ป่าไม้ไทย มีความเปลี่ยนแปลง ดีขึ้นหรือแย่ลงในแง่มุมใดบ้าง

ป่าไม้ไทย มีความเปลี่ยนแปลง ดีขึ้นหรือแย่ลงในแง่มุมใดบ้าง

สำรวจ ป่าไม้ไทย ในความเปลี่ยนแปลง

ป่าไม้ไทย – ปลาย พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา  ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  สมัยที่ 26  หรือ COP26  ที่เมืองกลาสโกว์  สกอตแลนด์  สหราชอาณาจักร พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี  ผู้เป็นตัวแทนประเทศไทย ไม่ลงนามในปฏิญญากลาสโกว์ของผู้นำด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน อันเป็นคำประกาศให้คำมั่นที่จะยุติการตัดไม้ทำลายป่าและฟื้นฟูป่าไม้ ภายในปี 2030 หรือ พ.ศ. 2573

แม้ที่ผ่านมาไทยได้ลงนามและทำความตกลงในการปกป้องรักษา พื้นที่ป่ามาแล้วหลายครั้ง และการไม่ลงนามในการประชุมดังกล่าวเป็นข้อติดขัดด้านขั้นตอนซึ่งต้องผ่านมติคณะรัฐมนตรีก่อน และอาจมีการลงนามในอนาคตได้อีก แต่ก็ทำให้เกิดข้อกังขาและกระแสการตั้งคำถามถึงสถานการณ์ ป่าไม้ไทย ท่ามกลางวิกฤติต่างๆ ดังที่ปรากฏในสื่อต่าง ๆ ณ ช่วงเวลานั้น

ป่าไม้ไทย, ต้นท้ายเภา, ท้ายเภา, เทือกเขาบรรทัด
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ที่อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง  ต้นท้ายเภา สูง 60 เมตรต้นนี้นับว่าสูงที่สุดในเทือกเขา บรรทัดเท่าที่มีรายงานการค้นพบ และได้รับสมญาว่า “ยักษ์ใหญ่แห่งป่าดิบชื้นภาคใต้” ตามปกติมักพบในป่าดิบที่ฝนตกชุกและความชื้นสูง  แต่ท้ายเภาต้นนี้เติบโตอยู่เหนือระดับทะเลมากแปลกไปจากต้นอื่น และอยู่ลึกเข้าไปในป่าอนุรักษ์หลายกิโลเมตร

ป่าไม้ไทย ผ่านอะไรมาบ้าง

ในเว็บไซต์ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กราฟแสดงสถิติพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยระหว่าง พ.ศ. 2504 ถึง 2562 ทำ ให้เห็นได้คร่าวๆ ว่า เมื่อ 60 ปีที่แล้ว  ไทยมีป่าอยู่ราวครึ่งหนึ่งของประเทศ (ร้อยละ 53.22)  แต่ลดลงเหลือร้อยละ 31.68 ใน พ.ศ. 2562  และองค์กรโกลบอล ฟอเรสต์วอตช์ (Global Forest Watch: GFW) รายงานว่า ไทยสูญเสียพื้นที่ป่าธรรมชาติไป 1,190 ตาราง กิโลเมตร  หรือ 743,750 ไร่  ซึ่งสำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้  ระบุในปีเดียวกันว่า  ไทยเหลือป่าอยู่ร้อยละ 31.64

เราอาจแบ่งสถานการณ์ของป่าไม้ไทยได้เป็นสองช่วง ช่วงแรกตั้งแต่ พ.ศ. 2504 ถึง 2541  แสดงการลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง  จาก 171.02 ล้านไร่  เหลือ 81.08 ล้านไร่  หรือหายไปกว่าครึ่งภายในเวลาไม่ถึง 40 ปี  ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นห้วงยามของการเร่งพัฒนาประเทศตามแนวทางที่ระบุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกๆ  ซึ่งเน้นการสร้างงาน  สร้างรายได้  สนับสนุนการบุกเบิกที่ดินเพื่อเพาะปลูกและส่งผลผลิตสู่ต่างประเทศ  ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเพื่อขยายความเจริญจากเมืองสู่ชนบท  ทรัพยากรธรรมชาติจึงถูกใช้ประโยชน์อย่างหนักหน่วง  ประเทศเริ่มทำสัมปทานป่าไม้ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2496  จากโครงการชั่วคราวระยะสั้น  แล้วค่อยๆ พัฒนาเป็นสัมปทานระยะยาวโดยมี การเลือกตัดไม้ตามหลักวิชาการ

วัดบางกุ้ง, โบสถ์ปรกโพธิ์, สมุทรสงคราม
อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม โบสถ์ปรกโพธิ์  วัดบางกุ้ง เป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่สมัยอยุธยา  แต่ถูกทิ้งร้างหลังล่วงเข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์  พืชตระกูลไทร อย่างโพธิ์  ไทร  ไกร และกร่าง  จึงเริ่มเข้ายึดโบสถ์ก่ออิฐถือปูน  จาก เมล็ดที่อาจร่วงหล่นบนรอยแตกบนหลังคาหรือผนังที่มีนํ้าขังและความชื้น อาศัยอินทรียวัตถุจากเศษใบไม้และฝุ่นดิน  เติบโตจนรากอากาศแทรกตัวร้อยรัดและห่มคลุมโครงสร้างเก่าแก่กว่า 200 ปี

ศศิน  เฉลิมลาภ  ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรอธิบายว่า  ตั้งแต่ พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา  มากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่ป่าไม้ที่หายไปเป็นผลจากการแผ้วถางเพื่อใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม  โดยหลักการแล้วสัมปทานไม่ทำให้เราสูญเสียพื้นที่ป่าโดยตรงเพราะเลือกตัดเฉพาะไม้ใหญ่  แต่เส้นทางชักลากไม้ออกจากพื้นที่สัมปทานต่างหากที่ส่งผลข้างเคียงรุนแรงกว่า  ความที่เอื้อให้ประชาชนหรือคนงานตัดไม้เห็นโอกาสเปิดพื้นที่ทำกินที่ใหม่ๆ โดยตัดไม้เล็กเพื่อเผาถ่าน  จากนั้นจึงแผ้วถางพื้นที่เพื่อตั้งหมู่บ้านและเพาะปลูก “ตรงไหนเป็นพื้นที่สัมปทานก็จะมีการบุกเบิกตั้งชุมชนใหม่ๆ เสมอ”  ศศินกล่าว  “ยุคนั้นยังไม่มีการดูแลอย่างเข้มงวด  รัฐไม่มีกำลังเจ้าหน้าที่ที่จะดูแลป่า  การถางป่าเพื่อจับจองที่ดินค่อนข้างเป็นเรื่องปกติ  เพราะนโยบายป่าไม้ช่วงก่อน พ.ศ. 2530  ไม่ใช่การอนุรักษ์  แต่พุ่งเป้าที่การใช้ประโยชน์ป่าไม้ทางตรง”

แม้จะพยายามกำหนดเงื่อนไขสัมปทานให้รัดกุม  แต่ผลลัพธ์กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม  ช่วงปลายปี พ.ศ. 2531  เกิดเหตุนํ้าท่วมฉับพลันในหลายจังหวัดทางภาคใต้ นํ้าป่าที่ไหลทะลักลงมาจากภูเขาพร้อมท่อนซุงจำนวนมากไม่เพียงสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน  แต่ยังเผยให้เห็นหลักฐานการทำลายป่าในนามของสัมปทานป่าไม้  นำมาซึ่งการยกเลิกสัมปทานป่าไม้ทั่วประเทศใน พ.ศ. 2532

หว้าน้ำ, ป่าไม้ไทย, เขมราฐ
อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี หว้านํ้าเป็นต้นไม้ที่ทนต่อสภาพนํ้าจืดท่วมขังได้ จึงพบตลอดสองฝั่งแม่นํ้าโขงซึ่งมีฤดูนํ้าหลากยาวนานตั้งแต่เดือนมิถุนายน จนถึงปลายปี ต่อให้ถูกนํ้าท่วม เรือนยอดก็ยังฟื้นตัวจนผลิดอกออกใบได้ใหม่ หว้านํ้าคู่ที่หาดทรายสูง  บ้านลาดเจริญ คู่นี้  กล ายเป็นจุดเยี่ยมเยือนของนักท่องเที่ยว แต่กำลังเผชิญกับความผันผวนของนํ้าในแม่นํ้า ที่มีสาเหตุหลักจากการสร้างเขื่อนในจีนและลาว

สำหรับสถานการณ์ป่าไม้ไทยในช่วงที่สอง  คือตั้งแต่ พ.ศ. 2543 ถึง 2564 นั้น  มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับช่วงแรก  โดยเฉพาะสิบปีที่ผ่านมา  สัดส่วนพื้นที่ป่าไม้ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 31-32  หรือประมาณ 102 ล้านไร่  คือเพิ่มขึ้นหรือลดลงในระดับไม่เกินร้อยละ 0.1 ต่อปี  ศศินให้เหตุผลว่า  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะป่าที่มีลักษณะกายภาพหรือภูมิประเทศเหมาะสมต่อการใช้งานเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เช่น  ที่ราบ  เนินเขาเตี้ยๆ นั้นถูกแผ้วถางไปจนหมดสิ้นตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2550 แล้ว  เหลือก็เพียงพื้นที่ซึ่งมีความลาดชันมากเกินไปจนไม่เหมาะจะใช้ประโยชน์อื่นใด  นอกจากคงสภาพป่าไม้ไว้เช่นเดิม

ความเป็นไปได้ในการขยายผืนป่า

การมีป่าไม้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศคือเป้าหมายที่กำหนดโดยคณะกรรมการป่าไม้แห่งชาติตั้งแต่ พ.ศ. 2528  ผ่านมา จนถึงนโยบายป่าไม้แห่งชาติฉบับล่าสุด  ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติเห็นชอบไปเมื่อปลายปีพ.ศ. 2562  ก็ยังยืนยันตัวเลขเดิม  โดยแบ่งออกเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ร้อยละ 25  หรือ ประมาณ 81 ล้านไร่  และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชนอีกร้อยละ 15  หรือ 48 ล้านไร่  แต่ด้วยสถานการณ์ป่าไม้ที่เป็นอยู่  ย่อมเกิดคำถามที่ว่าจะเป็นไปได้เพียงใด

พิจารณาส่วนแรกคือป่าอนุรักษ์ก่อน  ส่วนที่ได้รับการประกาศตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติพ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ  สัตว์ป่า  และพันธุ์พืช  ตอนนี้มีพื้นที่รวมประมาณ 73 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 22.6 ของพื้นที่ประเทศ

ต้นมะขาม, ป่าไม้ไทย, เพชรบูรณ์
อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ มะขามต้นสูงกว่า 20 เมตร  เส้นรอบวงยาวกว่าแปดเมตรต้นนี้ ได้รับการอนุรักษ์ไว้อยู่ที่วัดศิลามงคล ลำต้นเป็นโพรงขนาดใหญ่ขนาดที่คนเข้าไปยืนตัวตรงได้  ตามตำนานเล่าว่าเพราะถูกไฟเผา  แต่ส่วนรอบนอกซึ่งมีเนื้อเยื่อท่อลำเลียงนํ้า และอาหารไม่ได้รับความเสียหายจึงเติบโตต่อมาจนปัจจุบัน  สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุกว่า 200 ปี

แต่มีพื้นที่ป่าสงวนอีกประมาณ 7.7 ล้านไร่  ซึ่งกำลังอยู่ ในกระบวนการส่งมอบจากกรมป่าไม้มาอยู่ภายใต้การดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ  สัตว์ป่า  และพันธุ์พืช  ซึ่งเมื่อ รวมกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์แล้ว  ก็จะครบร้อยละ 25 ภายใน พ.ศ. 2569 การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ที่เหลือให้ได้ตามเป้าหมายจึงอยู่ที่การเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชนในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้

ศศินให้ความเห็นว่า  มีส่วนของพื้นที่คงสภาพป่าประมาณร้อยละห้าถึงเจ็ดที่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชนได้  ถ้าคณะกรรมการป่าไม้แห่งชาติพิจารณาแล้วยอมรับให้ป่าชุมชนเป็นอีกนิยามหนึ่งของป่าเศรษฐกิจ  คือสามารถเก็บเห็ดหาหน่อไม้ได้  แต่ห้ามตัดเพื่อใช้เนื้อไม้ในการสร้างบ้านก็จะได้พื้นที่ป่าส่วนนี้เพิ่มขึ้นมา  ส่วนอีกประมาณร้อยละ 10 ต้องฝากความหวังไว้กับป่าเศรษฐกิจ  ซึ่งนับรวมเอา “สวนป่า” ที่ปลูกไม้ยืนต้นหรือไม้มีราคา  เช่น  สัก  พะยูง  เข้าไว้ด้วย

ปัจจุบันไทยยังไม่นับรวมเอาพื้นที่เพาะปลูกพืชเกษตรที่อายุยืน  เช่น  มะม่วง  ยางพารา  ปาล์มนํ้ามัน  เป็นป่าเศรษฐกิจ  ดร.คงศักดิ์  มีแก้ว  ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยการจัดการป่าไม้  สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้  กรมป่าไม้  อธิบายว่า  แม้จะเป็นพื้นที่สีเขียวที่มีต้นไม้ปกคลุมเหมือนกัน  แต่กรณีของยางพารา  การจัดการสวนยางพารามีรายละเอียดแตกต่างกับการจัดการสวนป่าอย่างชัดเจน  หากจะนับรวมพื้นที่ส่วนนี้เป็นป่าเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มตัวเลขพื้นที่ป่าของประเทศ  ก็จำเป็นที่นักวิชาการต้องหารือกันศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ  และกำหนดแนวทางการจัดการที่ชัดเจนเสียก่อน

ป่าไม้ไทย, ต้นจามจุรี, สโมสรยิมคานา
อําเภอเมือง  จังหวัดเชียงใหม่ ภายในสโมสรยิมคานา สนามกอล์ฟเก่าแก่สุดในประเทศไทย  ต้นจามจุรีอายุเก่าแก่กว่า 120 ปี ต้นนี้ได้รับเลือกเป็น หนึ่งในสี่รุกขมรดกของแผ่นดินเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2561  หลายปีที่ผ่านมา เคยถูกตัวอ่อนด้วงหนวดยาวรุมกินเนื้อไม้จนเกิดบาดแผล และเป็นโรคเน่าในลำต้นและราก  แต่รอดมาได้ด้วยการรักษาของบรรจง สมบูรณ์ชัย  หมอต้นไม้เมืองเชียงใหม่และทีมงาน

อนาคตของป่าไทย

หากพูดถึงคดีเกี่ยวกับป่าไม้และสัตว์ป่าจากการรายงานของกรมอุทยานแห่งชาติ  สัตว์ป่า  และ พันธุ์พืช  ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ถึง 31 มีนาคม พ.ศ. 2565  มีคดีรวม 651 คดี  ต้องนับว่าพุ่งสูงขึ้นกว่าในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2560  ซึ่งมี175 คดี  เกือบสี่เท่า ในขณะที่ช่วงห้าปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2561 ถึง 2565)  กรมอุทยานฯได้รับงบประมาณลดลงทุกปี  และลดลงมากที่สุดในปีนี้  โดยลดงบประมาณสำหรับดูแลป่าลงร้อยละ 47 ประกอบกับรายได้จากค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติลดลงมาตลอดในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19  ทำให้ต้องเลิกจ้างเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าลงครึ่งหนึ่ง  และมีการปรับลดเงินเดือนในส่วนที่เหลือ  ทั้งที่เดิมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าหนึ่งคนต้องดูแลพื้นที่ป่ามากกว่า 10,000 ไร่  จนในภายหลังมีการ ขออนุมัติงบกลางเพื่อจ้างงานผู้พิทักษ์ป่าต่อไปอีกเจ็ดเดือน

ประเทศไทยเคยร่วมลงนามและให้สัตยาบันในข้อตกลง ระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศมาแล้วไม่น้อย  แต่ในทางปฏิบัติ  ภาครัฐเองกลับมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่โดยเฉพาะอ่างเก็บนํ้า  ซึ่งต้องขอใช้พื้นที่ป่า  รวมทั้งป่าอนุรักษ์  อีกหลายสิบโครงการซึ่งอาจนำ ไปสู่ภัยคุกคามต่อป่าได้โดยตรง

แหลมพรหมเทพ, ป่าไม้ไทย
อําเภอเมือง  จังหวัดภูเก็ต หมู่ต้นตาลโตนดซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแหลมพรหมเทพ  เป็นต้นตาลที่ขึ้นตามธรรมชาติและมีมากถึงร้อยต้น  แต่เมื่อ พ.ศ. 2552  พบบางส่วนยืนต้นตายตามอายุขัยและบางส่วน ถูกด้วงกัดทำลายจนกลายเป็นตาลยอดด้วน หน่วยงานท้องถิ่นจึง พยายามปลูกทดแทนเกือบทุกปี  ทั้งเพาะจากเมล็ด  ทั้งล้อมย้ายต้นใหญ่มาลง  รวมหลายร้อยต้นและให้การดูแลเรื่อยมา เพื่อคงมนตร์เสน่ห์ของแหล่งท่องเที่ยวเลื่องชื่อแห่งนี้ไว้

ไม่เพียงเท่านั้น  โครงการต่างๆ ที่ได้ชื่อว่าทำเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ  แต่หลายกรณียิ่งทำให้เกิดความเสียหายทำลายธรรมชาติมากกว่าเดิม  ดร.เพชร  มโนปวิตร  นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์  ตั้งข้อสังเกตต่อเรื่องนี้ว่า  “โครงการ ฟื้นฟูป่าหลายโครงการที่ทำในนามการฟื้นฟูธรรมชาติ  แต่ทำไปโดยไม่เข้าใจสภาพตามธรรมชาติ  เช่น  เป็นโครงการปลูกป่า  แต่กลับถางป่าเดิมออก  แล้วปลูกต้นไม้ใหม่ให้เป็นแถว  หรือทำฝายเพิ่มให้ได้จำนวนตามค่าตัวชี้วัด  เพราะพอเห็นนํ้าในลำธารแห้ง  แล้วคิดว่าต้องทำฝายเสมอ การฟื้นฟูลักษณะนี้ยิ่งเป็นการซํ้าเติมผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

ดร.เพชรเสนอว่า  การฟื้นฟูป่าควรมีความเข้าใจสภาพของธรรมชาติตามหลักวิชาการ  มีหลักเกณฑ์การฟื้นฟูอย่างถูกต้อง  และยังเห็นว่าปัจจุบันเอกชนและประชาชนเริ่มเข้ามามีส่วนอนุรักษ์หรือปรับพื้นที่เสื่อมโทรมบางแห่งให้กลายเป็นพื้นที่อนุรักษ์  เช่น  พื้นที่ชุ่มนํ้า  เพิ่มขึ้นหลายแห่ง  จนมีพืชและสัตว์ประจำถิ่นที่เคยหายไปกลับเข้ามาอยู่อาศัย  และหากมองในเชิงพื้นที่สีเขียวที่มากกว่าป่าไม้  ประเทศไทยเริ่มมีการตื่นตัวในการสร้างพื้นที่ดังกล่าวมากขึ้น

เรื่อง ฐิตินันท์ ศรีสถิต และ นิรมล มูนจินดา

ภาพถ่าย เริงชัย คงเมือง

ติดตามสารคดี สำรวจป่าไม้ไทยในความเปลี่ยนแปลง ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤษภาคม 2565

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/546555


อ่านเพิ่มเติม ไนเจอร์ ดินแดนต้นไม้ 200 ล้านต้น การปลูกความหวังสีเขียวกลางดินแดนสะฮารา

Recommend