มหานทีแห่งเอเชียอาคเนย์จะอยู่รอดหรือไม่ (ตอนที่ 2)

มหานทีแห่งเอเชียอาคเนย์จะอยู่รอดหรือไม่ (ตอนที่ 2)

เรื่อง สตีเฟน โลฟเกร็น

 

แหล่งประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก

มหานทีสายนี้เป็นแหล่งอาศัยของปลาเกือบ 1,000 ชนิด ซึ่งมีจำนวนมากเป็นอันดับสองรองจากแม่น้ำแอมะซอน นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งที่พบปลาขนาดใหญ่มากกว่าที่อื่นในโลก ตั้งแต่ปลากระเบนน้ำจืดจนถึงปลาคาร์ปหนัก 500 ปอนด์

“แม่น้ำโขงเป็นเหมือนสวรรค์ของนักมีนวิทยาเลยละครับ” โฮแกนกล่าว “มันสุดยอดในทุก ๆ ด้าน แต่มันก็กำลังเผชิญกับความเสี่ยงเช่นกัน”

“ประเทศกัมพูชาเป็นแหล่งพักพิงสุดท้ายสำหรับความหลากหลายทางชีวภาพที่สั่นคลอนนี้ และหนึ่งในนั้น สัตว์น้ำประจำถิ่นส่วนใหญ่กำลังเข้าใกล้การสูญพันธุ์”

จากเหตุผลข้างต้น สำนักงานของโครงการจึงตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญ หากพิจารณาจากประเทศที่ติดต่อกับแม่น้ำโขงทั้งหมด กัมพูชาเป็นประเทศที่มีดินแดนติดต่อกับแม่น้ำโขงมากที่สุด ราวกับได้นั่งอยู่ใจกลางของแหล่งประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการประมาณการณ์ว่า แม่น้ำโขงมอบผลผลิตทางประมงมากกว่าสามล้านตันต่อปี เป็นจำนวนที่มากถึงหนึ่งในสี่ของผลผลิตจากประมงน้ำจืดทั่วโลก

บริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขงยังเป็นแหล่งเพาปลูกข้าวชั้นดี ประเทศกัมพูชารวมถึงประเทศอื่นๆ ที่อยู่ทางตอนล่างของแม่น้ำโขงสามารถผลิตข้าวรวมกันได้มากกว่า 100 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 15 จากผลผลิตทั้งหมดของโลก ทุ่งนากว้างไกลสุดลูกหูลูกตาทางตอนกลางของกัมพูชาเกิดจากการทับถมของดินตะกอนแม่น้ำ ที่แม่น้ำโขงพัดพามาในช่วงฤดูน้ำหลากช่วงเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม

ในความเป็นจริง หากมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงมันจะส่งผลกระทบไปยังสิ่งอื่นด้วย เหล่าผู้เชี่ยวชาญกำลังหวาดกลัวเกกับการสร้างเขื่อนในประเทศลาวและที่อื่นๆ บริเวณตอนบนของแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาจะทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาอพยพ และสามารถนำไปสู่การสูญพันธุ์ของปลาหลายชนิดที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม เช่น ปลาที่ใกล้สูญพันธุ์อย่าง “ปลาเทโพ” ที่มีความยาวได้ถึง 10 ฟุตเมื่อโตเต็มวัย

 

จากวิทยาศาสตร์แบบองค์รวมถึงเศรษฐกิจแบบยั่งยืน

ในขณะที่เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลายประเทศก็ยังคงเผชิญกับภาวะความยากจน แรงกดดันทางเศรษฐกิจ ประกอบกับความต้องการที่ดินและอุตสาหกรรมเกษตร จึงทำให้เกิดการประมงที่ไม่ยั่งยืน อุตาสากรรมไม้มูลค่าสูง และการขยายตัวของเขตเมือง กำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรง

“เราต้องตระหนักถึงเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย” โฮแกนบอก “การพัฒนาและการอนรักษ์ต้องไปควบคู่กัน มันไม่สามารถเลือกได้อย่างใดอย่างหนึ่ง”

นอกจากความหลากลหายทางชีวภาพแล้ว ดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงยังเต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีชนเผ่าพื้นเมืองอาศัยอยู่ริมฝั่งกว่า 300 ล้านคนจาก 100 เผ่า ดินแดนแห่งนี้จึงรุ่มรวยด้วยวัฒนธรรมและมรดกทางประวัติศาสตร์ ทางตอนเหนือของลาวเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงพระบาง ศูนย์กลางความเชื่อของชาวพุทธ เรื่อยไปจนถึงนครวัด สิ่งปลูกสร้างที่ใหญ่ที่สุดในยุคโบราณ

“เป้าหมายของโครงการนี้ต้องการที่จะสร้างความเข้าใจเรื่องวิทยาศาสตร์ของความหลากหลายทางชีวภาพ ภูมิอากาศ และอุทกวิทยาของลุ่มแม่น้ำโขง ร่วมกับความเข้าใจทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เพื่อให้ก้าวไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนของแม่น้ำสายนี้” โฮแกนกล่าว

“เราต้องให้ความสำคัญกับทุกด้านที่เชื่อมโยงกับแม่น้ำโขงทั้งผู้คน ปลา และสัตว์ป่า การตัดสินใจในวันนี้จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของภูมิภาคนี้ไปตลอดกาล”

Recommend