภูมิภาค ในช่วงฤดูร้อน ฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกต้องเผชิญกับภาวะอากาศร้อนจัด ความแห้งแล้งรุนแรง และไฟป่ามหึมา

 

ภาพ Aji Styawan

ครอบครัวล้อมวงนั่งรับประทานอาหารเย็นในบ้านที่ถูกน้ำท่วมในชวากลาง อินโดนีเซีย เป็นเวลากว่า 40 ปีที่พวกเขาเฝ้าดูพื้นที่การเกษตรอันอุดมสมบูรณ์ค่อยๆ จมหายไปใต้ผืนทะเล พวกเขาลงมือยกทุกอย่างในบ้านขึ้นเรียบร้อยแล้วเพื่อรับมือกับเหตุการณ์

 

ภาพ Davide Monteleone

ศูนย์เพาะเลี้ยงสาหร่าย อาคารขนาด 1,600 ตารางฟุตภายในมหาวิทยาลัยเทคนิคมิวนิค มุ่งเน้นที่การใช้สาหร่ายเพื่อผลิต Biokerosene และสารประกอบเคมีอื่นๆ ด้วยไฟ LED ประสิทธิภาพสูงร่วมกับกระจกใส นักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างสรรค์สภาวะภูมิอากาศที่ใดก็ได้บนโลก สำหรับจำลองวงจรการเจริญเติบโตของสาหร่าย ผลลัพธ์จากที่นี่จะถูกใช้เพื่อผลิตเชื้อเพลิงที่เบากว่า รวมทั้งวัสดุก่อสร้างสำหรับอุตสาหกรรมการบิน

 

ภาพ Davide Monteleone

ในซูริก สวิตเซอร์แลนด์ เครื่องจักรที่ผลิตโดยบริษัท Climeworks กำลังทำการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ ซึ่งเป็นควาพยายามที่จะบรรเทาสภาวะการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ขั้นแรก อากาศจะถูกดูดเข้าไปยังตัวสะสมด้วยพัดลมผ่านตัวกรองสำหรับดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ จากนั้น ก๊าซจะถูกให้ความร้อนสูง แล้วจึงค่อยรวบรวมและนำกลับมาใช้ใหม่หรือกักเก็บเอาไว้

 

ภาพ Matthieu Paley

พ่อค้าขุดถ่านหินดิบพบเห็นได้ทั่วไปตามท้องถนนในอูลานบาตอร์ เมืองหลวงของมองโกเลีย ครอบครัวเดียวอาจเผาผลาญเชื้อเพลิงถึง 3 ตันในแต่ละฤดูหนาว รัฐบาลได้สั่งห้ามการใช้ถ่านหินดิบ ด้วยการใช้ถ่านอัดแท่ง ซึ่งเป็นบล็อกอัดทำจากฝุ่นถ่านหินหรือชีวมวล หากแต่มลพิษทางอากาศยังคงสูงถึงขั้นอันตราย

 

ภาพ Craig Cutler

การเคลื่อนย้ายผู้โดยสารบนท้องฟ้าโดยไม่ใช้เชื้อเพลิงถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับเที่ยวบินระยะไกล ส่วนเที่ยวบินระยะสั้นกว่า หลายบริษัท รวมถึง Wisk สตาร์ทอัพในแคลิฟอร์เนีย กำลังออกแบบเครื่องบินไฟฟ้า โดยเครื่องบินไร้คนขับของ Wisk สามารถบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่งโดยไม่ต้องใช้รันเวย์

 

ภาพ David Guttenfelder

ที่ Ford Ion Park ใน Allen Park รัฐมิชิแกน แบตเตอรี่ได้รับการวิจัยและทดสอบ โดยแบตเตอรี่เหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญของยานพาหนะไฟฟ้า และผู้ผลิตยานยนต์พยายามทำให้น้ำหนักเบาลง ชาร์จเร็วขึ้น และใช้งานได้ยาวนานกว่า

 

ภาพ Gab Mejia

สวนปาล์มน้ำมันบริเวณลุ่มน้ำ Caimpugan ในฟิลิปปินส์ โดยทั่วโลกมีความต้องการปริมาณน้ำมันปาล์มซึ่งเป็นผลิตผลจากต้นปาล์มน้ำมัน น้ำมันอเนกประสงค์นี้สามารถใช้งานได้กับทุกอย่างตั้งแต่ทำอาหารไปจนถึงเป็นแชมพู แต่อีกทางหนึ่งก็เป็นสาเหตุสำคัญในการตัดไม้ทำลายป่าด้วย

 

ภาพ Brandon Bell

เรือกู้ภัยแล่นกลางลำน้ำท่วมใน Barataria รัฐลุยเซียนา พายุเฮอริเคนไอดา ความรุนแรงระดับ 4 พัดถล่มทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐลุยเซียนาในช่วงเดือนสิงหาคม พายุพัดทำลายบ้านเรือนและร้านค้าจนเสียหาย ทำให้ไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง และนำไปสู่น้ำท่วมในบางพื้นที่รอบเมืองนิวออร์ลีนส์

 

ภาพ Paul Nicklen

นักชีววิทยาผู้โศกเศร้ากับนากทะเลที่ตายจากเหตุการณ์สาหร่ายพิษเบ่งบานบริเวณหาดกรวดในโฮเมอร์ รัฐอะแลสกา

เช่นเดียวกันกับพื้นที่ตอนเหนือหลายแห่ง มลรัฐอะแลสกามีอากาศอุ่นขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นสองเท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก ซึ่งทำให้ทะเลเข้าสู่สภาวะเหมาะสมสำหรับการขยายตัวของสาหร่ายพิษ ผลกระทบดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับห่วงโซ่อาหาร ทำให้หอยมีพิษ และคร่าชีวิตวาฬ วอลรัส นก และสัตว์ทะเลอื่นๆ ที่กินมันเข้าไป

 

ภาพ Saumya Khandelwal

Global Himalayan Expedition เป็นโครงการที่จะนำพลังงานแสงอาทิตย์กระจายออกไปยังหมู่บ้านห่างไกลทั่วโลก ที่นี่ สมาชิกทีมสำรวจและชาวบ้านในหมู่บ้าน Yal กำลังเดินทางพร้อมกับแผงโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ และอุปกรณ์ติดตั้งอื่นๆ การเดินทางนี้ใช้เวลาสองวันในการขับรถ และจบลงด้วยการเดินเท้า

 

ภาพ Jyotirmoy Mandal

ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กับแผงเคลือบฟิล์มโพลิเมอร์ชนิดใหม่จะช่วยแผ่กระจายความร้อนผ่านชั้นบรรยากาศออกสู่อวกาศ ซึ่งช่วยให้อากาศบริเวณนั้นเย็นลงกว่าโดยรอบ แผงเหล่านี้ช่วยลดความต้องการใช้งานเครื่องปรับอากาศลงได้

 

ภาพ Keith Ladzinski

น้ำท่วมล้นทางเดินที่หาด Montrose ใกล้เขตเมืองของชิคาโก เหตุการณ์ฝนตกหนักในปี 2019 หนุนให้น้ำในทะเลสาบมิชิแกน ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าของทะเลสาบเกรตเลกส์ของอเมริกา มีระดับสูงขึ้นเกือบ 2 ฟุต การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลภาวะ และสิ่งมีชีวิตแปลกหน้ากำลังคุกคามระบบนิเวศที่ซับซ้อนนี้

 

ภาพ Kevin Frayer

หญิงสาวเผชิญกับลมแรงท่ามกลางพายุทรายตามฤดูกาลในปักกิ่ง ประเทศจีน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการแปรสภาพเป็นทะเลทรายและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงยิ่งขึ้น การปลดปล่อยมลพิษจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิ และผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นตัวสร้างให้เกิดมลพิษทางอากาศ

 

เรื่อง Simon Ingram และ Sarah Gibbens


อ่านเพิ่มเติม ไทยพร้อมรับมือ ภาวะลมฟ้าอากาศสุดขั้ว ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกแล้วหรือไม่

 

 

Recommend